คุณยายสร้างคน

วันที่ 29 พค. พ.ศ.2560

คุณยายสร้างคน

 

 

               การฝึกคนให้รักการปฏิบัติธรรมนั้น คุณยายใช้วิธีฝึกคนที่จะเป็นต้นแบบไว้ก่อนทางฝ่ายชาย คุณยายเลือกหลวงพ่อธัมมชโยเป็นต้นแบบ แล้วก็ฝึกให้หลวงพ่อทัตตะเอาอย่าง หลวงพ่อธัมมชโยอีกต่อหนึ่งส่วนฝ่ายหญิง คุณยายเลือกคุณแข่งแข จิระชุติโรจน์ หรือที่น้องๆ กลุ่มปฏิบัติธรรมในสมัยนั้น เรียกกันว่า "พี่เข่ง" เป็นต้นแบบ เพราะพี่เข่งมีความใกล้ชิดกับน้องๆ มากกว่าใครทั้งหมด คุณยายจะกำชับให้พี่เข่งดูแลน้องๆ ผู้หญิงให้ดี และพูดเสมอว่า

              "ยายเกลียดมาก ถ้าคนที่อยู่ในวงบุญด้วยกันแล้วมามีเรื่องชู้สาวกันเอง"

              วิธีป้องกันเรื่องนี้ต้องเข้มงวดกันอย่างจริงจัง หลังจากเลิกนั่งสมาธิตอน  ๒ ทุ่มทุกวัน พี่เข่งจะพาน้องๆ ผู้หญิงขึ้นรถเมล์กลับบ้านพร้อมๆ กันให้หมดก่อน จากนั้นประมาณ ๑๐-๒๐ นาที พวกผู้ชายจึงค่อยตามไป แต่ถ้าใครมีเรื่องรีบร้อนต้องกลับก่อน คุณยายก็จะให้พวกผู้ชายกลับไปพร้อมกันก่อนพวกผู้หญิง โดยประมาณเวลาให้ขึ้นรถเมล์เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงให้พวกผู้หญิงตามไป

               คุณยายวางมาตรการไว้อย่างรัดกุมที่จะไม่ให้ลูกศิษย์ ฝ่ายหญิงมีโอกาสสนิทสนมกับฝ่ายชาย ไม่ว่าในโอกาสใดๆทั้งสิ้น ซึ่งพี่เข่งก็ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุนั้นจึง ไม่มีเรื่องชู้สาวเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์

               ทั้งหมดนี้คือการสร้างทีมงานของคุณยาย เพื่อนำไป สู่การเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก และเป็นสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้วัดพระธรรมกายมีจุดเด่นที่บุคคลภายนอกไม่รู้ และมองดูด้วยความประหลาดใจ

               คุณยายท่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างวัดทั้งหมด ท่านใช้เวลาสร้างกลุ่มผู้นำหรือสร้าง Working Group ขึ้นมาก่อน การจะสร้างทีมงานขึ้นมาสักชุดหนึ่ง มิได้ใช้เวลาสร้าง เพียงวันสองวัน แต่สร้างกันอยู่เกือบ ๑๐ ปี ถือว่าเป็นการเตรียมงานที่ใช้เวลาอย่างมากทีเดียว การใช้เวลาหลายปี ทำให้มีเวลาที่จะคิดและไตร่ตรองงานอย่างรัดกุม และที่สำคัญคือ สามารถหลอมความรู้สึกนึกคิด หลอมพฤติกรรมต่างๆ ของกลุ่มผู้นำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เป็นผลทำให้เมื่อจะลงมือทำอะไรแล้วไม่ขัดแย้งกัน และรู้ใจ รู้ว่าหมู่คณะกำลังจะทำ อะไรหรือต้องการอะไร

               เมื่อคุณยายท่านได้รับคำสั่งจากหลวงพ่อวัดปากน้ำให้อยู่รอผู้ที่จะมา สืบทอดวิชชาธรรมกาย แม้ว่าใจจริงคุณยายอยาก จะกลับบ้านเดิมหลังจากที่หลวงพ่อท่านมรณภาพ แต่ด้วยความเคารพครูบาอาจารย์ท่านจึงไม่กลับ รออยู่ที่วัดปากน้ำเพื่อรวบรวมคน

               วิธีการรวบรวมคนของคุณยายคือ อย่างที่หนึ่งท่าน ตั้งใจสอนสมาธิอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะแต่เดิมนั้นท่านไม่ ได้สอนท่านเข้าไปอยู่ในโรงงานทำวิชชา ไม่ค่อยได้พูดกับใคร แต่หลังจากที่หลวงพ่อวัดปากน้ำมรณภาพแล้วท่านไม่ต้องนั่งอย่างนั้นอีกต่อไป เพราะฉะนั้นท่านจึงเปลี่ยนบทบาทของท่านคือ ตั้งแต่เช้ามืดตี ๔ เรื่อยไปท่านจะนั่งเพื่อตัวเองจนกระทั่งถึงเวลารับประทานอาหารเช้า พอสายหน่อยประมาณแปดโมง ครึ่งท่านก็เริ่มนั่งอีก แต่การนั่งครั้งนี้่ท่านนั่งเพื่อสอน

              ลูกศิษย์ที่มาหาคุณยายในยุคแรกส่วนมากไม่ใช่นิสิตนักศึกษา แต่เป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัว บางคนอยู่ในวัยทำงานบางคนอยู่ในวัยชรา เหตุที่มาหาคุณยายเพราะลูกหลานเจ็บไข้ ได้ป่วย เข้าโรงพยาบาลหลายแห่งแล้วรักษาไม่หาย หรือบางคนลูกหายสามีหาย ภรรยาหายไปจากบ้านไม่รู้จะไปตามที่ไหน ก็มาหาคุณยาย บางคนมีเรื่องกระทบกระทั่งกันใน ที่ทำงาน บาง คนคิดถึงผู้ล่วงลับ อยากทำบุญให้ถึงเขาเต็มที่ ก็มาหาคุณยายให้ช่วยคุมบุญให้

               พอมาถึง หากคุณยายรับปากช่วยเหลือทันที เขาจะไม่ได้อะไร ดังนั้นท่านจึงมีคำพูดอยู่คำหนึ่งคือ

               "เดี๋ยวก่อน เรื่องอื่นเอาวางไว้ มานั่งสมาธิให้ใจใสๆ เสียก่อน"

               ตอนแรกๆ บางคนจะรู้สึกอึดอัดแต่ก็ต้องทำตาม ไม่มีใครปฏิเสธคุณยายได้ท่านจึงอาศัยประสบการณ์ที่ฝึกมามาก นำนั่งสมาธิแล้วก็คุมบุญให้เขาปรากฏว่าบางคนที่มีพื้นฐานใจดี เคยอบรมกับหลวงพ่อวัดปากน้ำมาบ้างแล้ว พอนั่งสมาธิก็สว่างขึ้นมาในวันนั้นเอง ได้ความสว่างสงบ รู้สึกชุ่มชื่นใจ เห็นคุณค่าของธรรมะ จึงมาหาคุณยายบ่อยๆ และชักชวนญาติสนิทมิตรสหายมาเพิ่มอีกด้วย

               ประการที่สอง พออีก ๕ นาที ๑๐ นาทีจะเลิกนั่งสมาธิ คุณยายจะอบรมทั้งๆ ที่ยังหลับตาอยู่ท่านเห็นอะไรในใจก็นำเรื่องนั้นขึ้นมาเตือนสติโดยไม่เอ่ยชื่อตัวบุคคล การเตือนสติใน วาระที่นั่งสมาธิกันเต็มที่แล้วเป็นการเตือนที่ได้ผล เพราะทุกคน มีจิตใจนุ่มนวลละเอียดอ่อน พร้อมจะรับฟังคำแนะนำตักเตือน ทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือการฝึกคนของคุณยายในช่วงแรก

               ต่อมาเมื่อหลวงพ่อธัมมชโยมาถึง คุณยายท่านอบรม หนักเป็นพิเศษเพื่อจะให้เป็นบุคคลต้นแบบ เมื่ออบรมหลวงพ่อธัมมชโยได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว เห็นว่าหล่อหลอมเหมือนเป็นใจเดียวกับคุณยายท่านแล้ว ก็ให้หลวงพ่อธัมมชโยไปตามเพื่อนรุ่นๆ เดียวกัน หลวงพ่อทัตตะจึงได้เข้ามาสร้างบารมีด้วย จากนั้น หลวงพ่อทัตตะก็ไปตามเพื่อนๆ มาอีกเป็นทอดๆ กันไป จนมีนิสิตนักศึกษามาเรียนธรรมะมากขึ้น คุณยายจึงตั้งกฎระเบียบ เอาไว้มากมายเพื่อเป็นหลักปฏิบัติต่อไป นี่คือหลักการหล่อหลอมคนหนุ่มสาวของคุณยาย

                หลักการที่คุณยายใช้นี้ เป็นหลักการเดียวกันกับการสร้างงานสำคัญๆ ของโลกในอดีต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อจะทำงานใหญ่แต่ละชาติท่านก็อาศัย คนหนุ่มสาวฝึกขึ้นมาเป็นกำลัง พอตรัสรู้ธรรมแล้วท่านก็ฝึกคนขึ้นมาอีก คือชุดของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า คุณยายท่านเป็นผู้หญิงและไม่มีความรู้ทางโลก แต่ด้วยญาณทัสสนะคือความรู้แจ้งภายในอันเกิดจากการ เข้าถึงวิชชาธรรมกายท่านจึงอบรมหลวงพ่อธัมมชโย อบรมหลวงพ่อทัตตะและพระภิกษุรุ่นบุกเบิกได้ ซึ่งใช้เวลายาวนาน เกือบสิบปีกว่าจะเริ่มงานเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป คุณยายเป็นคนจริงทำจริงและต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นแม้จะไม่รู้หนังสือ แต่เวลานี้ท่านคือครูของบรรดาหนุ่มสาวระดับปัญญาชน

                เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงพ่อธัมมชโยเรียนจบ ปริญญาตรีสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร จากมหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณยายกำหนดไว้ว่าเมื่อหลวงพ่อท่านมีความรู้ ทางโลกแล้ว จะต้องมีความรู้ทางธรรมด้วย ความรู้ทางธรรมก็ต้องมีทั้งปริยัติและปฏิบัติ จึงจะเป็นพระภิกษุหนุ่มผู้เปี่ยมไป ด้วยสติปัญญาและมีจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นผู้นำในการเผยแผ่วิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กว้างไกลต่อไปได้

                โดยเหตุนี้จึงมีการปรึกษาหารือกันว่า หลวงพ่อธัมมชโยควรจะบวชในพรรษานี้ เมื่อหลวงพ่อตกลงใจที่จะบวช คุณยาย ท่านก็ปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ความรู้สึกทั้งมวลฉายออกมาในแววตาและรอยยิ้มของท่าน เป็นความภาคภูมิใจสมกับที่ได้ทุ่มเททั้งหมดของชีวิตนี้เพื่อวิชชาธรรมกาย ดูแลหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ แห่งความดีนี้ให้เติบใหญ่ในเส้นทางธรรมอันบริสุทธิ์

                เย็นวันนั้นเมื่อทุกคนมาปฏิบัติธรรมกันพร้อมหน้า คุณยายท่านก็แจ้งข่าวนี้ให้ทราบทุกคนต่างปีติยินดีไปกับข่าวอันเป็นมงคลนี้ด้วย

                ดังนั้นในวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๒ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน   จึงเป็นวันที่หลวงพ่อธัมมชโยบวช ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีพระเทพวรเวที ( สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ในปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีฉายาว่า

                "ธัมมชโย" แปลว่า "ผู้มีชัยชนะด้วยธรรมกาย"

                การบวชครั้งนี้เป็นการบวชอุทิศชีวิตให้กับพระพุทธศาสนา ด้วยมโนปณิธานที่จะเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลกเป็นภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่รอคอยท่าน สืบสานให้สำเร็จลุล่วงในภายหน้าต่อไป

 

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011178692181905 Mins