ยอดนักบริหาร

วันที่ 30 พค. พ.ศ.2560

ยอดนักบริหาร

 

 

                 เมื่อบวชแล้ว หลวงพ่อธัมมชโยยังคงไปนั่งสมาธิที่บ้านธรรมประสิทธิ์เหมือนอย่างเคย และใช้เวลาในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น เวลานั้นมีคนมาปฏิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันอาทิตย์ต้นเดือน มีคนเต็ม ตั้งแต่ชั้นบนของบ้านเรื่อยลงมาจนถึงบันไดส่วนชั้นล่างนั้นไม่ ได้มีไว้นั่ง แต่ใช้เป็นที่จัดอาหารและเครื่องไทยทานต่างๆส่งขึ้นไป ซึ่งต่อมาคนก็เต็มชั้นล่างจนล้นออกมาถึงชานบ้าน เรื่อยไปถึง สนามหญ้าหน้าบ้านตลอดจนทางเดินไปถึงประตูรั้ว ซึ่งวันอาทิตย์ ต้นเดือนต้องเปิดไว้ให้คนไปยืนหรือนั่งบูชาข้าวพระที่นั่นด้วย

                ด้วยเหตุนี้ คุณยายจึงดำริที่จะสร้างวัดขึ้น เวลานั้นท่านคิดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ เพื่อรองรับผู้ที่จะมาปฏิบัติธรรมและรองรับงานเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก จึงมอบหมายให้อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล (ขณะนั้นยังไม่ได้บวชชี) ไปขอ ซื้อที่ดินจากเศรษฐีผู้ใจบุญคือ คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี โดยผ่านทางเพื่อนซึ่งเป็นลูกสาว แต่เศรษฐีท่านนั้นเห็นความตั้งใจดีของหมู่คณะจึงยกที่ดินให้หมดทั้งแปลง คือ ๑๙๖ ไร่   ตารางวา ณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี

               ในครั้งนั้น บรรดาศิษยานุศิษย์ได้ช่วยกันเขียนหนังสือ เสี่ยงบารมีขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ "เดินไปสู่ความสุข" ภายในเล่มเป็นประวัติของบรรดาลูกศิษย์ที่ติดสอยห้อยตามกันมาด้วยมโนปณิธานเดียวกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม และสาเหตุที่มาสร้างวัดส่วนคุณยายเขียนประวัติของท่านเองไม่ได้ ก็อาศัยวิธีเล่าให้ฟังโดยมีศิษย์ช่วยกันเรียบเรียง ซึ่งคุณยายจะนั่งสมาธิเอาบุญจากพระนิพพานคุมตลอดทุกตัวอักษร หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่ายิ่งต่อจิตใจผู้อ่าน ยังผลให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และมาช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จลุล่วงภายในเวลาไม่นานนัก

               คุณยายท่านเป็นยอดนักบริหาร ก่อนที่จะเริ่มงานสร้างวัดท่านเรียกประชุมลูกศิษย์ทุกคน เพื่อชี้แจงสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการสร้างวัด

               "เราจะช่วยกันสร้างวัด แล้ววัดที่จะสร้างก็เป็นวัดใหญ่เนื้อที่มาก เมื่อจะสร้างทั้งที ยังไงๆ เราก็จะพยายามสร้างให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เราจะต้องขัดแย้งกันแน่ ให้พวกเราถามตัวเองดูนะ ใครคิดว่าต่อไปข้างหน้า ถ้าเถียงกันแล้วทะเลาะกันแล้วอดที่จะโกรธกันไม่ได้ให้ถอยออกไปนั่งข้างหลัง ถ้าใครคิดว่าขัดแย้งกันแล้ว เถียงกันแล้วจะไม่โกรธกัน ก็ขยับขึ้นมานั่งใกล้ยาย"

                หลวงพ่อทัตตะเป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่แถวหน้าอยู่แล้วท่าน ไม่ยอมถอยส่วนคนที่นั่งอยู่ข้างหลังก็ไม่ยอมขยับขึ้นมาข้างหน้า เช่นกันท่านจึงได้รับความไว้วางใจจากหลวงพ่อธัมมชโยและคุณยายให้ไปรักษาแผ่นดินและดูแลการก่อสร้างส่วนหลวงพ่อ ธัมมชโยกับคุณยายทำหน้าที่บอกบุญสร้างวัดอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์

               เวลานั้นมีคนศรัทธาคุณยายมาก แต่ยังไม่ค่อยศรัทธาหลวงพ่อธัมมชโย เพราะท่านยังเป็นพระหนุ่มอยู่ และมักจะมีคำพูดที่แสดงความไม่แน่ใจด้วยว่า

               "พระหนุ่มๆ อย่างนี้ จะสึกเมื่อไรก็ไม่รู้"

              ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนเริ่มต้นในการสร้างวัดตอนนั้นมีเพียง ๓,๒๐๐ บาท จึงเป็นเรื่องที่แน่นอนแล้วว่า คุณยายจะต้องรับภาระอย่างหนักในครั้งนี้ เพราะที่ดินอันเป็นสถานที่ สร้างวัดนั้นยังเป็นเพียงทุ่งนาฟ้าโล่ง พื้นดินแยกแตกเป็นระแหง ไม่ว่าจะเหลียวมองไปทางใดก็มีแต่ความว่างเปล่า เวิ้งว้างสุดสายตา ไม่เห็นวี่แววว่าจะเป็นวัดพระธรรมกายได้อย่างไร

              เวลานั้น วัยของคุณยายล่วงเข้า ๖๐ ปีแล้ว แม้ว่าภาพของท้องทุ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า กับเงินทุนที่มีเพียงน้อยนิด จะบ่งบอกถึงความยากลำบากในการสร้างวัดก็ตาม คุณยายก็ไม่เคยย่อท้อท่านมั่นคงต่อปณิธาน ปรารถนาให้คนทั้งโลก พบกับความสุขอันเกิดจากการเข้าถึงธรรมกายไม่เปลี่ยนแปรด้วยเหตุนี้่ท่านจึงพร้อมที่จะรับภาระทุกอย่าง

              การขุดดินก้อนแรกเริ่มในวันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๓ คุณยายเป็นผู้วางแบบแผน ในหลายเรื่อง โดยมีหลวงพ่อธัมมชโยรับเป็นธุระเรื่องการก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง คุณยายจะคอยดูแลให้กำลังใจลูกศิษย์ทุกคน เพราะงานสร้างวัดเป็นงานใหญ่ ต้องอาศัยกำลังใจอย่างมาก

              การเริ่มงานครั้งแรกได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยราชการต่างๆ หลายแห่งสำหรับเรื่องการขุดดินซึ่งเป็นงาน ในระยะแรกนั้น ได้รับความช่วยเหลือจากกรมชลประทาน ซึ่งส่งเรือขุดมาช่วยขุดคูคลอง กรมช่างโยธาทหารอากาศได้ช่วย กันสร้างถนนในบริเวณวัดส่วนกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยได้ช่วยออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น

              อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ดำเนินการขุดดินอยู่นั้น เกิดภาวะเงินฝืดขึ้นมากลางคัน ขาดเงินไปหนึ่งหมื่นบาทเศษ ซึ่งกำหนดจะต้องนำไปจ่ายค่าแรงงานในวันรุ่งขึ้น หลวงพ่อทัตตะถามคุณยายว่า มีเงินเท่าไรท่านตอบว่า มีอยู่พันกว่าบาท หลวงพ่อทัตตะฟังแล้วกระวนกระวายใจอย่างหนัก คุณยายเห็นดังนั้นจึงเอ่ยขึ้นว่า

              "ไปนั่งสมาธิก่อนเถอะ เดี๋ยวยายจะตามสมบัติมาให้

               หลวงพ่อทัตตะขึ้นไปนั่งสมาธิตามที่คุณยายบอก แต่ไม่สามารถทำใจให้หยุดนิ่งได้ เพราะกังวลเรื่องเงินมาก วันนั้น คุณยายนำนั่งสมาธินานเป็นพิเศษ ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๓ ทุ่ม พอเลิกนั่งแล้วหลวงพ่อทัตตะก็รำพึงว่า

               "ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีเงินค่าแรงคนงานเป็นค่าจ้างขุดคันคู คงเกิดเรื่องแน่"

               แต่คุณยายก็ยังคงยืนยันว่าท่านเห็นในสมาธิว่าได้เงินมาแล้ว หลวงพ่อทัตตะไม่รู้จะทำอย่างไร จึงลาคุณยายกลับ และนัดว่าพรุ่งนี้จะมารับเงิน แต่พอเปิดประตูจะออกไปก็พบ ผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่บันไดหน้าบ้าน เมื่อซักถามกันแล้วได้ความว่า พ่อของเขาสั่งไว้ก่อนตายว่า ให้นำเงินมาทำบุญที่นี่ ๓ หมื่นบาท เขามารออยู่ตั้งแต่ ๑ทุ่ม แต่เข้ามาไม่ได้ เพราะทุกคนปิดประตูขึ้นไปนั่งสมาธิกันหมด

               ญาณทัสสนะของคุณยายแม่นยำมาก ภายนอกภายใน ตรงกันไม่คลาดเคลื่อนเลย เงินที่คุณยายเห็นปรากฏในสมาธิและ นอกสมาธินั้น เป็นจริงตามแรงอธิษฐานจิตทุกประการ

              หลวงพ่อทัตตะลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อมาควบคุม การรับพื้นที่สร้างวัดอย่างเต็มตัว ในขณะที่กำลังลุยงานกันอย่างเต็มที่ ได้มีคนพาลมาตามรังแกอยู่เป็นระยะๆ บางครั้งก็มาขโมยเรือบ้าง หรือไม่ก็ขโมยข้าวของต่างๆ แต่เมื่อมีการสืบเสาะค้นหากันก็เอาคืนมาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง นอกจากนี้ชาวบ้านในแถบใกล้เคียงยังไม่เข้าใจว่าบุคคลกลุ่มนี้มาทำอะไรทำไม ต้องสร้างวัดใหญ่โต ความระแวงสงสัย ความผันผวนในกระแสข่าวสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ

              ครั้งหนึ่ง เมื่อขโมยเอาเรือไปได้ลำหนึ่งแล้ว ลำที่สองซึ่งยกขึ้นมายาตากแดดไว้ข้างที่พัก ขโมยก็ยังมาเอาไปอีก หลวงพ่อทัตตะ สืบจนรู้ตัวคนขโมยแล้วเกิดความรู้สึกเดือดแค้นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ขโมยของไปเท่านั้น ขโมยยังได้ท้าให้ไปยิงกันอีก เป็นเหตุให้ความไม่พอใจที่มีอยู่เดิมยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

              แต่ดูเหมือนบุญจะมาช่วยท่านไว้ไม่ให้สร้างกรรมเพราะเมื่อวันอาทิตย์เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งท่านจะต้องไปนั่งสมาธิที่บ้านธรรมประสิทธิ์อย่างที่เคยปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ในครั้งนั้นท่านพกพาเอาความแค้นติดใจไปด้วย รุ่งขึ้นวันจันทร์เมื่อคณะ ทำงานกำลังจะลากลับ คุณยายก็รั้งเอาไว้

              "เหนื่อยกันมามากแล้ว อย่าเพิ่งกลับเลย นั่งสมาธิกันก่อน"

              ด้วยเหตุนั้นหลวงพ่อทัตตะและศิษย์คนอื่นๆ จึงได้นั่งสมาธิต่อเนื่องกันไปอีก ๒ วันเต็ม พอเลิกนั่งสมาธิในวันสุดท้าย คุณยายก็ประนมมือขึ้นอธิษฐานอยู่ในใจ ซึ่งใช้เวลาเนิ่นนานกว่าทุกครั้ง

              "ยายอธิฐานอะไร นานจัง" หลวงพ่อทัตตะถามด้วยความสงสัย

              "ยายอธิษฐานว่า เกิดกี่ภพกี่ชาติต่อไปเบื้องหน้า ไม่ว่าศัตรูจะยกมาเป็นกองทัพใหญ่แค่ไหน ก็อย่าให้มันฆ่ายายและบริวารได้ ตัวยายเองและบริวารก็อย่าได้มีจิตไปคิดฆ่าใคร แม้แต่มดแต่ปลวก ก็ขออย่าให้คิดฆ่าเลย"

              เพียงได้ยินเท่านี้ความโกรธเคืองทั้งหลายก็มลายหายสูญไปสิ้น อีกทั้งได้นั่งสมาธิจนใจใสจึงไม่มีความคิดที่จะเอาเรื่องกับใครอีกต่อไป คุณยายท่านรู้นิสัยของหลวงพ่อทัตตะว่า เป็นคนเจ้าโทสะ ไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดท่านไม่อยากให้ทำบาป อยากให้ทำแต่ความดี ทำแต่บุญกุศลล้วนๆท่านไม่ห้ามปรามโดยตรง แต่ใช้วิธีซึมลึกด้วยธรรมะอันเป็นโอสถวิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในระหว่างนั้นต้องลุยงานสร้างวัดกันทั้งวันทั้งคืนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องรับพื้นที่และวางแบบแปลน ซึ่งมักจะมีเรื่อง ถกเถียงกันในที่ประชุมบ่อยครั้ง เนื่องจากยังหาข้อสรุปไม่ได้เวลาที่มีการประชุมกันแต่ละครั้ง คุณยายไม่ได้ร่วมประชุมด้วย แต่ท่านจะมาคอยเลียบๆ เคียงๆสังเกตการณ์ เมื่อเห็นว่าทำท่าจะตกลงกันไม่ได้ท่านจะสั่งให้หยุดประชุมทันทีด้วยคำพูดที่เรียบง่ายแต่เฉียบขาด

               "เรื่องประชุมคงอีกยาวนะกว่าจะจบ มานั่งสมาธิกับยายก่อนเถอะ"

               ในที่สุดทุกคนจึงได้นั่งสมาธิกับคุณยายประมาณ ๒ ชั่วโมง เมื่อเลิกนั่งสมาธิแล้ว จิตใจผ่องใสขึ้นท่านจึงให้ประชุมกันต่อไป ซึ่งเมื่อใจใสแล้วคุยงานต่อ งานก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

               บางครั้งบางคราว เมื่อมีเค้าให้เห็นว่าจะเกิดการขัดแย้งขึ้น พอทุกคนเตรียมที่จะประชุมกัน คุณยายก็จะเปรยขึ้นว่า

               "วันนี้อากาศไม่ดี ร้อนอบอ้าว จะมาประชุมอะไรกันได้ แดดร่มลมตกค่อยประชุมกัน ตอนนี้มานั่งสมาธิกับยายสักสองสามชั่วโมงดีกว่า"

              หรือบางทีก็จะบอกว่า

              "วันนี้อย่าเพิ่งประชุมเลย มาช่วยกันจัดดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้ากันดีกว่า"

              เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงไม่มีการประชุมเกิดขึ้นอีกเลยในคืนนั้น รุ่งเช้าวันถัดมา คุณยายชวนให้นั่งสมาธิต่อไปอีก บางครั้งท่านจะชะลอเวลาด้วยวิธีนี้ถึงสองสามวันจึงให้ประชุมต่อไปได้ ซึ่งเมื่อเวลาแห่งความตึงเครียดเหล่านั้นผ่านเลยไป และทุกคนมีดวงใจที่ใสบริสุทธิ์จากการนั่งสมาธิแล้ว ก็พบข้อสรุปที่จะนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

               นี่คือฝีมือคุณยาย ยอดนักบริหาร บริหารทั้งคนและงานได้อย่างเยี่ยมยอดท่านอ่านหนังสือไม่ออกแต่รอบรู้ทุกสิ่ง ฝีมือควบคุมสถานการณ์หาใครเทียบได้ยากยิ่ง เพราะท่านมีความพอดีอยู่ในตัว จึงทำให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และสำเร็จได้รวดเร็ว เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า วัดพระธรรมกายสร้างได้สำเร็จเพราะฝีมือคุณยาย

               หลังจากการขุดคูเสร็จสิ้นแล้ว หลวงพ่อธัมมชโยก็เชิญสาธุชนจากบ้านธรรมประสิทธิ์ นั่งเรือท้องแบนของกรมชลประทานเที่ยวชมโดยรอบบริเวณ พอทุกคนเห็นว่าเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว นับแต่คราวนั้นก็มีเจ้าของบุญมาร่วมสร้างกุฏิกันเป็นหลังๆ

               ช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงพ่อทัตตะตั้งสัจจะประพฤติพรหมจรรย์ แต่ภายหลังจากการตั้งสัจจะแล้วท่านก็ยังคร่ำเคร่งอยู่กับการสร้างวัด โดยไม่คำนึงถึงเรื่องบวชแต่อย่างใด คุณยายเป็นห่วง กลัวว่าจะสร้างบารมีไปไม่ตลอดรอดฝัง จึงเรียกมาตักเตือน

               "คุณอยู่ทางโลกไม่ได้หรอกนะ เพราะคุณเป็นคนใจกว้าง มีสมบัติอะไรคุณก็ให้เขาหมด ขืนมีครอบครัวก็จะลำบากคุณเกิดมาเพื่อสร้างบารมีเท่านั้น บวชเสียแล้วจะประสบความสำเร็จทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ วิชาในพระไตรปิฎกคุณมีสิทธิ์จะรู้จะเห็นจริง"

               ความจริงก่อนหน้านี้ สมัยที่ท่านเพิ่งจะแตกเนื้อหนุ่มก็เคยรักผู้หญิงมาก่อน ถึงขั้นขออนุญาตโยมพ่อแต่งงาน โยมพ่อก็ไม่คัดค้าน เพียงแต่บอกว่า

               "จะแต่งก็แต่ง แต่กลับไปคิดหาคำตอบมาบอกพ่อก่อนว่า จะมีธรรมะข้อไหนไป สอนลูก สอนเมีย พ่อให้เวลาคิด ๗  วัน"

               ก่อนหน้านั้น หลวงพ่อทัตตะเคยอ่านหนังสือธรรมะมามากพอสมควร แต่มีความสนใจเฉพาะเรื่องที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องธรรมะเกี่ยวกับการครองเรือนไม่เคยเข้าไปอยู่ในจิตใจของท่าน คืนนั้นท่านกลับไปนอนคิดอยู่ตลอดคืน จึงบอกโยมพ่อในวันรุ่งขึ้นว่า

               "ผมไม่แต่งแล้วล่ะ"

               ครั้งนั้นท่านไม่แต่งงานเพราะไม่รู้ธรรมะ แต่ในครั้งนี้เมื่อมาร่วมสร้างบารมีกับหมู่คณะ ได้เรียนรู้ธรรมะทั้งปริยัติและปฏิบัติแล้วท่านไม่แต่งงานเพราะได้กัลยาณมิตรผู้ยอดเยี่ยม เช่นคุณยาย

              เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์ทั้งหลายมาถึงจุดนี้ หลวงพ่อทัตตะท่านก็พิจารณาว่า ตลอดระยะเวลาที่ท่านคิดว่าตนเอง เป็นผู้รอบรู้สารพัดนั้น แท้ที่จริงแล้วท่านไม่เคยรู้จักตัวเองเลย ต้องให้คุณยายมาคอยชี้แนะว่าตัวท่านไม่เหมาะกับชีวิตทางโลกอย่างไร และควรจะทำอย่างไรต่อไป

              นอกจากนี้ เมื่อมาพบคุณยาย พบเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ความเป็นอยู่ของที่นี่มีความอบอุ่นอย่างประหลาด คุณยายเป็นศูนย์กลางความรู้สึกนึกคิดของท่านทั้งหมด เหมือนเป็นทั้งพ่อทั้งแม่รวมกันท่านมีความสุขที่สามารถ ซักไซ้ไต่ถามคุณยายได้ทุกอย่างทุกข์สุขอย่างไรคุณยายรู้หมด โดยไม่ต้องบอกต้องถามทั้งยังมีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมสามารถ สนทนาธรรมกันได้อย่างสนุกสนานเหมือนพี่เหมือนน้องทำให้มีความรู้สึกว่า นี่แหละคือครอบครัวที่แท้จริงของท่าน ถึงเวลาแล้วที่ท่านควรจะบวช เพื่อเป็นคนในสกุลหน่อเนื้อพระพุทธเจ้าไปเสียด้วยกัน

              ดังนั้นในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔ จึงเป็นวันที่หลวงพ่อทัตตะบวช หลังจากบวชแล้ว ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุก อย่างจะราบรื่น สมดังที่ตั้งความหวังไว้ แต่ท่านกลับต้องประสบกับการปรับตัวในเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น อย่างเช่น เรื่องที่มักจะเผลอยกมือรับไหว้คุณยาย โดยลืมไปว่าเวลานี้ท่านเป็นพระแล้ว ด้วยความรู้สึกคุ้นเคยที่มักจะซาบซึ้งและประทับใจในความห่วงใยและความปรารถนาดีที่คุณยายเคยมีต่อท่านตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บวช

             ในทางกลับกัน คุณยายท่านเป็นผู้ที่ปรับตัวได้อย่างดี ยิ่งท่านจะกราบพระผู้เคยเป็นลูกศิษย์ด้วยความนอบน้อมได้ อย่างสนิทใจ บ่อยครั้งเหมือนกันที่คุณยายพูดกับหลวงพ่อทัตตะราวกับจะเป็นการเตือนอยู่ในที่ว่า

              "อย่าให้ยายบาปนะ"

               ซึ่งเป็นเหตุให้หลวงพ่อทัตตะต้องนำไปพิจารณาอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาคุณยายท่านก็มาขอร้องว่า

               "ท่านทัตตะ ยายขอนะ ยังไม่ครบสิบพรรษายายขอ

               ๑. อย่าไปฉันอาหารที่บ้านใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าไปค้างบ้านใคร

               ๒. ห้ามไปเทศน์นอกวัด แม้สถานที่ราชการยายก็ขอยังไม่ครบ ๑๐ พรรษาท่านอย่านะท่านไม่ทันเขาหรอก"

               แม้ท่านจะไม่เชื่อในคำเตือนของคุณยายทั้งหมด แต่ด้วยความเคารพจึงยอมทำตาม เมื่อถึงวันนี้ท่านเองเป็นผู้กล่าวว่า ต้องขอบพระคุณคุณยายและรู้ซึ้งด้วยตนเองว่าสิ่งที่ท่านคิดว่าท่านรู้เท่าท่นคนอื่นนั้น ความจริงแล้วท่านรู้ไม่ทัน แต่ที่รอดตัวมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเชื่อฟังคำสั่งสอนของคุณยาย

               แม้ว่าคุณยายจะไม่ได้แยกแยะความรู้ต่างๆ ตามหมวดธรรมให้ดู เพราะคุณยายไม่รู้หนังสือ แต่ความเต็มเปี่ยมด้วย ภูมิธรรมภายในของท่าน จึงสามารถถ่ายทอดออกมาให้ลูกศิษย์รับรู้ถึงการวางตัวของพระบวชใหม่อย่างถูกต้องเหมาะสม

               ในช่วงเวลานีทั้งหลวงพ่อธัมมชโยและหลวงพ่อทัตตะ ยังคงมาปฏิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์ตามปกติ แม้ที่วัดปากน้ำในระยะนั้นจะอนุญาตให้พระภิกษุรับแขกที่กุฏิได้ แต่คุณยายก็ยังคงเข้มงวดต่อการรับแขกของพระ เหมือนสมัยที่ หลวงพ่อวัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่ท่านวางมาตรการให้แขกทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายที่มากราบพระทั้ง ๒ รูป จะต้องมากราบที่บ้านธรรมประสิทธิ์เท่านั้น และหากเป็นแขกผู้หญิงท่านก็จะนั่งฟังอยู่ด้วยตลอดเวลา หลวงพ่อทั้งสองรูปจึงสามารถบำเพ็ญเนกขัมมบารมี๖ ได้โดยไม่ถูกรบกวน

               เมื่อหลวงพ่อทัตตะบวชได้เพียงสัปดาห์เดียว คุณยายก็เอ่ยว่า

               "ท่าน ตอนนี้เป็นพระแล้วท่านต้องเทศน์แล้วนะ"

                "ยาย พระไม่เคยเทศน์ที่ไหนเลย"

                 "ไม่ยากหรอกท่านท่านหลับตานึกมองให้เห็นว่าท่าน ฝึกตัวเองมาอย่างไรในแต่ละเรื่องๆ ก็เอาเรื่องเหล่านั้นไปเทศน์ ไปสอนโยม เพราะญาติโยมทั้งหลายเขาก็ไม่เกินท่านหรอกเขาก็มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเหมือนกัน กิเลส ในตัว ก็ตัวเดียวกันท่านปราบกิเลส ได้อย่างไรก็เล่าให้โยมฟัง แค่นั้นโยมก็ชื่นใจแล้วท่านไม่ต้องไปเทศน์อะไรให้ลึกซึ้งหรอก แต่เมื่อท่านเทศน์อย่างนี้ก็เท่ากับท่านเทศน์ตัวเองด้วย เทศน์โยมด้วยไปพร้อมๆ กัน แล้วเดี๋ยวความก้าวหน้าในธรรมะ ความสามารถในการเทศน์ของท่านก็จะไปได้เอง"

                   คุณยายท่านมีวิธีฝึกคนอย่างง่ายๆ ซึ่งภายหลังได้กลาย เป็นหลักในการฝึกตัวให้แก่หลวงพ่อทัตตะและลูกศิษย์รุ่นหลังๆ ต่อมา

                  นอกจากฝึกให้เทศน์แล้ว คุณยายยังฝึกให้ท่านรับแขกเป็นด้วย บางครั้งหลวงพ่อธัมมชโยไม่อยู่ เมื่อถึงเวลารับแขก คุณยายจะมานั่งอยู่ด้วย เมื่อแขกมาซักถามปัญหาต่างๆ คุณยายจะบอกว่า

                 "ไปถามองค์นั้นท่านเป็นพระท่านจบจากมหาวิทยาลัยท่านไปเมืองนอกมา ยายน่ะไม่รู้หนังสือหรอก"

                 แล้วท่านก็นั่งเฉยไม่พูดสิ่งใด หลวงพ่อทัตตะจึงต้องเป็นผู้ตอบปัญหา ซึ่งบางคำถามก็ไม่เหมาะสมที่พระจะตอบ หลังจากที่แขกกลับไปแล้ว คุณยายจึงแนะนำการตอบคำถามที่พอเหมาะพอสมกับเพศภาวะให้ ครั้งนั้นท่านต้องฝึกปฏิภาณ ในการรับแขกให้หลวงพ่อทัตตะอยู่ถึง ๒ ปี จึงสามารถตอบปัญหาญาติโยมได้อย่างถูกต้องและถูกใจมาจนทุกวันนี้

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017578784624736 Mins