คุณยายสอนศิษย์

วันที่ 05 มิย. พ.ศ.2560

คุณยายสอนศิษย์

                  ทุกวันศุกร์ หลวงพ่อธัมมชโยจะวางงานทุกอย่างเพื่อเตรียมเทศน์ เตรียมนำนั่งสมาธิให้กับสาธุชนในวันอาทิตย์ วันเสาร์ทั้งวันท่านจะไม่ไปไหน นอกจากรับแขกบ้าง หลังจากนั้นก็จะนั่งสมาธิทั้งวัน

                  สำหรับหลวงพ่อทัตตะกับพระรูปอื่นๆ วันศุกร์ท่านจะนำเด็กวัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการอบรมธรรมทายาทและเข้ามาช่วยงานวัดกันตั้งแต่วันศุกร์จนถึงวันอาทิตย์ให้นั่งสมาธิ แล้วก็ไปช่วยกันปลูกต้นไม้ ถ้ามีอะไรต้องทำเล็กๆ น้อยๆ ก็จะช่วยกันทำในส่วนนี้ พอตอนบ่ายท่านจะนำเด็กเหล่านั้นไป สมทบกับคุณยายเพื่อช่วยกันทำความสะอาด หลังจากนั้นจึงจะเตรียมเทศน์ให้สาธุชนในภาคบ่ายวันอาทิตย์ที่จะมาถึง กิจกรรมเหล่านี้ได้กระทำต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ซึ่งทั้งหมดคือพื้นฐานที่คุณยายปูไว้ให้กับหลวงพ่อทั้งสอง

                  การเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับสาธุชนในวันอาทิตย์นั้น มีการเตรียมกันภายในพื้นที่วัด ๑๙๖ ไร่ นับตั้งแต่การเตรียมเรื่องถังขยะ ดูแลความสะอาดห้องน้ำทั้งหมด ซึ่งคุณยายจะนำเด็กวัดขัดห้องน้ำด้วยตนเอง โดยปกติแล้วท่านไม่เคยสั่งให้ใครทำอะไรแต่เพียงวาจา แต่จะสอนทุกคนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และลงมือทำร่วมกันไปด้วยทุกครั้ง

                  ห้องน้ำที่ท่านล้างมากที่สุด คือห้องน้ำ ๒๐ ห้องเยื้องกุฏิของท่านท่านจะพาเด็กวัดทั้งหมดมาล้างห้องน้ำ โดยสอนให้ล้วงคอห่านอย่างละเอียดลออ มีสก็อตไบรท์อันหนึ่งกับแฟ้บนิดหน่อยก็แข่งกันล้าง ยิ่งเด็กวัดเห็นว่าคุณยายลงมือทำด้วยความเบิกบานใจ ก็ยิ่งมีกำลังใจขยันทำมากขึ้น คุณยายจะสอนเสมอว่าทำให้ดีที่สุดในชาตินี้ชาติต่อไปจะได้มีความสบาย ไม่ต้องกลับไปทำใหม่อีก อานิสงส์นี้จะติดตัวเราไปในภพชาติเบื้องหน้า

                   ไม่เพียงแต่การทำงานละเอียดคือการปฏิบัติธรรมของคุณยายจะไม่มีที่ติแล้ว งานหยาบในหน้าที่ของแม่บ้านและครูบาอาจารย์ก็ไม่บกพร่องท่านจะยึดครัวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บจานหรือช้อนท่านจะสอนให้วางเรียงกันอย่างมีระเบียบ เคยมีญาติโยมมาจากต่างประเทศเข้าไปดูในครัว ได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ เป็นช่องๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็ถึงกับอุทานอย่างอัศจรรย์ใจแล้วเอาไปเขียนเอาไปพูดคุยกันไม่รู้จบ

                   เมื่อมีข่าวร่ำลือว่า มีพระจบปริญญามาบวชสร้างวัดใหญ่โต พูดกันไปต่างๆ นานา ข่าวนั้นไปถึงพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ปกครอง วันหนึ่งท่านจึงเดินทางมาดูวัดพระธรรมกายซึ่งอยู่ในเขตปกครองของท่าน

                   การมาตรวจดูคราวนั้นท่านไม่ดูอะไรนอกจากครัวกับห้องน้ำ พอไปเปิดห้องน้ำดูก็ถึงกับเอ่ยขึ้นว่า

                  "อือม์ ที่นี่ดี ต่อไปจะเจริญ"

                   นอกจากความสะอาดจะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งแล้ว ในระยะที่สร้างวัดใหม่ๆ ยังไม่เสร็จอย่างสมบูรณ์พร้อมนี้ คุณยายท่านมองเห็นความสำคัญของระเบียบวินัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เช่น เรื่องการวางรองเท้า ไม้กวาด หรือการตากผ้าขี้ริ้วต่างๆ คุณยายเคยปรารภกับหลวงพ่อทัตตะว่า

                   "วัดเรายังไม่เป็นระเบียบเท่าที่ควรจะเป็น แต่ญาติโยม ก็มาวัดกันแล้ว โดยเฉพาะวันอาทิตย์ เขาก็ควรจะได้รับสิ่งที่ดีงามจากวัดกลับไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พวกท่านก็เพิ่งบวชกันใหม่ๆ การที่จะเทศน์อะไรให้ลึกซึ้งคงยังทำกันไม่ได้เพราะเรายังอยู่ในภาวะฝึกตัว แต่ก็สามารถให้ประโยชน์แก่ญาติโยมที่มาวัดได้ ตั้งแต่ทำวัดให้สะอาดๆ ให้ญาติโยมได้เข้ามาเดินทำวัดให้ร่มรื่นเขียวชอุ่ม เพื่อญาติโยมจะได้มานั่งสมาธิ ทำต้นแบบดีๆ ให้ญาติโยมดู แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

                   จัดทุกอย่างในวัดให้เป็นระเบียบ ตั้งแต่รองเท้าก็จัดให้เรียบร้อย ไปดูเถอะ เวลาเข้าไปที่ไหนแล้วเห็นรองเท้ามันเกลื่อนกันไปหมด เมื่อรองเท้ามันเกลื่อน ไม้กวาดมันก็เกลื่อนผ้าขี้ริ้วมันก็เกลื่อน ถังขยะก็เกลื่อน ขยะเองก็เกลื่อน ถ้าเป็นอย่างนั้น ญาติโยมมาถึงที่แล้วจะนั่งสมาธิให้ใจสงบทันทีนั้นเป็นไปไม่ได้ กว่าใจจะสงบก็หมดเวลาไปเป็นชั่วโมง พอใจสงบแล้วลุกขึ้นมา เห็นความเกะกะเหล่านี้อีกธรรมะที่อุตส่าห์นั่งเป็นชั่วโมงก็จะหมดไป

                   แต่ถ้าช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ให้เรียบร้อย ใจท่านจะสงบทั้งวัน ใจจะเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางกายโดยอัตโนมัติ ลองทำเถอะ ยายก็ทำมาอย่างนี้ แล้วยายก็ได้ท่านทำไปท่านก็ได้ เพราะว่ามันเป็นของที่เป็นจริงตามธรรมชาติ แล้วเมื่อญาติโยมมาถึงวัด ถึงแม้ไม่ได้ฟังเทศน์ แต่ได้พบได้เห็นสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะได้ความสบายใจกลับไป ได้ตัวอย่างที่ดีๆ กลับไป"

                   วัดพระธรรมกายเจริญมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะคุณยาย คนรุ่นบุกเบิกสร้างวัดที่ได้เห็นคุณของการมีกฎระเบียบที่รัดกุมและเห็นโทษของการหละหลวมในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ จึงได้ออกกฎระเบียบที่ดีงามเป็นมาตรฐานเอาไว้ในวัดพระธรรมกายให้ผู้มาใหม่ แม้ว่าจะมาในวันแรกก็สามารถปฏิบัติตามได้โดย ไม่เคอะเขิน เช่น จะถอดรองเท้าก็มีป้ายบอกว่าตรงนี้เป็นที่ถอดรองเท้า มีที่สำหรับวางรองเท้า วาดรูปเอาไว้ให้เห็นว่าต้องวางรองเท้าอย่างไร และมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำอีกด้วย เมื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบจนรู้จักกันดีแล้ว จึงไม่ต้องจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วกฎระเบียบก็กลายเป็นวัฒนธรรมในที่สุด

                   วัฒนธรรมการวางรองเท้าของวัดพระธรรมกายนั้นส่งผลให้บางคน ซึ่งปกติเวลาจะไปไหนมาไหนนับว่าเขากร่างพอสมควร แต่เพียงแค่เห็นรองเท้าของคนงานที่ถอดวางกันอย่าง มีระเบียบแล้วขึ้นไปทำวัตรเช้า ก็ทำให้เขารู้สึกว่าใจของเขาเล็กลง ตัวลีบลง และถูกข่มลงไปเลย

                   นอกจากการอบรมคุณธรรมให้กับบรรดาลูกศิษย์แล้วคุณยายไม่เคยละเลยที่จะอบรมสั่งสอนคนงานของวัดไปด้วยท่านไม่คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นเพียงคนงานที่มาทำงานไปวันหนึ่งๆ แต่ปรารถนาให้เขาได้รับความรู้ในเรื่องของบุญกุศลและซึมซับคุณธรรมต่างๆ เท่าที่จะสามารถรับได้ อันจะเป็นบุญติดตัวไปในภพเบื้องหน้า คนงานจึงเคารพรักคุณยายมาก ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์วันหนึ่ง คุณยายเดินไปถามคนงานว่า

                   "เออ...ไอ้หนู เราคิดยังไง เวลาปลูกต้นไม้"

                   เขาก็ตอบว่า "คิดว่าต้นไม้อย่าตายเลย เดี๋ยวหลวงพ่อทัตตะดุเอา"

                   คุณยายถามอีกคน "คิดยังไง เวลาปลูกต้นไม้"

                   "คิดว่าอย่าตายเลย แล้วขอให้มันโตเร็วๆ เถอะ อย่าต้องย้อนมาปลูกใหม่กันอีกเลย"

                   "แล้วเราคิดยังไง"

                   "คิดว่าอย่าตายเลย ให้โตเร็วๆ แล้วถ้าใครผ่านมาให้ ได้พักร่มไม้ให้ชื่นใจ"

                    มีอยู่คนหนึ่งตอบคุณยายว่า

                    "ใครมานั่งโคนต้นไม้หนูนะ ให้เขานั่งสมาธิให้ได้เต็มที่ ให้เห็นองค์พระเร็วๆชัดๆ"

                    "เออ ต้องทำอย่างนี้สิ ต้องอย่างนี้ ปลูกต้นไม้มันก็เหนื่อยเท่ากับคนอื่นนั่นแหละ เงินก็ได้เท่ากับคนอื่น แต่เราได้บุญมากกว่า"

                    สิ่งที่คุณยายสอนคนงานนี้ เป็นข้อคิดสำหรับนักสร้างบารมีทั้งหลายว่า ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งยืน เดิน นั่ง นอน ขอให้ทำให้กุศลเจริญขึ้น อกุศลเสื่อมลงตลอด ๒๔ ชั่วโมง

                   นอกจากสอนเรื่องบุญแล้วท่านยังไม่ชอบให้มีเรื่องชู้สาวเกิดขึ้นในวัด บางวันคุณยายเดินตรวจงานอยู่กับหลวงพ่อทัตตะสมัยนั้นยังไม่มีอุบาสิกาท่านเห็นเด็กคนงานหญิงชายซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นโสดกำลังเล่นกัน เด็กผู้ชายจะเล่นแกล้งเอาดินขว้างเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงก็แกล้งขว้างกลับไปบ้าง เดี๋ยวเด็กผู้ชายก็ใช้ไม้เล็กๆ ตีเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงก็เอาไม้เล็กๆตีกลับบ้างท่านผ่านมาเห็นก็ดุ แล้วบอกหลวงพ่อทัตตะว่า

                  "ท่านอย่าปล่อยให้พวกนี้มันเล่นกัน เดี๋ยวเสียหายหมดวัดหรอก ทีแรกมันก็ขว้างกัน จากขว้างกันมันก็จะใช้ไม้ตีกันจากไม้ตีกันเดี๋ยวมันก็เอามือตีกัน พอมันเอามือตีกันเดี๋ยวมันก็ลามเอามือจับ ทีแรกมันก็จับมือ เดี๋ยวเถอะมันจับหมดตัวหรอกนะ ก็ที่มันมีลูกมีผัวเต็มแผ่นดินน่ะมันก็จับกันทีละนิดอย่างนี้ วันหลังเจอคนงานมันเล่นกันอย่างนี้อีก ไล่ออกไปเลยนะ ไม่งั้นเดี๋ยวมีเรื่องชู้สาวเกิดขึ้นในวัดเรา"

                 วัดพระธรรมกายมุ่งเน้นให้คนมาปฏิบัติธรรม การเจริญสมาธิภาวนาต้องอาศัยความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงธรรม หากมีเรื่องชู้สาวเกิดขึ้นจะไม่สงบระงับ ไม่หยุด ไม่นิ่ง บรรยากาศของการปฏิบัติธรรมก็จะถูกทำลายไป นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้แตกความสามัคคีกันอีกด้วย คุณยายจึงต้องเข้มงวดในเรื่องนี้

                 วันหนึ่งในระหว่างนั้นประมาณ ๓-๔ โมงเย็น หลวงพ่อทัตตะเดินผ่านมาที่กุฏิของคุณยาย มองไปเห็นท่านกำลังพรวนดินให้ต้นไม้รอบๆ กุฏิ จึงเดินเข้าไปยืนอยู่ห่างๆทางด้านหลัง ประมาณ ๔-๕ นาทีคุณยายก็เหลียวหน้ามา หลวงพ่อทัตตะจึงทักว่า

                  "ยาย..ยายอายุมากแล้ว พรวนดินต้นไม้มากมายอย่างนี้ไม่เหนื่อยหรือ"

                  "ไม่เหนื่อยหรอกท่านทำไปก็ตรึกไปเรื่อยๆ มันก็เลยไม่เหนื่อย"

                  "ยายตรึกเรื่องอะไร"

                  "ยายพรวนดินไปก็มองเข้าศูนย์กลางกายไป เข้าไปกลางพระธรรมกาย ระลึกชาติไปดูว่าพระพุทธเจ้าในอดีตแต่ละพระองค์ที่ผ่านมาท่านสร้างบารมีของท่านอย่างไร แล้วยายก็เอาเป็นแบบอย่างว่าเรายังมีข้อบกพร่องที่ห่างจากพระพุทธเจ้าอย่างไรบ้าง จะได้ปรับปรุงตัวให้ยิ่งๆ ขึ้นไป"

                 คุณยายท่านเป็นผู้ฝึกตัวอยู่ตลอดเวลา นักสร้างบารมีที่ดีนั้นต้องย้อนกลับไปดูว่า พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ท่านทำอย่างไร เพราะกว่าจะมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปค้นเอาธรรมะมาสอนตัวเองสอนชาวโลกได้ท่านจะต้องทำตัวของท่านให้ดีที่สุด การที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีที่สุดก็มีทางเดียวคือ จะต้องเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ให้กับตัวเองทำแต่ละวันให้ดีที่สุดขึ้นมาให้ได้ เมื่อเราดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เราก็ต้องฝึกตัวให้เป็นอย่างท่าน จึงจะสมกับเป็นนักสร้างบารมีที่พร้อมจะก้าวไปสู่ความเป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

                  ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดจาก "ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม" มาเป็น "วัดพระธรรมกาย" วันเวลาที่ ผ่านมาพร้อมกับอุปสรรคทั้งมวลในการสร้างวัดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ปรากฏเป็นความสำเร็จที่เห็นได้อย่างเด่นชัด ในภาพของวัดพระธรรมกายอันสวยงามสงบ ร่มรื่น ให้สาธุชนได้เข้ามาปฏิบัติธรรมกันอย่างมีความสุข

                  แม้ว่าเวลานี้คุณยายจะอายุมากขึ้น แต่แววแห่งความกระฉับกระเฉงว่องไวยังคงมีอยู่ท่านบริหารเวลาได้อย่างดีเยี่ยมยังคงตื่นนอนประมาณตี ๔ ตี ๕ เพื่อนั่งสมาธิเช่นเคย พอว่างก็จัดโน่นทำนี่เล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัวท่าน

                  ประมาณ ๖ โมงครึ่ง คุณอารีพันธุ์ ตรีอนุสรณ์ หรือที่น้องๆ รุ่นหลังเรียกกันว่า "พี่อารีพันธุ์" จะนำอาหารเช้าใส่ถาดมาให้คุณยายรับประทานที่กุฏิของท่าน หลังจากรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว คุณยายจะสวมหมวกถักไหมพรม สีขาวแล้วพันผ้าพันคอที่เป็นไหมพรม สีขาวเช่นเดียวกัน ใส่ถุงเท้าและสวมรองเท้าอย่างเรียบร้อยออกมาตรวจงานในครัว ถ้าวันไหนอากาศเย็น พี่อารีพันธุ์จะให้คุณยายสวมถุงมือและถุงเท้าชนิดที่ค่อนข้างหนา บรรดาเครื่องนุ่งห่มที่คุณยายสวมใส่ทั้งหมดนี้ มีลูกศิษย์เป็นผู้คอยจัดหามาให้ และขอร้องให้คุณยายนำออกมาใช้เพื่อรักษาสุขภาพ

                   เนื่องจากคุณยายเป็นคนขยัน จึงมีบ่อยครั้งที่ท่านจะใส่เครื่องให้ความอบอุ่นเหล่านี้อย่างครบเครื่องแล้วไปนั่งถอนหญ้าอยู่ข้างกุฏิ บางครั้งท่านก็จะไปขุดต้นไม้ที่เพิ่งงอกจากเมล็ดซึ่งหล่นอยู่ข้างทาง แล้วหิ้วต้นไม้เหล่านั้นมาขอถุงพลาสติกในครัวใส่เพื่อเอาไปปลูก

                  "ต้นไม้เล็กๆ นี่เป็นต้นไม้ดีๆทั้งนั้นทิ้งไว้ไก่จะมาจิกยายจะเอาไปให้เขาปลูก วัดเราต้องปลูกต้นไม้เยอะๆ ลูกให้เป็นวัดเกษตร"

                   คุณยายรักต้นไม้มาก แต่ในวัดมีทั้งไก่แจ้และนกยูงที่คอยมาจิกกินเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ คุณยายจึงให้สร้างแคร่เตี้ยๆไว้ข้างกุฏิของท่านสำหรับวางถุงเพาะต้นไม้ที่ท่านรีบขุดขึ้นมาให้พ้นจงอยากไก่

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011896014213562 Mins