วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

วันที่ 08 มิย. พ.ศ.2560

วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

 

 

                 สมาธิ คือ ความสงบสบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนากำหนดเอาไว้เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา อันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัยทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่าย ๆ ดังวิธีปฏิบัติที่ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี ( สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้เมตตาสั่งสอนไว้ดังนี้

                 ๑. กราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้นุ่มนวลไว้เป็นเบื้องต้น แล้วสมาทานศีลห้า หรือศีลแปด เพื่อย้ำความมั่นคงในคุณธรรมของตนเอง

                 ๒. คุกเข่าหรือนั่งพับเพียบสบาย ๆ ระลึกถึงความดีที่ได้กระทำแล้วในวันนี้ ในอดีต และที่ตั้งใจจะทำต่อไปในอนาคต จนราวกับว่าร่างกายทั้งหมดประกอบขึ้นด้วยธาตุแห่งคุณงามความดีล้วน ๆ

                 ๓. นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขา ซ้าย มือขวาทับมือ ซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือ ซ้าย นั่งให้อยู่ในท่าที่สบาย ๆ ไม่ฝืนร่างกายมากจนเกินไปไม่ถึงกับเกร็ง แต่อย่าให้หลังโค้งงอ หลับตาพอสบาย ๆ คล้ายกับกำลังพักผ่อน ไม่บีบกล้ามเนื้อตา หรือขมวดคิ้ว แล้วตั้งใจมั่น ทำใจสบาย ๆสร้างความรู้สึกให้พร้อมทั้งกายและใจว่า กำลังจะเข้าไปสู่ภาวะแห่งความสงบสบายอย่างยิ่ง

                ๔. นึกกำหนดนิมิต เป็น "ดวงแก้วกลมใส" ขนาดเท่าแก้วตาดำ ใสบริสุทธิ์ปราศจากราคีหรือรอยตำหนิใด ๆ ขาวใสเย็นตาเย็นใจ ดังประกายของดวงดาว ดวงแก้วกลมใสนี้เรียกว่า บริกรรมนิมิต นึกสบาย ๆ เหมือนดวงแก้วนั้นมานิ่งสนิทอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗   นึกไปภาวนาไปอย่างนุ่มนวลเป็นพุทธานุสติว่า "สัมมาอรหัง" หรือค่อย ๆ น้อมนึกดวงแก้วกลมใสให้ค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกายตามแนวฐาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานที่ ๑ เป็นต้นไป น้อมด้วยการนึกอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ พร้อมกับคำภาวนา

               อนึ่ง เมื่อนิมิตดวงใสกลมสนิทปรากฏแล้ว ณ กลางกาย ให้วางอารมณ์สบาย ๆ กับนิมิตนั้น จนเหมือนกับว่าดวงนิมิตเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์หากดวงนิมิตนั้นอันตรานหายไปก็ไม่ต้องนึกเสียดาย ให้วางอารมณ์สบาย ๆ แล้วนึกนิมิตขึ้นมาใหม่แทนดวงเก่า หรือเมื่อนิมิตนั้นไปปรากฏที่อื่นที่มิใช่ ศูนย์กลางกาย ให้ค่อย ๆ น้อมนิมิตเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการบังคับ และเมื่อนิมิตมาหยุดสนิท ณ ศูนย์กลางกาย ให้วางสติลงไปยังจุดศูนย์กลางของดวงนิมิต ด้วยความรู้สึกคล้ายมีดวงดาว ดวงเล็ก ๆ อีกดวงหนึ่ง ซ้อนอยู่ตรงกลางดวงนิมิตดวงเดิม แล้วสนใจเอาใจใส่แต่ดวงเล็ก ๆ ตรงกลางนั้นไปเรื่อย ๆ ใจจะรับจนหยุดได้ถูกส่วน แล้วจากนั้นทุกอย่างจะค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นภาวะของดวงกลมทั้งใสทั้งสว่างผุดซ้อนขึ้นมาจากกึ่งกลางดวงนิมิต ตรงที่เราเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ดวงนี้เรียกว่า "ดวงธรรม" หรือ "ดวงปฐมมรรค" อันเป็นประตูเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพาน

               การระลึกนึกถึงนิมิตหรือดวงปฐมมรรคนี้สามารถทำได้ในทุกแห่งทุกที่ทุกอิริยาบถ เพราะดวงธรรมนี้คือ ที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐสุดของมนุษย์

               ข้อแนะนำ คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำทำเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง และเมื่อการปฏิบัติบังเกิดผลจนได้ "ดวงปฐมมรรค" ที่ใสเกินใสสวยเกินสวยติดสนิทมั่นคงอยู่ที่ศูนย์กลางกายแล้ว ให้หมั่นตรึกระลึกนึกถึงอยู่เสมอ

                อย่างนี้แล้ว ผลแห่งสมาธิจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความสุขความสำเร็จ และความไม่ประมาทได้ตลอดไปทั้งยังจะทำให้สมาธิละเอียดอ่อนก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

               ๑. อย่าใช้กำลัง คือ ไม่ใช้กำลังใด ๆทั้งสิ้น เช่น ไม่บีบกล้ามเนื้อตาเพื่อจะให้เห็นนิมิตเร็ว ๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม่เกร็งตัว ฯลฯ เพราะการใช้กำลังตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อนจากศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น

               ๒. อย่าอยากเห็น คือทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติมิให้เผลอจากบริกรรมภาวนาและบริกรรมนิมิตส่วนจะเห็นนิมิตเมื่อใดนั้น อย่ากังวลถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การบังเกิดของดวงนิมิตนั้น อุปมาเสมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เราไม่อาจจะเร่งเวลาได้

               ๓. อย่ากังวลถึงการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะการฝึกสมาธิเจริญภาวนาวิชชาธรรมกาย อาศัยการนึก "อาโลกกสิณ" คือ กสิณความสว่างเป็นบาทเบื้องต้น เมื่อเกิดนิมิตเป็นดวงสว่างแล้วค่อยเจริญวิปัสสนาในภายหลัง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกแต่ประการใด

               ๔. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้ว ให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกายที่เดียว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นอนก็ดี หรือนั่งก็ดี อย่าย้ายฐานที่ตั้งจิตไปไว้ที่อื่น ให้ตั้งใจบริกรรมภาวนา พร้อมกับนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใสควบคู่กันตลอดไป

               ๕. นิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายทั้งหมดถ้านิมิตเกิดขึ้นแล้วหายไปก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติ ในที่สุดเมื่อจิตสงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นใหม่อีก

                 สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกสมาธิเพียงเพื่อให้เกิดความสบายใจ เป็นการ พักผ่อนหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ ภารกิจประจำวัน โดยยังไม่ปรารถนา จะทำให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ การฝึกสมาธิเบื้องต้นเท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็พอเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขได้พอสมควร เมื่อซักซ้อมปฏิบัติอยู่เสมอ ๆ ไม่ทอดทิ้ง จนได้ดวงปฐมมรรคแล้ว ก็ให้หมั่นประคองรักษาดวงปฐมมรรคนั้นไว้ตลอดชีวิต และอย่ากระทำความชั่วอีก เป็นอันมั่นใจได้ว่าถึงอย่างไรชาตินี้ ก็พอมีที่พึ่งที่เกาะที่ดีพอสมควร คือ เป็นหลักประกันว่าจะไม่ต้องตกนรกแล้วทั้งชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ

๑. ผลต่อตนเอง

๑.๑. ด้านสุขภาพจิต

              - ส่งเสริมให้คุณภาพของใจดีขึ้น คือทำให้จิตใจผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์สงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย มีความจำและ สติปัญญาดีขึ้น

              - ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจทำให้คิดอะไรได้รวดเร็ว ถูกต้องและเลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดีเท่านั้น

๑.๒. ด้านพัฒนาบุคลิกภาพ

              - ทำให้เป็นผู้มีบุคลิกภาพดี กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่ามีความองอาจสง่าผ่าเผย มีผิวพรรณผ่องใส

              -  มีความมั่นคงทางอารมณ์ หนักแน่น เยือกเย็น และเชื่อมั่นในตนเอง

              -  มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวได้เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นผู้มีเสน่ห์เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไปด้านชีวิตประจำวัน

              - ช่วยให้คลายเครียด เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงานและการศึกษาเล่าเรียน

              - ช่วยเสริมให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะร่างกายกับจิตใจย่อมมีอิทธิพลต่อกัน ถ้าจิตใจเข้มแข็งย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว

๑.๔. ด้านศีลธรรมจรรยา

               - ทำให้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ เชื่อกฎแห่งกรรมสามารถคุ้มครองตนให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้ และเนื่องจากจิตใจดี จึงทำให้ความประพฤติทางกายและวาจาดีตามไปด้วย

               - ทำให้เป็นผู้มีความมักน้อยสันโดษ รักสงบ และมีขันติเป็นเลิศ

               - ทำให้เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว เป็นผู้มีสัมมาคารวะ และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

๒. ผลต่อครอบครัว

                 ๒.๑.ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข เพราะสมาชิกในครอบครัวเห็นประโยชน์ของการประพฤติธรรมทุกคนตั้งมั่นอยู่ในศีล ปกครองกันด้วยธรรม เด็กเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เมตตาเด็กทุกคนมีความรักใคร่สามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจ เดียวกัน

                ๒.๒.ทำให้ครอบครัวมีความเจริญก้าวหน้า เพราะสมาชิกต่างก็ทำหน้าที่ของตนโดยไม่บกพร่อง เป็นผู้มีใจคอหนักแน่น เมื่อมีปัญหาครอบครัว หรือมีอุปสรรคอันใด ย่อมร่วมใจกันแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไปได้

๓. ผลต่อสังคมและประเทศชาติ

               ๓.๑.ทำให้สังคมสงบสุขปราศจากปัญหาอาญากรรมและปัญหาสังคมอื่น ๆ เพราะปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการ ฆ่า การข่มขืน โจรผู้ร้าย การทุจริตคอรัปชั่น ล้วนเกิดขึ้นมาจากคนที่ขาดคุณธรรม ซึ่งมีจิตใจอ่อนแอ หวั่นไหวต่ออำนาจสิ่งยั่วยวนหรือกิเลส ได้ง่าย ส่วนผู้ที่ฝึกสมาธิ ย่อมมีจิตใจเข้มแข็ง มีคุณธรรมในใจสูง ถ้าแต่ละคนใน สังคมต่างฝึกฝนอบรมใจของตนให้หนักแน่น มั่นคง ด้วยการเจริญสมาธิ ภาวนาแล้วปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นส่งผลให้สังคมสงบสุขได้

              ๓.๒.ทำให้เกิดความมีระเบียบวินัย และเกิดความประหยัด ผู้ที่ฝึกใจให้ดีงามด้วยการทำสมาธิอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้รักความมีระเบียบวินัย รักความสะอาด มีความเคารพกฎหมายของบ้านเมืองทำให้บ้านเมืองของเราสะอาดน่าอยู่ ไม่มีคนมักง่ายทิ้งขยะลงบนพื้นถนน จะข้ามถนนก็เฉพาะตรงทางข้าม เป็นต้น เป็นเหตุให้ประเทศชาติไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเวลา และกำลังเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้สำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีระเบียบวินัยของประชาชน

              ๓.๓.ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า เมื่อสมาชิกในสังคมมีสุขภาพจิตดี รักความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ย่อมส่งผลให้สังคมเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย และเมื่อมีกิจกรรมของส่วนรวมสมาชิกในสังคมก็ย่อมพร้อมที่จะ ละความสุขส่วนตน ให้ความร่วมมือกับส่วนรวมอย่างเต็มที่ และแม้มีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสังคม จะมายุแหย่ให้เกิดความแตกแยกก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะสมาชิกในสังคมเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่น มีเหตุผลและเป็นผู้รักความสงบ

๔. ผลต่อพระศาสนา

             ๔.๑.ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนา รวมทั้งรู้เห็นด้วยตัวเองว่าการฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องเหลวไหล หากแต่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์เข้าสู่นิพพานได้

             ๔.๒.ทำให้เกิดศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย พร้อมที่จะเป็นนายแก้ต่างให้กับพระศาสนา อันจะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมให้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

             ๔.๓. เป็นการ สืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป เพราะตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังตั้งใจปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ตราบนั้น

            ๔.๔. จะเป็นกำลังส่งเสริมทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อเข้าใจซาบซึ้งถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมด้วยตนเองแล้ว ย่อมจะชักชวน ผู้อื่นให้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตามไปด้วย และเมื่อใดที่ทุกคนในสังคมตั้งใจทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาปฏิบัติธรรม เมื่อนั้นย่อมเป็น ที่หวังได้ว่าสันติสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010486682256063 Mins