บทสรุปพระพุทธคุณ

วันที่ 12 มิย. พ.ศ.2560

บทสรุปพระพุทธคุณ

พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พระพุทธคุณ , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , บทสรุปพระพุทธคุณ

    เราได้ทำความเข้าใจพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำเรื่อง "พระพุทธคุณ" กันไปแล้ว และทำให้เราสรุปได้ว่า พระพุทธคุณทั้งปวงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ล้วนมีเหตุเริ่มต้นมาจากความที่พระองค์ทรงเป็น "อรหัง" ซึ่งแปลว่า "เป็นผู้ไกลจากกิเลส" หมายความว่า พระองค์ทรงสามารถปราบกิเลสที่อยู่ในใจไปได้ชนิดหมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ จนกิเลสน้อยใหญ่ไม่สามารถที่จะย้อนคืนกลับมากำเริบในพระทัยของพระองค์ได้อีกต่อไป

    ความเป็น "อรหัง" หรือ "ผู้ไกลจากกิเลส" ของพระองค์นั้นเกิดจากการที่พระองค์ทรงอาศัยธรรมกายภายในของพระองค์ไปเห็นไปรู้เท่าทันธรรมชาติกิเล ที่ทั้งหมักดอง ห่อหุ้ม ครอบงำ กัดกร่อน บีบคั้น บังคับ พระทัยของพระองค์มานานนับอสงไขยภพอสงไขยชาติไม่ถ้วนอย่างชัดเจน ว่ากิเลสเหล่านั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และสามารถดับไปได้อย่างไร

   เมื่อพระองค์ทรงเห็น ทรงรู้เท่าทันกิเลสเช่นนี้แล้ว จึงทำให้กิเลสหมดฤทธิ์หมดอำนาจไปทันที ไม่สามารถย้อนกลับมาหมักดอง ห่อหุ้ม ครอบงำ กัดกร่อน บีบคั้น บังคับพระทัยของพระองค์ได้อีกต่อไป

    อุปมาเสมือนกับดวงอาทิตย์ซึ่งมีรัศมีสว่างไสว เมื่อโผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาในยามเช้าย่อมฆ่าความมืดที่ห่อหุ้มปกคลุมโลกให้หมดไปตามลำดับ ๆ ได้ฉันใด

   ความสว่างของธรรมกายภายใน ซึ่งทำให้พระองค์ไปเห็นไปรู้เท่าทันธรรมชสติของกิเลสก็สามารถฆ่ากิเลสทั้งหลายให้หมดไปตามลำดับ ๆ ได้ฉันนั้นเหมือนกัน

    จากความสว่างโดยไม่มีที่สุด ที่ประมาณของธรรมกายของพระองค์ คือ สว่างยิ่งกว่าเอาดวงอาทิตย์ยามเที่ยงมาเรียงเป็นดวง ๆ เต็มท้องฟ้า ก็ทำให้พระองค์ทรงเห็น ทรงรู้ความเป็นไปในอดีตทั้งหมด คือ ทรงสามารถระลึกชาติของพระองค์เองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่เรียกว่า "ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุ ติญาณ"

      พระองค์ได้ตรัสอาการของการระลึกชาติครั้งนั้นเอาไว้ใน โพธิราชกุมารสูตรว่า

    "เรานั้น ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในภพก่อนได้หลายประการคือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง องชาติสามชาติสี่ชาติ ห้าชาติสิบชาติ ยี่สิบชาติสามสิบชาติสี่สิบชาติ ห้าสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติ แสนชาติ ตลอดหลายสังวัฏฏกัปปบ้าง ว่าเมื่อเราอยู่ในภพโน้นมีชื่ออย่างนั้น มีโคตร มีวรรณะ มีอาหารอย่างนั้น ๆ เสวยสุขและทุกข์เช่นนั้น ๆ มีอายุสุดลงเท่านั้น ๆ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้เกิดในภพโน้น มีชื่อโคตร วรรณะ อาหารอย่างนั้น ๆ ได้เสวยสุขและทุกข์เช่นนั้น ๆ มีอายุสุดลงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นๆ แล้วมาเกิดในภพนี้ฯ เรานั้นระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ และลักษณะดังนี้ ราชกุมาร ! นี่เป็น วิชชาที่ 1 ที่เราได้บรรลุแล้วในยามแรกแห่งราตรี"

    เมื่อพระองค์ทรงทำพระทัยให้หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง เข้าไปในธรรมกายซ้ำแล้วซ้ำอีกไปตามลำดับ ๆ ความสว่างภายในก็ยิ่งทับทวีเพิ่มขึ้นไปอีกนับอ งไขยเท่าไม่ถ้วน จนกระทั่งทรงสามารถเห็นแม้กิเลสที่หมักดอง ห่อหุ้ม ครอบงำ กัดกร่อน บีบคั้น บังคับใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายได้อย่างชัดเจน เห็นจนกระทั่งการไปเกิดมาเกิดของสรรพสัตว์เหล่านั้น ซึ่งเรียกว่า "ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ"

      พระองค์ได้ตรัสอาการบรรลุจุตูปปาตญาณเอาไว้ในโพธิราชกุมารสูตร อีกเช่นกันว่า

   "เรามีจักขุทิพย์บริสุทธิ์กว่าจักขุของสามัญมนุษย์ ย่อมแลเห็นสัตว์ทั้งหลายจุติอยู่บังเกิดอยู่ เลวทราม ประณีต มีวรรณะดี มีวรรณะเลว มีทุกข์ มีสุข เรารู้แจ้งชัดหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมว่า "ผู้เจริญทั้งหลาย !สัตว์เหล่านี้หนอประกอบกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต พูดติเตียนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบการงานด้วยอำนาจ มิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่กายแตกไปล้วนพากันเข้าสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย !สัตว์เหล่านี้หนอประกอบกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสัมมาทิฏฐิ ประกอบการงานด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่กายแตกไปล้วนพากันเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ เรามีจักขุทิพย์บริสุทธิ์ล่วงจักขุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์ผู้จุติอยู่ บังเกิดอยู่ เลว ประณีต มีวรรณะดี วรรณะทราม มีทุกข์ มีสุข รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรมได้ฉะนี้ฯ ราชกุมาร ! นี่เป็นวิชชาที่ 2 ที่เราได้บรรลุแล้วในยามกลางแห่งราตรี"

    ในที่สุดพระองค์ทรงทำพระทัยให้หยุดนิ่งซ้ำแล้วซ้ำอีกจนถูกส่วนก็เข้าถึงธรรมกายอรหัตจึงทรงเห็น ทรงรู้เท่าทันธรรมชาติของกิเลสทั้งหลายตามความเป็นจริง ทำให้กิเลสที่เคยมีอยู่ไม่สามารถหมักดอง ห่อหุ้ม ครอบงำ กัดกร่อน บีบคั้น บังคับพระทัยของพระองค์ได้อีกต่อไป

    กิเลสที่ถูกทำลายไปด้วยอาการเช่นนี้ เหมือนความสว่างของพระอาทิตย์ในยามเที่ยงวันสามารถทำลายความมืดให้หมดสิ้นไปไม่เหลือเลยฉะนั้น

    แต่โดยธรรมชาติของดวงอาทิตย์เมื่อเลยเที่ยงวันไปแล้ว ก็มีแต่จะคล้อยไป ความสว่างที่เคยเจิดจ้าก็ลดลงไปตามลำดับ ๆ

   แต่พระทัยของพระองค์เมื่อทรงประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 อย่างสมบูรณ์แล้ว มีแต่จะหยุดในหยุดนิ่งในนิ่งเข้าไปในศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของธรรมกายอรหัตเรื่อยไปอย่างไม่ถอนถอยหาได้เคลื่อนคล้อยลอยต่ำเช่นดวงอาทิตย์ไม่ ธรรมกายของพระองค์จึงยิ่งสว่าง ทำให้ยิ่งทรงเห็นทรงรู้เข้าไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นอาสวกิเลสทั้งหลายจึงถูกทำลายลงได้อย่างถาวรไม่สามารถย้อนกลับมามีฤทธิ์ มีอำนาจเหนือพระทัยของพระองค์ได้อีกต่อไป กิเลสทั้งหลายจึงละลายหายสิ้นไปด้วยอาการฉะนั้น เรียกว่า "ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ"

     พระองค์ได้ตรัสอาการที่พระองค์ตรัสรู้อาสวักขยญาณไว้ใน โพธิราชกุมารสูตร ว่า

   "เราย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ นี่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี่ทางให้ถึงความดับไม่มีเหลือแห่งทุกข์ และเหล่านี้เป็น อาสวะทั้งหลาย นี้เหตุแห่งอาสวะทั้งหลาย นี้ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะทั้งหลาย นี้เป็นทางให้ถึงความดับไม่มีเหลือแห่งอาสวะทั้งหลาย เมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็พ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ ครั้นจิตพ้นวิเศษแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า จิตพ้นแล้ว เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่ต้องทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความ (หลุดพ้น) เป็นอย่างนี้ มิได้มีอีกฯ ราชกุมาร ! นี่เป็น วิชชาที่ 3 ที่เราได้บรรลุแล้วในยามปลายแห่งราตรี"

    เพราะเหตุที่ทั้งเห็น ทั้งรู้เท่าทันกิเลสอาสวะทั้งหลายด้วยตาของธรรมกายแล้วสามารถกำจัดทำลายกิเลสจนหมดสิ้นไปได้ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้เอง พระองค์จึงทรงได้พระคุณนามว่า "อรหัง" เป็นผู้ไกลจากกิเล อย่างสิ้นเชิง และเป็นที่มาของพระพุทธคุณประการอื่น ๆ อีกมากมาย

  นอกจากนี้พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำยังได้กรุณาชี้ให้เราเห็นต่อไปว่า เหตุแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระองค์นั้น คือทรงเจริญสมาธิภาวนาอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียวและทรงค้นพบว่าต้องนำใจมาหยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ที่เดียวเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าถึงธรรมกายได้ และต้องอาศัยธรรมกายภายในเท่านั้นจึงจะปราบกิเลสในใจให้หมดสิ้นไปได้

     หรือจะพูดให้ง่าย ๆ ไปกว่านี้ ก็ต้องบอกว่า พระองค์ทรงค้นพบวิธีเข้าถึงธรรมกายได้ด้วยพระองค์เอง ว่าต้องน้อมเอาใจไปหยุดนิ่งซ้ำแล้วซ้ำอีกที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เท่านั้น จึงจะเข้าถึงธรรมกายได้ ถ้าเอาใจไปหยุดนิ่งที่อื่นจะไม่มีโอกาสเข้าถึงธรรมกายได้เลย และต้องอาศัยธรรมกายภายในเท่านั้น จึงจะสามารถปราบกิเลสให้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษได้ หากยังไม่เข้าถึงธรรมกายก็จะไม่มีทางหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้อย่างเด็ดขาด เพราะทรงค้นพบอย่างนี้จึงทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด

    เพราะฉะนั้นเราจึงได้ข้อสรุปว่า เหตุที่ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้พระพุทธคุณทั้ง 9 ประการ ก็คือการที่พระองค์ทรงเจริญสมาธิภาวนาโดยเอาพระทัยไปหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ของพระองค์ เมื่อพระทัยหยุดนิ่ง ถูกส่วนเข้าถึงธรรมกายในธรรมกายไปตามลำดับ ๆ จนถึงธรรมกายอรหัตแล้ว อาศัยธรรมกายอรหัตนั้น กำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปเป็นพระอรหันต์ในที่สุด พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง

    ดังนั้น ชาวพุทธจึงต้องตระหนักว่า การปฏิบัติศาสนกิจอย่างแท้จริง คือ การเจริญสมาธิภาวนาจนเข้าถึงธรรมกายภายในตน

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011776487032572 Mins