การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

วันที่ 26 มิย. พ.ศ.2560

การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกเบื้องต้น , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พระไตรปิฎกคืออะไร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก , สังคายนา

     แม้ในตอนต้นจะได้ระบุนามของพระเถระหลายท่าน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก แต่พระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นภายหลังที่ท่านพระเถระทั้งหลายได้ร่วมกันร้อยกรองจัดระเบียบพระพุทธวจนะแล้ว ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองยังไม่มีการจัดระเบียบหมวดหมู่ ยังไม่มีการจัดเป็นวินัยปิฎกสุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก นอกจากมีตัวอย่างการจัดระเบียบวินัยในการสวดปาฏิโมกข์ลำดับสิกขาบททุกกึ่งเดือน ตามพุทธบัญญัติและการจัดระเบียบธรรมะในสังคีติสูตรและทสุตตรสูตรที่พระสารีบุตรเสนอไว้ กับตัวอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงวิธีจัดระเบียบพระธรรมแก่พระจุนทเถระและพระอานนท์ในปาสาทิกสูตรและสามคามสูตร ดังได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน การที่พระสาวกซึ่งท่องจำกันไว้ได้ และจัดระเบียบหมวดหมู่เป็นปิฎกต่าง ๆ ในเมื่อพระศาสดานิพพานแล้ว พอเทียบได้ดังนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่ากับทรงเป็นเจ้าของสวนผลไม้ เช่น ส้มหรือองุ่น พระเถระผู้จัดระเบียบหมวดหมู่คำสอนเท่ากับเป็นผู้ที่จัดผลไม้เหล่านั้นห่อกระดาษบรรจุลังไม้เป็นประเภท ๆ บางอย่างก็ใช้ผงไม้กันกระเทือนแทนการห่อกระดาษ ปัญหาเรื่องของภาชนะที่ใส่ผลไม้เช่นลังหรือห่อก็เกิดขึ้น คือในชั้นแรก คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น รวมเรียกว่าพระธรรมพระวินัย เช่น ในสมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า "ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป" จึงเป็นอันกำหนดลงเป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่าพระไตรปิฎก มีแต่คำว่า ธรรมวินัย คำว่า "พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก" ในภาษาบาลีนั้นมาเกิดขึ้นภายหลังที่ทำสังคายนาแล้วแต่จะภายหลังสังคายนาครั้งที่เท่าไร จะได้กล่าวต่อไป

      อย่างไรก็ตาม แม้คำว่า "พระไตรปิฎก" จะเกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธปรินิพพานก็ไม่ทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นคลายความสำคัญลงเลย เพราะคำว่า "พระไตรปิฎก" เป็นเพียงภาชนะ กระจาดหรือลังสำหรับใส่ผลไม้ส่วนตัวผลไม้หรือนัยหนึ่งพุทธวจนะ ก็มีมาแล้วใน มัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนา


การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?
     การสวดปาฏิโมกข์ คือการ "ว่าปากเปล่า" หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย 150 ข้อในเบื้องแรก และ 227 ข้อในกาลต่อมาทุก ๆ กึ่งเดือนหรือ 15 วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัยที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าวทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก 15 วันถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ ซึ่งเป็นข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟังและช่วยทักท้วงเมื่อผิด

     ส่วนการสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบต่อ ๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาจึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏมีการถือผิด ตีความหมายผิดก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลานการสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่า "สังคายนา" ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริง เมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบการปัดกวาดให้สะอาด ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์คร้ังหน่ึง เหมือนการทำความสะอาดการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย

     การสังคายนาจึงต่างจากการสวดปาฏิโมกข์ ในสาระสำคัญที่ว่าการสวดปาฏิโมกข์เป็นการทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางพระวินัยส่วนการสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันสมควร แม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิดเข้าใจผิดแต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก แก้ตัวอักษร หรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อนก็ถือกันว่าเป็นการสังคายนา ดังจะกล่าวต่อไป

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011840017636617 Mins