พระไตรปิฎกภาษาญี่ปุ่น (ฉบับไทโชชินชิว)

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2560

พระไตรปิฎกภาษาญี่ปุ่น (ฉบับไทโชชินชิว)

พระไตรปิฎกเบื้องต้น , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , การทำสังคายนา , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระไตรปิฎกภาษาญี่ปุ่น (ฉบับไทโชชินชิว)

   เป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศไทยของเรานั้น คัมภีร์ที่ยึดถือเป็นหลักฐานอ้างอิงในการศึกษาค้นคว้าวิจัยพระพุทธศาสนา คือ พระไตรปิฎก ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนหลัก ๆ 3 ส่วนคือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม พระไตรปิฎกนี้ได้รับการแปลจากภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาที่เก็บรักษาคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ แต่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นนั้นสืบทอดมาจากประเทศจีนเป็นหลัก
ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ที่สืบทอดมานั้นจึงถูกจารึกด้วยอักษรจีนเป็นส่วนใหญ่ และได้มีการพัฒนารูปแบบของคัมภีร์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาดุจเช่นพระไตรปิฎกในประเทศไทยของเรา แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือรูปแบบของการจัดหมวดหมู่และส่วนของเนื้อหา ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นของเถรวาทและมหายานเอกสารฉบับนี้ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาโครงสร้าง เนื้อหาคร่าว ๆ และความสำคัญของพระไตรปิฎกฉบับไทโชชินชิว ปัจจุบันคัมภีร์ชุดนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น


ประวัติความเป็นมา
    ดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาของประเทศญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่จะถูกบันทึกด้วยตัวอักษรของจีนและรูปแบบของประโยคก็เป็นรูปแบบพิเศษ หากต้องการจะศึกษาคัมภีร์เหล่านี้แล้ว นอกจากความรู้เรื่องตัวอักษรจีนแล้วยังต้องศึกษาหลักไวยากรณ์และรูปแบบของประโยคด้วย จึงเป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าใจของคนญี่ปุ่นทั่วไปเพราะเหตุนี้ในยุคแรก ๆ การศึกษาคัมภีร์เหล่านี้จึงจำกัดอยู่ในวงของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาเพียงเท่านั้น ปัญหาที่ประสบอีกประการหนึ่งคือการจัดหมวดหมู่คำสอนนั้นมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น จนมาถึงสมัยไทโชของประเทศญี่ปุ่นซึ่งตรงกับปีค.ศ. 1924 คณะนักวิชาการพระพุทธศาสนาภายใต้การนำของทะคะคุซึจุงจิโรได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงมีความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาปรับปรุงและเรียบเรียงจัดหมวดหมู่คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาทำความเข้าใจสำหรับนักวิชาการยุคหลัง ๆ การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปี ค.ศ.1934 ซึ่งอยู่ในสมัยโชวะ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 11 ปีพระไตรปิฎกฉบับไทโชชินชิวจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์


โครงสร้างพระไตรปิฎกฉบับไทโชชินชิว
      พระไตรปิฎกฉบับไทโชชินชิวมีทั้งหมด 100 เล่ม ซึ่งจัดแบ่งเป็น 5ส่วนดังนี้

      ส่วนที่ 1 ตั้งแต่เล่มที่ 155 เป็นส่วนที่รวบรวมคำสอนที่ สืบทอดจากอินเดียและจีน พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมทั้งที่เป็นของฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานจะถูกจัดเข้าในส่วนนี้ หากนำส่วนของเถรวาทมาเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกของเราแล้วจะพบข้อแตกต่างบางประการ แต่เนื้อหาโดยส่วนใหญ่จะตรงกัน

     ส่วนที่ 2 ตั้งแต่เล่มที่ 56-84 รวมทั้งสิ้น 29 เล่มเป็นส่วนที่เรียบเรียงคำสอนของพระภิกษุในยุคก่อนๆ ในประเทศญี่ปุ่นเอง โดยเริ่มต้นจากการเรียบเรียงคำสอนจากคัมภีร์ชื่อดัง (คัมภีร์ซังเคียวกิโฉะ)ในยุคของพระเจ้าจักรพรรดิโชโทะคุไทชิ การจัดหมวดหมู่ของคัมภีร์ในส่วนนี้จัดเรียงตามลำดับยุคสมัยเป็นหลัก จากนั้นจึงจัดเรียงตามหลักคำสอน ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นพระสูตร พระวินัย และอภิธรรม (ในประเทศญี่ปุ่น การจัดเรียงจะเริ่มจากพระสูตรก่อน)การจัดเรียงคำสอนของพระภิกษุในประเทศตนเองแยกออกมาเช่นนี้อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันให้เห็นได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก

    ส่วนที่ 3 มี 1 เล่มคือเล่มที่ 85 เป็นส่วนที่เก็บรวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งคัดลอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกขุดค้นพบที่เมือง  ซึ่งอยู่แถบตะวันตกเฉียงเหนือในประเทศจีน ในส่วนของ 85 เล่มแรกนี้รวบรวมเนื้อหาจากคัมภีร์ 2,920 ชุด โดยไม่นับรวมชุดที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนกัน ในคัมภีร์ 2,920 ชุดนี้คิดเป็นจำนวนเล่มทั้งหมด 11,970 เล่ม

    ส่วนที่ 4 มี 12 เล่ม เป็นส่วนพิเศษที่ทำแยกออกมาจึงไม่ได้กำหนดหมายเลขของเล่มส่วนนี้จะเป็นส่วนที่รวบรวมภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปกรรมในทางพระพุทธศาสนาเก็บไว้อย่างมากมาย

     ส่วนที่ 5 มี 3 เล่ม ทั้ง 3 เล่มนี้เป็นดรรชนีของเนื้อหาและศัพท์ของพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้า อีกประการหนึ่ง พระไตรปิฎกฉบับเก่า ๆ ของญี่ปุ่นนั้นจะถูกเก็บรักษาไว้ตามวัดต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงไม่สามารถหาอ่านได้ง่ายนัก ดรรชนีทั้ง 3  เล่มนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลของพระไตรปิฎกซึ่งถูกเก็บไว้ตามวัดต่าง ๆ ไว้ด้วย

   ปัจจุบัน พระไตรปิฎกฉบับไทโชชินชิวจัดเป็นพระไตรปิฎกที่ได้รับการยอมรับและนิยมใช้เป็นแหล่งค้นคว้า อ้างอิงในการศึกษาพระพุทธศาสนามากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และเพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าสมาคมปรัชญาอินเดียและพระพุทธศาสนาประเทศญี่ปุ่นจึงได้จัดทำข้อมูลของพระไตรปิฎกชุดนี้ตั้งแต่ฉบับที่ 185 ลงในเว็บไซต์ นอกจากนี้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลจากเว็บไซต์นี้ได้ อันเป็นอุปการะต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในแถบประเทศที่ใช้อักษรจีนเป็นอย่างมาก

    นักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Prof.Mizuno ได้แสดงทัศนคติว่า บรรดาพระพุทธศาสนาทุกนิกาย นิกายเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายใหญ่สายหินยานนิกายเดียวเท่านั้น ที่จัดว่ามีพระไตรปิฎกครบสมบูรณ์ภาษาเดียว จะเห็นได้ว่าพระไตรปิฎกฉบับภาษาญี่ปุ่นถึงจะมีหลายเล่ม แต่ก็ยังถือว่าไม่สมบูรณ์เหมือนฉบับบาลี

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011191519101461 Mins