คำว่า “ธรรม” คืออะไร

วันที่ 22 มค. พ.ศ.2563

คำว่า “ธรรม” คืออะไร

                   คำว่า ธรรม เป็นคำที่มีมาก่อนการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนากล่าวคือ เป็นคำที่มีมาตั้งแต่ยุคพระเวท ปรากฏในคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างคัมภีร์ฤคเวท เมื่อราว ๓,๕๐๐ ปีก่อน และเป็นคำที่มีความหมายหลากหลายคำหนึ่งในสังคมอินเดียโบราณ อาทิ กฎธรรมชาติ (natural law)  หลักจริยธรรม(moral order)  หน้าที่ในสังคม(social duty) ศาสนา(religion)  เป็นต้น1

                  เมื่อพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น พระพุทธองค์ได้ทรงนำคำว่าธรรม นี้มาใช้ในพระพุทธศาสนาในความหมายที่หลากหลายเช่นเดียวกัน แต่พระพุทธองค์ทรงอธิบายถึงคำว่า ธรรมในความหมายลุ่มลึกในนัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงหมายเอา โลกุตตรธรรมซึ่งหมายถึง


                   ๑. ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่ทำให้ปุถุชนคนธรรมดา ก้าวสู่ความเป็นพระอริยบุคคลผู้หมดกิเลสไปตามลำดับ                             
                   ๒. เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพทุธเจ้าทุก ๆ พระองค์นับตั้งแต่ในอดีตทรงค้นพบ

                   ๓. ธรรมชาติอันบริสุทธิ์นี้ไม่ได้อยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งไม่ได้อยู่ที่ดวงจันทร์หรือดวงดาวใด ๆ หากแต่ดำเนินคงอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ต่างแต่เพียงว่า เราจะรู้และเข้าถึงได้หรือไม่เท่านั้น

 

                   ในคืนวันเพ็ญวิสาขะเมื่อราว ๒,๖๐๐ ปีก่อน พระบรมโพธิสัตว์  ได้ทรงเจริญสมาธิภาวนาบำเพ็ญเพียรทางจิต จนกระทั่งท่านได้ทรงค้นพบและเข้าถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์นี้ เฉกเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ จึงได้ปฏิญาณพระองค์ว่าเป็น พระอรหันสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ธรรมในนัยที่ ๑ จึงหมายเอา โลกุตตรธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุ หรือปรมัตถสัจจะ2

 

                   ในกาลต่อมา เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนา จึง ได้ทรงหยิบยกโลกุตตรธรรมนี้ มาอธิบายให้ผู้ที่ตามมาในภายหลังได้ เข้าใจถึงคุณลักษณะและคุณวิเศษทที่พระองค์ทรงบรรลุ พร้อมทั้งทรง อธิบายถึงหลักการและวิธีการปฏิบัติในแง่มุมต่าง ๆ โดยพระ พุทธองค์ทรงอาศัยบริบทต่าง ๆ ในสังคมยุคนั้น ทั้งบุคคล สถานที่  ภูมิหลัง เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดให้เข้าถึงโลกุตตรธรรมดังกล่าว  เรียกว่า พระธรรม

 

                   ต่อมาเมื่อมีหมู่ภิกษุมากขึ้น ผู้บวชบางส่วนได้ทำข้อผิดพลาด เกิดขึ้นในพระศาสนา พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้น เพื่อ ใช้ปรับโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ที่เรียกว่า พระวินัย เพื่อเป็นบทฝึก กายและวาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อยแยกออกมาจากพระธรรมอีกที

 

                    แต่เป็นวินัยทีนำไปสู่ธรรมของพระองค์ จึงเรียกรวมว่า พระธรรมวินัย และวิวัฒนาการมาเป็น พระไตรปิฎก อันประกอบด้วย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ดังนั้น ธรรมในนัยที่ ๒ นี้ จึง หมายเอา ศาสนธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนไว้ ดีแล้ว หรือ สมมติสัจจะ เพราะเหตุทีทรงอาศัยบริบทต่าง ๆ ในสังคม ในการเทศนาสั่งสอน3


                    สรุปความว่า แม้คำว่า ธรรม จะมีการใช้ในความหมายที่หลากหลาย แต่ในพระพุทธศาสนาท่านหมายเอา ๒ นัย ได้แก่ นัยที่ ๑ โลกุตตรธรรม หรือ ปรมัตถสัจจะ และนัยที่ ๒ ศาสนธรรม หรือ สมมติ สัจจะ ซึ่งทั้ง ๒ ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรระลึกนึกถึงเป็นสรณะและ ดำรงคงไว้ด้วยความเคารพ

 

                 

เชิงอรรถ อ้างอิง

  1 ศึกษาความหมายเพิ่มเติมของคำว่า “ธรรม” (dhamma) ในแง่มุมต่าง ๆ ได้ใน T. W. Rhys Davids and William Stede. The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary. (London: Pali Text Society. ๑๙๒๑-๑๙๒๕) หน้า ๓๓๕-๓๓๙ และ Franklin Edgerton. Buddhist Hybrid Sanskrit Grammar and Dictionary Vol. II: Dictionary. (New Haven: Yale University Press. ๑๙๕๓) หน้า ๒๗๖-๒๗๗

 2  ในอรรถกถาอนังคณสูตรกล่าวถึง สัจจะมี ๒ อย่าง คือ ๑. สมมติสัจจะ คือ ความจริงแบบชาวโลก และ ๒. ปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงแท้ มี ๒ อย่าง คือ ๑. สภาวสัจ คือ ความจริงแท้ตามสภาวะ เช่น กุศล ธรรม อกุศลธรรม เป็นต้น และ ๒. อริยสัจ คือ ความจริงแท้อันประเสริฐและปรากฏเฉพาะพระอริยเจ้า เท่านั้น ได้แก่ อริยสัจ ๔ (ม.มู.อ. ๑๗/๓๖๐ แปล.มมร)

ดูอ้างอิงเชิงอรรถที่ 2

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

                 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018937150637309 Mins