เหตุที่ทำให้จำนวนพระสงฆ์และการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธลดลง

วันที่ 20 กพ. พ.ศ.2563

เหตุที่ทำให้จำนวนพระสงฆ์และการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธลดลง

                      ในข้างต้นเกี่ยวกับการลดจำนวนของพระภิกษุและสามเณรดังที่ ผศ.ดร. ชาญณรงค์ บุญหนุน ได้สรุปออกมา ๒ สาเหตุคือ

 

                     ๑) นโยบายการศึกษาภาคบังคับของรัฐ ซึ่งขยายไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และกำลังจะขยายไปถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ 


                    ๒) นโยบายวางแผนครอบครัว ที่ทำให้ครอบครัวมีจำนวนบุตรน้อยลง แต่นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ผู้ขียนเห็นว่ายังมีสาเหตุอีกอย่างน้อย ๓ ประการ ที่ส่งผลกระทบถึงการลดลงของจำนวนพระภิกษุและสามเณร รวมถึงการประพฤติปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชน กล่าวคือ

 

                     - การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรม     

                     - ข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชน

                    - ทัศนคติในการมองพระสงฆ์ของพุทธศาสนิกชน           

 

              สาเหตุที่ ๑ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า ผู้คนในสังคมเกษตรกรรมมีต้นทุนหรือสถานที่ประกอบอาชีพ คือ สวนไร่นา ผู้คนอาศัยอยู่ในสถานที่เกิด ใช้ชีวิตและประกอบอาชีพโดยมีอัตราการย้ายถิ่นฐานน้อย อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ในขณะเดียวกัน วัดวาอารามและพระภิกษุสงฆ์ในวัดมีความใกล้ชิดคุ้นเคยกับผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นอย่างดี

 

                   ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะยังมีจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียน
ดังนั้นเยาวชนจึงได้อาศัยวัดเป็นสถานที่ในการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งมีวัดในหลายพื้นที่ได้มอบที่ดินในวัดเพื่อใช้เป็นสถานศึกษา ที่เราเรียกกันว่า โรงเรียนวัด นอกจากนี้วัดยังได้ทำหน้าที่เป็นสถานที่ชุมนุมเพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอนั้น ๆ อีกด้วย


                    ดังนั้นความสนิทสนมคุ้นเคยระหว่าง วัด บ้าน โรงเรียน ในชุมชนจึงมีอยู่อย่างแน่นแฟ้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การถ่ายทอดคุณธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ
การห้ามทำความชั่วและให้ตั้งอยู่ในความดี ดังที่ปรากฏในสิงคาลกสูตร          

      

                   แต่เมื่อวันหนึ่ง สภาพสังคมเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรม ต้นทุนหรือสถานที่ประกอบอาชีพนั้นได้เปลี่ยนไปเป็นโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าสถานที่
เหล่านี้ มักอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของ

 

                   คนหนุ่มคนสาวจากท้องถิ่นต่าง ๆ เข้าสู่เมืองใหญ่ ๆ ประกอบกับสถานที่อำนวยความสะดวก  ต่าง ๆ มีมากขึ้น และระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้เพื่อการแข่งขันและประกอบอาชีพ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ประชากรในท้องถิ่นนั้น ๆ รวมถึงวัดวาอารามที่เคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษาและประกอบกิจกรรมต่าง ๆ นั้น จึงมีเพียงเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเท่านั้น ขาดประชากรที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวไป

 

                 ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้ จึงทำให้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวัด บ้าน โรงเรียน ค่อย ๆ ห่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสืบต่อของศาสนทายาท คือ พระภิกษุและสามเณรได้ขาดช่วงไป เพราะ
มีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นฐานออกไปของคนในวัยหนุ่มสาว วัดวาอารามเองจึงเหลือเพียงพระภิกษุสงฆ์ผู้สูงอายุเท่านั้น

 

                สำหรับคนวัยหนุ่มสาวเองที่ย้ายถิ่นฐานไปสู่เมืองใหญ่ ถูกสภาพสังคมและสภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราการแข่งขันสูงบีบคั้น จึงยากที่จะจัดสรรเวลาไปเข้าวัดเพื่อทำบุญ ฟังธรรมหรือปฏิบัติธรรม จะกล่าวไปไยกับการก้าวเข้ามาสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ของกุลบุตร และเมื่อรวมกับปัจจัยเรื่องความคุ้นเคยกับพระภิกษุแล้ว ยิ่งเป็นเหตุให้กำแพงที่กั้นกลางระหว่างกันและกัน หนาเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 

                สาเหตุที่ ๒ คือ ข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชน เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปดังที่กล่าวในข้างต้น วัดวาอารามเองจึงต้องปรับตัวจากการทำหน้าที่ ในลักษณะตั้งรับ
มาเป็นเชิงรุก แต่ทว่าแทนที่จะเป็นการมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ให้มีอัจฉริยภาพสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านปริยัติสัทธรรมและปฏิบัติสัทธรรมจนปรากฏผลเป็นปฏิเวธที่ประจักษ์ ทรงภูมิรู้ภูมิธรรม สามารถนำไปเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้สามารถเข้าใจ และนำไปใช้ในการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข เช่น ภูมิธรรมในเรื่องสัมมาทิฏฐิ กฎแห่งกรรม ผลของบุญและบาป ความรู้เรื่องปรโลก และสังสารวัฏ รวมถึงการทำหน้าที่กัลยาณมิตร ฯลฯ

 

                   โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน อาทิ บริการเครือข่ายสังคม หรือ Social Networking Service(SNS) มาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึง ผู้คนได้มากขึ้น กลับอาศัยรูปแบบของงานบันเทิง บางแห่งได้หันไปประกอบพิธีไสยเวท มอบเครื่องรางของขลัง การทำนายโชคชะตาราศี ฯลฯ อีกทั้งยังปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เช่น ย่อหย่อนในพระปาติโมกข์ ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ มีการพูดปด เสพสุรา ยาเสพติด เป็นต้น ชอบไปในที่อโคจร คือ ไปยังสถานที่ที่พระภิกษุไม่ควรไป โดยไม่มีเหตุจำเป็น เล่นการพนัน หรือส่งเสริมให้ประชาชนหลงใหลอยู่กับการพนัน แสดงพระธรรมเทศนาผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย หรือเผยแพร่คำสอนอันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เช่นสอนว่านรกสวรรค์ไม่มี สัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ เหล่านี้เป็นต้น

 

                    สาเหตุที่ ๓ คือ ทัศนคติในการมองพระสงฆ์ของพุทธศาสนิกชน เมื่อภาพในด้านลบของพระพุทธศาสนา วัดวาอารามรวมถึงพระภิกษุสงฆ์ปรากฏแก่สายตาพุทธศาสนิกชนมากเข้า ทำให้ทัศนคติที่เคยมองพระภิกษุสงฆ์ในฐานะของพระรัตนตรัย ในฐานะครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมหรือในฐานะของศูนย์รวมจิตใจ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ก็ค่อย ๆเลือนหายไป

 

                   จนเกิดเป็นทัศนคติด้านลบฝังอยู่ในจิตใจ ทำให้ความเคารพที่เคยมีกลับเลือนลางไป ในบางกลุ่มบางพวกมีความคิดถึงขั้นที่ว่า พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ที่อาศัยสังคมอยู่เหมือนกาฝากต้นไม้ ไม่มี
ประโยชน์ใด ๆ ในสังคม หรือ บางกลุ่ม ก็มีความคิดว่า พระธรรมที่พระภิกษุสงฆ์นำมาแสดงนั้น เป็นภาษาคัมภีร์ ภาษาศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่ยากในการทำความเข้าใจ และตัวพระภิกษุสงฆ์เองก็ได้แสดงธรรม
ด้วยรูปแบบและภาษาที่ยากเช่นนั้นจริง ๆ ด้วยทัศนคติเช่นนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนค่อย ๆ ถอยห่างออกจากวัดวาอารามไป และติดตามมาด้วยความย่อหย่อนในการประพฤติปฏิบัติธรรม

 

                    และเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ถูกติเตียนถึงข้อวัตรปฏิบัติอันไม่สมควรแก่สมณะ ประกอบกับสื่อสารมวลชนบางพวกที่มุ่งเน้นในเชิงพาณิชย์ โดยละทิ้งจรรยาบรรณ นำเสนอและขยายผลข่าวในด้านลบของพระภิกษุสงฆ์ ทำให้ภาพด้านลบนี้ติดอยู่ในใจของมหาชน

 

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

 ๑ ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่ที่พึงปฏิบัติของมารดาบิดาต่อบุตร ของอาจารย์ต่อศิษย์ และของสมณะ
    ต่อกุลบุตร ได้ใน ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์ ว่าด้วยการปกป้องทิศทั้ง ๖
(ที.ปา. ๑๑/๒๖๖-๒๗๒/๒๑๒-๒๑๖
แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

                  

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029753585656484 Mins