ศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา...นำมาสู่การบวช     

วันที่ 29 กพ. พ.ศ.2563

ศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา...นำมาสู่การบวช       

                ผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มิใช่บวชเพราะถูกบังคับแต่เป็นเพราะมีศรัทธาในพระธรรม และมีปัญญาไตร่ตรองถึงสภาวะอันแท้จริงของชีวิต จึงตัดสินใจเข้ามาบวช ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

 

                 “คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน (คนผู้เกิด ภายหลัง ) ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคตเมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัดเป็นทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือน ไปบวชเป็นบรรพชิต”

 

                  จากพระธรรมเทศนาที่ยกมานี้ เราจะเห็นว่า สิ่งที่นำกุลบุตรเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นมี ๓ ประการ คือ
                 ๑. มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพทุธเจ้า
                 ๒. มีปัญญาตรองเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาส ว่าทั้งคับแคบและเป็นที่มาของกิเลส
                 ๓. มีปัญญาตรองเห็นคุณของชีวิตนักบวช ว่ามีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้เต็มที่

 

                 นั่นหมายความว่า ศรัทธาอันเกิดขึ้นจากการฟังธรรม เป็นปัจจัยแรกที่จุดประกายให้กุลบุตรเกิดปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาในการพิจารณาเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาสและเห็นคุณค่าของนักบวช
ดังนั้นเมื่อกุลบุตรตัดสินใจเข้ามาบวช จึงเป็นการบวชที่มีเป้าหมายอันนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายในการบวชได้ ๒ ประการ คือ

 

                ๑. บวชเพื่อละบาปอกุศลทั้งปวง หรือบวชเพื่อละกาม


                ๒. บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเมื่อมาถึงตอนนี้ เราคงเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า เหตุใดการทำหน้าที่กัลยาณมิตรของพระภิกษุสงฆ์ดังที่กล่าวไว้ในบทที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ตราบเท่าที่พระภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยการเป็นต้นแบบและแสดงพระสัทธรรมอยู่เนืองนิจ ย่อมเป็นเหตุให้กุลบุตรทั้งหลายเกิดปัญญาไตร่ตรอง จนเกิดศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

 

 

             "การทำหน้าที่กัลยาณมิตรและเป็นต้นแบบที่ดีของพระภิกษุสงฆ์
ย่อมเป็นเหตุทำให้กุลบุตรเกิดศรัทธาเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา"
 

 

สิ่งใดพึงกระทำและสิ่งใดพึงละเว้น...เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

 

                   ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะตรัสถึง สามัญญผลเบื้องกลางพระองค์ได้ตรัสถึงข้อวัตรปฏิบัติที่พึงกระทำ รวมถึงข้อที่พึงละเว้น สำหรับผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการขยายความในข้อที่ว่าด้วย ความสำรวมกาย วาจา ใจ อยู่อย่างสันโดษ รักสงบ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบถึงสิ่งที่ควรกระทำและควรงดเว้นของนักบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยพระพุทธดำรัสที่ว่า

 

                  “เมื่อบวชแล้วอย่างนี้สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร (การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์สมบรูณ์ด้วยศีลคุ้ม ครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย สมบรูณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ (และ) เป็นผู้สันโดษ”

 

                  ๑. สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ หมายถึง เจตนาในการสำรวมระวังตนให้ประพฤติดีงาม โดยมีวิธีปฏิบัติออกเป็น ๓ หัวข้อ ดังนี้


                  ๑.๑) ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร คือ เป็นผู้มีมารยาทงดงาม เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ซึ่งโดยมากมีรายละเอียดปรากฏอยู่ใน เสขิยวัตร นอกจากนี้ยังไม่พึงเที่ยวไปในสถานที่ที่ไม่ควรไป หรือที่เรามักเรียกว่า สถานที่อโคจร  อาทิ แหล่งบันเทิงเริงรมย์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

 

                   อย่างไรก็ตาม สำหรับบางสถานที่ ถ้าเขาเชื้อเชิญนิมนต์ พระภิกษุก็สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักบวชได้ แต่ต้องมีความสำรวมระวัง เพราะอาจจะถูกเข้าใจผิดได้ว่า มีความประพฤติผิดไปจากพระธรรมวินัย 

                     

                  ๑.๒) เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย คือ จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท ตระหนักอยู่เสมอว่า ความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย ก็ยังเป็นความผิดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะมีโทษเพียงเล็กน้อย ก็ยังเป็นโทษอยู่นั่นเอง ไม่มีทางจะเป็นคุณไปได้เลยหากพระภิกษุตั้งอยู่ในความประมาท มองข้ามภัยของโทษแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะประสบความหายนะได้ เพราะขึ้นชื่อว่าอสรพิษแล้ว ไม่ว่าจะตัวเล็กแค่ไหนก็ตาม ย่อมมีอันตราย

 

                  ๑.๓) สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย คือ การศึกษาเจตนารมณ์ หรือจุดมุ่งหมายของสิกขาบท หรือที่มักเรียกว่า ศีล ๒๒๗ สิกขาบท ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ทั้งหมด ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ทั้งต้องจำได้ขึ้นใจ เพื่อให้สามารถปฏิบัติสิกขาบทแต่ละข้อ ๆ ได้โดยบริสุทธิ์บริบรูณ์ไม่มีผิดพลาด

 

                  ๒. มีอาชีพบริสุทธิ์ หมายถึง การไม่ประกอบอาชีพใด ๆแบบคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัย ๔ คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และคิลานเภสัช(ยารักษาโรค) ซึ่งได้รับมาจากทายกทายิกา ไม่มุ่งแสวงหาปัจจัย ๔ มาปรนเปรอตนเองด้วยกลอุบายวิธีต่าง ๆ

 

                  ๓. ถึงพร้อมด้วยศีล หมายถึง เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ซึ่งความเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ที่ปรากฏในสามัญญผลสูตรนี้ หมายเอา ศีล ๓ อย่าง คือ

 

                  ๓.๑) จุลศีล เป็นบทฝึกทางกายและวาจา ให้ภิกษุละการทำชั่ว พูดชั่ว ให้ประกอบกายกรรมและวจีกรรมที่เป็นกุศล มีทั้งหมด ๒๖ ข้อ อาทิเช่นการละเว้นจากการฆ่าสัตว์การลักทรัพย์ เป็นต้น

 

                  ๓.๒) มัชฌิมศีล เป็นบทขยายความของจุลศีลให้ละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยการยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน เพื่อเป็นข้อปฏิบัติที่ดีงามของภิกษุให้เด่นชัดยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก มีทั้งหมด ๑๐ข้อ อาทิการละเว้นจากการเล่นการพนัน การประดับตกแต่งร่างกาย เป็นต้น

 

                   ๓.๓) มหาศีล เป็นข้องดเว้นที่มุ่งห้ามพระภิกษุไม่ให้เลี้ยงชีพด้วยติรัจฉานวิชา ๗ ประการ เช่น การงดเว้นการทำนายทายทัก พยากรณ์ บนบานศาลกล่าว เป็นต้น
 

                      เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมาถึง มหาศีล นี้ จึงทรงกล่าวถึงอานิสงส์ของพระภิกษุผู้มีความถึงพร้อมด้วยศีลว่า“ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการสำรวมในศีลเลย

 

                     เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึกได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล”

 

                     ๔. คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสขยายความถึงข้อปฏิบัติที่เรียกว่า การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไว้ดังนี้

 

                     “ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟัง
เสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐพัพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์

 

                     ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความสำำรวมอนินทรีย์  อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล”

                     การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งปวงนี้ กล่าวคือ สำรวมระวังตาในการมองรูป สำรวมระวังหูในการฟังเสียง สำรวมระวังจมูกในการดมกลิ่น สำรวมระวังลิ้นในการลิ้มรส สำรวมระวังกายในการสัมผัส และ
สำรวมใจในอารมณ์ที่มากระทบ ซึ่งทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย

 

                   เมื่อรับอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาทาง รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสแน่นอนว่าในท้ายที่สุดแล้ว ย่อมไหลไปรวมกันอยู่ที่ใจ ทวารทั้ง ๕ จึงเปรียบเสมือนเมืองหน้าด่าน ถ้าเราคุ้มครองป้องกันได้ดี ก็ยากที่บาป อกุศลธรรมจะเข้าไปสู่ใจที่เปรียบเสมือนเมืองหลวงได้ และในขณะเดียวกัน หากเรามีพื้นฐานของการเจริญสมาธิภาวนา สมาธิภาวนานี้ก็จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับใจ เฉกเช่นเดียวกับกำแพงเมืองที่คอยปกป้องเมืองหลวงอีกชั้นหนึ่ง

                     ๕. ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เมื่อตรัสอธิบายเรื่องคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายจบลงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงสติสัมปชัญญะแก่พระเจ้าอชาตศัตรูว่า

 

                  “มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้าการเหยียดออก การครองสังฆาฏิบาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างนี้แล”

 

                    ในพระพทุธศาสนาถือว่า สติ เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก กล่าวคือสติช่วยไม่ให้งานการเสียหายเพราะลืม ทั้งยังเป็น นาถกรณธรรมคือ ธรรมอันเป็นที่พึ่งของตนเอง เพราะช่วยไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้
หลงลืมในสิ่งที่ควรทำหรือต้องทำ ยิ่งกว่านั้นสติยังเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไปอีกด้วย คำว่า สัมปชัญญะ หมายถึง ความรู้สึกตัว หรืออาการรู้ตัวในขณะทำอยู่ เช่น รู้ว่า เรากำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไร หรือกำลังทำอะไร ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า สัมปชัญญะ เป็นธรรมที่มีอุปการะมากอีกข้อหนึ่ง โดยทั่วไปจะใช้คู่กับสติ เรียกว่า สติสัมปชัญญะ

 

                    สติสัมปชัญญะ จึงเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญยิ่งสำหรับทุก ๆ คนไม่ว่านักบวชหรือคฤหัสถ์ ผู้ที่ย่อหย่อนในธรรม ๒ ประการนี้ นอกจากตนเองจะประสบความล้มเหลว ขาดความยกย่องนับถือจากผู้อื่นแล้ว
ยังทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของสังคมส่วนรวมด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์ด้วยแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาทีเดียว

 

                  ทั้งนี้เพราะเมื่อพระภิกษุสงฆ์ย่อหย่อนในธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ย่อมไม่สามารถสำรวมอินทรีย์ได้ ไม่สามารถมีอาชีพบริสุทธิ์ ไม่ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่สามารถสำรวมระวังในเรื่องโคจรและอโคจรได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นทางก่อให้เกิดอภิชฌาและโทมนัสแก่ตัวพระภิกษุเองโดยตรงแล้ว พฤติกรรม
ของภิกษุปรากฏต่อสาธารณชน ยังทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึง ตรัสยืนยันว่า พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระองค์ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

 

                ๖. เป็นผู้สันโดษ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสติสัมปชัญญะ แก่พระเจ้าอชาตศัตรูจบลงแล้ว จึงทรงแสดงสันโดษต่อไปว่า “มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษเป็นอย่างไร” ตรัสดังนี้แล้วจึงทรงวิสัชนาด้วยพระองค์เองว่า   

       

                 “ภิกษุในธรรมวินัยนี้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษเป็นอย่างนี้แล”๑๐

 

                  สันโดษ คือ ความยินดีในของของตน พอใจด้วยปัจจัย ๔ ที่ได้มาด้วยการมีอาชีพบริสุทธิ์และกำลังความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร พระพุทธศาสนาจัดสันโดษเป็น
นาถกรณธรรม คือ ธรรมอันเป็นที่พึ่งด้วยข้อหนึ่ง เพราะเป็นธรรมที่ช่วยปรับปรุงตัวเราให้เห็นคุณค่าและไม่ดูถูกตนเอง มีความพอใจและเชื่อมั่นในตนเอง อีกทั้งป้องกันไม่ให้ประพฤติผิดศีลธรรมและกฎหมายได้ด้วย ในแง่ที่เป็นธรรมปฏิบัติของภิกษุนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประการคือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ                         ยถาสารุปปสันโดษ๑๑   

 

                ๑) ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้ หมายความว่า เมื่อได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจในสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ไม่ได้ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น ไม่ริษยาผู้อื่น

 

                ๒) ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลัง หมายความว่า พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกาย สุขภาพ และขอบเขตการใช้สอยของตนของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดาย

 

                ๓) ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควร หมายความว่า พอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะสมกับสมณสารูป หรือได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตน แต่จะมีประโยชน์แก่ผู้อื่นก็นำไปมอบให้แก่เขา เป็นต้น

 

                 ความเป็นผู้สันโดษของพระภิกษุนี้ ย่อมเป็นเหตุที่ทำให้ปลอดโปร่ง คลายกังวล ยินดีในปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ไม่เสียเวลาไปกับการแสวงหาปัจจัยเกินความจำเป็น อนึ่งแม้จะได้รับปัจจัย ๔ มามากมาย
ด้วยอานุภาพแห่งความเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมก็ตาม แต่ก็ใช้ปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้นเป็นไปเพื่องานเผยแผ่พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หาใช่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองไม่

 

                 เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ เราจะพบว่า การที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา พิจารณาเห็นถึงคุณค่าของการบวช จึงได้ตัดสินใจสละความสนุกสนาน
ในทางโลก ก้าวเข้ามาสู่ในเส้นทางของนักบวช เพื่อแสวงหาหนทางพระนิพพาน โดยเริ่มต้นที่ การสำรวมระวังในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย


                สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และเป็นผู้สันโดษในที่สุด จิตก็จะคลายความกังวล นุ่มนวล ควรแก่การงาน จะเป็นปัจจัยของการบรรลุสามัญญผลที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก             

               อนึ่ง ข้อปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ มีรายละเอียดอยู่มากมาย จนในบางครั้งอาจทำให้พระภิกษุผู้บวชเข้ามาใหม่ เกิดความท้อใจในการประพฤติปฏิบัติ จนอาจถึงขั้นลาสิกขา ทั้ง ๆ ที่ในเบื้องต้นตั้งใจบวชเข้า
มาด้วยศรัทธาก็ตาม แต่หากลองพิจารณาดูดี ๆ แล้ว เราจะพบว่า มีข้อที่กล่าวว่า พึงละเว้น มากกว่าข้อที่กล่าวว่า พึงปฏิบัติ นั้นหมายความว่า พระภิกษุไม่ต้องทำอะไรเลยกับข้อที่ว่าด้วยพึงละเว้น

 

               ยกตัวอย่างเช่น จุลศีล แม้จะมีอยู่ถึง ๒๖ ข้อ แต่ทั้งหมดนั้นว่าด้วย พึงละเว้น มีการละเว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น ขอเพียงพระภิกษุไม่ไปฆ่าสัตว์หรือลักทรัพย์ ก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามจุลศีลนี้แล้ว เหมือนกับการที่เราอาจจะรู้กฎหมายที่สำคัญ ๆ บางข้อ แต่ไม่รู้ทั่วถึงตัวบทกฎหมายทุกมาตราทุกฉบับ

 

              แต่เราก็สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในประเทศได้ โดยไม่กระทำผิดกฎหมายใด ๆ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า พระภิกษุผู้บวชเข้ามาในพระศาสนานี้ ไม่จำเป็นต้องศึกษาในข้อปฏิบัติที่มีมาในสิกขาบททั้งปวง ยังคงมีความจำเป็นต้องศึกษา และต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วย เพราะพระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่ที่สำคัญ ในการรักษาและสืบทอดพระธรรมวินัยต่อไป เพียงแต่ให้เป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในการรักษาสิกขาบททั้งหลายมากเกินไป จนเกิดความท้อแท้ และสึกหาลาเพศไปในที่สุด

 

           "การที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา พิจารณาเห็นถึงคุณค่าของการบวช จึงได้ตัดสินใจสละความสนุกสนานในทางโลก ก้าวเข้ามาสู่ในเส้นทางของนักบวชเพื่อแสวงหาหนทางพระนิพพาน"

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ที.สี. ๙/๑๙๑/๖๔ (แปล.มจร)

๒ ที.สี. ๙/๑๙๓/๖๕ (แปล.มจร)
๓ ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของ เสขิยวัตร ได้ใน วิ.มหา. ๒/๕๗๖-๖๕๔/๖๔๙-๗๓๕ (แปล.มจร)

๔ ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของ จุลศีล ได้ใน ที.สี. ๙/๑๙๔/๖๕-๖๗ (แปล.มจร)
๕ ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของ มัชฌิมศีล ได้ใน ที.สี. ๙/๑๙๕-๒๐๔/๖๗-๖๙ (แปล.มจร)
๖ ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของ มหาศีล ได้ใน ที.สี. ๙/๒๐๕-๒๑๑/๖๙-๗๒ (แปล.มจร)

๗ ที.สี. ๙/๒๑๒/๗๒ (แปล.มจร)
๘ ที.สี. ๙/๒๑๓/๗๒-๗๓ (แปล.มจร)

๒๙ที.สี. ๙/๒๑๔/๗๓ (แปล.มจร)

๑๐ ที.สี. ๙/๒๑๕/๗๓ (แปล.มจร)
๑๑ วิ.มหา.อ. ๑/๗๓๔, ที.สี.อ. ๑๑/๔๔๔, ม.มู.อ. ๑๘/๓๖๕-๓๖๖, สํ.ส.อ. ๒๔/๓๙๕ (แปล.มมร) เป็นต้น

                                                         จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3   

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                      

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019145329793294 Mins