ภาพรวมของโลก

วันที่ 20 มีค. พ.ศ.2563


ภาพรวมของโลก

               เมื่อได้ทราบถึงองค์ประกอบของโลกแล้ว จะได้ศึกษาถึงภาพรวมของโลกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ คือ
๑) วงจรความเป็นไปของโลก
๒) ความยาวนานของเวลา ๑ กัป
๓) ความยาวนานของโลก
๔) การแตกทำลายของโลก

 

วงจรความเป็นไปของโลก

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแบ่งวงจรความเป็นไปของโลกไว้ทั้งหมด 4 ช่วง แล้ว  ยังทรงอธิบายแต่ละช่วงไว้อย่างชัดเจนใน กัปปสูตร ดังนี้

 

กัปปสูตร1

ว่าด้วยกัป

 

              ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้

             อสงไขยกัป ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑) ในเวลาที่สังวัฏฏกัป2 ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้ หลายปี 
จำนวนเท่านี้ ๑๐๐ ปี   จำนวนเท่านี้  ๑,๐๐๐ ปี  หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

 

๒) ในเวลาที่สังวัฏฏฐายีกัป3 ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวน
เท่านี้ ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

 

๓) ในเวลาที่วิวัฏฏกัป4 ดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้
 ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

 

๔) ในเวลาที่วิวัฏฏฐายีกัป5 กัปดำเนินไป ไม่มีใครกำหนดนับได้ว่า จำนวนเท่านี้หลายปี จำนวนเท่านี้
 ๑๐๐ ปี จำนวนเท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือจำนวนเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

 

           ภิกษุทั้งหลาย อสงไขยกัป ๔ ประการนี้แล

 

กัปปสูตร จบ



แผนผังวงจรความเป็นไปของโลก


ศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับวงจรความเป็นไปของโลก

๑) อสงไขยปี คือ ช่วงเวลาที่มีความยาวนานเท่ากับ ๑๐๑๔๐ ปี (๑๐ ยกกำลัง ๑๔๐ ปี)

๒) อันตรกัป คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์อายุอสงไขยปี แล้วค่อย ๆ ลดลงจนเหลือ ๑๐ ปี และเพิ่มขึ้น
จนถึงอสงไขยปี

๓) อสงไขยกัป คือ ช่วงเวลา ๖๔ อันตรกัป

๔) มหากัป คือ ช่วงเวลา ๔ อสงไขยกัป (บางครั้งมักเรียกสั้น ๆ ว่ากัป)

๕) อสงไขย คือ นับไม่ได้

 

ความยาวนานของเวลา ๑ กัป

                    เมื่อได้รู้วงจรความเป็นไปของโลกแล้ว ควรจะได้ศึกษาถึงระยะเวลา ๑ กัป ที่โลกเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วแตกสลายไปในแต่ละรอบนั้น ใช้เวลายาวนานเพียงใด

                   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาให้เห็นภาพของเวลา ๑ กัปไว้อย่างชัดเจน โดยอุปมา
ดั่งการนำผ้าบางมาปัดภูเขาขนาดใหญ่ให้ราบเสมอแผ่นดิน หรืออุปมาดั่งการนำเมล็ดพันธุ์ผักกาด
มาใส่จนเต็มนครขนาดใหญ่ที่ทำด้วยเหล็ก โดยตรัสไว้ใน “ปัพพตสูตร” และ “สาสปสูตร” ดังนี้

 

ปัพพตสูตร6

ว่าด้วยภูเขา

 

                  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ....... เขตกรุงสาวัตถี

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้
ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

                “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอ”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุ กัปหนึ่งนานนักหนา มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับ กัปนั้น
ว่า เท่านี้ปี  เท่านี้ ๑๐๐ ปี    เท่านี้  ๑,๐๐๐ ปี   หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ”

                  “พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”

                   “อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบลูกใหญ่ มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์
สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาส7  ลูบภูเขานั้น ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง   ภูเขา
ศิลาลูกใหญ่นั้นจึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่า ส่วนกับหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไป
กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐
กัป มิใช่ ๑,๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป

 

                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร

                เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ

ภิกษุ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง”

ปัพพตสูตร จบ


สาสปสูตร8

ว่าด้วยเมล็ดผักกาด

 

                พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ เขตกรุงสาวัตถี..

               ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้
ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

              “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไรหนอ”

              พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุ กัปหนึ่งนานนักหนา มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปนั้น
ว่า เท่านี้ปี ฯลฯ หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี”

              “พระองค์อาจอุปมาได้ใหม พระพุทธเจ้าข้า”

              “อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนนครที่สร้างด้วยเหล็ก9  มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑
โยชน์ สูง ๑ โยชน์ เต็มด้วยเมล็ดผักกาด รวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเมล็ดผักกาดออกจาก
นครนั้น ๑๐๐ ปีต่อ ๑ เมล็ด เมล็ดผักกาดกองใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็ว
กว่า ส่วนกัปหนึ่ง ยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอ
ได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑,๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป


             ข้อนั้นเพราะเหตุไร

             เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้นจากสังขารทั้ง
ปวง”

สาสปสูตร จบ

 

                จากพระสูตรข้างต้น ทำให้เราพอทราบว่า ระยะเวลา ๑ กัปนั้น มีความยาวนานเพียงใด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ล้วนสร้างบารมีเป็นเวลานับอสงไขยกัป กว่าจะบรรลุ
อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดังนั้น เราจึงพอจะคำนวณได้ว่า ระยะเวลาในการสร้างบารมีของตัว
เรา คงไม่น้อยไปกว่านี้แน่นอน จึงควรวางแผนชีวิตในระยะยาวด้วยว่า ทุกภพทุกชาติจากนี้ซึ่งใช้
เวลาหลายอสงไขยกัป เราควรมีสภาพชีวิตแบบไหน และเราจะทำให้เป็นแบบนั้นได้อย่างไร

 


ความยาวนานของโลก

                  เมื่อได้ศึกษาถึงระยะเวลา ๑ กัปแล้วว่าเป็นระยะเวลาที่นานมาก ยังมีพระสูตรที่อธิบายถึง
โลกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกสลายไปแล้วกี่ครั้ง (กี่กัป) ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน
“สาวกสูตร” และ “คงคาสูตร” ดังนี้

 

สาวกสูตร10

ว่าด้วยพระสาวก

 

                  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี...

                  ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า


 

                   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว มากเท่าไรหนอ”

                   พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากนักหนา
มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้
๑๐๐,๐๐๐ กัป”

                   “พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”

                  “อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสาวก ๔ รูปในธรรมวินัยนี้ มีอายุ ๑๐๐ ปี มี
ชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี หากเธอเหล่านั้นพึงระลึกย้อนหลังไปได้ วันละ ๑๐๐,๐๐๐ กัป กัปที่เธอเหล่านั้น
ระลึกไปไม่ถึงยังมีอยู่ ต่อมาสาวก ๔ รูป มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี จึงมรณภาพไปทุก ๑๐๐
ปี กัปที่ผ่านพ้นไปแล้วมากนักหนาอย่างนี้ มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้
๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป

                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น” ...

สาวกสูตร จบ.

 


คังคาสูตร11

ว่าด้วยแม่น้ำคงคา

                      สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอ
เป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากเท่าไรหนอ”

 


                     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “พราหมณ์ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากนักหนา มิใช่
เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป

 

                 “พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”

 

“อาจอุปมาได้ พราหมณ์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคานี้เริ่มต้นจากที่ใด และถึงมหาสมุทร ณ

ที่ใด เม็ดทรายในระหว่างนี้ง่ายที่จะนับได้ว่า เท่านี้เม็ด เท่านี้ ๑๐๐ เม็ด เท่านี้ ๑,๐๐๐ เม็ด หรือว่า
เท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ เม็ด กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น มิใช่เรื่องง่ายที่จะ
นับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป

              ข้อนั้นเพราะเหตุไร

              เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลายไม่
ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป สัตว์เหล่านั้นก็
เสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก ได้รับความพินาศเต็มป่าช้าเป็นเวลายาวนาน

               พราหมณ์ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจาก
สังขารทั้งปวง”

             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ผู้นั้นได้กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม
พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

คังคาสูตร จบ

 

                  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสบอกวงจรของโลกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วเสื่อมสลายไป
แล้วกี่กัป เพราะไม่ง่ายที่จะนับจำนวนกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป หรือว่า
เท่านี้แสนกัป แต่ทรงอุปมาให้รู้ว่า มากกว่าเมล็ดทรายในมหาสมุทรเสียอีก ควรที่เราจะเบื่อหน่าย
ในสังขารทั้งปวง ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และควรที่จะหลุดพ้นจากวงจรนี้


 


การแตกทำลายของโลก


                  แม้ว่าโลกจะดำรงอยู่ได้นานเพียงใด   แต่สุดท้ายก็ย่อมมีการแตกดับ มนุษย์ต่างก็
คาดการณ์ไปต่าง ๆ นานาว่าโลกจะแตกเมื่อไหร่ และแตกเพราะสาเหตุ จากอะไร เรื่องนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ใน “สัตตสุริยสูตร” ดังนี้

 

สัตตสุริยสูตร12

ว่าด้วยดวงอาทิตย์ ๗ ดวง

 

                 ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

                สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้
มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส
แล้วพระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

               “ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็น
ข้อกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

               ภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุ ยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงใน
มหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีสมัยที่เวลาผ่านไป
ยาวนาน บางครั้งบางคราว ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่
ตก พีชคาม ภูตคาม และ ติณชาติที่ใช้เข้ายา ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด

                สังขารทั้งหลายก็ ก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นข้อกำหนดควร
เบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

               มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ เพราะดวง
อาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ แม่น้ำน้อย หนองน้ำทุกแห่ง ระเหยเหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด
สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

 

                มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ เพราะดวง
อาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหี ทุกแห่ง ระเหย เหือด
แห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด

                สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

                มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ เพราะดวง
อาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฎ แหล่งน้ำใหญ่ ๆ ที่เป็นแดนไหลมารวมกันของแม่น้ำใหญ่ ๆ เหล่านี้ คือ
สระอโนดาด สระสีหปปาตะ สระรถการะ สระกัณณมุณฑะ สระกุณาลา สระฉัททันต์
สระมันทากินี ทุกแห่ง ระเหยเหือดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด

                สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

               มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ เพราะดวง
อาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์ก็ดี ๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐
โยชน์ก็ดี ๕๐๐ โยชน์ก็ดี ๖๐๐ โยชน์ที่ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี งวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖
ชั่วต้นตาลก็มี ๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่วต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาลก็มี ๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียว
ก็มี   เหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน ๔ ชั่วคน ๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ชั่วครึ่งคน
เพียงเอว เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้า ภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่เพียงในรอยเท้าโคใน
ที่นั้น ๆ เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเม็ดใหญ่ ๆ ตกลงมา น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้น ๆ
ฉะนั้นเพราะดวงอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด

                  สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

                  มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ เพราะดวง
อาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลาย
นายช่างหม้อเผาหม้อที่เขาปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เพราะดวง
อาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น ฉันนั้น

                 สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ฯลฯ ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

 

                 มีสมัยที่เวลาผ่านไปยาวนาน บางครั้งบางคราว มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ 
แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุ เกิดไฟลุกโชน มีแสงเพลิงเป็นอัน
เดียวกัน เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ เปลวไฟถูกลมพัดขึ้นไปจนถึง
พรหมโลก เมื่อขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาไหม้ กำลังพินาศ ถูกกองเพลิงใหญ่เผาทั่วตลอดแล้ว ยอดเขา
แม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทลาย เมื่อ
แผ่นดินใหญ่นี้ และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่าย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด เมื่อแผ่นดินใหญ่นี้
และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ขี้เถ้าและเขม่า ก็ย่อมไม่ปรากฏ ฉันนั้น

                สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นข้อกำหนดควร
เบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

               ในข้อนั้น ใครเล่า ชื่อว่าเป็นผู้รู้ ใครเล่า ชื่อว่าเป็นผู้เชื่อว่า “แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ
ถูกไฟเผาผลาญ พินาศ ไม่เหลืออยู่"  นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอันเห็นแล้ว13

              ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ครูชื่อสุเนตตะ เป็นเจ้าลัทธิผู้ปราศจากความกำหนัดใน
กามทั้งหลาย มีสาวกหลายร้อยคน ได้แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความเป็นผู้เกิดร่วมกับ
เทวดาชั้นพรหมโลก และ เมื่อครูสุเนตตะแสดงธรรม ความเป็นผู้เกิดร่วมกับเทวดาชั้น
พรหมโลก เหล่าสาวกผู้รู้ชัดคำสอนอย่างดียิ่งหลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติพรหมโลก
ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้ชัดคำสอนอย่างดียิ่ง หลังจากตายแล้ว บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดา
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับ
เทวดาชั้นดุสิตบางพวก ได้ไปเกิดร่วมกับ เทวดาชั้นจาตุมหาราช บางพวกได้ไปเกิดร่วม
กับขัตติยมหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับพราหมณมหาศาล บางพวกได้ไปเกิดร่วมกับ
คหบดีมหาศาล14

 

               ครั้งนั้นแล  ครูสุเนตตะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การที่เรามีคติในสัมปรายภพเสมอ
เหมือนกับเหล่าสาวก ไม่สมควรเลย ทางที่ดี เราควรเจริญเมตตาให้ยิ่งขึ้น"

              ต่อจากนั้น ครูสุเนตตะได้เจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี แล้วไม่มาสู่โลกนี้ตลอด ๗ สังวัฏฏา
กัปและวิวัฏฏกัป ภิกษุทั้งหลาย เมื่อโลกเสื่อม ครูสุเนตตะเข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อโลก
เจริญครูสุเนตตะเข้าถึงพรหมวิมานอันว่างเปล่า

             ภิกษุทั้งหลาย ในพรหมวิมานนั้น ครูสุเนตตะเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นผู้ครอบงำ
ไม่ใช่ถูกใคร ๆ ครอบงำ เป็นผู้เห็นแน่นอน มีอำนาจ ครูสุเนตตะได้เป็นท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมเทพ
ถึง ๓๖ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรมเป็นธรรมราชา มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
เป็นผู้ชนะสงคราม มีชนบทที่ถึงความมั่นคง ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ตั้งหลายร้อยครั้ง ครู
สุเนตตะเคยมีบุตรมากกว่าพันคน ล้วนแต่เป็นคนกล้าหาญชาญชัย ฝ่ายข้าศึกได้ ครูสุเนตตะนั้น
ปกครองแผ่นดินนี้อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้
ศัสตรา

            ภิกษุทั้งหลาย ครูสุเนตตะนั้นเป็นผู้มีอายุยืนนานอย่างนี้ เป็นผู้ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้ แต่
ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงกล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจาก
ทุกข์


           ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม ๔ ประการ
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล
๒) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ
๓) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา
๔) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ

 

            ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราได้รู้แจ้ง
แทงตลอดอริยปัญญา เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราถอนภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติ15  สิ้นไป
แล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”

 

             พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา  ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า พระโคดมผู้มียศตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอด
เยี่ยม ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง พระศาสดาผู้มีพระ
จักษุ16  ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์ปรินิพพาน17  แล้ว

 

จากพระสูตรข้างต้น จะเห็นได้ว่า โลกนั้นไม่เที่ยง สักวันย่อมแตกสลาย ในกรณีนี้ โลก
ถูกทำลายด้วยไฟบรรลัยกัลป์ ซึ่งเกิดจากพระอาทิตย์จำนวนหลายดวง เมื่อโลกถูกทำลายไปแล้ว
สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ถูกทำลายไปด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายถึงเป็นการสิ้นสุด เพราะจะวนกลับมาเข้า
สู่วงจรความเป็นไปของโลกและชีวิตอีกครั้ง

 

 


เชิงอรรถ อ้างอิง
1 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต, มจร. เล่ม ๒๑ หน้า ๒๑๖
2 คำว่า สังวัฏฏะ แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ และคำว่า กัป แปลว่า กาลกำหนด ช่วงระยะเวลายาวนานเหลือเกินที่กำหนด
ว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ดังนั้น คำว่า สังวัฏฏกัป หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่โลกเสื่อม มี ๓ อย่าง คือ (๑)
อาโปสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะน้ำ) หมายถึงกัปที่เสื่อมเพราะน้ำนับแต่ชั้นสุภกิณหพรหมลงมา (๒) เตโชสังวัฏฏกัป (กัป
ที่เสื่อมเพราะไฟ) หมายถึงกัปที่ไฟไหม้ นับแต่ชั้นอาภัสสรพรหมลงมา (๓) วาโยสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะลม) หมายถึง
กัปที่ลมพัดทำลาย นับแต่ชั้นเวหัปผลพรหมลงมา หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่เปลวไฟดับจนถึงมหาเมฆที่ให้กับพินาศ

3 สังวัฏฏฐายีกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกอยู่ถัดจากความเสื่อมไป หรือหมายถึงตั้งแต่เปลวไฟที่ให้กับพินาศดับลง จนถึง
มีมหาเมฆเต็มบริบูรณ์ใน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิจักรวาล

4 วิวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเจริญ หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิด จนถึงมีมหาเมฆ
บริบูรณ์

5 วิวัฏฏฐายีกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกอยู่ถัดความเจริญไป หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่มหาเมฆซึ่งให้กัปพินาศเกิด
อีก จนถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดอีก ในคำทั้ง ๔ นี้ หมายถึงเตโชสังวัฏฏกัปเท่านั้น

6 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๑๙

7 ผ้าแคว้นกาสี เป็นผ้าที่ทำจากฝ้ายเนื้อละเอียดมาก

8  " พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๐

9  นครที่สร้างด้วยเหล็ก ในที่นี้หมายถึงกำแพงของนครนี้ทำด้วยเหล็ก

10  พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๑

11  พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๒

12 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต, มจร. เล่ม ๒๑๓ หน้า ๑๓๒

13 ผู้มีบทอันเห็นแล้ว ในที่นี้หมายถึงพระอริยสาวกผู้เป็นโสดาบัน

14 มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก คือ ขัตติยมหาศาลมีราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณมหาศาลมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ

15 ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ

16 จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ คือ (๑) จักษุ  (ตาเนื้อ) (๒) ทิพยจักษุ (ตาทิพย์)  (๓) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) (๔) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ)

17 ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้สิ้นเชิง 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.055523451169332 Mins