ตัณหากับคำอธิษฐาน

วันที่ 26 มีค. พ.ศ.2563

ตัณหากับคำอธิษฐาน

                   ครั้งหนึ่งในปี ๒๕๒๖ ข้าพเจ้านั่งเรียนปริยัติธรรมจากพระภิกษุอาจารย์รูปหนึ่ง หลังจากบทเรียนเรื่องนั้นจบลง ท่านได้คุยเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกันเองเหมือนปกติเช่นทุกวัน แต่ที่ข้าพเจ้าจดจำได้แม่นเอามา
เล่าให้ท่านฟัง เพราะพระอาจารย์ท่านบอกว่า

 

"เรื่องญาติโยมอธิษฐานจิตนั้น อาตมาเบื่อเสียจริงๆ อธิษฐานเอาแค่ให้หมดกิเลส ก็น่าจะพอแล้ว บางทีกว่าจะตักบาตรให้เราสักทัพพี  เรายืนคอยเมื่อยแล้วเมื่อยอีก มัวอธิษฐานอยู่นั่นแล้ว.. บางทีนะ  มัวหลับตาอธิษฐานพึมพำๆ อาตมาเลยเดินหนีไปเลย ไม่รับ ไม่เริ้บมันแล้ว"

 

              พวกลูกศิษย์ฟังแล้วก็หัวเราะกันครืน นึกถึงภาพโยมใส่บาตรเสร็จจากอธิษฐานลืมตาขึ้น ไม่เห็นพระภิกษุที่จะใส่บาตร คงใจเสียแน่ๆ


ครั้งนั้นข้าพเจ้าถามท่านอาจารย์รูปนั้นว่า

"เรื่องอธิษฐานนี่นะคะส่วนใหญ่ก็ตั้งความปรารถนาจะเอาโน่น  เอานี่ มักจะอธิษฐานให้สวย ให้รวย ให้อาชีพการงานเจริญรุ่งเรือง  ให้สมาชิกในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข อะไรต่อมิอะไร ไม่มีใครอธิษฐาน  เลิกเกิดเข้านิพพานกันหรอกค่ะ ถ้าอย่างนี้มันเป็นโลภะ หรือเรียกว่าเป็นตัณหาความอยากหรือเปล่าคะ" ท่านฟังแล้วก็ตอบว่า


"เป็นซีโยม อยากได้อะไรที่เป็นกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วเป็นโลภะ เป็นตัณหาทั้งนั้น แต่ถ้าอยากได้ในสิ่งที่จะทำให้พ้นจากวัฏฏะ เลิกเวียนว่ายตายเกิด อย่างนี้ไม่ใช่ เช่น อยากสร้างบุญกุศลให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา นี่ถือเป็นอธิษฐานจิตในการสร้างบารมี"


                 ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกดีใจมาก เพราะแต่เดิมเคยเข้าใจผิดๆ ว่าถ้ารู้สึกอยากได้อะไรก็เป็นตัณหาไปเสียหมด แล้วตัณหาเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ดังนั้นเพื่อมิให้มีตัณหา ก็ต้องหมดอยากในทุกสิ่งทุกอย่าง  แล้วอย่างนั้นเรา จะต้องเสียเวลาอธิษฐานทำไมกัน หมดอยากมันเสียให้หมดทุกอย่างไม่ดีหรือ ชั่วก็ไม่ต้องอยากทำ ดีก็ไม่ต้องอยากทำ นิพพานก็ไม่ต้องอยากถึง แม้แต่ความรู้สึกอยากไม่อยากก็ไม่ต้องให้เกิดขึ้น  คิดวุ่นวายด้วยความโง่อย่างหนักถึงขนาดนั้น!


                 ครั้นเมื่อมาศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาหลายเล่มเข้า ก็ให้สงสัยเพิ่มขึ้นทุกทีๆ เพราะแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก  อรหันตสาวิกา ในภพชาติต่างๆ ที่ได้เกิดมาเพื่อสร้างบารมีนั้น ล้วนแล้วแต่ตั้งความปรารถนากันทั้งสิ้น


                       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ในชาติแรกที่จะตั้งความปรารถนาช่วยเพื่อนมนุษย์ พระองค์เกิดเป็นคนจน มีอาชีพตัดฟืน บิดาตายเหลือแต่มารดา วันหนึ่งตัดฟืนนำไปขายเสร็จแล้ว ได้นอนหลับพักผ่อนอยู่ที่
ใต้ร่มไม้ใกล้ท่าเรือแห่งหนึ่ง ตื่นขึ้นพบว่ามีเรือสินค้ามาจอด เห็นเหล่าลูกเรือมีความเป็นอยู่ดี มีรายได้มากกว่าอาชีพตัดฟืน จึงคิดถึงอาชีพของตน มีรายได้น้อยแทบไม่พอกินพอใช้ เมื่อแก่ตัวเข้าตัดฟืนไม่ไหว  จะมีรายได้จากที่ไหนมาเลี้ยงตนเองและมารดา แต่ถ้าได้ไปทำงานในเรือสินค้า คงจะเก็บเงินทองไว้เลี้ยงชีวิตยามชราได้


คิดดังนั้นจึงไปขอสมัครเป็นลูกเรือ โดยขอพามารดาไปในเรือสินค้าด้วย เจ้าของเรือยินดีรับไว้ จึงได้เดินทางไปในเรือด้วยกัน เรือเจอพายุแตกลงกลางทะเล พระพุทธเจ้าของเราในชาติแรกนั้นพามารดาเกาะหลัง ตนเองเกาะไม้กระดานเข้าสู่ฝั่ง ได้เห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมตาย  ลงในท้องทะเลต่อหน้าต่อตา ในเวลานั้นเองจึงตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ตนได้บำเพ็ญคุณสมบัติต่างๆ ให้มีผลสามารถช่วยเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้ได้ในภพชาติต่อๆ ไป


                     นี่เป็นการตั้งความปรารถนาครั้งแรกในการสร้างบารมีเพื่อพระพุทธภูมิ ต่อจากนั้นได้บำเพ็ญบารมีสะสมเพิ่มพูนชาติแล้วชาติเล่า  แต่ละชาติก็ตั้งอธิษฐานช่วยเพื่อนมนุษย์ แรกๆ ก็เป็นอธิษฐานในใจ  เป็นกัปเข้าก็เปล่งอธิษฐานออกเป็นวาจา กระทั่งถึงชาติที่จะได้รับพุทธพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

                       ชาตินั้นถือกำเนิดเป็นบุตรเศรษฐีแล้วออกบวชเป็นดาบส บำเพ็ญตบะจนได้อภิญญาเหาะได้ เหาะมาเห็นฝูงชนทำทางเดินต้อนรับพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงขอร่วมช่วยเหลือด้วย เมื่อทำไม่ทัน ทางเดินยังเป็นโคลนอยู่ ได้นอนทอดตัวลงบนที่โคลนแห่งนั้น  ใช้ตัวต่างสะพานทอดให้พระพุทธเจ้า และพระสาวกเดินบนตนเอง และตั้งอธิษฐานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตรัสพยากรณ์รับรองว่าจะได้เป็นพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลภายหน้า

 

                      ประชาชนที่ได้ยินคำพยากรณ์นั้น ที่ยังมีบุญมีบารมีน้อย ไม่พอบรรลุคุณธรรมเบื้องสูงเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวกิเลส ในชาตินั้น ต่างก็ตั้งจิตอธิษฐานสร้างบารมีเพื่อให้ทันเป็นพระอรหันต์หรืออริยบุคคลอย่างใดอย่างหนึ่งในสมัยพระสมณโคมดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

                     ในเวลานั้นเอง  มีสตรีสาวรุ่นนางหนึ่งนำดอกบัวบูชาพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นได้ยินคำตรัสพยากรณ์ก็ให้รู้สึกเลื่อมใสชื่นชมในดาบสโพธิสัตว์ยิ่งนัก  จึงแบ่งดอกบัวออกบูชาดาบสนั้นด้วย ตั้งอธิษฐานจิตร่วมสร้างบารมี  สตรีนี้คือพระนางพิมพายโสธรา ได้เกิดเป็นคู่สร้างบารมีของเจ้าชายสิทธัตถะนับแต่ชาตินั้นเป็นต้นมา นับจำนวนชาติมิได้

 

                    นี่เป็นเรื่องตั้งความปรารถนาของผู้มีบุญทั้งสิ้น จะเหมาเอาเป็นตัณหาความโลภ ความทะยานอยาก เป็นสมุทัยไปเสียหมด จะเอาส่วนไหนเล่าเป็นอธิษฐานบารมี ถ้าเราศึกษาพุทธประวัติและประวัติพุทธสาวก  พุทธสาวิกาต่างๆ จะเห็นว่าพระอรหันตสาวก พระอรหันตสาวิกา  ที่มีความสามารถเป็นเลิศในด้านต่างๆ กัน ก็ได้เคยทำทานในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ แล้วตั้งจิตอธิษฐานไว้แล้วทั้งสิ้น


                      แม้กระทั่งพระราหุลเถระ ในชาติที่ท่านจะตั้งอธิษฐานจิตเป็นพระโอรสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็เกิดเป็นคนธรรมดา ถวายทานในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มองเห็นใบหน้าของสามเณรน้อยซึ่งเป็นพระโอรสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นละม้ายคล้ายคลึงกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเสียทุกอย่าง วงพระพักตร์ พระนลาฏ พระขนง  พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ พระหนุ ฯลฯ ก็ให้รู้สึกชื่นชมรักใคร่ในสามเณรน้อยนั้นยิ่งนัก ที่งามราวกับถอดพิมพ์ออกมาจากพระบรมศาสดา  แม้กระทั่งอาการกิริยาต่างๆ จึงตั้งอธิษฐานจิต ปรารถนาเป็นพระโอรสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

 

                       ถ้าจะนำมาเล่าไว้อีกก็นับเป็นหนังสือเล่มใหญ่ เป็นการตั้งความปรารถนาของคนมีบุญตั้งอธิษฐานกันครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วบำเพ็ญตนตามความปรารถนานั้น จนสำเร็จตามต้องการได้ในที่สุด  เมื่อได้ศึกษาประวัติบุคคลสำคัญต่างๆ ในศาสนาพุทธของเรา  ทราบเรื่องการตั้งความปรารถนาของแต่ละคนแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มลังเลสงสัยว่า ความอยาก หรือความโลภนั้น คงจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายไปเสียทั้งหมดเป็นแน่

 

                       ครั้นพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ฝ่ายปริยัติธรรมท่านอธิบายดังกล่าวข้างต้นให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นความรู้ที่ สว่างไสวขึ้นมาเหมือนถ้อยคำที่เขียนอุปมาไว้ในพระไตรปิฎกที่เวลาผู้ใดฟังธรรมเข้าใจก็จะใช้คำว่า


เหมือนส่องประทีปในที่มืด เหมือนเปิดของที่ปิด เหมือนหงายของที่คว่ำ

 

                       ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ คือรู้ว่าความอยากในกามคุณอารมณ์  ปรารถนาใคร่ได้ ในสิ่งที่เป็นกาม เรียกว่ากามตัณหา เป็นโลภะ เป็นสมุทัยสัจ ต้นเหตุของความทุกข์   นอกจากนั้นก็มีอีก ๒ ตัณหา คือภวตัณหา และวิภวตัณหา  ที่ถือเป็นสมุทัยสัจด้วย


ภวตัณหา เป็นความอยากให้ตัวเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากคงอยู่ตลอดไป


วิภวตัณหา เป็นความอยากให้พ้นจากความมีตัวตน อยากทำลาย อยากดับสูญ


ตัณหาทั้งสองนี้ถือเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือความคิดเห็นผิดๆ เป็นสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ

 

                       สรุปแล้ว ความอยากที่เป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยากในกามคุณอารมณ์ อยากในความมีตัวมีตน และอยากให้ตนเองดับสูญไป


                      แล้วความรู้นั้นก็ยิ่งแจ่มแจ้งเป็นทวีคูณ เมื่อมีการปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป การปฏิบัติธรรมจนบรรลุผล จะสามารถมองเห็นที่มาของความทุกข์ มองเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องว่า กิเลสมาจากไหน กิเลสตัวใดมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างใด มาห่อหุ้มจิตใจสัตว์ในภูมิต่างๆ พอหุ้มได้ก็บีบบังคับให้ทำกรรมต่างๆ กรรมเมื่อทำเสร็จไปแล้ว ก็บังเกิดเป็นวิบากคือผลของกรรมขึ้นมา ผลของกรรมนั้น ถ้าเป็นผลดีก็อยากได้ พยายามแสวงหาหรือพยายามให้เป็นของตนตลอดไป ถ้าเป็นผลชนิดไม่ดีก็พยายาม ละออก  ผลักไสทิ้ง ไม่อยากมี ตรงจุดแสวงหานั่นแหละคือ โลภะ ตรงจุดผลักออกทิ้งนั่นแหละคือโทสะ

 

                      โลภะทำให้เกิดภวตัณหา   โทสะทำให้เกิดวิภวตัณหา 

 

                      ตัณหาทั้งสองอย่างนี้ มีตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด เช่น ความอยากมีอยากเป็น  อยากมีอำนาจ อยากเป็นใหญ่ เมื่อได้มาสมใจ ก็ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปร อยากให้คงที่อย่างนั้นตลอดไป การปรารถนาความคงที่ของสิ่งที่มีสิ่งที่เป็น เป็นภวตัณหาอย่างหยาบส่วนการปรารถนาแม้กระทั่งการบำเพ็ญเพียรทางจิตให้บรรลุผลถึงขั้นฌาน ขั้น สมาบัติ แล้วติดใจในรูปธรรม  อันประณีตนั้น เป็นรูปราคะ ถือเป็นภวตัณหาอย่างละเอียดด้วยเหมือนกัน


                   ในทำนองเดียวกัน วิภวตัณหาอย่างหยาบ ก็ได้แก่อยากไม่เป็นนั่น อยากไม่เป็นนี่ เป็นเศรษฐีก็มีทุกข์ไม่อยากเป็น เป็นนักการเมือง  นักปกครองต้องรับผิดชอบมาก ไม่อยากเป็นแต่ถ้ามีความอยากความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานอันเป็นอรูปธรรม ซึ่งเป็นอรูปราคะแล้ว ก็เหมือนเป็นวิภวตัณหาอย่างละเอียด  เพราะไม่ต้องการรูปธรรมเป็นอารมณ์

 

                    เอาละ พอข้าพเจ้าคุยกับท่านผู้อ่านมาถึงตอนนี้ บางท่านอาจจะกำลังนึกท้วงติงว่า ข้าพเจ้าชักคุยอะไรไม่เป็นเรื่องเสียแล้ว เริ่มพูดเรื่องน่าเบื่อหน่าย วุ่นๆ ยุ่งๆ วนไปวนมา ข้าพเจ้าจึงขอสรุปโดยเร็วว่า

โลภะ ได้แก่ความใคร่ ความพอใจ ความกำหนัดยินดี อยากได้  ในกามคุณอารมณ์


ตัณหา ได้แก่ โลภะด้วย ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ด้วยความอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่ด้วย


                      แต่ความอยากเลิกเวียนว่ายตายเกิด อยากสั่งสมกุศลกรรมต่างๆ เป็นความปรารถนาที่ดีควรกระทำ เพราะเป็นการสร้างบารมีไม่เรียกว่าตัณหา


                    ตัณหาเป็นความอยากที่ทำแล้วอยู่ในภพส่วนการสะสมสร้างบารมีทำแล้วออกจากภพ เลิกเกิด
ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักได้ยินคำสอนที่เป็นปริศนาให้คิดว่า

 

ให้เอาตัณหาละตัณหา

เอามานะละมานะ

เอาทิฏฐิละทิฏฐิ

แต่เรื่องเมถุนธรรมแล้ว ใช้เมถุนละเมถุนไม่ได้เลย

 

                 คำสอนนี้หมายถึงเอาความอยากเลิกเกิด ละความอยากในกาม  ความอยากในภพ อยากในวิภพเอามานะ คือถือตนเองว่าเราก็เป็นคนเหมือนกัน พระอริยเจ้าทั้งหลายแต่เดิมท่านก็เป็นคนอย่างเรา ท่านยังเอาชนะกิเลสได้ เราก็ต้องทำให้ได้อย่างท่าน เอามานะในทางดีละมานะในทางไม่ดี


เอาสัมมาทิฏฐิ ละมิจฉาทิฏฐิให้ได้


ส่วนเรื่องเมถุนธรรม คือเรื่องการมีสัมพันธ์ทางเพศ ใช้ละกันเองไม่สำเร็จ


                     เมื่อรู้แล้วว่า ความอยากเป็นต้นเหตุให้ทุกข์เกิด แต่ต้นเหตุให้เกิดความอยากอยู่ตรงไหนเล่า นี่ถ้าเป็นคนช่างคิดคงต้องใช้คำถามอย่างนี้

 

                    ครั้งหนึ่งสมัยข้าพเจ้ายังรับราชการ เป็นหัวหน้าแผนกการศึกษาสงเคราะห์ ต้องดูแลการศึกษาของเด็กพิการประเภทต่างๆ  ได้เคยไปเยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอด ได้ยินครูตาดีคุยกับนักเรียนตาบอดมาแต่กำเนิดคนหนึ่ง    นักเรียนเอามือจับแขนครูด้วยความสนิทสนมเป็นกันเองพูดว่า

"เมื่อเช้า หนูได้ยินครูเสริมศรีชมว่า ครูแต่งชุดสีชมพูสวยน่ารักมากสีชมพูมันเป็นยังไงคะ"

เสียงครูตอบว่า "สีชมพูมันเป็นสีสวย ใครมองเห็นแล้ว ชื่นใจจ้ะ"

สีหน้าของนักเรียนยังไม่สิ้นสงสัย ข้าพเจ้าจึงพูดอธิบายเพิ่มเติมว่า

"มันเหมือนหนูฟังเพลงทำนองหวานๆสบายใจไงคะ หรือ เหมือนหนูกินของนิ่มๆ รสอร่อยๆ หอมอ่อนๆ เช่น ขนมเค้ก ขนมปุยฝ้ายค่ะ" เด็กนั้นยิ้มพยักหน้าแสดงความเข้าใจ


                  เวลานั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้สนใจหลักธรรมทางศาสนามากนัก  การคิดหาคำอธิบายก็เพียงเพื่อให้เด็กเข้าใจ หายสงสัย ข้าพเจ้าก็พอใจมีความสุขแล้ว เรื่องก็จบลงเพียงแค่นั้น


                  แต่พอถึงเวลานี้ เมื่อเอาเหตุการณ์นั้นมาคิดใคร่ครวญอีกครั้งหนึ่ง มีความรู้ทางธรรมเกิดตามมามิใช่น้อย คนตาบอดไม่มีประสาทตา วิญญาณคือความรับรู้อารมณ์ทางตาก็ไม่เกิด ความชอบใจ  ไม่ชอบใจเกี่ยวกับการเห็นรูปที่ดีหรือรูปที่ไม่ดีก็ไม่เกิด ความอยากคือตัณหาทางตาจึงไม่มี เรียกว่ารูปตัณหาไม่เกิด ความทุกข์เกี่ยวกับการเห็นไม่มี ตัดความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ไปได้ทวารหนึ่ง

 

                   พอพูดถึงเรื่องนี้ บางท่านอาจกล่าวหาข้าพเจ้าว่า ถ้าอย่างนั้นคนตาบอดก็มีดีกว่าคนตาดีอย่างเราๆ น่ะซี มีความทุกข์จากกิเลสเกิดทางตาไม่ได้ เรามาชวนกันเป็นคนตาบอดไม่ดีหรือ


                   ถ้าอย่างนี้ก็ต้องอธิบายว่า การเห็นรูปอะไรๆ ได้ทางตานั้น  ไม่ใช่เกิดผลเสียอย่างเดียว ผลดีก็มีมากกว่า ดวงตามีจักขุประสาท  มีจักขุวิญญาณ เมื่อเห็นอะไรแล้วรู้จักคิดให้เป็น ทำให้สติกับปัญญา  เกิดขึ้นแก่เจ้าของมาก เช่น

 

                  ครั้งเมื่อพระสารีบุตรเห็นกิริยาอาการสำรวมเรียบร้อยของพระอัสชิเถระ ให้รู้สึกมีศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก ทั้งที่ตนเองเป็นปริพาชกอยู่แท้ๆ ยังขอฟังธรรมจากพระอัสชิเถรเจ้า ฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม จนตามมาบวชเป็นสาวกของพระบรมศาสดา บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงเป็นพระอรหันต์อัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา

 

                   หรืออย่างสามเณรรูปหนึ่งเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา เห็นช่างดัดคันธนูดัดลูกศร เห็นช่างทำล้อเกวียน ก็เกิดปัญญาคิดได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจิตใจ คนยังสามารถดัดแปลงให้เป็นไปตามใจชอบ ก็ตนเองเป็นคน
มีจิตใจ จะต้องดัดแปลงแก้ไขตนได้ดีกว่าสิ่งของเหล่านั้น แล้วตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

 

                   หรืออย่างพระอรหันตสาวกบางรูป ก่อนบวชได้แลเห็นภรรยาบ้าง นางรำฟ้อนบ้าง นอนหลับอ้าปากกรน น้ำลายไหลเหมือนซากศพ  ให้รู้สึกสลดสังเวชใจ จึงออกจากบ้านเรือนไปบวช ตั้งใจปฏิบัติ สมณธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์

 

                     ความจริงอวัยวะในร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเพียงของกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่ให้คุณ ไม่ให้โทษ แต่ที่กลายเป็นของดี ของไม่ดี  อยากได้ ไม่อยากได้ มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ มีคุณ มีโทษ อยู่ที่การใช้ของเจ้าของ เหมือนของใช้ต่างๆ ในบ้าน เช่น มีด ไม้ขีด ปากกา วิทยุ  ฯลฯ


มีดใช้หั่นสิ่งต่างๆ ได้ประโยชน์ ใช้ฟันใช้แทงด้วยโทสะ เป็นโทษ


ไม้ขีด จุดไฟหุงหาอาหารเป็นประโยชน์ จุดไฟเผาบ้านเป็นโทษ


ปากกา เขียนข้อธรรมคำสั่งสอนให้คนอ่านแล้วได้ปัญญา เป็นประโยชน์ เขียนด่าว่าผู้อื่นเป็นโทษ

 

วิทยุ ใช้เปิดฟังเสียงจากสถานีที่มีพระภิกษุแสดงธรรมเทศนามีประโยชน์ เปิดฟังเพลงฟังละครยั่วยุให้หลงใหลในกามคุณเป็นโทษ

 

                      ของจะให้คุณให้โทษอยู่ที่การรู้จักใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ก็ในทำนองเดียวกัน รู้จักใช้ก็ให้คุณยิ่งนัก แต่ประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ประการนี้  เป็นของที่สนับสนุนซึ่งกันและกันให้ได้ความคิดอ่านเป็นโทษเป็นคุณเหล่านั้น มีลักษณะกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

                     อย่างเช่นในเวลาที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเดิมอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมดูแลการทำงานของโรงเรียนสอนคนหูหนวกด้วยเหมือนกัน  สิ่งที่จำได้จนบัดนี้คือ คำฟ้องของครูสตรีท่านหนึ่งว่า


"หัวหน้าอย่านึกว่า สอนเด็กหูหนวกง่ายกว่าตาบอดนะคะ  หนูละหนักใจจริงๆ ตอนพวกเค้ายังเล็กๆ กันอยู่ก็ไม่เท่าไหร่หรอกค่ะ  แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นเท่านั้น ปัญหาแยะทีเดียว ต้องคอยตามระวังกวดขันกันแจสิ่งที่เขามองเห็น เขาก็จะตีความของเขาไปอย่างหนึ่ง ไม่ใคร่ตรงกับพวกเรา เราอธิบายยังไงๆ เขาก็ไม่ใคร่เห็นด้วย เขาเชื่อการเห็นของเขาสำคัญกว่า


อย่างเช่นเมื่อ สองสามวันก่อนทางโรงเรียนพาไปดูหนังเรื่องหนึ่ง เพราะเห็นว่าเนื้อเรื่องมีคติ สอนใจดี ตรงคติธรรมเขาไม่จำมาใช้หรอกค่ะ   ไปจำเอาบทโรม้านซ์ (บทรัก) มาใช้ หนูงี้ปวดหัวจี๋เชียว"

 

"ตายจริง เด็กมาทำอะไรกัน" ข้าพเจ้าถามอย่างเป็นห่วง

 

"เด็กผู้ชายกับผู้หญิงวัยรุ่นที่เค้าเริ่มชอบๆ กันนั่นแหละ  มาจูบกันเอง ไม่อายเพื่อนๆ เห็นไม่กลัวครูด้วย" อีกฝ่ายอธิบาย

 

"แล้วหนูทำยังไงล่ะ" ข้าพเจ้าหนักใจเต็มที่

 

"หนูก็ทำมือเป็นภาษาใบ้อธิบายว่า การกระทำอย่างนี้ไม่ดี  น่าอาย ไม่ควรทำ ใครๆเห็นเข้าจะตำหนิเอาได้"


"แล้วเด็กเชื่อฟังหรือไม่ล่ะคะ"

 

"แกเถียงค่ะ แกว่าในหนังทำไมจึงทำกันได้ พระเอกกับนางเอกจูบกัน ไม่เห็นต้องอาย คนดูหนังเต็มโรง คนเป็นพันๆ คนเห็นหมด ถ้าเป็นของไม่ดี ทำไมจึงเอามาฉายให้คนดู   ส่วนแกสองคนจูบกันมีเพื่อนเห็น  เพียงไม่กี่คน เพื่อนก็ไม่เห็นว่าอะไร กลับบอกว่าดีเหมือนในหนังเลย  ครูสอนผิดเสียแล้ว"

 

                    ฟังคำบอกเล่าในตอนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็หมดปัญญาอธิบายเหมือนกัน เพราะไม่รู้เรื่องภาษาใบ้ ถึงแม้รู้ แต่การอธิบายด้วยสีหน้า  และมือเพื่อสื่อความหมายก็ไม่ชัดเจนลึกซึ้งเหมือนภาษาคำพูด ซึ่งใช้
อธิบายได้ละเอียดชัดเจนกว่ากันมาก จึงได้แต่กำชับให้ครูผู้ดูแลท่านนั้น  ระแวดระวังความประพฤติของเด็กให้มากยิ่งขึ้น และไม่ควรพาไปดูภาพยนตร์ที่มีบทรักเปิดเผยอย่างเรื่องนั้นอีก

 

                    นี่เล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง ให้เห็นว่าผู้ที่ไม่มีประสาทหู(โสตประสาท)  ไม่มีความรับรู้เรื่องเสียงทางหู (โสตวิญญาณ) ไม่เกิดความอยากในทางเสียง(สัททตัณหา) คือไม่หลงใหลในเสียงดี เสียงชอบใจ ไม่เกลียดชังในเสียงไม่ดีเสียงไม่ชอบใจก็จริง เรียกง่ายๆ ว่า ตัณหาทางหูไม่เกิด ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ แต่ก็ขาดปัญญาที่จะได้จากการได้ยินไปเสียหมด ทำให้กลับโง่หนักขึ้นไปอีก


                    การได้ยินที่เต็มไปด้วยโมหะ คือการไม่รู้ตามความเป็นจริง ทำให้จิตใจหลงใหลเคลิบเคลิ้ม เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด อย่างนี้เพิ่มตัณหาทางหู เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทุกข์เกิดเช่นกัน

 

                   คุยกับท่านผู้อ่านเรื่องต้นเหตุที่ทำให้ตัณหาเกิดมาได้ ๒ เรื่องแล้ว  คือตัณหาเกิดขึ้นทางตา ตัณหาที่เกิดขึ้นทางหู ทีนี้ จมูก ก็เป็นต้นเหตุให้เกิดตัณหาได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน คือ จมูกสามารถสัมผัสกลิ่นและรับรู้ว่า กลิ่นเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร กลิ่นไหนชอบใจก็เรียกว่าหอมแล้วอยากได้ เป็นตัณหาขึ้นมาแล้ว กลิ่นไหนไม่ชอบใจก็อยากให้ไปให้พ้นเป็นโทสะขึ้นมาแล้ว

 

                   คนเราถ้าเกิดมาจมูกไม่รู้เรื่องกลิ่นมาตั้งแต่เกิด ตัณหาทางกลิ่นที่เรียกชื่อว่า คันธตัณหา ก็ไม่มีโอกาสเกิด เพราะไม่เคยรู้จัก แต่ถ้าเกิดประสาทจมูกพิการในภายหลังคันธสัญญาคือความจำได้ในเรื่องกลิ่น
ทำให้เกิดคันธตัณหาได้ ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องจริงในครอบครัวของข้าพเจ้าให้ฟัง

 

                     ดูเหมือนจะเป็นปี พ.ศ. ๒๕๒๒ อดีตสามีของข้าพเจ้า ถูกรถมอเตอร์ไซค์ชนตัวลอยขึ้นแล้วหล่นลงฟาดกับพื้นถนน สลบไป ๑ วัน ๑ คืน  ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเดือน เมื่อค่อยยังชั่ว ข้าพเจ้ากับ
ลูกๆ ต่างก็ดีใจ เพราะเวลานั้นลูกทั้ง ๓ คน กำลังเรียนกันอยู่ชั้นสูงๆ  ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง ข้าพเจ้าก็ลาออกจากราชการแล้ว เงินบำนาญของข้าพเจ้าส่วนใหญ่นำไปเลี้ยงดูบิดา ซึ่งกำลังเจ็บป่วยอยู่ต่างจังหวัด   ถ้าพ่อของลูกๆ เป็นอะไรไป ครอบครัวของเราก็ลำบากมาก

 

                     เมื่อไปเยี่ยมข้าพเจ้าเห็นความผิดปกติประการหนึ่งของคนเจ็บ  คือรับประทานอาหารได้น้อยส่วนใหญ่รับประทานด้วยความเกรงใจคนปรนนิบัติ   ท่าทางแสดงความเบื่ออาหารชัดเจน แล้ววันหนึ่งข้าพเจ้าได้ยินคำปรารภว่า

 

"แหม อยากกินแกงเลียงจังเลย แกงเลียงที่ใส่ใบแมงลักมากๆให้หอมฟุ้งเชียวน่ะ"

 

                      ข้าพเจ้าฟังแล้วก็หวนคิดไปถึงเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อนสมัยเรียนอักษรศาสตร์ด้วยกันมาคนหนึ่งเป็นโรคมะเร็งที่กระดูก ข้อต่อของกระดูกหลุดออกจากกัน ก่อนตายข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยม สอนให้เจริญภาวนา คนเจ็บ  ได้ขอให้ข้าพเจ้าแกงเลียงให้กินเหมือนกัน

 

                       รายพ่อของลูกเจ็บคราวนี้ คงเคยเห็นข้าพเจ้าแกงเลียงให้เพื่อนกิน  แล้วเพื่อนชมว่าอร่อย จึงอาจจะอยากกินขึ้นมาบ้าง ข้าพเจ้าก็รับปากทำให้

 

                      แกงเลียงเป็นอาหารที่ทำไม่ยาก เอาหัวหอม กะปิ พริกไทย  กุ้งแห้ง โขลกเข้าด้วยกันให้ละเอียด แล้วโขลกกระชายปนไปด้วย ละลายน้ำต้มในหม้อให้เดือด เอาผักที่ต้องการแกงใส่ลงไป ใส่น้ำปลานิดหน่อยอย่าให้เค็มมาก เพราะเป็นแกงกินเปล่าๆ เสียส่วนใหญ่ ก่อนยกลงก็ใส่ใบแมงลักลงไป แกงก็หอมอร่อย แต่แกงเลียงที่ข้าพเจ้าทำมักจะพิเศษตรงที่ข้าพเจ้าจะไปซื้อปลาช่อนที่เพิ่งตายใหม่ๆ หรือที่แม่ค้าทำไว้ขายเอามาย่างไฟอ่อนๆ ไปเรื่อยๆ พอสุกดีก็แกะหนังปลาออกทิ้ง แล้วย่างต่อจนเนื้อเหลืองค่อนข้างแห้ง แล้วแกะเอาแต่เนื้อใส่ผสมลงไปด้วย  แกงจะมีรสอร่อยยิ่งขึ้น

 

                  วันนั้นข้าพเจ้าแอบแกงที่ห้องเก็บของของโรงพยาบาล โดยใช้หม้อไฟฟ้า แกงส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วห้องคนไข้พิเศษในชั้นนั้นของตึก  ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐ ห้อง เสียงพยาบาลคนหนึ่งพูดดังๆ ขณะเดินมาว่า


"เอ๊ะ นี่ห้องไหนแอบแกงเลียงเนี่ย หอมฟุ้งไปหมดเลย" ข้าพเจ้า  ยิ้มเขินๆ ตอบค่อยๆ ว่า


"ป้าเองค่ะ เตรียมเครื่องมาจากบ้าน ขอมาใส่ผักที่นี่ เพราะแกงเลียงต้องกินร้อนๆ คนไข้อยากกิน ขอให้ป้าช่วยทำให้สักถ้วยหนึ่งค่ะ  คุณอย่าดุป้าเลยนะคะ เรื่องทำผิดระเบียบใช้เครื่องไฟฟ้า"

             พยาบาลสาวยิ้มอย่างใจดี แล้วชะโงกมาเปิดฝาหม้อแกงเลียง  ทำปากจุ๊บจั๊บทำนองรู้สึกอร่อย พูดว่า


"โอ้โฮ ป้าจ๋า น่ากินจัง มีทั้งน้ำเต้า ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน ตำลึง บวบ ปลาย่าง ห๊อมหอม"


ข้าพเจ้าตักแกงถ้วยใหญ่ให้คนป่วย พอวางแกงลงตรงหน้าพวกลูกๆ ก็ชมกันว่า


"แกงของแม่หอมใบแมงลักฟุ้งเชียว เดี๋ยวเหลือก้นหม้อหรือพ่อกินไม่หมด หนูจะกินเอง"


           คนเจ็บตักแกงขึ้นซด ข้าพเจ้ามองตามอย่างใจจดใจจ่อ คิดว่าคงจะได้ยินคำชมว่าอร่อยมาก ขอบใจ แต่กลับผิดหวังสิ้นเชิง เสียงพูดที่ได้ยินคือ


"พี่บอกให้คุณใส่ใบแมงลักมากๆ อยากให้มันหอมชื่นใจ นี่ไม่ใส่เลย กระชายก็ไม่ใส่ ไม่มีกลิ่นอะไรเลย แย่ยิ่งกว่าแกงจืดเสียอีก"  ข้าพเจ้าฟังแล้วงง ไม่รู้จะตอบอย่างไร มองหน้าคนพูดคิดว่า  คงพูดเย้าแหย่เล่น กลับเห็นสีหน้าจริงจัง ข้าพเจ้าจึงหันไปมองหน้าลูก ขอความเห็นใจ เสียงลูก ๓ คน แย่งกันยืนยันว่า


"อะไรกันครับ(คะ) พ่อ แกงแม่หอมออกฟุ้ง หอมทั้งปลาย่าง ใบแมงลัก กระชาย พ่อไม่ได้กลิ่นได้ยังไง"


                 พอได้สติคิด ข้าพเจ้ารีบเอาดอกกุหลาบที่ลูกซื้อมาปักแจกัน  และที่ผู้มาเยี่ยมซื้อมาฝากอีก ๒ แจกัน ซึ่งมีกลิ่นหอมหวาน ยื่นให้พ่อของเด็กๆ ดม และถามว่า


"ได้กลิ่นกุหลาบรึเปล่าคะเนี่ย"


                  คนเจ็บดมแล้วส่ายหัว แสดงอาการไม่ได้กลิ่น ข้าพเจ้าจึงพูดว่า  "ตายจริง แม่ว่า ประสาทจมูกของพ่อคงกระทบกระเทือนจนเสียไปแล้วแหละลูก ทำไงดีล่ะ ต้องถามหมอก่อนดีมั๊ย "


                 ขณะนั้นแพทย์ผู้รักษาเข้ามาถึงพอดี ตอบคำถามของข้าพเจ้าว่า


"อาการอย่างนี้ไม่แน่นอนครับ บางรายก็เสียตลอดไป บางรายพอหายอักเสบก็ได้กลิ่นตามเดิมครับ"


                 นับแต่วันที่คนเจ็บรู้ตัวว่าประสาทจมูกเสีย ก็มีอาการเหมือนยอมรับ ภาพตนเอง ไม่ร้องหาสิ่งใดๆ ที่เป็นกลิ่นชอบใจอีกเลย เพราะรู้ตัวว่าถึงได้มาตนเองก็ไม่ได้กลิ่น  นี่แหละค่ะ เมื่อประสาทจมูกไม่มี หรือมีแต่เสียไป คันธตัณหาก็ไม่เกิดต่อไปอีก ตราบใดที่ยังมีประสาทจมูก มีความรับรู้กลิ่น และยังขาดปัญญาเห็นตามความเป็นจริง ตัณหาก็มีโอกาสเกิดขึ้นที่นี่ แต่ถ้ามีปัญญาอยู่บ้าง บางทีพอได้กลิ่นทำให้รู้จักพิจารณา เกิดความสลดสังเวชคลายตัณหาลงก็มีอยู่ เช่น หนุ่มรูปหล่อ  สาวรูปงามบางราย ใครเห็นก็ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่บังเอิญมีกลิ่นกายฉุน มีกลิ่นปากเหม็น ใครเข้าใกล้  ก็หมดความนิยมยินดีไปเอง
 

                 ทีนี้พอถึงตัณหาในรสก็ย่อมมาจากประสาทลิ้นและความสามารถในการรับรู้ของลิ้น อวัยวะส่วนนี้ของร่างกายเป็นต้นเหตุให้เกิดตัณหาวันละหลายครั้ง ได้แก่ทุกมื้ออาหาร กำหนัดยินดีในรสอาหาร
 

               ทำความทุกข์ยากให้ชีวิตของผู้คนจำนวนไม่น้อยเลย บางคนหารายได้มามาก เท่าใดก็ใช้หมดไปในเรื่องกิน กินดี กินอร่อย เลือกกิน ต้องกินอย่างโน้นอย่างนี้ ไปภัตตาคารที่โน่นที่นี่ อาหารจานหนึ่งๆ ราคาหลาย
ร้อยบาท บางจานเป็นพัน บางจานต้องออกคำสั่งให้คนปรุงทำบาปด้วย  เช่นสั่งกินกุ้งหรือปลาที่ต้องฆ่ากันสดๆตัณหาในรสก็เกิดมาจากการที่ลิ้นสัมผัสรสแล้วรู้เรื่องนี่เอง 

 

                สำหรับการสัมผัสทางกายก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ชอบเย็น  ร้อน  อ่อน  แข็งต่างๆ ชนิดกัน ก็พยายามไม่ห้ามใจตนเอง กลับตามใจตัณหาที่บังคับใจอยู่ จึงต้องทุกข์ยากด้วยการแสวงหา  ยิ่งอารมณ์ทางใจ ยิ่งมีมากไม่มีที่สิ้นสุด อารมณ์ที่เป็นต้นเหตุ  ให้ตัณหาเกิด ก็คือเรื่องที่คิดขึ้นมาแล้วเป็นเรื่องของกาม เป็นเรื่องของความพยาบาท เรื่องของการคิดเบียดเบียน พอคิดถึงเรื่องเหล่านี้ กิเลสก็กำเริบขึ้นในใจ ทำให้อยากทำอยากพูดตามที่กิเลสบังคับ ผลที่สุดทุกข์ก็เกิด

 

               นอกจากนั้นเรื่องทางใจยังมีเรื่องมิจฉาทิฏฐิ คือมีความคิดเห็นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่รู้อกุศลและอกุศลมูล ไม่รู้กุศลและกุศลมูล ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทเหล่านี้  เป็นต้น มิจฉาทิฏฐิ ทำให้ตัณหาเกิด ตัณหาเกิดแล้ว นำทุกข์มาให้   

 

               สำหรับคนวิกลจริต การทำงานของใจเสียไป ธัมมตัณหาจึงไม่ใคร่เกิด หรือถ้าเกิดก็มีกำลังอ่อน ทำให้ไม่เกิดทุกข์ต่อไปอีก ที่เรียกว่า  ไม่เกิดทุกข์ต่อไปอีกนั้น เพราะคนวิกลจริตส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยก่อนจะมี
อาการวิกลจริตนั้น มักจะเป็นทุกข์หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว จนจิตใจรองรับไม่ไหว ต้องเกิดปฏิกิริยาปฏิเสธให้ใจหมดสภาพทำหน้าที่เสียก่อน ร่างกายจึงจะดำรงอยู่ต่อไปได้

 

               สรุปโดยย่อง่ายๆ ต้นเหตุของตัณหาก็คือการที่เรามี ตา หู จมูก  ลิ้น กาย ใจ ที่สมบูรณ์ ทำหน้าที่ได้เต็มที่ คือมีทั้งประสาทและทั้งวิญญาณ เรียกว่าเรามีอวัยวะที่ทำให้เกิดการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส
รู้สัมผัสทางกาย และมีความรู้สึกนึกคิด

 

                เมื่อมีความสมบูรณ์ทางอวัยวะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วยังต้องมีความบริบูรณ์ของสิ่งที่มากระทบด้วย คือมีสี เสียง กลิ่น รส  ความเย็น ร้อนอ่อนแข็ง และเรื่องราวต่างๆ  มีพร้อมกันสองอย่างทั้งของภายในตัวและของภายนอกตัวอย่างนี้แล้ว จึงเป็นต้นเหตุให้ตัณหาเกิด ตัณหานั้นเองทำให้ทุกข์เกิดตามมา 

 

                อย่างไรก็ตาม อวัยวะต่างๆ เหล่านี้ ภาษาทางธรรมเรียกว่า  อายตนะ ถ้าเราผู้เป็นเจ้าของใช้ให้เป็น คือรู้จักคิด แทนที่จะทำให้ตัณหาเกิด ตัณหากลับจะไม่เกิด แต่จะเกิดปัญญาขึ้นมาแทน อวัยวะที่จะทำปัญญา ให้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก คือ ตากับหู 

 

                  ตาเอาไว้ใช้ดูสิ่งที่จะทำให้ใจเกิดความเลื่อมใสปีติ ใจยึดถือสิ่งที่เห็นเป็นตัวอย่างให้เกิดกำลังใจ มีศรัทธา ความเพียรในการฝึกฝนตนเอง
 

                  ส่วนหูใช้ในการฟังคำสั่งสอน แนะนำอบรมต่างๆ ด้วยความสำคัญดังกล่าวแล้ว เราจึงพบว่าพระพรหม โดยเฉพาะรูปพรหม ไม่ว่าจะเป็นพรหมที่เห็นได้ทางสมาธิด้วยการปฏิบัติธรรม หรือ


                  ที่รู้ตามทางปริยัติ ก็จะมีประสาทเพียง ๒ อย่าง คือ ประสาทตา และประสาทหู อีก ๓ อย่างไม่มีประสาท ไม่มีวิญญาณส่วนใจก็อยู่ในอารมณ์ภาวนาเสียเป็นส่วนใหญ่

 

                  รูปพรหมจึงสามารถแลเห็นและฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถปฏิบัติตามคำสอนนั้นจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับต่างๆ ตามวาสนาบารมีของตนๆ ได้


                  ส่วนอรูปพรหม แม้จะมีรูปครบเหมือนมนุษย์และเทวดา แต่ประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มี จึงไม่มีความสามารถติดต่อรับรู้ รับฟังสิ่งใดจากบุคคลอื่น พระบรมศาสดาไม่สามารถเทศน์โปรดได้  เพราะเขาฟังไม่ได้ยิน มองก็ไม่เห็น จึงนิ่งอยู่เหมือนสิ่งของชิ้นหนึ่งเท่านั้น เหมือนอาฬารดาบส และอุทกดาบส ผู้เคยเป็นครูคนแรกๆ ของพระบรมศาสดาของเรา ตายแล้วไปเกิดในอรูปพรหม เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว คิดจะไปแสดงธรรมโปรดท่านอาจารย์ทั้งสอง  แต่ทราบด้วยพระญาณว่า ทั้ง ๒ คนตายแล้ว จึงทรงเปล่งคำอุท่านว่า


"ฉิบหายแล้ว ฉิบหายแล้ว"


                   เพราะว่าถ้าไปเกิดอยู่ในอรูปพรหมอย่างนั้น ก็ต้องอยู่ไปจนครบอายุ ซึ่งเป็นเวลานานมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลก  อีกกี่พระองค์ก็ตาม ไม่สามารถโปรดให้บรรลุธรรมได้เลย อรูปพรหมจึง
ถูกเรียกว่าเป็นอภัพพสัตว์ เป็นสัตว์ที่อาภัพชนิดหนึ่ง

 

                  เราทุกคนขณะนี้เป็นสัตว์ที่มีโชคลาภล้นเหลือ เกิดมามีอวัยวะบริบูรณ์ มีสัมมาทิฏฐิ ยังได้เกิดในยุค สมัยที่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงอยู่ แถมเราเองยังมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำสั่งคำสอนเหล่านั้น มีครูบาอาจารย์สั่งสอนและประพฤติให้ดูเป็นตัวอย่าง เราจึงควรกอบโกยประโยชน์ในเรื่องนี้ให้เต็มที่ ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนให้เต็มกำลัง มิให้เสียชาติเกิดจึงจะสมควร

 


                 เมื่อชาตินี้บารมียังไม่แก่กล้า ก็อธิษฐานจิตให้ทำสำเร็จในชาติหน้าเรื่อยๆ ไป อธิษฐานว่า ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ทำในเรื่องอย่างนี้ๆ เช่น ให้ทาน  รักษาศีล เจริญภาวนา ขอให้ข้าพเจ้ามีมหาทานติดตัว เป็นทรัพย์ภายนอก  ทรัพย์ภายใน ไปทุกภพทุกชาติ ให้มีความองอาจเข้มแข็งในการทำความดี มีสติ มีปัญญามหาศาล มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ให้มีลาภ ยศ สรรเสริญสุข อายุ วรรณะสุขะ พละ รูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ  บริวารสมบัติ ปฏิภาณไหวพริบ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้วให้ใช้สร้างบารมีอย่างเดียว ไม่ให้นำไปทำเรื่องอกุศลขาดทุนใดๆ ทั้งสิ้น ให้เกิดเป็นบุญ  ให้บุญกลั่นเป็นบารมี เป็นรัศมี เป็นกำลัง เป็นฤทธิ์ เป็นอำนาจ เป็นวาสนา  ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุมรรคผล นิพพาน ให้สิ้นอาสวกิเลส  ให้บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าจะเข้าพระนิพพาน  ให้สร้างบารมีได้เต็มที่ทุกภพทุกชาติที่เกิดตลอดไป..

 


                 นี่ไม่ใช่ตัณหา แต่เป็นคำอธิษฐานจิตเพื่อทำทางออกจากวัฏฏะ  ออกจากการเวียนว่ายตายเกิด เหมือนเรามีหางเสือในการเดินทางด้วยเรือนั่นเอง คำอธิษฐานเป็นเสมือนหางเสือบังคับเรือให้แล่นไปให้ตรงทาง  ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่เราอธิษฐานให้เกิดขึ้นแก่เราด้วย เพื่อใช้เป็นเสบียงในการเดินทางนั่นเอง  ฉลาดแต่จนก็สร้างบารมีลำบาก รวยแต่โง่ ก็ทำนองเดียวกัน  ทั้งฉลาดทั้งรวยแต่ขี้โรคก็ไม่ได้เรื่อง หรือเกิดมาขี้เหร่จนใครเห็นต้องเบือนหน้าหนี ก็สร้างบารมีอะไรๆ ยากเหมือนกัน ต้องเอาอุปกรณ์ไปใช้ให้พร้อม จึงต้องอธิษฐานกันเต็มที่อย่างนี้ 

 

                  แล้วก็เลือกอธิษฐานให้เหมาะแก่กาละ เทศะ เหมาะแก่บุคคล    บางที่บางแห่งควรอธิษฐานสั้นๆ เช่น  ขอให้กุศลกรรมที่ข้าพเจ้ากระทำไว้ดีแล้วนี้ เป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงมรรคผลนิพพาน  บางแห่งมีเวลาก็อธิษฐานเสียให้ยาวๆ ตามใจปรารถนา  ข้อสำคัญให้คำอธิษฐานนั้นเป็นไปเพื่อการเลิกเวียนว่ายตายเกิด
อย่างไรก็อย่ามัวอธิษฐานเสียจนลืมตาขึ้นมา ไม่มีพระภิกษุจะรับบาตร เพราะท่านคอยไม่ไหวจนต้องเดินหนีไปอย่างพระภิกษุอาจารย์ฝ่ายปริยัติของข้าพเจ้าก็แล้วกัน.

 

 

ชื่อเรื่องเดิม คำอธิษฐาน

Cr.อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม๔

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0036829988161723 Mins