ข้อคิดจากสุนัขขี้เรื้อน

วันที่ 30 เมย. พ.ศ.2563

ข้อคิดจากสุนัขขี้เรื้อน  

                    ทุกๆ เช้าที่ข้าพเจ้าเดินขนสำรับกับข้าวไปนั่งรอใส่บาตรที่ปากซอยทางเข้าบ้าน ซึ่งห่างจากบ้านประมาณ ๑๐๐ เมตร ข้าพเจ้าจะพบสุนัขสีค่อนข้างดำตัวหนึ่งนอนอยู่ข้างถนน มันไม่เห่าคนในซอยทุกคน เพราะมันรู้จักและจำได้ รวมทั้งคนส่งนมส่งหนังสือพิมพ์ จะเห่าเฉพาะคนแปลกหน้าเท่านั้น


                   สุนัขตัวนี้ให้ข้อคิดแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ มันไม่ใช่เกิดเป็นลูกหมาตัวเล็กๆ ในบ้านเจ้าของของมัน แต่เจ้าของนำมาตอนที่มันตัวโตแล้ว เมื่อข้าพเจ้าเห็นมันครั้งแรก ข้าพเจ้ารู้สึกว่า มันกำลังจะตายภายในวัน สองวันนี้กระมัง
 

                   "นี่เธอ มานี่เร้ว..มาดูหมาพันธุ์ใหม่ตัวนี้แน่ะ"


                   เสียงเด็กลูกจ้างของบ้านหนึ่งเรียกอีกบ้านหนึ่ง แล้วพวกเขา ต่างคนก็มารุมดู พร้อมกับถามเจ้าของว่า


                  "มันเป็นหมาพันธุ์ไม่มีขนเหรอคะ" 

                    เจ้าของสุนัขตอบปฏิเสธ พร้อมทั้งชี้แจงว่า


                  "มันเป็นสุนัขไทยพันธุ์ธรรมดา เคยมีขนสวยเป็นมัน มีสีลายเหมือนเสือซ่อนอยู่ในขนสีเทาอมดำ ตอนนี้มันเป็นขี้เรื้อน เพราะเมื่อปีที่แล้วเอาไปฝากคนอื่นเลี้ยง คนเลี้ยงคงไม่ดูแล มันจึงทั้งอดทั้งเป็นโรค"


                   ข้าพเจ้าไปดูสุนัขตัวนั้นด้วย มันไม่มีขนติดตัวเลยแม้แต่เส้นเดียว  มีแต่หนังสีเทาแห้งๆ ตลอดทั้งตัว ผอมหนังหุ้มกระดูก ตาเจ็บแฉะ มีขี้ตาเต็มจนลืมขึ้นได้ข้างเดียว เวลาเดินก็เซเป๋ไปเป๋มา มาวันแรกมันกินข้าวที่เจ้าของคลุกให้ถึง ๓ ชาม กินอิ่มก็กระอักออกมาหมด แล้วก็กินเข้าไปใหม่  กินที่มันกระอักออกมานั่นแหละ กินครั้งหลังมันไม่กระอัก ข้าพเจ้าว่ามันตะกละเพราะคงอดอยากมานาน


                   สองสัปดาห์แรกที่มันมาอยู่ เจ้าของพามันไปหาสัตวแพทย์เพื่อดูแลรักษา ตลอดจนทายาที่ผิวหนังรักษาโรคเรื้อน  ข้าพเจ้าได้ข้อคิดจากสุนัขตัวนั้นตั้งแต่เห็นมันครั้งแรก
 

                   "เจ้าหมาตัวนี้มันน่าจะตายก่อนเจ้าของกลับไปรับมา เพราะมันแทบไม่มีแรงลุกเดินไปไหนแล้ว นี่บังเอิญให้เจ้าของมีธุระไปที่บ้านซึ่งเอามันไปฝากไว้จึงช่วยเอามารักษาทัน มันคงจะเคยช่วยชีวิตใครไว้ จึงได้
ทันรอดตาย แล้วพอมาอยู่ที่นี่ เจ้าของให้กินอาหารอย่างดี มีไก่ทอดเป็นประจำ เวลาหนาวก็เอาเสื้อยืดมาใส่ให้ นอนบนผ้าห่มผืนหนา และยังมีผ้าสำหรับห่มอีกผืนหนึ่ง ผ้าห่มใหม่กว่าของเราเสียอีก นี่มันคงจะเคยทำทานไว้ในอดีตแน่ๆ ตอนนี้บุญตามมาให้ผลทันแล้ว ได้อยู่ดีกินดีรอดตาย 
"


                  ในระหว่างเวลาที่ยังไม่หายจากเป็นโรคเรื้อน ข้าพเจ้าผ่านไปครั้งใด  ก็จะเห็นมันอยู่ในอาการเดียว คืออาการเอาเล็บเกาไปตามตัวของมันแกร็กๆ ๆ ยืดคอขึ้นสูงแล้วก็นั่งเกาอยู่นั่น ไม่เลิกรา ใครจะเดินไป เดินมามันไม่สนใจทั้งสิ้น ตั้งหน้าตั้งตาเกาๆ น้ำลายสอปาก แหงนหน้ามองฟ้า บางทีเกาไปคางหงิงๆ หงังๆ เบาๆ ในลำคอไปด้วย มันคงอร่อย แล้วก็มันอย่างภาษาวัยรุ่นใช้ แม้ว่าผิวหนังบางแห่งจะถูกเล็บขูดจนเลือดออกมาซิบๆ มันก็ไม่เลิกเกา หรือแสดงความเจ็บปวดแต่อย่างใด จะหยุดเกาบ้าง ก็ตอนที่มีแมลงวันมาตอมกินเลือดที่ผิวหนัง มันจึงหันมางับซ้าย งับขวาไล่กินแมลงวัน งับไม่ทันก็เลิกสนใจแล้วกลับมาเกาแกร็กๆ ต่อ อร่อยจนลืมตัว บางทีรถยนต์แทบจะชนตายก็ยังนั่งเกาอยู่กลางถนน ไม่ยอมลุกหนี 

 

                  เห็นอาการของสุนัขเกาผิวหนังเพราะเป็นโรคเรื้อนครั้งใด  ข้าพเจ้าอดเอามาคิดเปรียบเทียบกับอาการของคนเราไม่ได้ เดินยกของมาใส่บาตรผ่านสุนัขเกาขี้เรื้อน นั่งรอใส่บาตรพระก็คิดไป
 

                 "หมามันอร่อยจากการเกา มันไม่เลิกเกาแน่ๆ เลย ถ้ายังเป็นขี้เรื้อนอยู่ โน่นแหละ เมื่อไหร่หายจากโรค ไม่รู้สึกคัน จึงจะเลิกเกา  มนุษย์เราก็เป็นโรค เป็นโรคชอบเรื่องการเสพกาม เวลาเสพก็ดูเอร็ดอร่อย เหมือนหมาเกาขี้เรื้อน ใครที่ตกอยู่ใต้อำนาจกาม คนนั้นก็พอกันกับหมาขี้เรื้อน นั่งแสวงหาสิ่งต่างๆ มาบำเรอเลี้ยงกาม ชอบรูปเลี้ยงตา ชอบเสียงเลี้ยงหู ชอบกลิ่นเลี้ยงจมูก ชอบรสเลี้ยงลิ้น ชอบเย็นร้อน อ่อนแข็งเลี้ยงกายสัมผัส เลี้ยงเท่าไหร่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ มีตัณหาหิวอยู่เรื่อย ต้องแสวงหามาเสพ การตั้งหน้าตั้งตาแสวงหามาเสพมาใช้ นั่นแหละ คือการเกา เสพแล้วก็มองไม่เห็นทุกข์ในความอยากเสพกลับเห็นเป็นสุข เห็นเป็นของดี ชอบใจ พอใจ ก็ต้องเกาอยู่อย่างนั่น  เกากันตั้งแต่รู้ความ จนกระทั่งตาย ตายแล้วไปเกิดในภูมิอื่น ก็ไปเกาต่อ  เกิดอีกเกาอีก เกาไม่รู้จบ "


                  "การเกาที่ไม่รู้จบ นี่แหละนะ เป็นวัฏฏะ 

 

                    ข้าพเจ้าคิดไปโน่น คิดแล้วก็เบื่อหน่ายในกามคุณทั้งปวง อยากหลุดอยากพ้น ไม่อยากเกิดแล้วเกิดอีก ทำยังไงนะจึงจะเลิกเกิดเสียได้ตั้งแต่ชาตินี้ 

 

                   ท่านผู้อ่านคงนึกไม่ถึงว่า ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้ทุกครั้ง คิดทุกเช้า ที่เห็นสุนัขตัวนั้นเกาขี้เรื้อน ยังคิดต่อเนื่องไปในที่อื่นๆ อีก เวลาเห็นสุนัขตัวอื่นเกาในอาการเดียวกัน

 

                  เรียกว่าคิดกันอยู่เป็นเดือน  ในที่สุดสุนัขตัวที่เล่าถึงมันได้รับการรักษาจากเจ้าของเป็นอย่างดี มันหายจากโรค ขนของมันขึ้นเต็มตัว  แม้สีจะไม่สวย แต่ขนสวยมากคือเป็นมันเงาเลื่อม ดูอ่อนนิ่ม มันหายสนิท  ก็เลิกเกาอย่างสิ้นเชิง แต่มันก็หางานอย่างอื่นทำเพื่อให้ข้าพเจ้าเกิดข้อคิดต่อไป บ่อยครั้งมันคาบเอากระดูกแท้ๆ ไม่มีเนื้อติดอยู่เลย มานอนแทะ ข้าพเจ้าไปยืนดูใกล้ๆ ไม่เข้าใจว่ามันจะเอร็ดอร่อยอย่างไร เพราะไม่มีเนื้อแม้แต่นิดเดียว มีแต่น้ำลายของสุนัขออกมาเต็มปาก เปียกท่อนกระดูก


                  เห็นแล้วทำให้นึกถึงคำสอนในพระไตรปิฎกที่ว่า กามเหมือนกระดูกก็คงอย่างนี้เอง คือกระดูกนั้นแท้ที่จริงเป็นอาหารไม่ได้ กินก็ไม่อร่อยอะไร แต่ที่สุนัขหลงแทะ เพราะพอแทะแล้วน้ำลายของมันไหลออกมา มันได้ลิ้มรส ของน้ำลายมันเองนั่นแหละ แล้วก็หลงว่าอร่อย จึงพยายามแทะไม่ยอมเลิก แทะให้ปากให้ลิ้นให้ฟันมันเมื่อยมันเจ็บไปเปล่าๆ


                  กาม อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ที่ผู้คนหลงใหล  ความที่จริงก็เป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ ไร้สาระเหมือนกระดูกนั่นแหละ  แต่เมื่อไม่มีปัญญารู้ตามความเป็นจริง ก็หลงแสวงหา เหมือนอาการแทะของสุนัขไม่ผิดกัน
 

                โรคเรื้อนของสุนัข พอรักษาหายก็เลิกเกา แต่โรคชอบแทะกระดูก จนทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังไม่เห็นมันเลิกชอบสงสัยว่ามันคงจะโง่  พอๆ กับคนที่หลงกามในทำนองเดียวกัน 

 

                 เรื่องสุนัขเกาขี้เรื้อน พอหายมันก็เลิกเกานั้น ข้าพเจ้าเอามาคิดต่อแทนมันว่า


                "นี่แน่ะ เจ้าหมาเอ๊ย.. ตอนเอ็งเกาขี้เรื้อนน่ะ เอ็งต้องรู้นะว่าเวลาไม่เป็นน่ะ มันสบายแค่ไหน การสบายเพราะเกาน่ะมันสู้สบายเพราะไม่เป็นโรคไม่ได้หรอก ใช่มั้ยล่ะ แล้วแต่ก่อนเจ้าก็เคยรู้จักความสบาย เพราะไม่เป็นโรคมาแล้ว เพราะแต่เดิมเจ้าไม่เป็น ตอนเจ้าเกาแกร็กๆ อยู่น่ะ  เจ้าเคยนึกถึงความสบายเมื่อก่อนมั่งรึเปล่า  ฮึ เจ้าคงนึกไม่ออกหรอกนะ  ถ้าเจ้านึกได้ เจ้าก็รู้นี่ว่าเจ้าของจับเจ้าทายาเพื่อให้มันหาย หายแล้วจะได้สบายเหมือนเก่า แต่เจ้ากลับวิ่งหนี ถ้าถูกจับบังคับทาจริงๆ เจ้าก็วิ่งไปคลุกขี้ฝุ่น แล้วสะบัดตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องการให้ยาหลุดออกไปให้หมด
 

                แหม อาการของเจ้ามันช่างโง่เง่าเหมือนคนจังเลย..ตอนเด็กๆก็ไม่เคยต้องแบกภาระเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียหรือเป็นสามี ชีวิตแสนที่จะอิสระ กิน นอน แล้วก็เล่น การเล่นก็เล่นไปตามวัย เล่นตุ๊กตา เล่นขายของ หรือวิ่งเล่น ร้องรำทำเพลง เป็นชีวิตแสนสุข 

 

                ต่อมาอุตริเป็นโรคเรื้อน คือหลงใหลในกามคุณ มีครอบครัวลูกเต้า แบกภาระความรับผิดชอบหนักแปร้ หาให้ตนเองกินปากเดียว ท้องเดียวไม่พอ ต้องหาให้คนอื่นอีกจิปาถะ หมดอิสรภาพลงสิ้นเชิง

 

                 ตื่นแต่เช้ามืดแข่งกับนกกาไปหากิน หากินด้วยอาชีพต่างๆ ซ่อก ซ่อก ซ่อก ตลอดวัน กลับบ้านจนมืดจนดึก นอนหลับไม่ทันเต็มตื่น เช้ามืด ไปอีกแล้ว  ทำซ้ำๆ ซากๆ อยู่ยังงี้ทุกวัน..ทุกวัน คนก็ไม่รู้ว่าตนเองกำลังเป็นโรคเรื้อน


                 บางทีเกิดการพลัดพราก ทำให้จากกันไป แทนที่จะดีใจ กลับเป็นทุกข์ ถึงตาย ถึงบ้า อยากอยู่กับโรคขี้เรื้อนต่อไปตลอดกาลนาน

 

                 ยิ่งพอพระภิกษุสงฆ์ท่านนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอน ให้รู้ว่ากามเป็นที่ตั้งของตัณหา ตัณหานำทุกข์มาให้ ก็ไม่ยอมฟัง


                 หาเหตุผลร้อยแปดมาปฏิเสธ นั่นแหละมันเข้าทำนอง เจ้าของพยายามจะรักษา หมามันกลับไม่ยอมให้ทำ มันอยากเป็นขี้เรื้อน จะได้เกาอร่อยๆ  มันถือว่าโรคคันเป็นของดี

 

                แต่ยังไงก็ตาม หมาขี้เรื้อนที่เกาไม่ยอมเลิก หรือหมาแทะกระดูก  แทะอยู่นั่นแล้ว มันทุกข์เพราะเกา มันจะทุกข์เพราะแทะ มันก็เป็นทุกข์อยู่ชั่วคราว เมื่อใดโรคหาย มันก็เลิกเกา หรือเมื่อใดมันไม่มีฟัน แก่จนฟันหักหมดแล้วมันก็เลิกแทะ ยังไงๆ มันก็ยังดีกว่าคน คนต้องเกาเพราะกาม ต้องแทะเพราะกามจนตาย ตายแล้วก็ยังไปเกาไปแทะต่อในชาติใหม่ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร กว่าจะพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพบคำสอนของพระองค์แล้วปฏิบัติตามได้ผลจึงจะเลิกเกาเลิกแทะได้ ต้องใช้เวลานานนับกัปไม่ถ้วนเชียวแหละ


                ดูเถอะ ข้าพเจ้าเห็นอาการบางอย่างของสุนัขตัวเดียว คิดอะไร ต่อมิอะไรเรื่อยเปื่อยไปได้เป็นเวลานานๆ เขียนให้ท่านผู้อ่านอ่านกันเป็นหน้าๆ ไม่ใช่ต้องการให้ท่านเชื่อตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า เพียงแต่ต้องการให้ท่านเห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้นว่า


               "ของที่เห็นอย่างเดียวกัน คนที่มองอาจคิดไม่เหมือนกันเลย "
 

                ขอคิดต่อให้ท่านฟังอีกสักนิดเถอะนะคะ อ่านแล้วโปรดกรุณาอย่าเชื่อตามนี้เป็นอันขาด เพราะข้าพเจ้าอุตริคิดเอาว่า ถ้าเพียงเราไม่หลงใหลในกามคุณอารมณ์ทั้งปวง ทำจิตให้บริสุทธิ์เหมือนสมัยเราเป็นเด็กทารก ไม่รู้สึกอยากได้อะไรๆ เราก็ไม่ตกอยู่ในอำนาจตัณหา  ปฏิบัติตนแค่นี้อยู่เป็นประจำเหมือนสุนัขไม่เป็นโรคเรื้อน ก็เหมือนเราพบนิพพานจำลองเหมือนกัน คือเราพ้นจากความทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์ทางใจได้มาก
 

 

               ที่ไม่ให้ท่านเชื่อความคิดข้างต้น เพราะมันยังมีความทุกข์อย่างอื่น ที่จำเป็นต้องใช้การปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์เหล่านั้น ด้วยการทำนิพพานจริงๆ ให้แจ้ง ไม่ใช่เพียงใช้ปัญญาจากการคิด
 

                 อย่างเช่นทุกข์จากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเหล่านี้ มิได้มาจากกามคุณโดยตรง อย่างนี้ต้องใช้วิธีแก้ด้วยปัญญา จากการภาวนา ภาวนาจนเห็นความจริงของทุกสิ่ง ให้เห็นกายในกาย เป็นอย่างน้อย คือให้สามารถถอดกายได้เป็นชั้นๆ เข้าไปจนถึงกายธรรม  เข้าไปได้จนถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายในพระนิพพาน เมื่อถึงตอนนั้น เราก็จะพบว่ากายมนุษย์ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นเพียงเหมือนคราบของสัตว์บางประเภทที่มันลอกออกทิ้งเท่านั้น เราเองก็สามารถถอดกายที่มีทุกข์ต่างๆ ทิ้งไปได้ เหมือนสัตว์ลอกคราบทิ้งเหมือนกัน  แล้วก็ให้เหลือแต่กายภายในที่ดีๆ บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเป็นกายอย่างเดียวกับกายธรรมในพระนิพพาน
 

                 อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีทุกข์เพราะรู้จักคิด ข้าพเจ้าก็อยากเรียกชื่อ ภาวะอย่างนั้นให้โก้ว่าเป็น ภาพของนิพพานจำลอง 

 

                 เพราะว่า คำว่านิพพานก็ดี คำว่านิโรธก็ดี เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน คือแปลว่าดับ แปลว่าเย็น หมายถึงความดับทุกข์ ดับตัณหาได้สิ้นเชิง ปลอดทุกข์เพราะไม่มีทุกข์จะเกิด 

 

                เมื่อไม่มีทุกข์ชั่วคราวก็น่าจะเรียกว่านิพพานชั่วคราวได้  บางคนว่านิพพานเป็นของสูง ไม่ควรนำมากล่าวเล่นพร่ำเพรื่อ แต่ข้าพเจ้ากลับมีความเห็นว่า การได้พูดถึงอยู่เสมอ พูดถึงบ่อยๆ ทำให้มีกำลังใจ เห็นว่าเป็นของที่พอจะปฏิบัติไปถึง ไม่ยากเกินวิสัย ดีกว่ายกเอาไว้เสียสุดเอื้อม  แค่พูดถึงก็ดูจะเป็นบาปเป็นกรรม เพราะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เลยหมดกำลังใจ  เห็นว่าทำอย่างไรก็ไปไม่ถึง เหมือนดังตัวอย่างวัดในชนบทจำนวนมาก  เก็บพระไตรปิฎกใส่ตู้ลงรักปิดทอง ใส่กุญแจอย่างดี ถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์  ใครๆ ก็ไม่กล้าเปิดอ่าน พระภิกษุสามเณรในวัดเองก็ไม่มีโอกาสอ่าน  มองแล้วก็เพียงนึกเคารพบูชา ไม่สามารถรู้ว่ามีคำสอนอะไรอยู่ในนั้น  ผลที่สุด เปิดดูอีกครั้งพบว่ามีผู้อ่านแล้วจนหมดตู้ ไม่เหลือตัวหนังสืออยู่เลย เพราะปลวกอ่านหมด


                ในภาคปริยัติ ข้าพเจ้าใคร่ถือว่า ใจของเราไม่มีทุกข์นานเท่าใด ก็เรียกว่าเป็นนิพพานชั่วคราวนานเท่านั้น 

 

                ส่วนภาคปฏิบัติสมาธิเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ในเบื้องต้น ให้กำหนดนิมิตที่ศูนย์กลางกาย เมื่อใจหยุดนิ่งดีแล้ว จะพบว่ามีกายซ้อนกัน อยู่ในกายมนุษย์นี้หลายกาย แบ่งคร่าวๆ เป็นกายมนุษย์ละเอียด (กายที่ใช้เวลานอนหลับ เรียกว่ากายฝัน) กายทิพย์ หยาบ-ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ-ละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ-ละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบ-ละเอียด กายธรรมโสดาบัน ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงกายธรรมอรหัต ทั้งหยาบละเอียด รวม ๑๘ กาย ซึ่งแต่ละกายจะมองให้เห็นอีกเป็นล้านๆ กายก็ทำได้ เมื่อทำใจให้หยุดนิ่งได้สนิทพอ

 

                 แต่ละกายนอกจากความประณีตในลักษณะที่เห็นนั้นแตกต่างกันแล้ว ใจก็ยังมีระดับความบริสุทธิ์จากกิเลส ต่างกันด้วย ใจของกายมนุษย์ละเอียดบริสุทธิ์ดีกว่าใจในกายมนุษย์หยาบ ใจในกายทิพย์ดีกว่าใจมนุษย์ ใจพรหมดีกว่าใจเทวดา ใจพระในกายธรรมก็ดียิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ กระทั่งใจในกายอรหัตจะบริสุทธิ์ที่สุด ปราศจากกิเลสิ้นเชิง 

 

                 ถ้าใครกำหนดให้ใจตนเองเป็นใจเดียวกับใจในกายธรรมอรหัตอยู่เสมอ ได้นานเท่าใด ก็เท่ากับใจถึงพระนิพพานนานเท่านั้น


                เวลาใดถอนใจออกมาติดอยู่ในใจของกายอื่น ก็เป็นอันพ้นสภาพพระนิพพานออกมา แต่ถ้าไม่ถอนเลย จะคิดจะพูดจะทำ ก็ให้ใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจของธรรมกาย ในระดับกายอรหัตเสมอตลอดเวลา ไม่ยอมถอนออกมาที่กายอื่น กายมนุษย์เองก็เป็นเหมือนเสื้อสวมอยู่เฉยๆ ไม่ใช้ใจของกายมนุษย์เป็นอันขาด อย่างนี้เรียกว่าเข้านิพพานตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่  เรียกว่าถึง ภาวะนิโรธธรรมก็ได้

 

                ส่วนการทำนิโรธสมาบัติ ก็คือการเปลี่ยนใจจากกายธรรมต้นๆเข้าไปใช้ใจของกายธรรมข้างในเรื่อยเข้าไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทิ้งความรู้สึกนึกคิดในกายมนุษย์เสียทั้งหมด เป็นภาวะสงบประณีตยิ่งนัก แต่สามารถสัมผัสได้ ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย

 

               นี่ข้าพเจ้ากำลังพูดกับท่านผู้อ่านถึงเรื่องนิโรธ หรือนิพพานทีเดียวนะคะ


               เวลาข้าพเจ้าเขียนเรื่องราวต่างๆ ให้ท่านผู้อ่านอ่าน บางครั้งก็รู้สึกหนักใจอยู่บ้าง เพราะหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสท่านสั่งไว้ตั้งแต่ก่อนเขียนว่า "เขียนให้แม่ค้าในตลาดอ่านแล้วรู้เรื่องนะ"สำหรับเล่มต้นๆ เมื่อกล่าวเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ อะไรเหล่านั้น ไม่ใคร่ห่วงนัก เพราะมีข้อพิสูจน์พบแล้วว่า แม่ค้าในตลาดอ่านรู้เรื่องจริงๆ คือ

 

              วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนผู้เกิดเดือนมิถุนายน ๓๙ คน ไปทำบุญถวายภัตตาหาร (บุญสหวาระ) ที่วัด มีพระเณร ราว ๔๐๐ รูป ทำอาหารประณีตที่ชอบใจหลายอย่าง ที่ชอบใจมาก คือได้ถวายทุเรียนหมอนทองล้วนๆ และไอศกรีม ยังได้ไปเก็บส้มที่ไร่ส้ม  ซึ่งพวกเราซื้อกันไว้มาถวายวัดอีกหลายเข่ง ตอนขากลับติดรถมากับข้าราชการซึ่งอุตส่าห์ลางานไปทำบุญด้วย ข้าพเจ้าบอกหนทางผิด รถเลี้ยวไปทางตลาดปากเกร็ด
 

               พอเห็นตลาด ข้าพเจ้าจำได้ว่าเมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้วเคยเข้าไป เวลานั้นยังไม่ได้เข้าวัด แต่เมื่อพบปลาช่อนตัวหนึ่ง มันกระโดดหนีออกมาจากลังที่ถูกขังมาชนขาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคิดเอาว่ามันคงอยากให้ข้าพเจ้าช่วยชีวิตมันกระมัง จึงให้แม่ค้าจับให้ และซื้อเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ตามกำลังทรัพย์แล้วเอาไปปล่อยที่ท่าน้ำ 

 

               คงจะเป็นด้วยบุญเก่ามาเตือนใจ รวมทั้งโดยปกติแล้ว การทำบุญสหวาระ ข้าพเจ้าชอบปล่อยสัตว์ให้ผู้ร่วมเดือนเกิดแทบทุกเดือน ข้าพเจ้าจึงขอให้ผู้ร่วมทางร่วมกันปล่อยสัตว์ด้วย 

 

               เข้าไปในตลาดเหมาปลาช่อนปลาดุกและกบ ๓-๔ เจ้า รวมกันราว ๕๐ กิโลฯ เกือบ ๔ พันบาท ปล่อยจนหมด กำลังชุลมุนซื้ออยู่นั่นเอง  แม่ค้าผักดองเข้ามาร่วมสมทบทำบุญด้วย และบอกว่า
 

              "หนูกำลังอ่านหนังสือจากความทรงจำ ของคุณป้าอยู่พอดี" 

 

              เอามาเล่าให้ฟังเพื่อยืนยันว่า ข้าพเจ้าทำตามคำสั่งของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสสำเร็จ 

 

               แต่มาถึงเล่มสุดท้ายที่กำลังเขียนอยู่ขณะนี้ ข้าพเจ้าเริ่มไม่แน่ใจนัก เพราะต้องพูดกันถึงเรื่องนิพพาน อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าจะพยายามให้เต็มที่ ทนอ่านต่อไปอีกหน่อยเถิด 

 

                คำว่า นิพพาน มาจากคำว่า นิ-วา-นะ 

 

                 วานะ หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวโยงสัตว์ไว้ให้เกิดติดต่อกันจากชาติที่แล้วมาชาตินี้ จากชาตินี้ไปชาติหน้า ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนเส้นด้ายที่เราใช้เย็บผืนผ้าแต่ละผืนให้ติดต่อกัน  สิ่งที่เกี่ยวโยงสัตว์ไว้ให้ต้องเกิด  ที่เปรียบเหมือนเส้นด้ายโยงผ้าสิ่งนั้นก็คือ ตัณหา (คำว่า วานะ แปลว่าตัณหาก็ได้)


                 ส่วนคำว่า นิ เป็นคำนำหน้าแสดงอาการปฏิเสธ แปลว่า ปราศจาก พ้น ไม่มีสิ้นไป 

                นิพพาน ให้แปลตรงตัวก็แปลว่าสิ้นตัณหา ดับทุกข์ได้ก็แค่นั้นเอง


                 ดับทุกข์ได้นิดๆ หน่อยๆ ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เรียกว่านิพพานจำลอง นิพพานชั่วคราว ดับได้สนิทสิ้นเชิงตลอดไป ชาติหน้าไม่มี ตัณหาพาไปเกิดได้อีกแล้ว ก็เป็นนิพพานถาวร
 

                 นิพพานในความหมายทั่วไป โดยเฉพาะที่ยังใช้กันอยู่ในประเทศอินเดียทุกวันนี้ (จากที่เคยอ่านพบ) ชาวอินเดียใช้คำว่านิพพาน ในความหมายว่า "เย็น" เช่นข้าวที่หุงเสร็จใหม่ๆ ยังร้อนอยู่ ทิ้งไว้สักพัก ข้าวนั้นก็เย็นลง เขาเรียกว่าข้าวนิพพาน
 

                 ข้าพเจ้าชอบใจความหมายนี้มาก รู้สึกให้ความสบายใจ และดูไม่ไกลสุดเอื้อม เราทำอะไรที่ทำแล้วเย็นอกเย็นใจ ไม่มีความเร่าร้อน  ทั้งในขณะที่คิดจะทำ ขณะกำลังทำอยู่ และภายหลังเมื่อกระทำไปแล้ว ให้เย็นตลอดกาลอย่างนี้ เรียกว่า นิพพาน แม้แต่จะเป็นนิพพานจำลอง หรือนิพพานชั่วคราวก็ยังดี 

 

                นิพพานในภาคปริยัติ แปลว่า ดับกิเลส ดับกองทุกข์ เลิกเวียนว่ายตายเกิด

                 นิพพานในภาคปฏิบัติ มีไม่เหมือนกัน บางแห่งพูดเหมือนอุจเฉททิฏฐิ เหมือนนิพพานเป็นของสูญ รูปดับ นามดับ เป็นความว่างเปล่า หมายความอย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย รู้สึกว่าเป็นนิพพานที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลย 

 

                 แต่นิพพานที่ปฏิบัติกันแล้วพบเห็นได้ โดยการปฏิบัติทางอาโลกกสิณ กำหนดดวงแก้วที่ศูนย์กลางกาย ที่เราเรียกกันว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนั้น นิพพานเป็นสถานที่ว่างเปล่า  ไม่มีขอบเขต ในนิพพานมีแต่พระธรรมกายอยู่เต็มไปหมด จำนวนนับไม่ได้ เป็นธาตุที่บริสุทธิ์สะอาด สว่าง สงบ เป็นธรรมธาตุอันสูงส่ง  ตรงกับที่ในพระไตรปิฎกเรียกว่า "ธรรมขาว"
 

                   พระธรรมกายเหล่านั้น ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่เป็นธาตุขันธ์ที่บริสุทธิ์  เรียกว่า "ธรรมขันธ์" เป็นกายที่มีชีวิตสามารถเคลื่อนไหว พูดคุยโต้ตอบได้ เพียงแต่ท่านหมดความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรๆ จึงอยู่อิริยาบถนั่งเข้านิโรธสมาบัติเหมือนกันหมด 

 

                 เพราะเหตุที่ท่านยังมีกาย ไม่ใช่กายหยาบมีเนื้อหนังแบบเราๆ  กายนั้นเป็นกายละเอียดที่สุดสะอาดที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด จึงเรียกกันว่า "กายธรรม" หรือ "ธรรมกาย"
 

                 ในตัวพวกเราทุกคนก็มีธรรมกายอยู่ภายใน เราสามารถพบเห็นได้ด้วยการทำให้จิตสะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส ให้เป็นระดับจิตเดียวกับจิตในกายธรรม ก็สามารถเห็นธรรมกายในตัว 

 

                 ถ้าทำจิตได้แค่ระดับจิตของกายฝัน กายทิพย์ กายพรหม ก็เห็นเพียงกายของภูมินั้นๆ 

 

                 ทีนี้ถ้าต้องการให้ตนเองเป็นมีกายชนิดไหน ก็เอาใจจดจ่ออยู่ที่กายนั้นๆ จะทำจะพูดจะคิด ก็ให้เหมือนตนเองทำพูดคิดอยู่ด้วยจิตของกายนั้นๆ

 

                เมื่อต้องการเข้านิพพาน ก็ให้เอาใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับดวงธรรมในกายอรหัตอยู่ให้ได้ตลอดเวลา ก็เป็นอันสำเร็จ ถ้าอยู่ได้ชั่วครั้ง ชั่วคราว ก็เป็นอันได้พบนิพพานชั่วคราว 

 

                  ข้าพเจ้าชอบความหมายของนิพพานแบบนี้ เพราะได้ทดลองพิสูจน์พบด้วยตนเองมาแล้ว เพียงแต่ไม่สามารถอยู่ได้อย่างถาวร

 

                  เพราะโดยข้อเท็จจริง ใครก็ตามที่สร้างสมบารมีไว้ยังไม่เต็มบริบูรณ์ ย่อมเข้านิพพานถาวรไม่ได้อยู่เอง ต้องให้ดวงบารมีทั้ง ๑๐ เต็มที่ (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว) จึงจะสามารถอยู่ได้อย่างถาวรเลิกเวียนว่ายตายเกิด

 

                แม้ยังอยู่จริงไม่ได้ แต่เราก็สามรถพิสูจน์ได้ว่า นิพพานเป็นอย่างไร


               เหมือนเราต้องการไปต่างประเทศ เราก็สะสมเงินทองพอ ค่าเรือบินไปดูแล้วก็กลับมาอยู่บ้านเราตามเดิมส่วนการจะไปอยู่ถาวรได้ต้องสะสมทรัพย์มากหน่อย จนพอไปใช้จ่ายตลอดไป จึงจะไปอยู่ได้

 

                  ทีนี้ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องนิพพานในความรู้ความเข้าใจที่ข้าพเจ้าเล่าเรียนและปฏิบัติมาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ ข้าพเจ้าขอพูดให้ฟังดังนี้
 

                 แต่เดิมทีเดียว เมื่อยังไม่มีโลก ไม่มีจักรวาล ไม่มีดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ ก้อนเมฆ ท้องฟ้า หรืออะไรๆ เลยนั้น มีธาตุธรรม หรือธรรมธาตุสำคัญอยู่ ๒ ชนิด เรียกว่า "ธรรมขาว" และ "ธรรมดำ"
 

                 ธรรมขาว ในภาษาปริยัติเรียกว่านิพพาน ธรรมดำ คือมารโลก   ธาตุธรรมหรือธรรมธาตุก็แปลว่าสิ่งที่ทรงอยู่อย่างนั้นสิ่งที่เป็นอยู่อย่างนั้นเอง 

 

                 ธรรมขาวและธรรมดำนี้เป็นปฏิปักษ์กันอย่างยิ่ง ต่างฝ่ายต่างต้องกำจัดซึ่งกันและกัน ฝ่ายธรรมขาวได้สร้างหุ่นขึ้น เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง นั่นคือหุ่นมนุษย์   ธรรมดำ ไม่ได้สร้างหุ่น แต่สร้างเครื่องทำลายหุ่น เช่น พวกกิเลส ประเภทต่างๆ โรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ 

 

                 มนุษย์เปรียบเหมือนหุ่น หรือเปรียบเหมือนบ้านว่าง เมื่อโจรมาอาศัยอยู่ในบ้านว่าง บ้านนั้นก็กลายเป็นซ่องโจร ตำรวจเข้าไปอยู่บ้านนั้น ก็เป็นสถานีตำรวจ พระภิกษุเข้าไปอยู่ ที่นั่นก็เป็นวัด
 

                 หุ่นมนุษย์ เมื่อจิตใจของเขารับอำนาจหรือพลัง (บุญ) จากธรรมขาว เขาย่อมยินดีในการสร้างบุญ ให้บุญนั้นกลั่นเป็นบารมี  ถ้าใจรับอำนาจจากธรรมดำ (บาป) เขาย่อมยินดีในการทำความชั่ว 

 

                 มารโลกหรือธรรมดำเมื่อต้องการทำลายหุ่นมนุษย์ เขาก็ผลิตกิเลสออกมา ใช้ให้เข้าครอบงำสิงใจมนุษย์ บีบมนุษย์ให้ทำกรรมทั้งกรรมชั่วและกรรมดี (กรรมดีชนิดที่ยังเจือด้วยกิเลส ) กรรมที่หุ่นมนุษย์ทำนั่นเองทำให้เกิดผล ผลของกรรมเรียกภาษาพระว่าวิบาก
 

                วิบากกรรมนั่นเองสร้างภพสร้างภูมิขังหุ่นมนุษย์ ภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ ก็มาจากกิเลส เป็นสาเหตุต้นเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น คนเกียจคร้านชอบนอนหลับเป็นอาจิณ กิเลสตัวที่บีบบังคับใจให้ทำกรรมด้วยการนอนชื่อ "ถีนะมิทธะ" ทำอาการอย่างนี้อยู่สม่ำเสมอจนกลายเป็นอาจิณกรรม  เป็นกรรมที่ทำบ่อยๆ เนืองนิตย์ ในที่สุดเมื่อตายลง ผลของกรรมคือความชอบนอนก็สร้างเป็นภูมิเดรัจฉานที่ชอบนอน ให้ได้เกิดเป็นสัตว์ เช่น งู กินอาหารอิ่ม ครั้งหนึ่งๆ ก็นอนไปเป็นวันๆ บางทีถ้าเป็นงูใหญ่ นอนไปคราวหนึ่งๆ ๗ วัน กว่าอาหารจะย่อยหมด หรือเกิดเป็นหมู เป็นแมว เป็นหมา กินแล้วก็นอน

 

                อยากให้ผู้คนชมตนเองว่าเป็นคนดี เพราะถูกกิเลส ชื่อ "โลภะ" บีบใจ ทำให้ช่วยเหลือคนโน้นคนนี้ ทำตัวอยู่ในศีลในธรรม  แต่ก็ยังไม่คิดออกจากวัฏฏะ ก็ทำให้เกิดในภูมิมนุษย์ ภูมิเทวดา 

 

               ถ้าเบื่อในกามคุณอารมณ์ อยากหนีให้พ้น เป็นวิภวตัณหา  กิเลสตัวโลภะชนิดประณีตบีบเอา ก็ทำกรรมด้วยการเจริญภาวนา ไปเกิดในพรหมภูมิ อย่างนี้เป็นต้น


               แม้แต่เกิดในภูมิเดียวกัน ก็ยังแตกต่างกันไปตามผลของกรรมอย่างนับไม่ถ้วน ตัวอย่างเช่นเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่รูปร่างความเป็นอยู่ นิสัยใจคอไม่มีเหมือนกันเลย มีกี่พันล้านคน ก็ต่างกันออกไปทั้งหมด


               เมื่อหุ่นมนุษย์ยอมให้ฝ่ายมารโลกเอากิเลส เข้าสิงใจ จนต้องลงมือทำกรรม ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ผลกรรมก็บีบให้รูปร่างของหุ่นมนุษย์เปลี่ยนรูปไปทุกครั้งที่เกิดเป็นเดรัจฉาน นก หนู ปู ไก่ จิ้งจก ตุ๊กแก ยุง มด กระทั่งตัวพยาธิ รวมทั้งเป็นเปรต เป็นอสุรกายต่างๆ ไปตามผลของกรรม


               ผลของกรรมส่งให้เกิดเป็นสัตว์ในภูมิใดก็ตาม ก็ต้องไปพบความทุกข์ของรูปขันธ์ นามขันธ์ที่ได้รับอยู่ในภูมินั้นๆ ไม่มีที่ใดพ้นทุกข์

 

               เมื่อพบทุกข์ ทุกข์ก็บีบคั้นให้เกิดกิเลส ตัวอยากพ้นทุกข์ก็จริง แต่อยากแล้วทำผิดวิธี คือแทนที่ทำแล้วจะจางคลายจากกิเลส กิเลสกลับพอกพูนยิ่งขึ้น กิเลสก็บีบให้ทำกรรมใหม่ หมุนเวียนระหว่างกิเลส - กรรม - วิบาก อยู่อย่างนี้ ไม่รู้จบสิ้น เป็นวัฏฏะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในที่คุมขังคือภูมิทั้ง ๓๑ ของฝ่ายมาร
 

               พระนิพพานจำเป็นต้องเอาหุ่นมนุษย์คืน โดยต้องทำให้มนุษย์รู้จักตนเองว่าเป็นใคร ควรทำอย่างไร วิธีช่วยให้มนุษย์รู้จักตนเองก็ด้วยการส่งพลังบุญให้มนุษย์ผู้รับพลังของธรรมขาวได้มากกว่าใครๆ ให้หุ่นนั้นมีปัญญามากที่สุดขึ้นมาในชาติใดชาติหนึ่ง เกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา
 

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเอง ทรงประกาศศาสนา พาหุ่นมนุษย์ทั้งหลายรอดพ้นออกไปจากวัฏสงสารที่ฝ่ายมารโลกขังเอาไว้ เข้าสู่พระนิพพาน 

 

                คำสั่งและคำสอน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เหล่าเวไนยสัตว์ คือสัตว์ที่มีบารมีแก่พอจะปฏิบัติตามได้ มีหลักใหญ่อยู่เพียง ๓ ข้อเท่านั้น คือ


๑. ละความชั่วทั้งปวงให้หมดสิ้น


๒. ทำความดีให้เต็มที่


๓. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์


                การปฏิบัติตามหลักคำสอน ๓ ข้อนี้ เหมือนการเดินขึ้นบันไดจากต่ำไปสูง หรือถ้าเปรียบหุ่นมนุษย์เหมือนภาชนะที่จะนำไปใส่ของที่ต้องการ ก็เป็นภาชนะที่มีขยะสิ่งสกปรกอยู่เต็ม (คือใจมนุษย์มีกิเลสหมักหมมอยู่เต็ม) เมื่อต้องการจะนำภาชนะไปใช้ ก็ต้องนำขยะ สกปรกเหล่านั้นไปเททิ้ง หมายถึงการละความชั่วทิ้ง แล้วก็นำภาชนะไปล้างด้วยกรรมวิธีต่างๆ ให้สะอาด หมายถึงทำความดีให้เต็มที่ เมื่อภาชนะสะอาดดีแล้ว ก็นำภาชนะนั้นไปใช้ นั่นคือจิตมนุษย์ที่ล้างความชั่วทิ้งทำแต่ความดี ก็มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้บริสุทธิ์ได้ง่าย


                การทำจิตให้บริสุทธิ์มี ๒ วิธีสมาธิภาวนาและวิปัสนาภาวนา การจะทำจิตให้บริสุทธิ์โดยไม่ละความชั่วทุกอย่าง และไม่สร้างความดีให้เต็มที่ ทำไม่ได้ เหมือนมีขยะเต็มภาชนะ ไม่เทออก จะใส่สิ่งของใหม่อันใดก็ใส่ไม่ได้ 

 

                เมื่อจิตบริสุทธิ์ก็ย่อมเห็นแจ้งในพระนิพพาน และปฏิบัติตนตามแนวทางที่จะเข้าพระนิพพานได้ในที่สุด ทำจิตให้บริสุทธิ์เปรียบเหมือนปีนป่ายขึ้นไปในที่สุด ย่อมจะมองเห็นบ้านเมืองที่อยู่ในที่ไกล (คือนิพพาน) ว่าอยู่ตรงไหน ทิศไหน แล้วก็เดินไปตามทาง (มรรคมีองค์ ๘) ตรงไปยังเมืองนั้น
 

               เมืองที่เปรียบเทียบนี้คือนิพพาน พระบรมศาสดาตรัสเกี่ยวกับพระนิพพานไว้ว่า


               "(๒๘) ควรรู้ยิ่งว่า ความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพาน ความไม่เป็นไปเป็นนิพพาน ความไม่มีเครื่องหมายเป็นนิพพาน ความไม่ประมวลมาเป็นนิพพาน ความไม่สืบต่อเป็นนิพพาน ความไม่ไปเป็นนิพพาน ความไม่บังเกิดเป็นนิพพาน ความไม่อุบัติเป็นนิพพาน ความไม่เกิดเป็นนิพพาน ความไม่แก่เป็นนิพพาน ความไม่ป่วยไข้เป็นนิพพาน ความไม่ตายเป็นนิพพาน ความไม่เศร้าโศกเป็นนิพพาน ความไม่รำพันเป็นนิพพาน ความไม่คับแค้นใจเป็นนิพพานฯ "  (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๓๑ หน้า ๑๒)


                 ธรรมขันธ์ของกายธรรมมีคุณสมบัติดังที่กล่าวแล้วนี้ทุกประการ  สิ่งใดที่ตรงข้ามกับนิพพานสิ่งนั้นเป็นสังขาร (สังขาร แปลว่าสิ่งปรุงแต่ง) ทั้งสิ้น


              "(๔๘) การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง การพิจารณาเห็นความทุกข์ การพิจารณาเห็นอนัตตา การพิจารณาเห็นด้วยความเบื่อหน่าย การพิจารณาเห็นด้วยความคลายกำหนัด การพิจารณาเห็นด้วยความดับ การพิจารณาเห็นด้วยการ ละคืน การพิจารณาเห็นความสิ้นไป การพิจารณาเห็นความเสื่อมไป การพิจารณาเห็นความแปรปรวน การพิจารณาเห็นความไม่มีเครื่องหมาย การพิจารณาเห็นธรรมไม่มีที่ตั้ง การพิจารณาเห็นความว่างเปล่า การพิจารณาเห็นธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง การพิจารณาเห็นโทษ การพิจารณาหาทาง การพิจารณาเห็นอุบายที่จะหลีกไป ควรรู้ยิ่งทุกอย่าง "  (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๓๑ หน้า ๑๘)


              ข้าพเจ้าเขียนหนังสือจากความทรงจำมาถึงเล่มนี้ หัวใจของเรื่อง คือข้อความ ๓-๔ หน้า ที่ข้าพเจ้ากำลังเล่าให้ท่านฟังอยู่นี้ ขอวิงวอนให้ท่านผู้อ่านอดทนอ่านสักนิดเถอะ อีกนิดเดียวก็จบแล้ว ตรงนี้เป็น ธรรมโอ สถอันวิเศษสามารถรักษาโรค เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของเราได้ รักษากันข้ามภพข้ามชาติทีเดียว 

 

                พระบรมศาสดาของเราตรัสเรื่องทางเดิน หรือหนทางปฏิบัติตน หรือที่เรียกด้วยภาษาธรรมว่า "มรรค" ไว้ว่า 

 

                ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น


๑.สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) คือมีความรู้ในเรื่องทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ภาพปราศจากทุกข์ และวิธีปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นทุกข์ เรียกว่ารู้อริยสัจ ๔ 

เรื่องทุกข์ ต้องทำความรู้จักว่ามีอะไรบ้างที่เป็นทุกข์
เรื่องเหตุให้ทุกข์เกิด (สมุทัย) ต้องกำจัดให้สิ้นไป หรือต้องละเว้นไม่ให้เกิด
เรื่อง ภาพปลอดทุกข์ (นิพพานหรือนิโรธ) ต้องทำให้แจ้ง คือรู้จักโดยแจ่มแจ้ง (ทางใจ)
เรื่องวิธีปฏิบัติตนเพื่อดับทุกข์ (มรรคมีองค์ ๘) ต้องทำให้เกิดขึ้น คือลงมือปฏิบัติให้ได้รับผล

 

๒.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) คือดำริออกจากกาม ดำริออกจากความพยาบาท และดำริออกจากความเบียดเบียน


๓.สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือเจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ


๔.สัมมากัมมันตะ (การงานชอบ) คือเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม


๕.สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) คือละอาชีพผิดที่ทำด้วยมิจฉาวาจา  มิจฉากัมมันตะ ทำแต่อาชีพชอบ


๖.สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) คือปรารภความเพียรด้วยความพอใจ ประคองจิตไว้ อกุศลกรรมอันลามกใดๆ ที่ยังไม่เกิด ก็อย่าให้เกิดอันใดที่เกิดอยู่แล้วพยายามละออกให้หมด  ส่วนกุศลกรรมใดๆ ที่ยังไม่เกิด เพียรทำให้เกิดขึ้นส่วนที่มีอยู่แล้ว ก็ทำให้เจริญไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้น


๗.สัมมาสติ ( สติชอบ คือระลึกในสิ่งที่ควร) คือ

พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 

พิจารณาให้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่..กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่...กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่... กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย


๘.สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ) คือการตั้งใจมั่น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม


                 เข้าปฐมฌาน อันมีวิตกวิจารปีติและสุขที่เกิดจากวิเวก
                 เข้าทุติยฌาน อันเป็นความผ่องใสแห่งจิตภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น วิตกวิจาร สงบไป มีแต่ปีติสุขที่เกิดจากสมาธิ เป็นผู้มีอุเบกขา  มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
                 เข้าตติยฌาน ซึ่งเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ใดได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นมุข (นำหน้า)
                 เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ (เขียนเอาความ จากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๓๑ หน้า ๓๘-๓๙)


                 ข้าพเจ้าขอจบหนังสือจากความทรงจำเรื่องนี้ ลงตรงเรื่องมรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ซึ่งแต่ละองค์มรรค ต่างทำหน้าที่ละมิจฉาธรรมในฝ่ายของตนๆ และยังอุปถัมภ์สหชาตธรรม (ธรรมที่เกิดร่วมพร้อมกัน) ครอบงำกิเลสทั้งหลาย ได้ความหมดจดเบื้องต้นของปฏิเวธ (การบรรลุธรรมในแต่ละขั้นตอน) ได้ความตั้งมั่นแห่งจิต  ได้ความผ่องแผ้วแห่งจิต ได้บรรลุธรรมพิเศษแทงตลอดธรรมอันยิ่ง  ตรัสรู้สัจจะ และเพื่อให้จิตตั้งอยู่ในนิโรธในที่สุด (หน้า ๓๐๒ เล่ม ๓๑)


                ด้วยประโยชน์อันวิเศษดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน เรามาร่วมใจกันเดินทางไปสู่ความสุขอันยิ่งใหญ่ เป็นเอกันตบรมสุขนี้ด้วยกัน อย่าให้เสียชาติเกิดในชาตินี้ไปเลย อย่ามัวประมาทอยู่เลย

 

ชื่อเรื่องเดิม สุนัขขี้เรื้อน

Cr.อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม๔

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0025630156199137 Mins