ศีลบารมี

วันที่ 28 มิย. พ.ศ.2564

28-6-64-5-b.jpg

ศีลบารมี
พระโพธิสัตว์ปรารภเรื่องศีลบารมี

             ศีลบารมี เป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๒ ที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์จะต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์
จึงจะถึงฝั่งแห่งพระโพธิญาณ คือ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ดังนั้นเมื่อท่านสุเมธดาบสได้เห็น
ทานบารมีว่าเป็นบารมีแรกที่ต้องเร่งบำเพ็ญแล้ว จึงได้เห็นศีลบารมีเป็นลำดับถัดไป ดังแสดงไว้ใน ขุททก-
นิกาย อปทาน1 ดังนี้

            ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าจะไม่พึงมีประมาณ
เท่านี้เลย จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นศีลบารมีข้อที่ ๒ จึงได้มีความคิดอันนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต
จำเดิมแต่นี้ไป แม้ศีลบารมี ท่านก็ต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่าเนื้อทรายจามรีไม่เห็น
แก่ชีวิต รักษาเฉพาะขนหางของตนเท่านั้นฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น จำเดิมแต่นี้ไป อย่าได้เห็นแม้แก่ชีวิต
รักษาเฉพาะศีลเท่านั้น จักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้อธิษฐานศีลบารมีข้อที่ ๒ กระทำให้มั่นแล้ว
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

"ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีประมาณเท่านี้ เราจักเลือก
เป็นธรรมแม้อย่างอื่นอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ครั้งนั้น เราเมื่อ
เลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นศีลบารมีข้อที่ ๒ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในกาล
ก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ

ท่านจงสมาทานศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึงความ
เป็นศีลบารมี หากท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระโพธิญาณ

จามรี หางคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ปลดขนหางออกไม่ได้ ก็ยอม
ตายในที่นั้น แม้ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ในภูมิทั้ง ๔
จงรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษาขนหาง ฉันนั้นเถิด”

           ศีล แปลว่า ข้อปฏิบัติเพื่อควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของตนให้สุจริต สะอาด
บริสุทธิ์

           บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
แล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ

           ศีลบารมี หมายถึง ความตั้งใจมั่นที่จะรักษาตนให้สุจริต มีความสะอาดบริสุทธิ์ แม้ด้วย
เหตุแห่งชีวิต

สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น การรักษาศีล
ของพระองค์ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น บางครั้งต้องแลกด้วยชีวิต กว่าที่บารมีของพระองค์จะเต็มเปี่ยม
พระองค์จึงผ่านการรักษาศีลมาอย่างเข้มข้นที่สุด จนเกิดบารมีถึง ๓ ขั้น คือ

๑. ศีลบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าสมบัติภายนอก เมื่อถึงคราวจะเสีย
ศีล ก็ยอมเสียสละสมบัติภายนอกออกไป เพื่อรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ ชื่อว่าบำเพ็ญศีลบารมี

๒. ศีลอุปบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าอวัยวะในร่างกายของตน เมื่อถึง
คราวจะเสียศีล ก็ยอมเสียสละอวัยวะ เลือดเนื้อ เพื่อรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ชื่อว่าบำเพ็ญศีลอุปบารมี

๓. ศีลปรมัตถบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าชีวิตของตน เมื่อถึงคราวจะ
เสียศีล ก็ยอมเสียสละชีวิต เพื่อรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ ชื่อว่าบำเพ็ญศีลปรมัตถบารมี

เชิงอรรถอ้างอิง
สุเมธกถา, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ขุททกนิกาย อปทาน, เล่มที่ ๗๐, หน้า ๕๐.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00098679860432943 Mins