หลักในการบำเพ็ญกุศล

วันที่ 29 มิย. พ.ศ.2564

29-5-64-4-br.jpg

หลักในการบำเพ็ญกุศล

            การบำเพ็ญกุศลด้วยความเต็มใจ และทำในขณะที่จิตใจผ่องใสย่อมเกิดผลานิสงส์มากดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ก่อนถึงวันคล้ายวันเกิดจึงไม่ควรปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านหรือขุ่นมัว สิ่งใดถ้ากระทำ ถ้าเห็นถ้าได้ยิน ถ้าระลึกถึงแล้วก่อความไม่สบายใจ ควรเว้นเสีย และหมั่นประคับประคองใจด้วยการ :

-สำรวมใจ ระลึกถึงบุญที่เคยทำมาดีแล้วตลอดชีวิตเพื่อยังจิตให้ผ่องใส

- ทุกคืนก่อนนอน พึงกราบบูชาพระรัตนตรัยหน้าที่บูชาพระ และสมาทานศีลห้า แล้วตั้งใจรักษาไว้ให้มั่น

-นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น วางภารกิจอื่น ๆชั่วคราว แล้วเจริญพุทธานุสสติด้วยการพิจารณาพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งให้จำได้ สำหรับเป็นบริกรรมนิมิต

-หลับตาพอปิดสนิท แต่ไม่ถึงกับบีบกล้ามเนื้อตาเสร็จแล้วให้น้อมอาราธนาพระพุทธรูปที่จำได้แล้วนั้นมาประดิษฐานตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ (ดังภาพ) โดยนึกให้องค์พระหันหน้าไปทางเดียวกับเรา พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจว่า สัมมา อะระหัง เพื่อประคองใจมิให้ซัดส่าย โดยไม่ต้องกำหนดลมหายใจที่เข้าออก

- สำรวมใจให้หยุดนิ่งในฐานที่ ๗ นั้น จนกว่าจะเห็นองค์พระเกิดขึ้นท่ามกลางกายอย่างชัดเจน องค์พระที่เกิดขึ้นในตัวนี้จะใสประดุจแก้วและมีรัศมีสว่าง เรียกว่า ธรรมกาย ถ้าใจยังไม่หยุดองค์พระในตัวก็ยังไม่เกิด ให้บริกรรมภาวนาต่อไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้นแห่งเดียว

29-5-64-4-b1.jpg

-กายธรรมหรือธรรมกายที่บังเกิดขึ้นและเป็นองค์พระแก้วใสอยู่ในตัวของเรานั้น สามารถจะปาฏิหาริย์ให้เห็นเป็นสีต่าง ๆ ได้ และอาจขยายให้องค์ใหญ่ขึ้นหรือย่อให้เล็กลงได้ตามแต่ปรารถนา ดังนั้น ต้องหมั่นประคองรักษาให้ชำนาญในอิริยาบถทั้งสี่คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน เมื่อสามารถระลึกถึงจนติดตาติดใจอยู่เสมอแล้ว ท่านจะโปรดและแก้ปัญหาธรรมต่าง ๆ ให้

-สำรวมใจให้หยุดนิ่งเข้าไปตรงศูนย์กลางกายของธรรมกายโดยไม่ยอมถอยกลับ ซึ่งเป็นการทำจิตให้หยุดซ้ำหยุด ทั้งนี้เพราะตรงนั้นเป็นทางไปของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายนั่นเอง

-สำรวมใจน้อมจตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ที่จะทำทานในวันคล้ายวันเกิดถวายแด่ธรรมกาย สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงธรรมกาย ก็อาศัยจิตขณะที่เป็นสมาธินั้นน้อมถวายปัจจัยแด่องค์พระพุทธรูปที่ใช้เป็นนิมิตด้วยอาการเคารพเลื่อมใส ประดุจดังน้อมถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเฉพาะพระองค์เอง

-ตามระลึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมาดีแล้วเนือง ๆและที่จะทำต่อไปในอนาคตอีกด้วยความปีติโสมนัส

- ถ้าเมื่อใดประสบภัยพิบัตหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ให้ตั้งใจเจริญภาวนาดังกล่าว แล้วน้อมเอาบุญกุศลและธรรมกายนี้เป็นที่พึ่งที่เกาะ ที่ยึด ที่เหนี่ยว ที่คุ้มกันภัย

- ก่อนเข้านอนทุกคืนพึงกำหนดไว้ในใจว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบุญกุศลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นอีก และจะสำรวมระมัดระวังไม่กระทำอกุศลกรรมใด ๆ ต่อไป 

-เจริญภาวนาทำความเห็นให้ตรงเช่นนี้ อย่างน้อยวันละ ๒๐-๓๐ นาทีทุก ๆ วัน

            ขณะนี้ท่านสามารถเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้องแล้ว จงปรารภความเพียรต่อไปเถิด เพราะทางนี้เป็นทางสายเอกและสายเดียวสำหรับบุคคลที่รักตน ตนนั่นแหละเป็นที่รักอย่างยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใด ผู้หมั่นเจริญภาวนาชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาด ชื่อว่าเป็นผู้รักตน เพราะความสะอาดเป็นเหตุแห่งสุข

จากหนังสือวันเกิด

คุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013701478640238 Mins