วิธีการบรรพชาอุปสมบท

วันที่ 01 กค. พ.ศ.2564

วิธีการบรรพชาอุปสมบท ความหมายของบรรพชาอุปสมบท

วิธีการบรรพชาอุปสมบท
ความหมายของบรรพชาอุปสมบท

      การบวชในพระพุทธศาสนานั้นมี ๒ ลักษณะ คือ การบวชเป็นสามเณร เรียกว่า บรรพชา อย่างหนึ่ง การบวชเป็นพระภิกษุ เรียกว่า อุปสมบท อย่างหนึ่ง
      บรรพชา แปลว่า การงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ละจากสิ่งที่เป็นบาปอกุศลทั้งปวง เดิมทีใช้เป็นคำกลาง ๆ หมายถึง การบวชทั่วไป ที่เรียกว่า บรรพชิต แต่ปัจจุบันใช้หมายเฉพาะถึงการบวชสามเณร
     ส่วนคำว่า อุปสมบท แปลว่า การเข้าถึงความเป็นผู้ประเสริฐ หมายถึง การบวชเป็นพระ พระมาจากคำว่า วระ ที่แปลว่า ประเสริฐ
      ตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ผู้ที่จะบวชเป็นพระทุกรูปต้องผ่านการบรรพชาเป็นสามเณรก่อน จึงจะอุปสมบทเป็นพระได้ ฉะนั้นจึงมักเรียกรวมกันว่า บรรพชาอุปสมบท.

การเตรียมตัวก่อนบวช
      กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะบวช ไม่ว่าจะบวชพระหรือสามเณรสิ่งสำคัญที่ต้องทำในเบื้องต้น คือ
      ๑. ให้มารดา บิดานำตัวไปมอบแก่เจ้าอาวาส หรือพระอุปัชฌาย์ในวัดที่ต้องการจะบวชอยู่อาศัย เพื่อให้ท่านได้ตรวจดูคุณสมบัติและกำหนดวันบวชให้ พร้อมทั้งกรอกใบสมัครบรรพชา อุปสมบท
      ๒. ก่อนถึงวันบวช ๓ วัน หรือ ๗ วัน ต้องท่องจำคำขอบรรพชาอุปสมบท ที่ เรียกว่า ขานนาค ให้ได้ถูกต้องคล่องปากอย่าให้อึกอัก
      ๓. หมั่นฝึกซ้อมขั้นตอนพิธีการบรรพชาอุปสมบท กับอุปัชฌาย์ให้เข้าใจ
      ๔. ฝึกหัดกิริยามารยาทของภิกษุ เช่น การกราบ การไหว้ การประเคนให้ถูกต้อง.

การบรรพชา การบวชสามเณร
      หลังจากที่มารดาบิดานำตัวไปมอบให้เจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์แล้ว สิ่งที่ผู้บวชจะต้องทำต่อไปคือ ท่องจำคำขอบรรพชา, ไตรสรณคมน์, คำอาราธนาศีล, คำสมาทานศีล ๑๐ ให้ได้ ศีล ๑๐ นั้น คือ
      ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
      ๒. เว้นจากการลักขโมย
      ๓. เว้นจากการเสพกาม (ร่วมประเวณีกับผู้อื่น)
      ๔. เว้นจากการพูดโกหก พูดคำหยาบ พูดยุยงให้เขาแตกกัน และพูดเรื่องไร้สาระ
      ๕. เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย และเสพของมึนเมาต่าง ๆ
      ๖. เว้นจากการบริโภคอาหารหลังจากเที่ยงวัน
      ๗. เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น
      ๘. เว้นจากการตกแต่ง ทัดดอกไม้ ลูบไล้ด้วยของหอม
      ๙. เว้นจากการนั่งและนอน บนเตียง ฟูก ตั่ง อันสูงใหญ่ภายในยัดนุ่น สำลีนุ่มสบาย มีลวดลายวิจิตรงดงาม
      ๑๐. เว้นจากการรับเงินและทอง รวมทั้งของมีค่าอื่น ๆ
      ศีลทั้ง ๑๐ ข้อนั้น พึงจำไว้ว่าถ้าทำผิด ๕ ข้อข้างต้นข้อใดข้อหนึ่ง จะทำให้ขาดจากความเป็นสามเณรทันที แต่ถ้าทำผิด ๕ ข้อเบื้องปลาย จะถูกลงโทษให้ทำงาน เช่น ขัดห้องนํ้า ปัดกวาด ลานวัด เป็นต้น
      นอกจากนี้สามเณรยังต้องศึกษาและปฏิบัติตนตามเสขิยวัตร ๗๕ ข้อ เพื่อฝึกกิริยามารยาทของตนให้เรียบร้อยดีงาม เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น.

สิ่งที่ต้องจัดเตรียมในการบวชสามเณร
      ๑. ดอกไม้ ธูป เทียน สำหรับบูชาพระรัตนตรัย ๑ ชุด
      ๒. ดอกไม้ ธูป เทียน หรือธูปเทียนแพสำหรับถวายอุปัชฌาย์
      ๓. ไตรจีวร (ไตรแบ่ง) มี จีวร อังสะ ประคดเอว สบง และผ้ารัดอก
      ๔. บาตร พร้อมฝาและเชิง
      ๕. จีวร สบง อังสะ สำรองเปลี่ยนผ้าอาบน้ำ ๑ ผืน
      ๖. ย่าม ผ้าเข็ดหน้า ร่ม รองเท้า
      ๗. เสื่อ หมอน มุ้ง ผ้าห่ม
      ๘. ของใช้ที่จำเป็นอย่างอื่น เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ช้อนส้อม จาม เป็นต้น
      ข้อ ๕-๘ จะไม่มีก็ได้.

การอุปสมบท การบวชเป็นพระภิกษุ
      ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้นั้น เบื้องต้นต้องบวชเป็นสามเณรก่อนจึงจะเข้าสู่การอุปสมบทเป็นพระอีกต่อหนึ่ง พระนั้นถือศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ ปรับโทษหนัก-เบาตามสิกขาบทที่ล่วงละเมิด แต่มี ๔ ข้อ ที่มีโทษหนักที่สุด เรียกว่า อาบัติปาราชิก พระรูปใดทำผิดเข้าต้องขาดจากความเป็นภิกษุโดยอัตโนมัติ แม้จะกลับมาบวชอีกก็ไม่ได้ คือ
      ๑. ห้ามเสพเมถุน (ร่วมประเวณีกับบุคคลอื่น)
      ๒. ฆ่าคนตาย (โดยเจตนา)
      ๓. ลักขโมยเอาทรัพย์ของผู้อื่น มีราคาตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป
      ๔. พูดอวดคุณวิเศษที่ตนไม่มี เพื่อหลอกลวงคนอื่นหากิน
      ๔ ข้อนี้ ภิกษุต้องระวังให้มาก เพราะไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ ทำผิดเข้าแล้วต้องขาดจากความเป็นพระเหมือนกัน.

สิ่งที่ต้องจัดเตรียมในการอุปสมบท
      ๑. ไตรครอง ๑ ชุด (สบง จีวร สังฆาฏิ ประคดเอว)
      ๒. บาตร (พร้อมฝาและเชิง) ถลกบาตร สายโยก และถุงตะเครียว
      ๓. มีดโกน พร้อมหินลับมีด
      ๔. เข็มเย็บผ้า พร้อมกล่อง และด้าย
      ๕. เครื่องกรองนํ้า (ธมกรก)
      ข้อ ๑-๕ นี้ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ เพราะจัดเป็นอัฏฐบริขาร บริขาร ๘ ของที่จำเป็นที่พระต้องมี
      ๖. จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบน้ำ ไว้ใช้สำรองอย่างละผืน
      ๗. เสื่อ หมอน มุ้ง ผ้าห่ม
      ๘. ผ้าเข็ดหน้า ตาลปัตร ร่ม รองเท้า ย่าม
      ๙. ช้อนส้อม จาน ผ้าเช็ดมือ กระติกน้ำ กาต้มน้ำ แก้วนํ้า
      ๑๐. กระโถน
      ๑๑. ขันอาบนํ้า สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
      ๑๒.อาสนะ (ผ้าปูนั่ง)
      ข้อ ๖-๑๒ นี้ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ค่อยจัดหาเพิ่มทีหลังตามความจำเป็น
      การเตรียม ผ้าไตรให้วางบนพานแว่นฟ้า มีดโกน หินลับมีด กล่องเข็ม ธมกรกให้ใส่ในบาตร นำบาตรสวมในถุง ตะเครียว นอกจากนี้ ยังนิยมใส่เครื่องรางของขลังในบาตร เพื่อปลุกเสกให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งขึ้น.

แผนผังการจัดขบวนแห่

แผนผังการจัดขบวนแห่

      ๑. การแสดงต่าง ๆ เช่น ฟ้อนรำ สิงโต หัวโต (ถ้ามี)
      ๒. ดนตรี กลองยาว หรือแตรวง (ถ้ามี)
      ๓. ผู้ถือไตรหรือของถวายพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด
      ๔. คณะผู้ถือเครื่องไทยธรรมถวายพระอันดับ
      ๕. บิดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นชายสะพายบาตรถือตาลปัตร
      ๖. มารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงอุ้มผ้าไตร (มีสัปทนกั้น)
      ๗. นาคประนมมือถือดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม
      ๘. ญาติผู้หญิงอุ้มไตรสำรอง (ถ้ามี)
      ๙. คณะผู้ถือบริขารอื่น ๆ ของนาค
      ๑๐. คณะขบวนแห่ผู้ไม่ได้ถืออะไร
      ข้อควรจำอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเจ้าภาพจัดผ้าไตรถวายพระอุปัชฌาย์ และคู่สวดให้มีสัปทนกั้นทุกไตร ของพิเศษที่จะถวายอุปัชฌาย์อีกอย่างหนึ่งคือ กรวยขอนิสัย ภายในมีหมากพลู หรือของอื่น ๆ ที่เห็นสมควร
      เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยก็ให้โห่ฮิ้วร้องรำ เคลื่อนสู่อุโบสถเวียนขวา ๓ รอบ ขณะที่เดินเวียน นาคต้องทำจิตใจให้มั่นคงแน่วแน่ถึงพระรัตนตรัย รอบแรกนึกถึงคุณพระพุทธ กำหนดในใจว่า พุทโธ ๆ รอบสองนึกถึงพระธรรมว่า ธัมโม ๆ รอบสามให้นึกถึงคุณพระสงฆ์ว่า สังโฆ ๆ เมื่อครบสามรอบแล้ว ก่อนเข้าอุโบสต้องทำการบูชาเสมาก่อน โดยนั่งคุกเข่าหน้าเสมาหน้าโบสถ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียน กล่าวคำวันทาเสมาว่า

คำวันทาเสมา
วันทามิ อาราเม พัทธะเสมายัง โพธิรุกเข เจติยัง สัพพัง เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต.

      การวันทาเสมานี้ ทำเพื่อแสดงออกถึงความเคารพสถานที่ในฐานะเป็นปูชนียสถานให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ และขอขมาโทษต่อพระรัตนตรัย หรือต่อสถานที่นั้น หากตนเคยทำผิดล่วงเกินทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาก็ดี เพราะสถานที่นั้น เราต้องอาศัยประกอบพิธีอุปสมบท ยกฐานะของเราให้เป็นผู้ประเสริฐ จึงถือว่ามีคุณต่อเรา
      เมื่อวันทาเสมาเสร็จแล้ว ก่อนเข้าอุโบสถให้โปรยทานด้วยความตั้งใจ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้บวชสละแล้วซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นสิ่งพันผูกภายนอก ไม่โหยหาอาลัยกับทางโลกพร้อมที่จะเข้าสู่ความเป็นพระ ดำรงชีวิตให้ประเสริฐในทางธรรมต่อไป.

คำขอขมาโทษบิดา-มารดา
      เมื่อนาคและบรรดาญาติ เข้าไปในอุโบสถเรียบร้อยแล้ว ครั้นได้เวลาก็ให้นาคขอขมาลาโทษต่อบิดา-มารดาของตน เพื่อให้ท่านอโหสิกรรมให้ จักได้เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีบาปติดตัว
      โดยนาคก้มกราบบิดา-มารดาแล้วกล่าวคำขอขมาว่า
      กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กรรมทั้ง ๓ นี้ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำล่วงเกินแล้ว ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ด้วยตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดีขอบิดา-มารดา จงอโหสิกรรมความผิดนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ขออย่าให้มีโทษแก่กันนับแต่บัดนี้ ตราบเท่านิพพาน.
      บิดา-มารดา พึงกล่าวรับคำขอขมาว่า
      กรรมใดที่ลูกได้ล่วงเกินแล้ว บิดา-มารดา ขออโหสิกรรมซึ่งกรรมนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อนึ่งหากแม้นว่า บิดามารดาได้เคยทำผิดบ้าง ขอลูกจงมีใจกตัญญูให้อภัยแก่บิดามารดาด้วยเถิด.
      เสร็จแล้ว นาคพึงประนมมือน้อมรับไตรจีวรจากบิดามารดา บิดามารดาวางไตรจีวรพาดบนแขนทั้ง ๒ นาคประคองแนบไว้กับอก แล้วคุกเข่าเข้าไปหาอุปัชฌาย์ วางผ้าไตรจีวรไว้ด้านซ้ายมือ รับเครื่องสักการะถวายพระอุปัชฌาย์ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง.

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011128505071004 Mins