ความสำคัญของศีล

วันที่ 03 กค. พ.ศ.2564

3-7-64-2-b.jpg

๓. ความสำคัญของศีล

ศีลเป็นที่ตั้งของคุณธรรมเบื้องสูง

             ความรู้จักควบคุมกาย วาจา ใจ ของตนให้อยู่ในกรอบของศีล จัดเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้บุคคลสามารถพัฒนาตนให้เจริญงอกงามในธรรมทั้งหลายอื่นที่ยิ่งขึ้นไป ดังเช่นใน ทุติยคารวสูตร1 ได้กล่าวถึงความสำคัญของศีลไว้ว่า การจะปฏิบัติไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หากไม่มีศีลเป็นพื้นฐานแล้ว จะปฏิบัติสมาธิขันธ์และปัญญาขันธ์ เป็นเรื่องที่เป็นไปมิได้ ดังนี้
 

             "...ข้อที่ภิกษุไม่รักษาศีลขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักเจริญสมาธิขันธ์ ให้บริบูรณ์ได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุไม่เจริญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

             ...ข้อที่ภิกษุรักษาศีลขันธ์ให้บริบูรณ์แล้ว จักเจริญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้อที่ภิกษุเจริญสมาธิขันธ์ให้บริบูรณ์
แล้ว จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ให้บริบูรณ์ได้นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้”

                พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ใน พีชสูตร2  อีกว่า การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นเส้นทางเอกสายเดียวที่จะนำสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้ ก็ต้องมี ศีล เป็นพื้นฐานรองรับเช่นกัน

               “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พืชคามและภูตคามชนิดใดชนิดหนึ่งนี้ ย่อมถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต พืชคามและภูตคามทั้งหมดนั้นอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต พืชคามและภูตคามเหล่านี้ย่อมถึงความเจริญงอกงามใหญ่โตด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน

ศีลเป็นมหาทาน

               ในขณะที่ใครคนหนึ่งรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์อันมหาศาลทันที เช่น

               เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ย่อมได้ชื่อว่าให้ชีวิต ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ

              เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๒ คือ ไม่ลักทรัพย์ ย่อมได้ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง

              เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๓ คือ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมได้ชื่อว่าให้ความสุข ให้ความปลอดภัยแก่บุตร ธิดา ภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด

              เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๔ คือ ไม่กล่าวคำเท็จ ย่อมได้ชื่อว่าให้ความจริงแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความสบายใจในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

              เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ ๕ คือ ไม่ดื่มสุราเมรัย ย่อมได้ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่งเพราะคนที่ประมาทขาดสตินั้น สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามหรือพูดเท็จ ก็ทำได้ทั้งสิ้น

               การรักษาศีล ๕ จึงเป็นทานอันประเสริฐที่หล่อเลี้ยงโลกนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน ซึ่งทานอันประเสริฐนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า มหาทาน พร้อมทั้งตรัสว่า ผู้บำเพ็ญมหาทานชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ดังนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้นั้นด้วย3

๔. การรักษาศีล (วิรัติ)

               ศีลนั้นสำคัญที่เจตนา การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีลจึงต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจ และ “ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว” นี่เอง คือความหมายของคำว่า เวรมณี หรือ วิรัติ

              วิรัติจึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีศีล บุคคลใดก็ตามจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล รักษาศีลก็ต่อเมื่อมีวิรัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

๔.๑) สมาทานวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว หมายความว่าเราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด

๔.๒) สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเฉพาะหน้า แม้ว่าเดิมที่นั้นไม่ได้สมาทานศีลไว้ แต่เมื่อไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็คำนึงถึงชาติ ตระกูล การศึกษาหรือความดีต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปเวรขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง

๔.๓) สมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยเจ้าซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ได้แล้ว เมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่ว จึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสตุฆาตวิรัติ

๕. โทษของศีลวิบัติ และอานิสงส์ของศีลสัมปทา

            พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโทษของคนทุศีล และอานิสงส์ของการรักษาศีลไว้แก่พวกอุบาสกชาวปาฏลิคาม ดังปรากฏใน มหาปรินิพพานสูตร4 ดังนี้ คือ

โทษของศีลวิบัติ ๕ ประการ
(๑) ประสบความเสื่อมโภคะเป็นอันมาก เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ
(๒) กิตติศัพท์ชั่วของบุคคลทุศีล ผู้ปราศจากศีลก็อื้อฉาวไป
(๓) เมื่อเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัทก็ดี พราหมณ์บริษัทก็ดี คหบดีบริษัทก็ดี สมณบริษัทก็ดี เป็นผู้ไม่องอาจขวยเขินเข้าไป
(๔) เป็นคนหลงทำกาละ (ตาย)
(๕) เมื่อตายแล้วจะเข้าไปถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

อานิสงส์ ๕ ประการของศีลสัมปทา
(๑) ย่อมได้ประสบโภคะกองใหญ่ เพราะมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ
(๒) กิตติศัพท์อันดีงามของบุคคลผู้มีศีล ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล กระฉ่อนไป
(๓) เมื่อเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัทก็ดี พราหมณ์บริษัทก็ดี คหบดีบริษัทก็ดี สมณ-
บริษัทก็ดี เป็นผู้องอาจไม่ขวยเขินเข้าไป
(๔) เป็นผู้ไม่หลงทำกาละ (ตาย)
(๕) เมื่อตายแล้วจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ศีล ๘

              ศีล ๘ หรือ อุโบสถศีล เป็นการยกใจของผู้ปฏิบัติให้สูงขึ้น โดยทั่วไปเราจะใช้คำว่า ศีล ๘ เมื่อสมาทานรักษาในวาระพิเศษหรือรักษาอยู่เป็นประจำ และใช้คำว่า อุโบสถศีล เมื่อสมาทานรักษาในวันพระ อย่างไรก็ตาม ทั้งศีล ๘ และอุโบสถศีลนั้นต่างมีข้อที่ต้องรักษาเหมือนกัน กล่าวคือ

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์)
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากการลักทรัพย์)
๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์)
๔. มุสาวาทา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากการพูดเท็จ)
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท)
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วจนอรุณขึ้นมาใหม่)
๗. นจฺจคีตวาทิต วิสูกทสฺสนมาลาคนฺธวิเลปน ธารณ มณฺฑน วิภูสนฏฺฐานา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่นต่างๆ อันเป็นข้าศึกแก่กุศล ตลอดจนลูบไล้ทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา)
๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี (ตั้งใจงดเว้นจากการนอนที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี

             เมื่อเปรียบเทียบระหว่างศีล ๘ กับศีล ๕ จะเห็นว่า

             ข้อที่ ๓ ในศีล ๘ นั้น จะเป็นการยกใจให้ประเสริฐยิ่งขึ้น ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ คือ เว้นจากการเสพเมถุน

             ส่วนข้อที่ ๖, ๗ และ ๘ ที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นการสนับสนุนให้การประพฤติพรหมจรรย์มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น

             แม้วิธีการนี้จะมีเพียง ๘ ข้อ แต่กลับมีประสิทธิภาพเป็นเยี่ยมในการขจัดสิ่งที่ไม่ดีออกจากใจ ดังนั้น ไม่ว่าในช่วงเวลาใด ชีวิตจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เกิดทุกข์ภัยหรือปัญหาต่างๆ ศีล ๘ ย่อมเป็นที่พึ่งพาได้เสมอ

สรุป

             ศีล คือ มนุษยธรรมอันมีอยู่ตลอดกาล เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขการรักษาศีลนำมาซึ่งความสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม ทุกประการ เป็นความดีงามที่ยั่งยืน และเผื่อแผ่กว้างขวาง สร้างสันติสุขให้กับโลกได้ นอกจากนี้ ศีลยังช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งปัญหาส่วนตัวและส่วนรวม

              การรักษาศีลเป็นการทำบุญด้วยใจ อาศัยใจที่เข้มแข็ง อดทน มั่นคงในความปรารถนาดีต่อตนเองและผู้อื่น ใจที่สะอาดมั่นคงเช่นนี้ จึงสามารถเป็นฐานที่ตั้งแห่งความดีงามทั้งหลายได้ ผู้ที่รักษาศีลจึงได้บุญได้อานิสงส์อย่างมหาศาล


เชิงอรรถ อ้างอิง
1ทุติยคารวสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต, เล่มที่ ๓๖ หน้า ๓๐
2พีชสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, เล่มที่ ๓๐ ๑๔๐หน้า
3ปุญญาภิสันทสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต, เล่มที่ ๓๗, หน้า ๔๙๒.
4มหาปรินิพพานสูตร, พระสูตรและอรรถกถาแปล, ทีฆนิกาย มหาวรรค,เล่มที่ ๑๓หน้า ๒๕๒.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013567328453064 Mins