สรุปภาพรวมบารมี ๑๐ ทัศ

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2564

15-7-64-1-br.jpg

สรุปภาพรวมบารมี ๑๐ ทัศ
                      บารมี ๑๐ ทัศ หรือนิสัยที่ดีทั้ง ๑๐ ประการ อันได้แก่ นิสัยรักการให้, นิสัยรักศีลยิ่งชีวิต, หลีกออกจากกาม, รักในการแสวงหาความรู้ รักการปรับปรุงแก้ไขตนเอง, อดทนต่อการกระทบกระทั่งได้ มีความจริงใจต่อการสร้างความดี, มีความมั่นคงต่อการสร้างความดี, มีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อทุกคน และนิสัยรักความเที่ยงธรรมและเป็นกลาง นิสัยเหล่านี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องทำให้เกิดขึ้นและต้องทำตั้งแต่วันนี้
เพื่อให้ใจคุ้นต่อความดี ไม่ย้อนกลับไปทำความไม่ดีอีก แม้จะเป็นความไม่ดีเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ตามแต่จะต้องตั้งใจทำความดีทุกๆ อย่าง แม้จะเป็นความดีเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ในแต่ละวันเราสามารถที่จะสร้างบารมีหรือสร้างนิสัยที่ดีทั้ง ๑๐ ประการได้ดังต่อไปนี้ คือ

๑. ทำทานทุกวัน ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ให้กำลังแก่พระพุทธศาสนาแบ่งปันข้าวของเครื่องใช้ให้กันและกัน แบ่งปันความรู้ และเมื่อถึงคราวต้องลงมือช่วยเหลือกิจการงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็ช่วยอย่างเต็มที่ไม่เกี่ยงงอน อย่างนี้จะเป็นการสร้างทานบารมีของเรา

 

๒. ยึดมั่นในศีล ระมัดระวังรักษากาย วาจา กิริยามารยาทให้เรียบร้อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ขนบธรรมเนียมอันดีงามของสังคม ของหมู่คณะ รักษาศีลของตนไม่ให้บกพร่อง ทั้งศีล ๕ หรือ ศีล ๘ อย่างนี้จะเป็นศีลบารมีของเรา
 

๓. ตัดความกังวลในเรื่องกาม ตัดความรู้สึกรักสวยรักงาม ความห่วงกังวลในทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ด้วยการบำเพ็ญศีลให้มั่นคงยิ่งขึ้น และหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้สงบนิ่งตั้งมั่นเป็นหนึ่งอย่างนี้เป็นเนกขัมมบารมีของเรา
 

๔. เข้าหาครูบาอาจารย์ หาเวลาศึกษาธรรมะให้ได้ทุกวัน ทั้งการอ่านหนังสือธรรมะก็ดี การฟังธรรมก็ดี ทำด้วยความตั้งใจ ทำความเข้าใจ พิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน และหมั่นปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป แล้วนำเอาความรู้ที่ได้ไปประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้จะเป็นปัญญาบารมีของเรา
 

๕. หมั่นแก้ไขปรับปรุงอุปนิสัยที่ไม่ดีต่างๆ ความชั่วทุกชนิดไม่ทำเพิ่มอีก หมั่นสร้างกุศลเพิ่มขึ้นทุกวัน น้อมนำความประพฤติที่ดีงามของผู้อื่นมาปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความคุ้นเคยทุกวัน อย่างนี้จะเป็นการสร้างวิริยบารมีของเรา
 

๖. อดทนต่อทุกสิ่ง หากมีเรื่องขัดข้องหมองใจ กระทบกระทั่งกับผู้อื่น หรือขาดความสะดวกสบายในเรื่องต่างๆ ก็ให้อดทน ข่มใจ ให้ใจสงบนิ่งและนึกถึงเป้าหมายไว้ อย่างนี้เป็นขันติบารมีของเรา
 

๗. มีความรับผิดชอบ จริงต่อความดี ทุกอย่างที่ผ่านมือเราให้ทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความจริงจังต่อการปฏิบัติธรรม นี้คือสัจจบารมีของเรา
 

๘. เมื่อตั้งเป้าแล้วต้องทำให้สำเร็จ ไม่ยอมลดเป้าอย่างเด็ดขาด หากไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเลิกรา ทำความดีทุกอย่างด้วยความฉลาดรอบคอบ ทั้งหลักการ วิธีการ และกุศโลบาย อย่างนี้เรียกว่า อธิษฐานบารมี

๙. รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง ปรารถนาดีต่อผู้อื่นทุกลมหายใจ ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ มีไมตรีจิต ไม่คิดร้าย ที่เคยอุ่นเคืองก็ให้อภัยแก่กัน และเมื่อเห็นผู้อื่นทำผิดทำพลาดก็ช่วยตักเตือน อย่างนี้จะเป็นการสร้างเมตตาบารมีของเรา

 

๑๐. หมั่นประคองใจไว้ที่ศูนย์กลางกายในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอนหรือประกอบภารกิจการงานใดก็ตาม รักษาใจไว้ตรงนั้นนิ่งๆ ไม่ช้าใจจะสงบนิ่งเป็นสมาธิ เบิกบานแจ่มใสและมีสติมั่นคง มีแต่ความอิ่มเอิบอยู่ในธรรมตลอดเวลา และจะเข้าถึงพระธรรมกายในที่สุด นี้เป็นการสร้างอุเบกขาบารมีของเรา

                   บารมี ๑๐ ทัศ หรือนิสัยที่ดีทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เราสามารถประพฤติปฏิบัติไปพร้อมๆ กันได้ในทุกๆ วัน เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่ทุกคนสามารถทำได้ เมื่อเราได้หมั่นสร้างอุปนิสัยที่ดีให้บังเกิดขึ้นอยู่เนืองนิตย์ ไม่ช้าใจเราจะคุ้นกับความดี ไม่ตกไปสู่อำนาจของกระแสกิเลส บาปอกุศลก็เข้ามาแทรกในใจของเราได้ยาก นี้จึงเป็นหลักประกันว่าชีวิตของเราจะปลอดภัยทั้งในภพนี้และภพหน้า จะท่องเที่ยวอยู่แต่ในสุคติภูมิเป็นส่วนใหญ่ คือ เทวภูมิและมนุสสภูมิ และเมื่อสั่งสมบ่มบารมีจนแก่รอบ ก็จะเข้าถึงฝั่งแห่งพระนิพพานได้ในที่สุด

 

สรุปขั้นตอนการสร้างบารมี ๑๐ ทัศ


                ขั้นตอนการสร้างบารมีเป็นลำดับๆ ตั้งแต่ทานบารมีจนถึงอุเบกขาบารมี ในลักษณะของการฝึกฝนอบรมตนเองและการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก มีดังนี้
 

ทานบารมี
                ทาน คือ การให้ สร้างเพื่อกำจัดความตระหนี้ให้หมดสิ้นไปจากใจ มุ่งหวังเก็บเสบียงข้ามภพข้ามชาติ เพราะเราต้องเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อหวังความปลอดภัยในชีวิตแล้ว ก็พึงบำเพ็ญทานบารมีการสร้างทานบารมีมีหลักการที่สำคัญ คือ ให้ไม่เลือก ให้ไม่เหลือ ให้อย่างต่อเนื่อง อุปมาเหมือนหม้อน้ำที่คว่ำไว้ย่อมไม่มีน้ำหลงเหลือฉันใด การให้ทานก็ฉันนั้น จงให้ทานด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมหวง

ศีลบารมี
                แม้มีทรัพย์สมบัติมากมายเอาไว้เตรียมความพร้อมในการเดินทางข้ามวัฏสงสารอันยาวไกลแล้ว แต่หากไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทรัพย์สมบัติจะมีประโยชน์อะไร นำมาสร้างบุญสร้างบารมีต่อไม่ได้ ดังนั้นการได้เกิดเป็นมนุษย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นลำดับต่อมา หลักประกันว่าเราจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ ต้องรักษาศีล ศีลบารมีจึงมาเป็นอันดับที่สองต่อจากทานบารมี

 

                ศีล คือ การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปก่อเวรกับผู้ใด สร้างเพื่อกำจัดความหยาบคาย ป้องกันความทุจริตทางกาย วาจา ใจ มุ่งหวังให้ได้เกิดมาเป็นอนและให้ได้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง อายุขัยยืนนาน มีหลักปฏิบัติ คือ ต้องรักษาปาริสุทธิศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ อุปมาเหมือนจามรีที่ขนหางติดอยู่ ยอมตายแต่ไม่ยอมให้ขนหางหลุดลุ่ยฉันใด การรักษาศีลก็ฉันนั้น จงรักษาศีลด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมทำความชั่ว
 

เนกขัมมบารมี
                แม้เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว หากไปติดคุก คือ กามอยู่ การจะไปสู่นิพพานก็ไม่มีทางสำเร็จจึงต้องพาตนออกจากกาม เนกขัมมบารมีจึงตามติดมาเป็นลำดับที่สาม

 

                เนกขัมมะ คือ การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่อหลีกออกจากกาม ด้วยความหวังว่าจะพ้นจากอำนาจของกาม มีหลักปฏิบัติ คือ เห็นทุกข์ภัยของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เห็นภพทั้งสามดุจคุกขังสรรพสัตว์ และไม่ยินดีในภพและกามสุข อุปมาเหมือนคนที่ทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุก ไม่ยินดีในทุกข์ มีแต่หาทางออกฉันใด การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีก็ฉันนั้น จงบำเพ็ญด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมเป็นทาสกาม
 

ปัญญาบารมี
                เมื่อหาทางพ้นออกจากคุกแล้ว ต้องรู้ให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นจากทุกข์ ทำอย่างไรจะเอาตัวรอดได้ ปัญญาบารมีจึงได้ตามมาเป็นอันดับที่ ๔

                ปัญญา คือ ความรู้ชัดในอริยสัจ ๔ สร้างเพื่อกำจัดความไม่รู้ ความมืดบอดในใจ ให้สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง มีหลักปฏิบัติ คือ มุ่งแสวงหาความรู้ตลอดเวลา หาครูที่รู้จริง ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลสักเพียงใด ไม่เลือกฐานะของครูว่าจะต่ำต้อยหรือสูงส่งสักเพียงใด และที่สำคัญเมื่อพบครูดีแล้ว ต้องฉลาดในการตั้งคำถาม อุปมาการแสวงหาปัญญาเหมือนการบิณฑบาตของพระภิกษุ ที่ไม่เลือกว่า ผู้ถวายจะเป็นชนชั้นวรรณะใด จงบำเพ็ญปัญญาบารมีด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมโง่

 

วิริยบารมี
                  ปัญญาที่ได้จากการสร้างปัญญาบารมีนั้นมีหลายระดับ ทั้งรู้จำ รู้จริง และรู้แจ้ง ปัญญาระดับรู้จำ กับรู้จริงทำให้หมดกิเลสไม่ได้จะหมดได้ต้องอาศัยปัญญารู้แจ้งเท่านั้น จึงต้องทำความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการฝึกสมาธิ บำเพ็ญเพียรในทุกอิริยาบถ เพื่อยกระดับปัญญาจากขั้นโลกียะ คือ รู้จำและรู้จริงให้เป็นโลกุตตระ คือ รู้แจ้งให้ได้ บาเพ็ญเพียรเรื่อยไปในทุกอิริยาบถ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ
เหมือนดังราชสีห์มีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีใจประคับประคองตลอดเวลา จงบำเพ็ญวิริยบารมีด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมถอย

 

ขันติบารมี
                 ทั้ง ๕ บารมีที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขนิสัยตนเอง แต่ทั้งหมดนี้ล้วนสวนกระแสของชาวโลกทั้งสิ้น ในขณะที่สิ่งที่ชาวโลกเห็นว่าเป็นทุกข์ เรากลับเห็นว่าเป็นสุช สิ่งที่ชาวโลกเห็นว่าเป็นสุข เรากลับเห็นว่าเป็นทุกข์ เมื่อมองไม่เหมือนกันอย่างนี้ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือย่อมจะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นด้วยก็จะสนับสนุน สรรเสริญเยินยอ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ดูถูกเหยียดหยาม พูดจาประชดประชัน กระทบกระเทียบให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรือหาทางท่าลายด้วยวิธีการต่างๆ ขันติบารมีจึงตามมาเป็นลำดับที่ ๖

                  ขันติ คือ ความอดทน ทนให้ได้ทั้งการยกย่องนับถือ คำสรรเสริญเยินยอ และทั้งการดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยาม อุปมาดังแผ่นดินที่อดทนต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงไปทั้งที่สะอาดและไม่สะอาด ไม่คับแค้นใจ มีแต่เอ็นดู จงบำเพ็ญขันติบารมีด้วยใจมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมแพ้

สัจจบารมี
                ตั้งแต่บารมีที่ ๕ เป็นต้นมา นอกจากจะเป็นการฝึกฝนตนเองแล้ว ยังเป็นการวางตัวต่อสังคมและเป็นการทำหน้าที่กัลยาณมิตร คือ และเมื่อพบกับความไม่เข้าใจจากผู้อื่นแล้ว สิ่งที่ต้องกระทำเป็นขั้นแรก คือ ต้องอดทน แต่การอดทนเป็นเพียงการตั้งรับเท่านั้น จึงยังไม่เพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นประการต่อมา คือ การอธิบายความจริงให้ผู้ที่ไม่เข้าใจได้เข้าใจ สิ่งที่นำมาอธิบายให้เขาเข้าใจนั้น คือ ความจริงที่เราได้ค้นพบและเข้าถึงมาได้ด้วยตัวเอง สัจจบารมีจึงมาเป็นอันดับที่ ๗ นักสร้างบารมีต้องสู้กันด้วยความจริง ถ้าเขามีปัญญาตรองตามทันเขาก็จะเข้าใจ และเปลี่ยนความคิดกลับมาเข้าใจเรา แต่ถ้าเขายังตรองตามไม่ได้ เราก็ต้องอดทนต่อไป ที่จะให้ไปหลอกลวงใครนั้น ไม่ยอมทำเด็ดขาด อุปมาเหมือนดาวประกายพรึกไม่ยอมทิ้งทางโคจร ไม่ว่าสมัยใดหรือฤดูกาลใด จงสร้างสัจจบารมีด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมคด

 

อธิษฐานบารมี
                 ในขณะที่สร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลังอยู่อย่างนี้ ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ต้องสู้กันด้วยชีวิต สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ อย่าให้เป้าหมายการสร้างบารมีเปลี่ยนแปลงหรือผันแปรอย่างเด็ดขาด เมื่อตั้งเป้าไว้ว่าจะซื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน หรือจะไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมแล้ว อย่าไปเปลี่ยนแปลง เพราะหากเปลี่ยนไปเสียแล้ว บารมีที่ตั้งใจทุ่มเทสั่งสมมาก็จะสูญเปล่า เมื่อเห็นดังนี้ อธิษฐาน
บารมีจึงตามมาเป็นอันดับที่ ๘ อุปมาเหมือนภูเขาหินที่มั่นคงไม่สะทกสะท้านด้วยแรงลมกล้า ย่อมตั้งอยู่ในที่เดิม จงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมเปลี่ยนใจ

 

เมตตาบารมี
                   เมื่อตั้งเป้าไว้ว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งพระนิพพานแล้ว ก็ต้องมีความเมตตา มีความปรารถนาดีต่อทุกคนเสมอเหมือนกัน เท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือคนเลว หากสามารถแก้ไขกันได้ก็เมตตาช่วยกันไป แต่หากพิจารณาแล้วว่ายังแก้ไขไม่ได้ เราก็จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อน จะให้ไปล้างผลาญกันนั้น ไม่ยอมทำเด็ดขาด ยังมีเมตตาต่อกันอยู่เสมอ อุปมาเหมือนน้ำที่ให้ความชุ่มเย็นทั้งคนดีและคนเลวเสมอเหมือนกันหมด จงบำเพ็ญเมตตาบารมีด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมไร้น้ำใจ

อุเบกขาบารมี
                   ทุกชีวิตย่อมมีสุขมีทุกข์เป็นธรรมดา การอยู่ในสังคมย่อมหลีกเลี่ยงที่จะพบกับความอยุติธรรม และความมีอคติไม่ได้ เมื่อเราเข้าใจความจริงอย่างนี้แล้ว เมื่อต้องพบกับเรื่องเหล่านี้ก็ไม่รู้สึกหวั่นไหว ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอคติต่อผู้ใด จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้อื่นเสมอหน้ากัน และไม่ว่าจะต้องประสบทุกข์หรือสุขอย่างไร ก็ยังวางใจเป็นกลางอยู่นั่นเอง อุปมาเหมือนแผ่นดินที่วางเฉยต่อของที่สะอาดและไม่สะอาดที่เขาเททิ้งลงไป ไม่โกรธหรือยินดีต่อสิ่งทั้งสอง จงบำเพ็ญอุเบกขาบารมีด้วยความมุ่งมั่นว่า ยอมตายแต่ไม่ยอมหวั่นไหว

 

                    เมื่อสรุปภาพรวมของการสร้างบารมีทั้ง บารมีทั้ง ๑๐ ทัศแล้ว ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี เป็นขั้นตอนของการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญา ส่วนขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี เป็นการฝึกฝนอบรมทั้งตนเองด้วย และเป็นการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลกด้วย เป็นการสร้างบารมีเพื่อสงเคราะห์โลก ประกอบด้วยความกรุณาต่อสัตว์โลก และหวังประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
 

                   ดังนั้น การสร้างบารมีก็มีเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ เป็นแบบอย่างที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้กระทำไว้ นับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกระทั่งในชาติสุดท้ายก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด และเราเองผู้ปรารถนาที่จะสร้างบารมีเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน และไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม เมื่อได้ศึกษาปฏิปทาของท่านแล้วก็ต้องทำให้ได้อย่างท่าน ตั้งใจสั่งสมบ่มบารมีไปทุกวัน
ทุกอิริยาบถ ให้ความรู้สึกว่า “เราเกิดมาสร้างบารมี” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจของเรา ในไม่ช้าบารมีจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ได้อย่างแน่นอน

จบบทที่ 2

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011254509290059 Mins