ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุรับประเคนเภสัชทั้ง ๕

วันที่ 22 เมย. พ.ศ.2565

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุรับประเคนเภสัชทั้ง ๕

ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๓

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง มีเภสัชที่ควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนเภสัชเหล่านั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างมากภิกษุให้เกินกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
       “ภิกษุรับประเคนเภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยแล้ว เก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วันเป็นอย่างยิ่งถ้าให้ล่วงไป ๗ วัน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่ได้จากนมโค นมแพะ หรือจากนมของสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะคือภิกษุฉันได้
       คำว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากเนยใสเหล่านั้น
       คำว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดออกจากเมล็ดงา เมล็ดผักกาดเมล็ดมะซาง เมล็ดละหุ่ง จากไขมันสัตว์
       คำว่า น้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำหวานที่ได้จากรวงผึ้ง
       คำว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำหวานที่ได้จากอ้อย มะพร้าว ตาล
       ของ ๕ ประเภทนี้จัดเป็นเภสัช คือเป็นยาสำหรับรักษาโรค เมื่อรับประเคนไว้แล้วทรงอนุญาตให้เก็บไว้ได้๗ วัน เพราะต้นเหตุที่ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้เกิดจากภิกษุทั้งหลายที่เป็นศิษย์ของพระปิลินทวัจฉเถระคือพระเถระได้เภสัช ๕ นี้มามาก จึงได้แจกแก่ภิกษุลูกศิษย์ไป พวกภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มักมากจึงเก็บเภสัชเหล่านี้ที่ได้ๆมาไว้ในกระถางบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง กรอกไว้ในหม้อกรองน้ำบ้าง ใส่ถุงย่ามแขวนไว้บ้าง เภสัชเหล่านั้นก็เยิ้มซึมอยู่ ที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้นจึงเต็มไปด้วยหนูและมด ชาวบ้านรู้เข้าก็ตำหนิว่าภิกษุก็มีเรือนคลังเหมือนพวกตน

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุถูกตำหนิว่ามีความมักมากเก็บเภสัชเหล่านี้ไว้จนเกิดความสกปรกเลอะเทอะ ทำให้มีหนูและมดเข้ารบกวนและมิให้เก็บไว้นาน ป้องกันมิให้ของบูดเสียหรือมีกลิ่นเหม็น บางอย่างอาจจะมีโทษได้หากบริโภคเข้าไป

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
        (๑) ภิกษุผูกใจว่าจะไม่บริโภคในภายในกำหนด ๗ วัน 
        (๒) ภิกษุสละไปในภายในกำหนด ๗ วัน 
        (๓) เภสัชนั้นสูญหายไป 
        (๔) เภสัชนั้นเสียไป 
        (๕) เภสัชนั้นถูกไฟไหม้
        (๖) เภสัชนั้นถูกโจรชิงไป 
        (๗) ภิกษุผู้ถือวิสาสะ 
        (๘) ภิกษุให้แก่อนุปสัมบันด้วยจิตคิดสละแล้ว ทิ้งแล้ว ปล่อยแล้ว ไม่ห่วงใย ได้คืนมาฉันได้
        (๙) ภิกษุผู้วิกลจริต 
        (๑๐) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นศิษย์พระปิลินทวัจฉะ

 

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010965824127197 Mins