ม ง ค ล ที่  ๒๙     เห็นสมณะ

วันที่ 10 สค. พ.ศ.2565

mongkol-life29r.jpg

ม ง ค ล ที่  ๒๙     เห็นสมณะ

ลาย่อมติดตามโคไป แม้ร้องว่า ตัวเราก็เป็นโค แต่สี เสียง รอยเท้า
ไม่เหมือนโค ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เดินตามหมู่ภิกษุ
ประกาศตนว่า แม้เราก็เป็นภิกษุ แต่เธอไม่มีความพอใจ
ในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
แต่เดินตามภิกษุไปเท่านั้นเหมือนกัน 

mongkol-life29.1r.jpg


๑. คุณสมบัติของภิกษุที่ดี

     ๑.๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติของม้าอาชาไนย ซึ่งเป็นม้าต้นของพระราชา
เปรียบเทียบกับคุณสมบัติของภิกษุ ๔ ประการ ได้แก่ ความซื่อตรง ความว่องไว ความอดทน
และความสงบเสงี่ยม.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๓๐๒

     ๑.๒ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของม้าอาชาไนย เปรียบเทียบกับลักษณะของ
บุรุษอาชาไนย ๔ ประการ ได้แก่
     ม้าอาชาไนยพอเห็นรูปเงาปฏักก็หวาดหวั่น สำนึกว่า เขาจะให้ทำงานอะไร เปรียบเหมือน
บุรุษอาชาไนย ที่พอได้ยินข่าวว่า มีคนประสบทุกข์หรือตายก็สลดใจ สำนึกตัว มุ่งบำเพ็ญธรรมให้
สูงยิ่งขึ้น
     ม้าอาชาไนยที่ไม่กลัวเงาปฏัก แต่พอถูกปฏักแทงที่ขุมขน ก็หวาดหวั่นสำนึกว่า เขาจะให้
ทำงานอะไร เปรียบเหมือนบุรุษอาชาไนยที่เห็นคนประสบทุกข์หรือตาย ก็สลดใจ สำ นึกตัว
มุ่งบำเพ็ญธรรมให้สูงยิ่งขึ้น
                ม้าอาชาไนยที่ไม่กลัวเงาปฏัก และถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมขน แต่พอถูกแทงด้วยปฏักถึง
ผิวหนังก็หวาดหวั่น สำนึกว่า เขาจะให้ทำงานอะไร เปรียบเหมือนบุรุษอาชาไนยที่มีญาติประสบ
ทุกข์หรือตายก็สลดใจ สำ นึกตัว มุ่งบำ เพ็ญธรรมให้สูงยิ่งขึ้น

     ม้าอาชาไนยที่ไม่กลัวเงาปฏัก การถูกแทงด้วยปฏักที่ขุมและที่ผิวหนัง แต่พอถูกแทงด้วย
ปฏักถึงกระดูกก็หวาดหวั่น สำนึกว่า เขาจะให้ทำงานอะไร เปรียบเหมือนบุรุษอาชาไนยที่ประสบ
ทุกข์หนักก็สลดใจ สำนึกตัว มุ่งบำเพ็ญธรรมให้สูงยิ่งขึ้น.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๓๐๓

     ๑.๓ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงคุณสมบัติของช้างต้น ๔ ประการ ได้แก่ เชื่อฟัง
ฆ่าศัตรูได้ อดทน ไปได้ทุกแห่ง
     เปรียบเทียบกับคุณสมบัติของภิกษุ ๔ ประการ ได้แก่ เชื่อฟัง ฆ่ากิเลสได้อดทน ไป
นิพพานได้.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๓๐๖

     ๑.๔ เนื้อที่อยู่ในป่า เมื่อเที่ยวอยู่ป่าใหญ่ เดินไปไม่ระแวง ยืนอยู่ก็ไม่ระแวง นั่งพักอยู่ก็ไม่
ระแวง นอนอยู่ก็ไม่ระแวง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเนื้อนั้นไม่ไปในทางของพราน แม้ฉันใด
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็เหมือนกันฉันนั้นแล สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
เข้าปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปิติ และสุข เกิดแต่วิเวกอยู่
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ทำให้มารมืด กำจัดมารไม่ให้มีทางไป แล้วสู่สถาน
เป็นที่ไม่เห็นด้วยจักษุแห่งมารผู้ลามก.
ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๘/๔๒๘

     ๑.๕ ธรรมดานางนกเงือก เวลากลางวันก็เที่ยวหากินอยู่ในป่า พอถึงเวลาเย็นจึงบินไปหา
เพื่อนฝูงเพื่อรักษาตัว ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ก็ควรหาที่สงัดโดยลำพังผู้เดียวเพื่อให้หลุด
พ้นจากสังโยชน์ เมื่อรู้สึกไม่ยินดีในความสงัด ก็ควรไปอยู่กับหมู่สงฆ์ เพื่อป้องกันจากการถูกกล่าว
ติเตียนในภายหลัง ฉันนั้น 
     ข้อนี้สมกับคำท้าวสหบดีพรหมกล่าวขึ้นต่อพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระภิกษุ
ควรอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อปลดเปลื้องจากสังโยชน์ ถ้าไม่ได้ความยินดีในที่สงัดนั้น ก็ควรไป
อยู่ในหมู่สงฆ์ให้มีสติรักษาตนให้ดีอยู่เสมอ.
มิลิน. ๔๕๑

     ๑.๖ เหมือนเมฆก้อนมหึมากลั่นตัวเป็นน้ำฝน ตกกระหน่ำลงบนยอดเขาไหล ลงมาเต็มซอก
เขา ลำธาร เต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็มหนอง เต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็มบึง เต็มแล้วก็ไหลบ่า
ออกมาเต็มแม่น้ำน้อย เต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็มแม่น้ำใหญ่ เต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็ม
สมุทรสาคร ฉันใด คุณ ๕ ข้อนี้คือ ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลากิเลส ความเป็น
ผู้เลี้ยงง่าย และการปรารภความเพียร ของภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ บริบูรณ์แล้วก็จักช่วยให้
คุณธรรมเริ่มตั้งแต่กถาวัตถุ๑๐ จนกระทั่งถึงอมตพระนิพพานให้สมบูรณ์.
 ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๒๓๔

     ๑.๗ ผู้ใดพึงเป็นผู้มีกิเลสดุจน้ำ ฝาดอันคายแล้ว ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะ
และสัจจะ ผู้นั้นแล ย่อมควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ. 
ขุ.ธ. (โพธิ) มก. ๔๐/๑๑๓

     ๑.๘ เหมือนมหาสมุทรตั้งอยู่เสมอฝั่งเป็นธรรมดาไม่ล้นฝั่ง ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสาวก
ของเราก็จะไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราตถาคตบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่ง
ชีวิต ฉันนั้น.
ขุ.อิติ. (พุทธ) มก. ๔๕/๑๘

     ๑.๙ บุคคลเขลา ไม่รู้โดยปกติ ไม่ชื่อว่า เป็นมุนี เพราะความเป็นผู้นิ่ง ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต
ถือธรรมอันประเสริฐ ดุจบุคคลประคองตาชั่ง เว้นบาปทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นมุนี เพราะเหตุนั้น ผู้ใด
รู้อรรถทั้งสองในโลก ผู้นั้นเรากล่าวว่า เป็นมุนี เพราะเหตุนั้น.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๓/๖๖

     ๑.๑๐ ปัจจันตนครหาอาหาร ๔ ประการ ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ปัจจันตนครของพระราชาป้องกันไว้ดี ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้
(เสาระเนียด, คูลึกกว้าง, ทางเดินรอบคู, อาวุธ, กองทัพ, ทหาร, กำแพง) และอาหาร ๔ ประการ
ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้น เรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรไม่ทำ
อันตรายได้
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ในกาลใด อริยสาวกประกอบพร้อมด้วยสัทธรรม
๗ ประการ (ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ สุตตะ ความเพียร สติ ปัญญา) และเป็นผู้มีปกติได้ตามความ
ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ในกาลนั้น เรากล่าวว่า มารผู้มีบาปทำอันตรายอริยสาวกไม่ได้.
อัง.สัตกก. (พุทธ) มก. ๓๗/๒๒๕

     ๑.๑๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัตินักรบอาชีพ เปรียบเทียบกับคุณสมบัติของ
ภิกษุซึ่งเหมือนกัน ๔ ประการ ได้แก่
     ๑. ฉลาดในฐานะ คือ มีศีล
     ๒. ยิงลูกศรไกล คือ การพิจารณาเบญจขันธ์มีรูป เป็นต้นตามความเป็นจริง
     ๓. ยิงไม่พลาด คือ การรู้ชัดทุกข์เป็นต้น อันเป็นหลักอริยสัจ ๔
     ๔. ทำลายกองขนาดใหญ่ คือ การทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้
     แต่มีความหมายต่างกัน คือ คุณสมบัติของนักรบอาชีพมีความหมายในทางโลก แต่ของ
ภิกษุมีความหมายในทางธรรม.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๔๓๘

     ๑.๑๒ ธรรมดานาย่อมมีเหมือง ชาวนาย่อมไขน้ำออกจากเหมืองเข้าไปยังนา เพื่อหล่อเลี้ยง
ต้นข้าว ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรมีเหมือง คือ ความสุจริตเป็นข้อวัตรปฏิบัติฉันนั้น.
มิลิน. ๔๖๒

     ๑.๑๓ ธรรมดาน้ำที่นิ่งอยู่ไม่ไหว ไม่มีผู้กวน ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยสภาวะปกติฉันใด ภิกษุ
ผู้ปรารภความเพียรก็ควรละการลวงโลก การโอ้อวด การพูดเลียบเคียงเพื่อหาลาภ การพูดเหยียด
คนอื่นเพื่อหาลาภ แต่ควรเป็นผู้มีความประพฤติที่บริสุทธิ์ตามสภาวะปกติ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๖

     ๑.๑๔ ธรรมดาดวงอาทิตย์ย่อมทำให้เกิดความร้อนแก่มวลมนุษย์ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความ
เพียรก็ควรทำให้โลกนี้ และโลกหน้าร้อนด้วยอาจารคุณ ศีลคุณ วัตรปฏิบัติ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ
สมาบัติ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท.
มิลิน. ๔๔๑
     
               ๑.๑๕ ธรรมดาดวงจันทร์ย่อมขึ้นในสุกกปักษ์ คือ ฝ่ายขาว อันได้แก่เดือนข้างขึ้นแล้วยิ่ง
กลมสว่างมากขึ้น ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นในอาจารคุณ ศีลคุณ
วัตรปฏิบัติ อาคม อธิคม ความสงัด การสำรวมอินทรีย์ การรู้จักประมาณในการบริโภค และ
ความเพียร ฉันนั้น. 
 มิลิน. ๔๔๐

     ๑.๑๖ ภิกษุเหล่าใดหนักในพระสัทธรรมแล้ว และกำลังหนักในพระสัทธรรมอยู่ ภิกษุเหล่า
นั้นย่อมงอกงามในธรรม ดุจสมุนไพรได้ปุ๋ย ฉะนั้น.
อัง.จตุกก. (อรรถ) มก. ๓๕/๑๖๓

     ๑.๑๗ องค์ ๓ ของม้าต้นของพระราชา คือ สีงาม กำลังดี มีฝีเท้า เช่นเดียวกับองค์ ๓
ของภิกษุที่เป็นนาบุญของโลก ต้องประกอบด้วย
     ๑. ภิกษุวรรณะงาม คือ มีศีล สมาทานในสิกขาบท
     ๒. ภิกษุเข้มแข็ง คือ มีความเพียร
     ๓. ภิกษุมีเชาว์คือ รู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔.
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๔๘๕

     ๑.๑๘ องค์๓ แห่งพ่อค้าได้แก่
     ๑. เป็นผู้มีดวงตา คือ รู้สินค้าว่าควรซื้อขายอย่างไร มองเห็นต้นทุนหรือกำไร
     ๒. เป็นผู้ฉลาด เข้าใจซื้อขาย
     ๓. ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย คือ รู้จักกันดีกับตระกูลคฤหบดีที่เป็นแหล่งเงินทุน ทั้งพึ่งพา
อาศัยได้
     ธรรม ๓ แห่งภิกษุได้แก่
     ๑. เป็นผู้มีดวงตา คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔
     ๒. เป็นผู้มีความเพียร
     ๓. ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย คือ เข้าหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต หมั่นไต่ถามปัญหาในธรรมทั้ง
หลาย.
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๖๑

 

mongkol-life29.2.jpg
๒. ภิกษุกับการศึกษาธรรม

     ๒.๑ ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟัง
เนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยทิฏฐิ เธอจงมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้า
ถึงเทพนิยายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพ
นั้นเลย 
     แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่าง
นี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า
แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน 
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกลพึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่
พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงว่าเสียง
กลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษโดย
เร็วพลัน.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๔๗๐

     ๒.๒ นายสารถีฝึกม้าผู้ฉลาด เป็นอาจารย์ฝึกฝนม้า ขึ้นสู่รถอันเทียมม้าแล้ว ซึ่งมีแส้อันวาง
ไว้แล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือแส้ด้วยมือขวา ขับไปทางข้างหน้าก็ได้ ถอยกลับข้างหลังก็ได้
ในถนนใหญ่ ๔ แยก ซึ่งมีพื้นเรียบดีตามความประสงค์ ฉันใด
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมศึกษาเพื่อจะรักษา ศึกษาเพื่อจะสำรวม ศึกษาเพื่อจะฝึกฝน
ศึกษาเพื่อจะระงับอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่า เป็น
ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเหล่านั้นแล.
สัง.สฬา. (พุทธ) มก. ๒๘/๓๙๕

     ๒.๓ ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ... เวทัลละ ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้
มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมทั้งหลาย
ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนี้เลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้
แสดงในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงในเทพบริษัท
     เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใดนี้ คือ
ธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์เขาเดินทางไกล พึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่
พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียง
สังข์ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๔๗๑

 

mongkol-life29.3.jpg
๓. ภิกษุกับปัจจัย ๔ 

               ๓.๑ ภิกษุเห็นแก่ปัจจัย ย่อมสิ้นเดชอับแสงระหว่างบริษัท ๔ คล้ายกับกหาปณะเก๊และ
เถ้าถ่านไฟที่ดับแล้ว ฉะนั้น ส่วนภิกษุผู้มีจิตหวนกลับจากปัจจัยนั้น เป็นผู้หนักในธรรม ประพฤติ
ครอบงำอามิสอยู่เป็นนิตย์ย่อมมีเดช (สง่าราศี) คล้ายราชสีห์ฉะนั้น.
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๒๑๙

                ๓.๒ ภิกษุนั้นใช้สอยเสนาสนะ ไพรสณฑ์ โคนไม้ ป่า เงื้อมภูเขาที่ตนปรารถนาแล้ว ดุจ
ลูกศรพ้นจากสายธนู ดุจช้างซับมันหลีกจากโขลง ฉะนั้น.
 อัง.จตุกก. (อรรถ) มก. ๓๕/๕๓๑

                ๓.๓ สมณพราหมณ์เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ เพราะเดรัจฉานวิชา คือ วิชาดูพื้นที่ เรียกว่า
ก้มหน้าฉัน
     เลี้ยงชีพด้วยวิชาดูดาวดูฤกษ์เรียกว่า เงยหน้าฉัน
     เลี้ยงชีพด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร เรียกว่า มองดูทิศใหญ่ฉัน
     เลี้ยงชีพด้วยวิชาดูอวัยวะ เรียกว่า มองดูทิศน้อยฉัน.
สัง.ข. (เถระ) มก. ๒๗/๕๕๑

 

mongkol-life29.4.jpg
๔. ภิกษุกับสกุล

                ๔.๑ มุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน เหมือนแมลงภู่ไม่ยังดอก สี และกลิ่นให้ชอกช้ำ ถือเอาแต่รส
แล้วบินไป ฉะนั้น.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๑/๒

     ๔.๒ พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่า ไม่เลี้ยงผู้อื่นเพราะไม่เลี้ยงกิเลสเหล่านั้น เที่ยวไปตามลำดับ
ตรอก คือ ไม่เที่ยวแวะเวียน เข้าไปบิณฑบาตตามลำดับ ทั้งตระกูลมั่งคั่ง และตระกูลยากจน มีจิต
ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจกิเลสในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง เปรียบเหมือนพระจันทร์ใหม่อยู่เป็นนิตย์.
ขุ.จู. (อรรถ) มก. ๖๗/๗๒๓

     ๔.๓ ธรรมดานกทั้งหลายรู้ว่าถิ่นโน้นมีต้นไม้สุก มีผลสุก จึงพากันมาจากทิศต่างๆ เอาเล็บ
ปีก และจะงอยปาก แทง จิก กิน ผลไม้ของต้นไม้นั้น นกเหล่านั้นมิได้คิดว่า ผลไม้นี้สำหรับวันนี้
ผลนี้สำหรับพรุ่งนี้ ก็เมื่อผลไม้หมด นกทั้งหลายมิได้วางการป้องกันรักษาต้นไม้ มิได้วางปีก
ขน เล็บ หรือจะงอยปากไว้ที่ต้นไม้นั้น ไม่ห่วงใยต้นไม้ต้นนั้น ปรารถนาจะไปทิศใด ก็มิได้ห่วงใย
ต้นไม้ต้นนั้น ปรารถนาจะไปทิศใด ก็มีภาระ คือ ปีกเท่านั้น บินไปทางทิศนั้น ภิกษุนี้ก็เหมือนกัน
หมดความข้อง หมดความห่วงใย หลีกไป คือ ถือเอาเพียงบริขาร ๘ แล้วหลีกไป.
อัง.จตุกก. (อรรถ) มก. ๓๕/๕๓๒

     ๔.๔ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโบกพระหัตถ์ในอากาศ แล้วตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ฝ่ามือ
นี้ไม่ข้อง ไม่ติด ไม่พัวพันในอากาศ ฉันใด จิตของภิกษุผู้เข้าไปในสกุล ไม่ข้องไม่พัวพัน ฉันนั้น
เหมือนกัน โดยตั้งใจว่า ผู้ปรารถนาลาภจงได้ลาภ ผู้ปรารถนาบุญจงได้บุญ เป็นผู้พอใจในลาภของ
ตน เป็นผู้พลอยยินดีในลาภของชนเหล่าอื่น ภิกษุเห็นปานนี้จึงควรเข้าสกุล.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๕๕๐

     ๔.๕ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการเข้าสู่สกุลของภิกษุว่า ควรระวังสำรวมให้ดี ต้อง
ประเมินคุณธรรมของตัวเอง ไม่ใช่ว่า เห็นพระเถระท่านเข้าสู่สกุลแล้ว ก็คิดว่า พระเถระเข้าไปได้
ทำไมเราจะเข้าไปไม่ได้ เหมือนกับลูกช้างเห็นช้างทั้งหลายลงไปกินเหง้าบัวในสระอย่างเอร็ดอร่อย
ก็ลงไปกินบ้าง โดยการกระโดดลงไปทำให้น้ำขุ่น แล้วก็คว้าเอาส่วนที่กินไม่ได้มากิน ต้องได้รับ
ทุกขเวทนา.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๗๔๔

 

mongkol-life29.5.jpg
๕. ลักษณะของภิกษุไม่ดี

     ๕.๑ ความตรึกทั้งหลายกับความคะนองอย่างเลวทรามเหล่านี้ ได้ครอบงำเราผู้ออกบวช
เป็นบรรพชิต เหมือนกับบุตรของคนสูงศักดิ์ซึ่งมีธนูมาก ทั้งได้ศึกษาวิชาธนูมาอย่างเชี่ยวชาญ
ยิงธนูมารอบๆ ตัวศัตรูผู้หลบหลีกไม่ทันตั้งพันลูก ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๓/๔๘๔

     ๕.๒ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไป ไม่ถึงธรรมอันเป็นสาระ ย่อมพอกพูนเครื่อง
ผูกใหม่ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสิ่งที่ตนเห็นแล้วฟังแล้วอย่างนี้ เหมือนฝูงแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมัน ฉะนั้น.
ขุ.อุ. (พุทธ) มก. ๔๔/๖๔๙

               ๕.๓ อุปกิเลส (เครื่องมัวหมอง) แห่งดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ๔ อย่างนี้ซึ่งเป็นเหตุให้ดวง
จันทร์ดวงอาทิตย์ไม่สว่างไสวไพโรจน์คือ เมฆ หมอก ควัน และผงคลี อสุรินทราหู 
     ภิกษุทั้งหลาย ฉันเดียวกันนั้นแล อุปกิเลสแห่งสมณพราหมณ์ทั้งหลายก็มี๔ ประการ คือ 
     สมณพราหมณ์บางเหล่าดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม ยินดีทองและเงิน เลี้ยงชีวิตโดย
มิจฉาชีวะ
     ภิกษุทั้งหลาย นี้แล อุปกิเลสแห่งสมณพราหมณ์ ๔ ประการ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์
ไม่งามสง่าสุกใสรุ่งเรือง.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๑๗๔

             ๕.๔ ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรม
ให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป
เปรียบเหมือนเรือจะอับปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๖๓๑

              ๕.๕ ภิกษุผู้หนักในความโกรธ และความลบหลู่ท่าน หนักในลาภ และสักการะ ย่อมไม่
งอกงามในพระสัทธรรม ดุจพืชที่หว่านในนาเลว ฉะนั้น.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๑๖๓

     ๕.๖ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบภิกษุกับผ้าเปลือกไม้ดังนี้ ผ้าเปลือกไม้ไม่ว่าจะใหม่
หรือเก่าก็มีสีทราม เปรียบได้กับภิกษุทุศีล สัมผัสหยาบเปรียบได้กับผลจากการคบหากับภิกษุนั้นว่า
ก่อให้เกิดทุกข์ ราคาถูก คือ บุคคลถวายทานแก่ภิกษุนั้น จะได้บุญน้อย ผ้าเปลือกไม้เมื่อเก่าแล้ว
เขาเอาไปทิ้งขยะ คือ เมื่อกล่าวธรรมใดก็ไม่มีใครฟัง เมื่อถูกว่ากล่าว ภิกษุนั้นก็โกรธเป็นเหตุให้ถูก
ลงโทษ คือ ห้ามติดต่อเกี่ยวข้องกับภิกษุทั้งหลาย.
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๔๘๙

               ๕.๗ เปรียบภิกษุบางรูปอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่า ถูกบุคคลกล่าวท้วงว่า ภิกษุรูปนี้ไม่สะอาด เป็น
หนามของชาวบ้าน เหมือนกับบุคคลที่มีแผลพุพองทั้งตัว เข้าไปในป่าหญ้าคา ถูกตำถูกบาดเต็มตัว.
สัง.สฬา. (พุทธ) มก. ๒๘/๔๙๗

                 ๕.๘ มหาโจรได้องค์๓ นี้จึงตัดช่องย่องเบา ปล้นสะดม และตีชิง เมื่อเทียบกับภิกษุชั่วแล้ว
ประกอบด้วยองค์๓ คือ
                ๑. อาศัยที่ขรุขระ หมายถึง ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
     ๒. อาศัยป่าชัฏ หมายถึง เป็นผู้มีความเห็นผิด ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฐิ
     ๓. ได้พึ่งพิงผู้มีอำนาจ หมายถึง อาศัยผู้มีอำนาจกลบเกลื่อนความชั่วของตน
                ทั้งหมดนี้ได้ชื่อว่า เป็นภิกษุผู้ประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้ประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็น
อันมาก.
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๒๑๐

 

mongkol-life29.6.jpg
๖. สมณะผู้หลอกลวง 

              ๖.๑ เปรียบเหมือนหญ้าชนิดหนึ่งที่ทำลายต้นข้าว มีเมล็ดเหมือนข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าว
ตายรวง พึงเกิดขึ้นในนาที่สมบูรณ์ ราก ก้าน ใบของมัน เหมือนกับข้าวที่ดีเหล่าอื่น ตราบเท่าที่มัน
ยังไม่ออกรวง แต่เมื่อใด มันออกรวง เมื่อนั้นจึงทราบกันว่า หญ้านี้ทำลายต้นข้าว มีเมล็ดเหมือน
ข้าวลีบ มีเมล็ดเหมือนข้าวตายรวง ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว เขาจึงถอนมันพร้อมทั้งราก เอาไปทิ้งให้
พ้นที่นา ข้อนั้นเพราะคิดว่า หญ้าชนิดนี้อย่าทำลายข้าวที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใด เปรียบเหมือนกองข้าว
เปลือกกองใหญ่ที่เขากำลังสาดอยู่ในข้าวเปลือกกองนั้น ข้าวเปลือกที่ตัวแกร่ง เป็นกองอยู่ส่วนหนึ่ง
ส่วนที่หักลีบ ลมย่อมพัดไปไว้ส่วนหนึ่ง เจ้าของย่อมเอาไม้กวาดวีพัดข้าวที่หัก และลีบออกไป
ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะคิดว่า มันอย่าปนข้าวเปลือกที่ดีอื่นๆ เลย ฉันใดฉันนั้นเหมือนกัน
             บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้ มีการก้าวไป การถอยกลับ เหมือนภิกษุผู้เจริญเหล่าอื่น
ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเขา
เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ ครั้นรู้อย่างนี้ย่อมนาสนะ
(การลงโทษบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศ) ออกไปให้พ้น.
อัง.อัฏฐก. (พุทธ) มก. ๓๗/๓๒๖

             ๖.๒ ในปางก่อน นกยางตัวหนึ่งมีรูปเหมือนแกะ พวกแกะไม่รังเกียจ เข้าไปยังฝูงแกะ ฆ่า
แกะทั้งตัวเมียตัวผู้ ครั้นฆ่าแล้ว ก็บินหนีไป สมณพราหมณ์บางพวกก็มีอาการเหมือนอย่างนั้น
กระทำการปิดบังตัว เที่ยวหลอกลวงพวกมนุษย์ บางพวกประพฤติไม่กินอาหาร บางพวกนอนบน
แผ่นดิน บางพวกทำกิริยาขัดถูธุลีในตัว บางพวกตั้งความเพียรเดินกระโหย่งเท้า บางพวกงดกิน
อาหารชั่วคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ เป็นผู้มีอาจาระเลวทราม เที่ยวพูดอวดว่า เป็นพระอรหันต์
คนเหล่านี้เป็นอสัตบุรุษ.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๘๑

             ๖.๓ หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั้นเอง ฉันใด คุณเครื่องสมณะที่บุคคลลูบคลำไม่ดี
ย่อมคร่าเขาไปในนรก ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๓/๑๙๓

             ๖.๔ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ไม่บริสุทธิ์ ณ ภายใน งามแต่ภายนอก เป็นผู้อันบริวาร
ห้อมล้อมไปในโลก เหมือนหม้อน้ำทำด้วยดินหุ้มด้วยทองคำ และเหมือนเหรียญมาสกโลหะชุบ
ทองคำ ฉะนั้น.
ขุ.ม. (เถระ) มก. ๖๖/๕๓๕

             ๖.๕ เปรียบเหมือนบุคคลต้องการกระบอกตักน้ำ ถือขวานอันคมเข้าไปในป่า เขาเอาสัน
ขวานเคาะต้นไม้นั้นๆ บรรดาต้นไม้เหล่านั้น ต้นไม้ที่แข็ง มีแก่น ซึ่งถูกเคาะด้วยสันขวานย่อมมี
เสียงหนัก ส่วนต้นไม้ที่ผุใน น้ำชุ่ม เกิดยุ่ยขึ้น ถูกเคาะด้วยสันขวาน ย่อมมีเสียงก้อง เขาจึงตัด
ต้นไม้ที่ผุในนั้นที่โคน ครั้นตัดโคนแล้ว จึงตัดปลาย แล้วจึงคว้านข้างในให้เรียบร้อยแล้วทำเป็น
กระบอกตักน้ำ ฉันใด
             ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนในธรรมวินัยนี้มีการก้าวไปการถอย
กลับ การแล การเหลียว การคู้การเหยียด การทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เหมือนของภิกษุที่
ดีเหล่าอื่น ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเขา แต่เมื่อใดภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของ
เขา เมื่อนั้นภิกษุทั้งหลายย่อมรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ เป็นสมณะแกลบ
เป็นสมณะหยากเยื่อ ครั้นรู้จักอย่างนี้แล้ว ย่อมนาสนะ ออกไปให้พ้น.
อัง.อัฏฐก. (พุทธ) มก. ๓๗/๓๒๗

             ๖.๖ ลาย่อมติดตามโคไป แม้ร้องว่า ตัวเราก็เป็นโค แต่สี เสียง รอยเท้า ไม่เหมือนโค
ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เดินตามหมู่ภิกษุ ประกาศตนว่า แม้เราก็เป็นภิกษุ แต่เธอไม่มี
ความพอใจในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่เดินตามภิกษุไป
เท่านั้นเหมือนกัน.
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๔๔๘


เชิงอรรถ
๑ มุนี นักปราชญ์, ผู้สละเรือนและทรัพย์สมบัติแล้ว
๒ นาสนะ การลงโทษบุคคลผู้ไม่สมควรถือเพศ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012677192687988 Mins