วรรคที่ ๘ สหธัมมิกวรรค ว่าด้วยผู้ร่วมประพฤติธรรม

วันที่ 07 มีค. พ.ศ.2566

วรรคที่ ๘ สหธัมมิกวรรค ว่าด้วยผู้ร่วมประพฤติธรรม

วรรคที่ ๘ สหธัมมิกวรรค
ว่าด้วยผู้ร่วมประพฤติธรรม

สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม กล่าวอย่างนี้ว่าอาวุโส ผมจะยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ ตราบเท่าที่ผมยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นปาจิตตีย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ศึกษาอยู่ควรรู้ทั่วถึงควรสอบถาม ควรไตร่ตรอง นี้เป็น การปฏิบัติชอบในเรื่องนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุประพฤติอนาจาร ภิกษุอื่นตักเตือน พูดผัดเพี้ยนว่า ยังไม่ได้ถามท่านผู้รู้ก่อน ข้าพเจ้าจักไม่ศึกษาในสิกขาบท นี้ต้องปาจิตตีย์ธรรมดาภิกษุผู้ศึกษา ยังไม่รู้สิ่งใด ควรจะรู้สิ่งนั้น ควรไต่ถามไล่เลียงท่านผู้รู้”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       คำว่า โดยชอบธรรม คือ เป็นไปตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้
       คำว่า ควรรู้ทั่วถึง คือ ควรทราบไว้ควรเรียนรู้ไว้สำหรับปฏิบัติตามได้ถูกต้อง
       คำว่า ควรสอบถาม คือ ควรถามท่านผู้รู้ว่าสิกขาบทนี้เป็นอย่างไรสิกขาบทนี้มีเนื้อความเป็นอย่างไร
       คำว่า ควรไตร่ตรอง คือ ควรคิด ควรพินิจให้รู้จริง ตรงตามเป็นจริง

       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุผู้ทำผิดตะแบงเอาตัวรอดโดยอ้างว่าตนยังไม่รู้ต้องถามท่านผู้รู้ก่อน อันเป็นความยุ่งยากที่จะดำเนินการต่อไป และทรงแนะนำ  ว่าภิกษุผู้มีความสำเหนียกรู้ใคร่ต่อการศึกษาควรได้รู้ควรได้สอบถาม ควรได้ไตร่ตรอง เพื่อที่จะได้รู้และปฏิบัติได้ถูกต้อง เมื่อทำผิดเข้าจะได้ยอมรับโดยสงบ อันสามารถแก้ไขต่อไปได้

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุผู้กล่าวว่า จักรู้จักศึกษา ดังนี้
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ หรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระฉันนะ

 

สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๒
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อมีผู้สวดพระปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า จะประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้ที่ท่านสวดแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญเพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งยากเสียนี่กระไร ดังนี้ เป็นปาจิตตีย์ในเพราะกล่าวโทษสิกขาบท”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุอื่นท่องปาติโมกข์อยู่ ภิกษุแกล้งพูดให้เธอคลายอุตสาหะ ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า เมื่อมีสวดปาติโมกข์อยู่ หมายถึง เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงก็ดีให้ผู้อื่นยกขึ้นแสดงก็ดีท่องบ่นอยู่ก็ดี
       สิกขาบทนี้หมายถึง เมื่อมีภิกษุศึกษาเล่าเรียนพระวินัยอันเป็นพระปาติโมกข์กัน ย่อมท่องบ่นบ้าง สาธยายบ้าง เพื่อให้เกิดความชำนาญช่ำชองทำ ให้ภิกษุอีกพวกหนึ่งไม่ชอบ ด้วยเห็นว่าหากภิกษุทั้งหลายรู้พระวินัยกันมาก ก็จักฉุดกระชากลากถูพวกตนซึ่งชอบทำผิดระเบียบแบบแผนอยู่เสมอ จึงไปพูดไปอ้างเหตุผลว่าพระวินัยไม่มีประโยชน์สิกขาบทเล็กน้อยที่หยุมหยิม ไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้จดจำอะไร เรียนไปท่องไปก็ทำให้รำคาญใจ ทำให้ลำบาก ทำให้ยุ่งยากระมัดระวัง เพื่อให้ภิกษุผู้เรียนพระวินัยอยู่เลิกละความสนใจในการศึกษาท่องบ่นพระวินัย  ภิกษุผู้ประพฤติอย่างนี้ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุมีความคิดคัดค้านพระวินัย ด้วยเห็นว่าก่อความรำคาญ ทำให้ลำบาก ทำให้ยุ่งยาก ไม่เป็นอิสระในการดำรงชีวิตแล้วทำ อะไรตามใจชอบ ไม่สนใจว่าจะละเมิดสิกขาบทข้อไหนหรือไม่ โดยเฉพาะสิกขาบทเล็กน้อย

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้ คือ
     (๑) ภิกษุผู้ไม่ประสงค์จะกล่าวโทษ พูดตามเหตุผลว่า นิมนต์ท่านเรียนพระสูตร พระคาถา หรือพระอภิธรรมไปก่อนเถิด ภายหลังจึงค่อยเรียนพระวินัย
     (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๓
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อพระวินัยธรสวดพระปาติโมกข์อยู่ทุกกึ่งเดือน กล่าวอย่างนี้ว่า กระผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า แม้ธรรมนี้ก็มาในพระสูตร เนื่องในพระสูตรมาสู่อุทเทสทุกกึ่งเดือน ถ้าภิกษุทั้งหลายอื่นจำภิกษุนั้นได้ว่า เมื่อพระวินัยธรสวดพระปาติโมกข์อยู่ ภิกษุนี้เคยนั่งมา ๒-๓ คราวแล้ว จะกล่าวถึงมากครั้งไปทำไมอีกอันความพ้นด้วยอาการอันไม่รู้หามีแก่ภิกษุนั้นไม่ เธอต้องอาบัติใดในเพราะความประพฤติอนาจารนั้น พึงปรับอาบัตินั้นแก่เธอตามธรรม และพึงยกความหลงลืมขึ้นแก่เธอเพิ่มอีกว่า แน่ะเธอ ไม่ใช่ลาภของเธอ เธอได้ไม่ดีแล้ว ด้วยเหตุว่าเมื่อพระวินัยธรสวดพระปาติโมกข์อยู่ เธอมิได้ต้องการใส่ใจด้วยดี นี้เป็นปาจิตตีย์ในเพราะเป็นผู้แสร้งหลงลืมนั้น”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุต้องอาบัติแล้วแกล้งพูดว่า ข้าพเจ้าเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าข้อนี้มาในพระปาติโมกข์ถ้าภิกษุอื่นรู้ว่า เธอเคยรู้มาก่อนแล้วแต่แกล้งพูดกันเขาว่า พึงสวดประกาศความข้อนั้น เมื่อสวดประกาศแล้ว แกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       สิกขาบทนี้หมายถึง การที่ภิกษุทำผิดพระวินัยแล้วแสร้งหลงลืมว่าเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เอง ว่าข้อนี้มาในพระปาติโมกข์เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกลงโทษ เป็นการอ้างเพื่อเอาตัวรอด แต่ภิกษุทั้งหลายก็รู้ว่าภิกษุนั้นรู้มาก่อนแล้ว ว่าข้อนั้นมาในพระปาติโมกข์ภิกษุนั้น ย่อมไม่พ้นผิดไปได้เธอต้องอาบัติใดในการประพฤติผิด พึงปรับอาบัตินั้นแก่เธอตามความผิด และเธอต้องปาจิตตีย์ในเพราะเป็นผู้แสร้งหลงลืมนั้น

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้ เพื่อมิให้ภิกษุทำผิดแล้ว หาทางเอาตัวรอด โดยแสร้งทำเป็นว่าตนไม่รู้ไม่ทราบว่าผิดสิกขาบท หรือแสร้งหลงลืมไป เป็นการแสดงให้เห็นว่าขาดความรับผิดชอบ อันทำให้เสียหายตามมาได้มาก

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้ คือ 
       (๑)  ภิกษุยังไม่ได้ฟังโดยพิสดาร 
       (๒) ภิกษุฟังโดยพิสดารต่ำกว่า ๒-๓ คราว 
       (๓)  ภิกษุผู้ไม่ต้องแสร้งทำหลงลืม 
       (๔) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๕) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๔
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดโกรธ ไม่พอใจ ตบตีภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
     “ภิกษุโกรธ ให้ประหารแก่ภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       คำว่า ตบตี คือ การทำร้ายให้ได้รับความเจ็บกาย หรือความเจ็บใจด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจ การทำร้ายนั้นจะทำด้วยกายเช่นตีด้วยมือก็ดีด้วยของเนื่องด้วยกายเช่นไม้หรือแส้ก็ดีด้วยของที่ขว้างไปก็ดีโดยที่สุดแม้ขว้างด้วยกลีบบัว จัดเป็นการตบตีตามสิกขาบทนี้ทั้งสิ้น

       ตามสิกขาบทนี้ท่านแสดงไว้ว่าถ้าภิกษุทำร้ายตบตีภิกษุเป็นปาจิตตีย์ทำร้ายตบตีอนุปสัมบันคือสามเณร หรือคฤหัสถ์เป็นทุกกฏ ทำร้ายตบตีสัตว์ดิรัจฉาน เป็นทุกกฏ และแม้จะใช้ให้ผู้อื่นทำร้ายตบตีก็ต้องอาบัติเช่นเดียวกัน

       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุลุแก่อำนาจความโกรธเมื่อไม่ชอบใจไม่พอใจภิกษุใดก็เข้าไปทำร้ายตบตีเป็นการแสดงถึงจิตใจที่ขาดความรักความเมตตาต่อกัน

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุถูกคนบางคนเบียดเบียน ประสงค์จะให้พ้น จึงตบตี
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๕
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดโกรธ ไม่พอใจ เงื้อหอกคือฝ่ามือให้ภิกษุ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
     “ภิกษุโกรธเงื้อมือดุจให้ประหารแก่ภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       คำว่า เงื้อหอกคือฝ่ามือ คือ ยังไม่ได้ทำร้ายยังไม่ได้ตบตีแต่เงื้อมือขึ้นหรือยกไม้ยกแส้ขึ้น โดยที่สุดแม้ยกกลีบบัวขึ้น แสดงให้รู้ว่าจะฟาด เป็นอาบัติ

       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุลุอำนาจแก่ความโกรธดังสิกขาบทก่อน

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุถูกคนบางคนเบียดเบียน ประสงค์จะให้พ้น จึงเงื้อหอกคือฝ่ามือ 
       (๒)  ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๖
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดใส่ความภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสอันหามูลมิได้ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุโจทก์ฟ้องภิกษุอื่นด้วยอาบัติสังฆาทิเสสไม่มีมูลต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า ใส่ความ คือ กล่าวหาหรือโจทเองก็ตาม ให้คนอื่นทำก็ตาม
       คำว่า อันหามูลมิได้ คือ อันตนหรือผู้อื่นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้สงสัย

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
     สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุผู้อยู่ไม่เป็นสุข ชอบหาเรื่องภิกษุอื่น เที่ยวใส่ความฟ้องร้องภิกษุอื่น ทำให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนไปทั่ว ทั้งที่อาบัติที่ฟ้องนั้นไม่มีมูลความจริงอะไร เป็นเหตุให้ไม่มีความสงบในการอยู่ด้วยกัน

อนาปัตติวาร
     ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ
     (๑) ภิกษุสำคัญว่ามีมูล โจทเองก็ดีสั่งให้โจทก็ดี
     (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
     (๓)  ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดแกล้งก่อความร ำคาญให้แก่ภิกษุด้วยหมายใจว่า ด้วยวิธีนี้ความไม่ผาสุกจักมีแก่เธอไปครู่หนึ่ง ทำความหมายใจอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นเหตุไม่มีอะไรอื่น เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุแกล้งก่อความรำคาญให้เกิดแก่ภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       คำว่า ก่อความรำคาญ คือ ทำให้เกิดความระคายเคือง เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความหงุดหงิดไม่สบายใจ เมื่อได้ฟัง

       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุขาดสติขาดความรับผิดชอบ มุ่งแต่ความสนุกหรือความสะใจ เที่ยวพูดไปโดยไม่รับผิดชอบด้วยความตั้งใจจะให้ภิกษุอื่นเกิดความรำคาญ อยู่ไม่เป็นสุข อันเป็นการขาดมารยาทที่ดีไม่คำนึงถึงทุกข์ของผู้อื่น


อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุไม่มุ่งจะก่อความรำคาญให้พูดแนะนำว่าชะรอยท่านจะมีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีอุปสมบท ชะรอยท่านจะบริโภคอาหารในเวลาวิกาลชะรอยท่านจะดื่มน้ำเมาชะรอยท่านจะนั่งในที่ลับกับมาตุคาม ท่านจงรู้ไว้เถิดความรำคาญใจในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่านเลย
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดความบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะกันถึงการวิวาทกัน ยืนแอบฟังด้วยหมายใจว่าจักได้ฟังคำที่พวกเธอพูดกัน ทำความหมายใจอย่างนี้ให้เป็นเหตุ ไม่มีอย่างอื่น เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “เมื่อภิกษุวิวาทกันอยู่ ภิกษุไปแอบฟังความ เพื่อจะได้รู้ว่าเขาว่าอะไรตนหรือพวกของตน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า แอบฟัง คือ กิริยาที่ตั้งใจไปสอดรู้สอดเห็นโดยไม่ปรากฏตัวให้เห็น เพื่อจะฟังความว่าเขาพูดอะไรกัน เป็นการแอบฟังความเพื่อให้รู้ว่าเขาว่าอะไรตนบ้างจัดเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสมสำหรับภิกษุเป็นเครื่องบอกว่าเป็นผู้ที่ไว้ใจไม่ได้ไม่ควรให้ความไว้วางใจ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุแสดงกิริยาแอบฟังความ อันเป็นกิริยาที่เลวทราม แม้ชาวโลกเขาก็ไม่ทำกัน ถือว่าเป็นกิริยาที่ไม่ดีไม่สมควรทำด้วยประการทั้งปวง

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุเดินไปด้วยตั้งใจว่า ได้ยินคำของภิกษุเหล่านั้นแล้วจักงดจักเว้น จักระงับจักเปลื้องตน 
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิ-กัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดให้ฉันทะเพื่อกรรมอันเป็นธรรมไปแล้วกลับติเตียนในภายหลังเป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุให้ฉันทะ คือความยอมให้ทำสังฆกรรมที่เป็นธรรมแล้ว ภายหลังกลับติเตียนสงฆ์ผู้ทำกรรมนั้น ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า ให้ฉันทะ คือ ยอมให้สงฆ์ทำสังฆกรรมได้โดยชอบธรรม
       คำว่า กรรมอันเป็นธรรม คือสังฆกรรมที่สงฆ์ทำแล้วตามหลักธรรมตามหลักวินัย ตามหลักสัตถุศาสน์ ได้แก่
       - อปโลกนกรรม กรรมคือการบอกกล่าวประกาศแจ้งให้ทราบ ไม่ต้องตั้งญัตติ ไม่ต้องสวดอนุสาวนา
       - ญัตติกรรม กรรมคือการตั้งญัตติอย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสาวนา
       - ญัตติทุติยกรรม กรรมมีญัตติเป็นที่สอง คือทำอปโลกนกรรมตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา เช่นในการทำปวารณา การทำอุโบสถกรรม
       - ญัตติจตุตถกรรม กรรมมีญัตติเป็นที่สี่ คือตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาอีก ๓ ครั้ง เช่นในการทำอุปสมบทกรรม
       ภิกษุให้ฉันทะแก่สงฆ์แล้ว เป็นสิทธิของสงฆ์ที่จะทำสังฆกรรม เมื่อสงฆ์ทำเสร็จแล้ว ผู้ให้ฉันทะนั้นกลับไม่พอใจหรือเห็นว่าสงฆ์ทำไม่ถูกใจตน จึงบ่นว่าหรือติเตียนสงฆ์ถ้าสงฆ์ทำกรรมนั้นโดยชอบธรรมแล้วติเตียน เป็นอาบัติถ้าสงฆ์ทำไม่ชอบธรรม ทำด้วยอาการแตกกัน หรือลงโทษภิกษุผิดตัวติเตียน ไม่เป็นอาบัติ

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุที่มอบฉันทะให้แก่สงฆ์แล้วกลับมาติเตียนสงฆ์อันเป็นการไม่ไว้วางใจสงฆ์หรือเห็นสงฆ์ไม่มีความหมายไม่มีความรู้ความสามารถในการทำสังฆกรรมนั้น จึงบ่นว่าจึงติเตียน แสดงอาการอันไม่สมควรออกมา

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑)  ภิกษุรู้อยู่ว่าสงฆ์ทำกรรมโดยไม่ถูกธรรม โดยแตกกันเป็นพวก หรือทำแก่ภิกษุที่มิใช่ผู้ควรแก่กรรม จึงติเตียน 
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังดำเนินอยู่ในสงฆ์ ไม่ให้ฉันทะลุกจากอาสนะหลีกไปเสีย เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “เมื่อสงฆ์กำลังประชุมกันตัดสินข้อความข้อหนึ่ง ภิกษุใดอยู่ในที่ประชุมนั้นจะหลีกไปในขณะที่ตัดสินข้อนั้นยังไม่เสร็จ ไม่ให้ฉันทะก่อนลุกไปเสีย ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า เรื่องอันจะพึงวินิจฉัยในสงฆ์ คือ เรื่องที่โจทก์และจำเลยแจ้งไว้แล้วแต่ยังมิได้วินิจฉัยก็ตาม ตั้งญัตติแล้วก็ตาม กรรมวาจายังสวดอยู่ก็ตามจัดว่าเป็นเรื่องที่จะพึงวินิจฉัยในสงฆ์
       คำว่า ไม่ให้ฉันทะลุกจากอาสนะหลีกไปเสีย คือ ตั้งใจว่าถึงอย่างไรกรรมนี้ก็ต้องเสีย ต้องเป็นวรรคคือแตกกันเป็นหมู่เป็นพวก ต้องทำไม่ได้ดังนี้แล้วลุกเดินไป เมื่อพ้นจากหัตถบาสไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
       การที่สงฆ์กำลังวินิจฉัยเรื่องอยู่ ยังไม่ได้ตัดสิน ตัวเองอยู่ในที่นั้นด้วย แต่คิดว่าอย่างไรเสียกรรมก็ต้องเสีย ตัดสินไม่ได้หรือตัดสินเพราะเห็นแก่หน้า จึงลุกขึ้นออกไปจากที่ประชุม โดยไม่ให้ฉันทะคือขออนุญาตที่ประชุม และที่ประชุมยังไม่อนุญาต เดินออกไปโดยพลการ เท่ากับเป็นการข้ามหน้าผู้เข้าประชุม ไม่เห็นความสำคัญของที่ประชุม

       เรื่องการประชุมนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า เมื่อประชุมก็ให้พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็ให้พร้อมเพรียงกันเลิก คือให้อยู่ในที่ประชุมอย่างพร้อมเพรียงจนกว่าจะเลิกประชุม ทำได้อย่างนี้จึงจะพร้อมเพรียงกันเลิกประชุมได้

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุเห็นเรื่องการประชุมเป็นเรื่องสำคัญ ผู้อยู่ในที่ประชุมต่างมีความสำคัญ โดยเฉพาะประธานที่ประชุม ต้องให้ความเคารพที่ประชุม ก่อนจะลุกออกไปจากที่ประชุมต้องขออนุญาตหรือให้ฉันทะก่อน มิใช่ลุกออกไปโดยอิสระ เป็นการไม่เห็นความสำคัญของการประชุมและที่ประชุม

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้ คือ 
       (๑)  ภิกษุคิดว่า ความบาดหมาง การทะเลาะ การแก่งแย่ง หรือการวิวาทจักเกิดแก่สงฆ์ดังนี้จึงไปเสีย 
       (๒) ภิกษุคิดว่า จักเป็นสังฆเภทหรือสังฆราชีดังนี้จึงไปเสีย 
       (๓) ภิกษุคิดว่า สงฆ์จักทำกรรมโดยไม่เป็นธรรม โดยแตกกันเป็นพวก หรือจักทำแก่ภิกษุที่มิใช่ผู้ควรแก่กรรม ดังนี้จึงไปเสีย 
       (๔) ภิกษุเกิดอาพาธ จึงไปเสีย 
       (๕) ภิกษุไปด้วยกิจที่พึงทำแก่ภิกษุอาพาธ 
       (๖) ภิกษุปวดอุจจาระปัสสาวะ จึงไปเสีย 
       (๗) ภิกษุไม่มุ่งจะทำกรรมให้เสีย ไปด้วยคิดว่าจะกลับมาอีก 
       (๘) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิ-กัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๑๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “อนึ่ง ภิกษุใดร่วมกับสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันให้จีวรแล้วกลับติเตียนในภายหลังว่า ภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุพร้อมกับสงฆ์ให้จีวรเป็นบำเหน็จแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว ภายหลังกลับติเตียนภิกษุอื่นว่า ให้เพราะเห็นแก่หน้ากัน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
       คำว่า น้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ คือ ให้ปัจจัย ๔ คือจีวร บิณฑบาตเสนาสนะคิลานเภสัชและสิ่งของอื่นแม้เป็นของเล็กน้อยเช่นก้อนผงเจิม ไม้ชำระฟัน ด้ายเย็บผ้า ไปตามที่ต้องการ เพราะความเป็นเพื่อนกันเพราะความที่เคยเห็นกัน เพราะความที่เคยคบกัน เพราะความที่ร่วมอุปัชฌาย์กัน เพราะความที่ร่วมอาจารย์กัน เป็นต้น

เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุมีใจกว้าง ยอมรับได้ไม่โลเลเหลวไหล เมื่อร่วมกับสงฆ์ให้สิ่งใดไปแล้วก็ให้ตัดขาด ไม่ติดใจต่อไปว่าสงฆ์จะให้สิ่งนั้นแก่ผู้ใด จะเป็นมิตรหรือศัตรูกับตน จะเป็นผู้ที่ตนรู้จักหรือไม่รู้จัก ก็ยอมรับได้เป็นการแสดงความเป็นคนใจกว้าง ไม่ใจแคบ

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้ คือ 
       (๑)  ภิกษุติเตียนสงฆ์ผู้ทำเพราะฉันทาคติโทสาคติโมหาคติภยาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว) โดยปกติว่า จะประโยชน์อะไรด้วยจีวรที่ให้แล้วแก่ภิกษุนั้น แม้เธอได้ไปแล้วก็จักทิ้งเสีย จักไม่ใช้สอยโดยชอบธรรม
       (๒)  ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓)  ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

 สหธัมมิกวรรค สิกขาบทที่ ๑๒
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
       “ภิกษุใดรู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน เป็นปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ภิกษุรู้อยู่ น้อมลาภที่ทายกเขาตั้งใจจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล ต้องปาจิตตีย์”
อธิบายความและเจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
       สิกขาบทนี้หมายถึงการที่ภิกษุไปพูดโลมเล้าให้ทายกที่จัดของถวายไว้สำหรับภิกษุทั่วไปได้ถวายแก่พวกตนแทน ทำให้ทายกจำต้องถวายและเป็นเหตุให้ภิกษุอื่นไม่ได้ลาภตามที่ควรได้จึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ปรามไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้และเห็นแก่ลาภเพื่อตัว จนเกินกว่าเหตุโดยไม่คำนึงถึงภิกษุอื่น

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้ คือ 
       (๑)  ภิกษุผู้ถูกทายกถามว่าจะถวายที่ไหน ตอบว่าไทยธรรมของพวกท่านพึงได้รับการใช้สอย พึงได้รับการปรับปรุง หรือพึงตั้งอยู่ได้นานในที่ใด ก็หรือจิตของพวกท่านเลื่อมใสในผู้ใด ก็จงถวายในผู้นั้นเถิด 
       (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
       (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014754811922709 Mins