พรหมวิหารธรรม

วันที่ 06 พค. พ.ศ.2557

 

พรหมวิหารธรรม
       พรหมวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ หรือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม และเป็นธรรมะข้อ
สำคัญสำหรับผู้ได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรอีกด้วย การจะทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ต้องเริ่มจากจิตใจที่งดงาม ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างแท้จริง คุณธรรมคือพรหมวิหาร 4 ประการ จึงเป็นสิ่งที่กัลยาณมิตรจะต้องทำให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ เป็นอุปนิสัยติดตัวไป จนกลายเป็นธรรมะที่ฝังแน่นในขันธสันดานกันเลยทีเดียว พรหมวิหาร 4 ประการได้แก่

1. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข ความสนิทสนม หรือ ความรักปราศจากความ
กำหนัดยินดี เช่น พ่อแม่รักลูก เป็นต้น ปรารถนาความไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ปรารถนาให้มีความสุข อาการปรารถนาความไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีการเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ เหล่านี้ชื่อว่าเมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข

2. กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ความหวั่นใจ เมื่อเห็นหรือได้ยินผู้อื่นได้ความทุกข์
ลำบากอยู่ ก็จะช่วยหรือลงมือช่วยให้พ้นทุกข์ หรือ ความปรารถนาเพื่อจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขาสร้าง
ความรู้สึกที่จะเห็นเขาหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นเบื้องต้น เมื่อมีความสามารถก็แสดงออกมาให้เห็นทางกายคอยช่วยเหลือเขา ทางวาจาแนะนำพร่ำสอนเขา ชื่อกรุณา ความสงสารคิดจะให้พ้นทุกข์

3. มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี ได้แก่ ความบันเทิงใจ หรือเบิกบานใจ เมื่อได้เห็นหรือ
ได้ยินผู้อื่นมีความสุขสบาย เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญสุขตาม ภาพของตนๆ แล้ว ก็พลอยยินดีชื่นชม
ไม่มีจิตใจริษยา พลอยยินดีร่วมกับเขา

4. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ หมายความว่า เมื่อได้เห็นหรือ
รู้ว่าผู้อื่นถึงความวิบัติ ก็วางใจเป็นกลาง โดยพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำดีก็ได้ดีใครทำชั่วก็ได้ชั่ว ไม่ดีใจเมื่อศัตรูประสบความวิบัติ และไม่เสียใจเมื่อคนเป็นที่รักประสบความวิบัติ ต้องรู้จักวางเฉย ไม่แผ่เมตตา กรุณาไปไม่บังควร เช่น เอาใจช่วยโจร ผู้ที่ถูกลงอาญา เป็นต้น เพราะการกระทำความผิดของเขาเป็นเหตุ โดยทำความรู้สึกว่าคนเราทุกคนเกิดมามีกรรมเป็นของตน จะต้องได้รับผลของกรรมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยใครทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตามจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นอาการที่ดำรงรักษาจิตไม่ให้ตกไปในความยินดีและยินร้ายได้โดยอาการ สม่ำเสมอในหมู่สัตว์ดังนี้ชื่ออุเบกขา

      ผลดีของการเจริญในพรหมวิหาร

       ผู้เจริญเมตตา ได้รับผลดี คือ อยู่ด้วยความไม่มีภัย ไม่มีเวร เป็นไปเพื่อความรักใคร่กัน และละ
ธรรมอันเป็นข้าศึก คือ พยาบาทเสียได้
  ผู้เจริญกรุณา ได้รับผลดี คือ ย่อมเป็นเหตุให้ช่วยทุกข์เขา ไม่หนีเอาตัวรอด และละธรรม คือ วิหิงสาความเบียดเบียนเสียได้ ผู้เจริญมุทิตา ได้รับผลดี คือ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดโสมนัสยินดีและละธรรม คืออิสาเสียได้ ผู้เจริญอุเบกขาได้รับผลดี คือ ย่อมเป็นเหตุให้ละธรรมปฏิฆะความกระทบกระทั่งแห่งจิตเสียได้

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 101 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015122691790263 Mins