การเจริญภาวนาเป็นของสากล

วันที่ 14 มีค. พ.ศ.2558

การเจริญภาวนาเป็นของสากล

     การเจริญภาวนามีความสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกๆชีวิตเมื่อเราได้ทำภาวนาและทำอย่างถูกต้องตามวิธีการปฏิบัติแล้ว ะเป็นการดึงดูดสิ่งดีๆให้บังเกิดขึ้นกับตัวของเราเอง

     การเจริญภาวนานั้นเป็นของสากล คือ มนุษย์ทุกคนสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ไม่จำกัดว่าบุคคลนั้นจะมีเชื้อชาติใด จะเป็นชายหรือหญิง จะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา จะมีผิวพรรณวรรณะแตกต่างกันอย่างไรและไม่ว่าจะมีความเห็นหรือความเชื่อในลัทธิหรือศาสนาใดก็ตามล้วนแล้วแต่สามารถทำภาวนาได้ด้วยกันทั้งสิ้น

   ดังนั้นการเจริญภาวนาจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือต้องเป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้นไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาหรือความเชื่อใดก็สามารถศึกษาและประพฤติปฏิบัติภาวนาได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน
 

ความหมายของการเจริญภาวนา

     พระพุทธศาสนามีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำกิเลสอาสวะให้สิ้น เข้าถึงพระนิพพาน และวิธีการ กำจัดกิเลสอาสวะให้สิ้น ทำพระนิพพานให้แจ้ง คือ การฝึกจิต ที่ท่านเรียกว่า ภาวนา หรือกัมมัฏฐาน

 1) ภาวนา แปลว่า การเจริญ, การทำให้เพิ่ม, การทำให้เกิดมี

2) ภาวนา แปลว่า การทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นทางจิตใจ, สำรวมใจตั้งความปรารถนา มีอรรถาธิบายแสดงไว้ว่า ธรรมที่บัณฑิตชนทั้งหลาย ควรทำให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งหลังๆ ให้ติดต่อกันไปเป็นนิตย์ จนถึงเจริญขึ้นๆ เรื่อยไป ธรรมนั้นชื่อว่า ภาวนา

3) การเจริญภาวนา หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี โดยการทำใจให้สงบจาก นิวรณ์ และการฝึกฝนจิตให้เกิดการเห็นอันวิเศษ
 

     ประเภทของ ภาวนา มี 2 อย่าง คือ

1. สมถภาวนา

2. วิปัสสนาภาวนา
 

     สมถภาวนา คือ การฝึกฝนอบรมจิตให้สงบหยุดนิ่งเป็นอารมณ์เดียว ทำให้กิเลสนิวรณ์สงบลง

มีอรรถาธิบายแสดงไว้ว่า ชื่อว่า สมถะ เพราะยังธรรมที่เป็นข้าศึก มีกามฉันทะเป็นต้นให้สงบ คือ ให้หมดไปนี้เป็นชื่อของสมาธิ สมถะ มี 2 ประการ คือ

1) การเจริญสมถภาวนาของบุคคลที่ยังไม่เข้าถึงอุปจารภาวนา คือ มีจิตสงบนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง

2) การเจริญสมถภาวนาของบุคคลที่เข้าถึงอัปปนาภาวนา คือ มหัคคตฌานตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป

     สมถภาวนา มีชื่อเรียกอีกนัยหนึ่งว่าจิตตภาวนา คือ การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุข ผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ
ระดับของการเจริญสมถภาวนา

การเจริญสมถภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิ มี 3 ขั้น คือ

1. บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นตระเตรียม คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐาน

2. อุปจารภาวนา ภาวนาขั้นจวนเจียน คือ เกิดอุปจารสมาธิ

3. อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือ เกิดอัปปนาสมาธิ เข้าถึงฌาน
 

     วิปัสสนาภาวนา คำว่า วิปัสสนา มาจาก 2 บท คือ วิ (วิเศษ) + ปสฺสนา (ความเห็นแจ้ง) เมื่อรวมแล้ว แปลว่า ความเห็นแจ้งโดยวิเศษ

     วิปัสสนาภาวนา คือ การฝึกฝนอบรมจิตให้เกิดการเห็นอันวิเศษโดยตรง ได้แก่การเห็นไตรลักษณ์ อริยสัจ แล้วละอวิชชา(ความไม่รู้ในอริยสัจ) ตัณหา(ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น) อุปาทาน(ความยึด มั่นถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส) ได้ มีอรรถาธิบายแสดงไว้ว่า ธรรมชาติใดย่อมเห็นแจ้งในขันธ์ 5 โดยประการต่างๆมี อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ อสุภะ ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิปัสสนา

 วิปัสสนา มี 3 ประการ คือ

1) วิปัสสนาญาณที่มีการกำหนดรู้ในสังขารธรรม รูป นาม

2) วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้าผลสมาบัติได้

3) วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้านิโรธสมาบัติได้

     วิปัสสนาภาวนายังมีชื่อเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ปัญญาภาวนา คือ การฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงจนมีจิตใจเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030720583597819 Mins