ผู้เป็นต้นแบบในการเจริญภาวนา

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2558

ผู้เป็นต้นแบบในการเจริญภาวนา

การเจริญภาวนา เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่มนุษย์ทุกๆคนพึงปฏิบัติได้ เมื่อตัดสินใจและได้ลงมือปฏิบัติอย่างถูกหลักวิชชาแล้ว ย่อมได้รับผลแห่งการปฏิบัติทุกคน ไม่มียกเว้น เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วกว่า กันเท่านั้น

     ผู้ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์สั่งสมบารมีทุกรูปแบบ แต่ที่สำคัญที่พระองค์ไม่เคยละทิ้งเลยก็คือ การฝึกใจให้สงบนิ่งมั่นคง พระองค์มีความเพียรในการทำเช่นนี้มาตลอดทุกภพทุกชาติ และในที่สุดผลแห่งความเพียรก็ ปรากฏ ในวันที่พระองค์ประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ ดังหลักฐานที่ยกมาแสดงนี้ 

     พระโพธิสัตว์ทรงกระทำลำต้นโพธิ์ไว้เบื้องปฤษฎางค์ หันพระพักตร์ไปทาง ทิศตะวันออก ทรงมีพระมนัสมั่นคง ทรงนั่งคู้อปราชิตบัลลังก์ ซึ่งแม้ฟ้าจะผ่าลงมาถึงร้อยครั้งก็ไม่แตกทำลาย โดยทรงอธิษฐานว่า  “เนื้อและเลือดในสรีระจะแห้งเหือดไปหมดสิ้นจะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามทีเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้Ž” และด้วยอานุภาพของการเจริญภาวนาที่พระองค์สั่งสมอบรมมานานนับภพนับชาติไม่ถ้วน ทำให้ พระองค์ได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด

     บุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่ง ที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบในการเจริญภาวนาและนับได้ว่าอยู่ในยุคสมัย เดียวกันกับเราก็คือ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเป็นผู้ที่รักการปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตจิตใจ หลังจากที่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 22 ปีแล้ว รุ่งขึ้นท่านก็ทำภาวนาทุกวันไม่เคยขาด ศึกษาทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติควบคู่กันไปจนกระทั่งกลางพรรษาที่ 12 นั้นเอง ความเพียรที่ท่านสั่งสมมาก็เกิดผล ท่านได้หวนระลึกขึ้นว่า “ในเมื่อเราตั้งใจจริงๆ ในการบวช จำเดิมอายุสิบเก้า เราได้ปฏิญาณตนบวชจนตายขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวชบัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง 15 พรรษา ย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้วบัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็นเราก็ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็นสมควรแล้วที่จะ ต้องกระทำอย่างจริงจัง” เมื่อตกลงใจได้ดังนี้แล้ว วันนั้นเป็นวันกลางเดือน 10 ก็เริ่มเข้าโรงอุโบสถแต่เวลาเย็นตั้งสัจจอธิษฐานแน่นอนลงไปว่า“ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิตŽ” ด้วยความตั้งใจจริงนั้น ท่านจึงได้เข้าถึงธรรมในวันนั้นเอง พร้อมกับเปล่งอุทานว่า ”คัมภีร์โรจายัง ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึก นึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่เข้าถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิดตรองดูเถิดท่านทั้งหลายนี้เป็นของจริงหัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาดŽ”

     นี้จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีจริง ดีจริง และเข้าถึงได้จริง ขอเพียงเราเอาจริงกับการปฏิบัติ ย่อมได้รับผลสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะของจริงย่อมคู่กับคนจริง

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา SB 101 วิถีชาวพุทธ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018076948324839 Mins