ความหมายของการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเชิงบูรณาการ

วันที่ 04 เมย. พ.ศ.2558

การทำหน้าที่กัลยาณมิตรแบบบูรณาการให้มีความสมบูรณ์ควรฝึกทักษะและฝึกฝนตนเองจากหลายศาสตร์                        หลายแขนงที่เหมาะสมกับกาลสมัยมาใช้ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

ความหมายของการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเชิงบูรณาการ

     ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้มีความสมบูรณ์นั้นจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถ และการฝึกฝนตนเอง จนกลายเป็นทักษะที่ทำให้สามารถทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กระนั้นยังต้องมีการเรียนรู้และขวนขวายหาความรู้จากหลายศาสตร์หลายแขนงที่เหมาะสมกับกาลสมัยมาใช้ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรอีกด้วย ซึ่งในที่นี้ก็คือ การทำหน้าที่กัลยาณมิตรในเชิงบูรณาการ

     คำว่า “ บูรณาการ” โดยความหมายโดยศัพท์หมายถึงการกระทำให้สมบูรณ์ และโดยเชิงปฏิบัติคำว่า            “ บูรณาการ ” หมายถึง การจะกระทำใดๆที่มีการนำสิ่งที่เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงหรือสิ่งที่เป็นองค์ประกอบต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการต่างๆความรู้สาขาต่างๆเป็นต้น มาประสานหรือร่วมกันอย่างกลมกลืนเพื่อให้การกระทำนั้นๆ เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังรวมถึงการทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จและเป้าหมายร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลพร้อมทั้งก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่กันและกันด้วย

 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้นจำเป็นต้องอาศัยวิธีการแบบบูรณาการ กล่าวคือ ประสานเชื่อมโยงความรู้ ประสบการณ์ตลอดจนคุณธรรมในตัวพร้อมด้วยความเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ให้ปรากฏออกมาเป็นการกระทำที่เรียกว่า เป็นการทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้บุคคลที่เราไปเป็นกัลยาณมิตรนั้นมีสิ่งที่ดีและสิ่งที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นในชีวิต หรือมีการพัฒนาตนเองในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจะทำให้บุคคลที่เราไปเป็นกัลยาณมิตรให้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยจะต้องมีการพัฒนาในการดำเนินชีวิต เช่น ชีวิตพบแต่ความสุขที่แท้จริงมีความรู้ที่ถูกต้อง และมีจริยธรรมประจำใจ หรือมีการพัฒนาในประเด็นต่างๆตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อการพัฒนาตนในหมวดธรรมที่ว่าด้วย ภาวนา 4 กล่าวคือ

1.กายภาวนา คือการพัฒนาทางกาย ให้รู้จักติดต่อกับสิ่งทั้งหลายรอบตัวเราและภายนอก รวมถึงอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดีปฏิบัติตนต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวในทางที่เป็นคุณไม่เกิดโทษและอกุศลให้มีกุศลธรรมงอกงาม อกุศลธรรมให้สูญสิ้นไป

2.ศีลภาวนา คือ การเจริญด้วยศีลพัฒนาความประพฤติให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัยไม่เบียดเบียน หรือก่อความเดือดร้อน เสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดีมีความเกื้อกูลแก่กันและกัน สังคมนั้นก็จะถูกพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นได้ในที่สุด

3.จิตตภาวนา คือ พัฒนาจิตใจ การฝึกอบรมจิตใจให้เข้มแข็งมั่งคงเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย มีสมาธิแน่วแน่ สดชื่นแจ่มใส จิตใจผ่องใส เป็นต้น

4.ปัญญาภาวนา คือ การพัฒนาปัญญา เป็นการฝึกอบรมให้รู้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ฝึกตนให้บริสุทธิ์จากกิเลส ปลอดพ้นจากความทุกข์

  จากหลักธรรมดังกล่าว ถือว่าเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ผู้จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรควรตระหนักไว้ในใจ ขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ออกมาให้เป็นเชิงปฏิบัติแบบบูรณาการ คือ การผสมผสานองค์ความรู้และวิธีการต่างๆ ให้ปรากฏออกมาเป็นการกระทำที่สมบูรณ์และเกิดผลดี

 

 

จากหนังสือ DOU
วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.059969818592072 Mins