การสั่งสมนิสัยในปัจจุบัน

วันที่ 23 พค. พ.ศ.2558

 

การสั่งสมนิสัยในปัจจุบัน ธรรมเป็นกำลัง ที่สามารถขจัดอำนาจอิทธิพลของอกุศล

 

การสั่งสมนิสัยในปัจจุบัน

     การสั่งสมนิสัยในปัจจุบันนั้นก็เป็นอีกประการหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ฟังนั้นบรรลุธรรมหรือไม่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงบุคคลเมื่อฟังธรรมแล้ว ควรที่จะเข้าถึงธรรม12) ไว้ดังนี้ คือ

     1.บุคคลย่อมไม่เป็นผู้ลบหลู่คุณท่านฟังธรรม

     2.เป็นผู้อันความลบหลู่ไม่ครอบงำ ไม่มีจิตแข่งดีฟังธรรม

     3.เป็นผู้ไม่แสวงโทษ ไม่มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม ไม่มีจิตกระด้าง

     4.เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา

บุคคลผู้มีปัญญานี้ ยังอาจแบ่งได้ 3 ระดับ13) คือ

(1)บุคคลมีปัญญาดังหม้อคว่ำ คือ ขณะฟังธรรมหรือเมื่อเลิกฟังก็ไม่ใส่ใจ เหมือนราดน้ำลงไปบนหม้อคว่ำ น้ำย่อมไหลไปไม่ขังอยู่

(2)บุคคลมีปัญญาดังหน้าตัก คือ ขณะฟังธรรมก็ใส่ใจ เหมือนวางของไว้บนหน้าตัก พอลุกขึ้น ของนั้นก็ตกไป

(3)บุคคลมีปัญญามาก เหมือนหม้อหงาย คือ ขณะฟังธรรมหรือเลิกฟังก็ยังใส่ใจอยู่ เหมือนเทน้ำลงไปในหม้อ น้ำย่อมขังอยู่

     5.ไม่เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

     สำหรับอุปนิสัยของการฟังธรรมเพื่อเข้าถึงธรรมในพุทธพจน์นี้จะเห็นว่า คนที่จะฟังธรรมจาก พระพุทธองค์ หรือแม้แต่จากคนอื่นก็ตาม จะต้องไม่หลบหลู่ผู้ฟัง มีความยอมรับในตัวของผู้แสดงธรรมอันจะทำให้ผู้ฟังเกิดความต้องการที่จะฟังธรรมจากผู้แสดงธรรมคือ มีความพอใจยินดีในการที่จะฟังธรรม การยอมรับ นับถือศรัทธาและทำตามผู้แสดงธรรมนั้น ผู้ฟังจำเป็นต้องมีศรัทธา และปัญญาเป็นตัวผลักดัน

     การน้อมศรัทธานั้น ตามปกติแล้วจะเน้นไปที่พระพุทธคุณเป็นหลัก ในขณะฟังนั้นเองจะเห็นอาการของศรัทธา ปัญญาทำงานประสานกัน ลักษณะของคนที่ฟังธรรม จนนำไปสู่ผลตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ทรงแสดงเป็นรูปของกระบวนการทางจิต ไว้ดังนี้

     “ บุคคลผู้มีศรัทธาย่อมเข้าไปหาสัตบุรุษ เมื่อเข้าไปหาย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมฟังธรรม ในขณะฟังธรรม ย่อมเงี่ยหูลงฟัง ในขณะที่เงี่ยหูลงฟังย่อมพิจารณาข้อความ เมื่อพิจารณาย่อมเกิดความรู้ความเข้าใจ เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจย่อมน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรม ย่อมได้รับผลจากการปฏิบัติตามสมควรแก่เหตุ”14)

     จากอาการที่ทรงแสดงเป็นรูปกระบวนการข้างต้น ทำให้เราพบว่าสภาพจิตของผู้ฟังในขณะนั้นว่า ได้มีการปรับการพัฒนา การเพิ่ม หลักธรรมสำคัญ 5 ประการ คือ

1.สัทธา ความเชื่อมั่นในพระพุทธคุณ ในตัวผู้แสดงธรรม ให้เพิ่มพูนขึ้นจนทำลายความไม่เชื่อ ความสงสัย ความโลภ ความโกรธ ให้สงบลงไปตามลำดับ

2.วิริยะ ความกล้าหาญ เข้มแข็งทางกายและจิต จนสามารถขจัดความเกียจคร้าน ความเห็นแก่ความสะดวกสบาย ความเพลิดเพลินในสิ่งที่ตนสัมผัสในขณะนั้นๆ ให้คลายลงไปตามลำดับ

3.สติ ความระลึกได้ ระลึกทัน นึกออก จนกลายเป็นผู้มีสติที่ช่วยให้ตื่นตัวอยู่ทุกขณะ ย่อมทำหน้าที่ขจัดความขาดสติ ความหลงลืม ความเผลอเรอ ความเลอะเลือน ออกไปตามลำดับ

4.สมาธิ ความตั้งใจมั่น มีกำลังเพิ่มขึ้นจนสามารถขจัดความฟุ้งซ่าน ความซัดส่ายของจิต จนสามารถสงบนิวรณ์ 5 ประการ ไปได้ตามลำดับขั้นตอนของสมาธิ

5.ปัญญา ความรอบรู้ ที่จะต้องมีกำลังในการขจัดความหลง ความไม่รู้ออกไป จนมีความรู้เห็นตามความเป็นจริง ลด ละ ตัณหา มานะ ทิฏฐิลงได้มากพอควร เป็นปัญญารักษาตนเอง คุ้มครองตนเองได้

     หลักธรรมทั้ง 5 ประการนี้ เรียกว่า พละ แปลว่า ธรรมเป็นกำลัง ที่สามารถขจัดอำนาจอิทธิพลของอกุศล ที่ตรงกันข้ามกับตน จนจิตใจมีความมั่นคงในธรรมนั้น ที่เรียกว่า อินทรีย์ คือ เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนเอง15)

       การฟังธรรมจะเกิดผลสูงสุด คือ ผู้แสดงธรรมต้องมีคุณธรรม มีภูมิรู้ภูมิธรรมที่จะแสดงธรรมได้ ทั้งผู้ฟังธรรมก็ต้องมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรองรับธรรมะได้ และในการฟังธรรมนั้นหากผู้ฟังสามารถปล่อยใจไปตามกระแสธรรมได้ ก็ย่อมทำให้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งแม้ในขณะฟังธรรมนั้นเอง ในการฟังธรรมเพื่อปฏิบัติสมาธิก็เช่นกัน การฟังธรรมและปล่อยใจทำตามผู้นำ ผู้มีประสบการณ์ในการทำสมาธิก็สามารถที่จะน้อมนำใจของผู้ฟังให้เข้าถึงฝั่งแห่งใจหยุดนิ่ง สามารถบรรลุธรรมได้

 


12) อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต, มก. เล่ม 36 ข้อ 153 หน้า 322.
13) อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 หน้า 98.
14) มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 ข้อ 657 หน้า 352.
15) พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ), พุทธวิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนา, (กรุงเทพฯ : พรศิวการพิมพ์, 2542.). หน้า 84-85.

 

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014549334843953 Mins