จตุตถฌานภูมิ

วันที่ 10 กค. พ.ศ.2558

 

 

จตุตถฌานภูมิ

          เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้จตุตถฌาน ประกอบด้วย เวหัปผลาภูมิ อสัญญีสัตตาภูมิ และสุทธาวาสภูมิ 5 ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ

10. เวหัปผลาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ ตามอำนาจของฌาน ผลของกุศลในชั้นปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ และตติยฌานภูมิ ไม่สามารถ บังเกิดในชั้นเวหัปผลาภูมิได้ เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง 3 ระดับย่อมถูกทำลายไปด้วย ดังนี้

  • เมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟ ปฐมฌานภูมิ จะถูกทำลายไปด้วย
  • เมื่อโลกถูกทำลายด้วยน้ำ ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ จะถูกทำลายไปด้วย
  • เมื่อโลกถูกทำลายด้วยลม ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ ตติยฌานภูมิ จะถูกทำลายหมด

            ในบรรดาพรหมทั้ง 9 ภูมิที่กล่าวมา สุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่นๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือมีอายุขัยถึง 64 มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม 64 มหากัป จะต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมกับการสร้างโลกใหม่ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงไปตามลำดับ เมื่อครบกำหนด 64 มหากัป ตติยฌานภูมินี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป สำหรับเวหัปผลาภูมิ พ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ 500 มหากัปเสมอไป

 

11. อสัญญีสัตตาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์ คือ ดับความรู้สึกข้างนอกหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่กิเลสยังไม่ดับ มีรูปร่างผิวพรรณงดงามคล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ 3 อย่าง คือ นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่งๆ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นจนครบอายุขัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พรหมลูกฟัก อสัญญีสัตตาพรหมนี้จัดว่าเป็นอาภัพพสัตว์ คือ ไม่สามารถตรัสรู้ได้ในชาตินั้น พรหมชั้นนี้มีอายุ 500 มหากัป เช่นเดียวกับเวหัปผลาภูมิ

จตุตถฌานภูมิทั้ง 2 นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ สูงกว่าตติยฌานภูมิ พรหมใน 2 ชั้นนี้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน และมองเห็นพรหมชั้นที่อยู่ต่ำกว่าได้ ส่วนพรหมชั้นต่ำกว่าไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้

            รูปพรหมทั้ง 11 ชั้นที่กล่าวมานี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนยาวมากก็ตาม ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิก็เป็นได้ ทิพยสมบัติอิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืนต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย สุทธาวาสภูมิ 5 เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี สุทธาวาสภูมิแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ตามความแก่อ่อนของบารมี โดยดูจากอินทรีย์ 5 ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังนี้

 

12. อวิหาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์อ่อนที่สุด ศรัทธามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะไม่ละทิ้งสถานที่ของตน คือ ต้องอยู่จนครบอายุขัยจึงจุติ ไม่มีการเสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย 1,000 มหากัป สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก 4 ชั้น อาจไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน

13. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ขึ้น วิริยะมีกำลังมากกว่าอินทรีย์ อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณ-ธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น ใจมีแต่ความสงบเยือกเย็น พรหมชั้นนี้มีอายุ 2,000 มหากัป

 

14. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ขึ้นไปอีก สติมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะเห็นสิ่งต่างๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยจักษุทั้งหลาย3)4)5)6) ได้แก่ ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ธัมมจักษุ ปัญญาจักษุ ที่บริสุทธิ์ พรหมในชั้นนี้มีร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็นด้วยความเป็นสุข พรหมชั้นนี้มีอายุ 4,000 มหากัป

15. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่เกือบถึงที่สุด สมาธิมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะแลเห็นสิ่งต่างๆ โดยสะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่าสุทัสสาพรหม ว่าโดยจักษุ 4 ประการแล้ว ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้งสามอย่างนี้มีกำลังมากยิ่งกว่าสุทัสสาพรหม มีแต่ธัมมจักษุเท่านั้นที่มีกำลังเสมอกัน พรหมชั้นนี้มีอายุ 8,000 มหากัป

 

16. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีอินทรีย์แก่ที่สุด ปัญญามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้จะมีทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่ารูปพรหมทุกชั้น รูปพรหมชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 4 ในสุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตนแล้วจะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิหรือไม่เกิดในภูมิต่ำกว่า แต่สำหรับอกนิฏฐพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้องปรินิพพานในภูมินี้อย่างแน่นอน พรหมชั้นนี้มีอายุ 16,000 มหากัป

            ในอกนิฏฐสุทธาวาสภูมินี้ มีปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสเจดีย์ อันเป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยฆฏิการพรหมได้ลงมาจากชั้นอกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง 8 ถวายแด่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ มีความสูง 12 โยชน์

 

            สุทธาวาสภูมิ 5 จะมีขึ้นในระยะที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นที่อยู่ของพระอนาคามีบุคคล ถ้าพระพุทธศาสนายังไม่บังเกิด พระอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นับเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะกาลโดยธรรมชาติ อายุของสุทธาวาสภูมิจะไม่เกินอายุรวมของทั้ง 5 ชั้นในภูมินี้รวมกัน (ประมาณ 31,000 มหากัป) เพราะไม่ว่าพระอริยบุคคลจะเกิดอยู่ในภูมิใด ในมนุษย์ เทวดา รูปพรหม ก็จะพากันปรินิพพานจนหมด ดังนั้น สุทธาวาสภูมิจะหายไปและจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ หมุนเวียนอยู่ดังนี้

            นักศึกษาได้ทราบแล้วว่า การบังเกิดเป็นพรหมนั้น เมื่อครั้งเป็นมนุษย์จะต้องหมั่นสร้างบุญกุศล ทั้งทาน ศีล ภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำภาวนา จะต้องใฝ่ใจปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งทำฌานให้เกิดขึ้นได้ เมื่อละโลกไปแล้วจึงได้ไปบังเกิดเป็นพรหมอยู่ในรูปภพ ได้เสวยสุขอยู่ในทิพยวิมานอันโอฬาร และมีอายุขัยยาวนานยิ่งกว่าชาวสวรรค์หลายเท่าทีเดียว

 

            อย่างไรก็ดี การมีชีวิตที่ยืนยาวอยู่บนพรหมโลก กลับเป็นการตัดโอกาสตนเองในการลงมาสั่งสมบุญบารมีในเมืองมนุษย์ พรหมในหลายๆ ชั้นหมดโอกาสได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางชั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดนับสิบนับร้อยพระองค์แล้ว ก็ยังคงเป็นพรหมอยู่อย่างนั้น ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอยู่ร่ำไป จนกว่าจะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม บุญบารมีเต็มเปี่ยม จึงจะหลุดพ้นจากทุกข์ได้

 

ตารางแสดงอายุของรูปพรหม 16 ชั้น

รูปพรหม อายุ
1. ปาริสัชชาภูมิ 1 ใน 3 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป7)
2. ปุโรหิตาภูมิ 1 ใน 2 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป
3. มหาพรหมาภูมิ 1 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป
4. ปริตตาภาภูมิ 2 มหากัป
5. อัปปมาณาภาภูมิ 4 มหากัป
6. อาภัสสราภูมิ 8 มหากัป
7. ปริตตสุภาภูมิ 16 มหากัป
8. อัปปมาณสุภาภูมิ 32 มหากัป
9. สุภกิณหาภูมิ 64 มหากัป
10. เวหัปผลาภูมิ 500 มหากัป
11. อสัญญีสัตตาภูมิ 500 มหากัป
12. อวิหาสุทธาวาส 1,000 มหากัป
13. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ 2,000 มหากัป
14. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ 4,000 มหากัป
15. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ 8,000 มหากัป
16. อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ 16,000 มหากัป

 

 

------------------------------------------------------------------

 

3) ปสาทจักษุ คืด ตาธรรมดา ถ้าสำหรับมนุษย์คือตาเนื้อที่เราใช้มองสิ่งต่างๆ                                                        4) ทิพยจักษุ คือ ตาอภิญญา มีอำนาจมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในระยะไกล หรือสิ่งเล็กน้อยก็เห็นได้
5) ธัมมจักษุ คือ มัคคญาณเบื้องต่ำ 3 มีโสดาปัตติมรรถ สกิทาคามิมรรถ และอนาคามิมรรค
6) ปัญญาจักษุ คือ วิปัสสานาญาณ ปัจจเวขณญาณ และอภิญญาต่างๆ.
7) ดูอธิบายเพิ่มเติมในพระสูตร และอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย จตุกนิกาย, มก. เล่ม 35 หน้า 371.

 

จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา

พรหมภูมิ

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013594750563304 Mins