สวดมนต์อย่างไร ในเมื่อไม่มีเวลา

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558

 

สวดมนต์อย่างไร ในเมื่อไม่มีเวลา 


    สำหรับคนที่อยากสวดมนต์แต่อ้างว่าไม่มีเวลานั้น อาตมภาพมีตัวอย่างของโยมอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ท่านมีงานมาก มีเวลาพักผ่อนน้อยเพียงวันละ 4 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีทั้งงานสอนหนังสือ งานวิจัย งานบ้าน ต้องดูแลทุกเรื่องสารพัด ท่านมาวัดเพื่อถวายความรู้ภาษาญี่ปุ่นให้อาตมภาพ เสร็จแล้วจึงมีโอกาสได้สนธนาธรรม ท่านจับหลักได้จึงตั้งใจว่าต่อไปนี้จะนั่งสมาธิสวดมนต์ทุกวัน แต่มีปัญหาคือ มีงานมาก มีเวลาน้อย
    ท่านบอกว่าตื่นเช้าออกจากบ้านมาสวดมนต์บท “ อิติปิโส ภะคะวา อะระหังสัมมา สัมพุทโธ .... ” จบหนึ่งใช้เวลาราวๆ 1 นาที จะสวดวันหนึ่งให้ได้ร้อยจบ ถามว่าแล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปสวดมนต์ตั้งเป็นชั่วโมงๆ ท่านบอกว่าที่บ้านมีรถ 1 คัน เช้าก็ให้พ่อบ้านขับรถไปส่งตัวเองขึ้นรถเมล์เพื่อไปมหาวิทยาลัย เวลาเดินไปก็สวดในใจไป พอขึ้นรถเมล์ ก็ยืนสวดมนต์ในใจไปเรื่อยๆ ตรงจุดไหนที่เรายืนอยู่คนเดียวก็เปล่งเสียงสวดมนต์เบาๆ แต่ถ้าจุดไหนมีคนอยู่มาก เราก็สวดในใจ คนอื่นจะได้ไม่แปลกใจ


    แทนที่จะปล่อยใจให้คิดฟุ้งซ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็สวดมนต์ไปเรื่อยๆ ปรากฎว่าได้ผลเกินคาด ลองคิดดูสิว่า ในแต่ละวันในขณะที่เรากำลังเดินไปนั้น บางทีก็ใจลอยคิดนั่นคิดนี่ บางทีกำลังขับรถอยู่ก็ใจลอยบ้าง เขาไม่ให้โทรศัพท์ขณะขับรถ ก็ใช้บลูทูธคุยไร้สาระไปเรื่อยเปื่อยบ้าง ซึ่งจะพบว่าเวลาไร้สาระของเราในแต่ละวันนั้นมีมาก ซึ่งเมื่อมาทบทวนดูให้ดี เวลาเหล่านี้ที่เรายืน เดิน นั่ง นอน หรือแม้กระทั่ง ตอนเข้าห้องน้ำ เราก็สามารถสวดมนต์ไปได้ด้วยทุกเวลา แทนที่จะปล่อยใจไปคิดเรื่องอื่น
    การระลึกถึงพระรัตนตรัยคือ การแสดงความเคารพ เราจะนึกสวดมนต์ไปในใจขณะอาบน้ำอยู่ก็ได้ ไม่ว่าจะล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ จะทำอะไรอยู่ก็สวดมนต์ไปด้วยได้ทั้งนั้นหรือ จะกินข้าวแล้วนึกถึงพระรัตนตรัยก็ย่อมได้ โดยให้นึกว่าเรี่ยวแรงกำลังที่เกิดขึ้น จากอาหารมื้อนี้ เราจะใช้ในการทำความดี โดยระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นการรับประทานอาหารอย่างถูกหลัก ถูกวิธี อานิสงส์ผลดีเกิดตลอดเวลา


    เราจะไม่มีข้ออ้างว่า “ ไม่มีเวลาสวดมนต์ ” หรือ “ ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ” อีกต่อไป เพราะสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ จนถึงตอนนอน โดยก่อนนอนก็ให้เราสวดมนต์ หลับไปในอู่ทะเลบุญ นิ่งแล้วก็หลับไปในสมาธิ
    เมื่อตื่นเช้ามา ก่อนอื่นก็ให้เรานึกถึงพระรัตนตรัย นึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสวดมนต์บทสั้นๆ ก่อนในใจว่า “ อิติปิโส ภะคะวา .... ” ก็ได้ “ อะระหังสัมมา .... ” ก็ได้ หรือ “ นะโม ตัสสะ .... ” ก็ได้ จากนั้นจึงค่อยลุกขึ้นจากที่นอน


การสวดมนต์ออกเสียงกับไม่ออกเสียงแบบไหนได้บุญมากกว่ากัน ?
    หากสถานที่เอื้ออำนวยให้เราสวดมนต์แบบเปล่งเสียงได้ ย่อมจะส่งผลดีต่อตัวเราเอง ลองเปรียบเทียบกับในทางไม่ดี การที่ “ เราคิดจะด่าว่าเขา ” กับการที่ “ เราด่าว่าเขาออกไปแล้ว ” เมื่อเปล่งสียงพูดออกไปแล้วย่อมส่งผลมากกว่า เพราะเขาได้ยินว่าเราด่าว่าเขา
    ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นจากใจก่อนก็จริง แต่พออยู่ในใจมันแรงแค่ระดับหนึ่ง พอเปล่งวาจาออกไปแล้ว มันก็จะแรงเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่งส่งผลทางลบมากขึ้นไปอีก ยิ่งถ้าลงมือทำ มันก็หนักขึ้นไปอีก เช่น คิดจะทำร้ายเขา  ก็ส่งผลลัพธ์ให้ใจไม่ดี พอพูดว่า “ ฉันจะเล่นงานแก ” ผลก็ยิ่งหนักขึ้น แต่พอลงมือทำร้ายเขา ผลที่เกิดก็รุนแรงที่สุด
    ในทางบวกก็เช่นเดียวกัน อย่างการสวดมนต์ เราจะสวดมนต์ในใจเพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวยก็ได้ อย่างไรทำก็ดีกว่าไม่ทำ แต่ถ้าสถานที่เอื้ออำนวย ก็ให้สวดมนต์ออกเสียงจะดีกว่า เราไม่จำเป็นต้องตะเบ็งเสียงดัง ให้สวดปกติ สบายๆ แล้วใจก็จะสงบนิ่ง


แก้ความโกรธด้วยการสวดมนต์
    อาตมภาพมีประสบการณ์สมัยที่เรียนอยู่คณะแพทย์ฯ โดยปกติตนเองจะเป็นคนไม่ค่อยโกรธใครง่ายๆ คือ ค่อนข้างมีอารมณ์ดีพอสมควร เพราะเข้าวัดตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมปลาย แต่มีอยู่คราวหนึ่งที่เพื่อนทำไม่เข้าท่า เขาไม่รักษาคำพูด ทำให้เกิดความเสียหายมาก
    อาตมภาพรู้สึกโกรธ แต่ไม่พูด โกรธแล้วนิ่ง คิดว่าไม่พูดจะดีกว่า เพราะต่อว่าไปก็ไม่มีประโยชน์ เขารู้อยู่แล้วว่าเราไม่พอใจเขาเรื่องอะไร อาตมภาพจึงกลับไปที่หอพักคณะแพทย์ฯ ซึ่งตอนนั้นนักศึกษาแพทย์ฯตั้งแต่ชั้นปีที่ 4 ขึ้นไปทั้งหมดจะต้องอยู่หอพัก เพราะต้องดูคนไข้ และอยู่เวรกลางคืนบ่อยๆ


    เมื่อกลับถึงหอพัก ปิดประตูห้องเสร็จแล้วก็สวดมนต์ออกเสียง ทำวัตรเช้าเลย “ โย โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ .... ” ประมาณ 15 นาที พอสวดเสร็จก็เช็คใจตนเอง ความโกรธของเรามันหายไปประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่มันยังเหลืออีกตั้ง 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจึงเริ่มสวดใหม่อีก 1 รอบ เบ็ดเสร็จ 2 รอบ ใช้เวลาไปครึ่งชั่วโมง แล้วกลับมาเช็คใจตัวเองดูอีกครั้ง เออ...มันสบายใจขึ้น ความโกรธหายไปประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีกเพียงนิดหน่อยเท่านั้น
    พอสวดมนต์เสร็จ เปิดประตูห้องมาเจอเพื่อนคนที่ก่อเรื่องยืนรออยู่หน้าห้อง ซึ่งเขามายืนรอตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ อาจมาทันฟังสวดมนต์จนจบไปรอบหนึ่งแล้วก็ได้ แล้วเขาก็มาขอโทษ และแสดงการขอโทษโดยการชวนไปเลี้ยงข้าว ซึ่งตอนนั้นเรายิ้มออกแล้ว เพราะความโกรธมันหายไปถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี


บ้านร่มเย็นเพราะพลังการสวดมนต์
    ครอบครัวใดอยากให้บ้านร่มเย็น รู้สึกอบอุ่น แม่บ้านอยากให้พ่อบ้านกลับบ้านตรงเวลา และครอบครัวสงบร่มเย็น ก็ให้สมาชิกในครอบครัวลองสวดมนต์ร่วมกัน
    ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งเรื่องราวคือ มีแม่บ้านรู้สึกว่าพ่อบ้านเลิกงานแล้วไม่ค่อยกลับบ้าน จึงเกิดปัญหาในครอบครัว มีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยครั้ง แม่บ้านไม่รู้จะทำอย่างไรจึงตัดสินใจเข้าไปกราบพระอาจารย์ เพื่อขอคาถา พระอาจารย์จึงให้พระเครื่องมาองค์หนึ่งไม่เล็กไม่ใหญ่ แล้วบอกกับแม่บ้านว่า พอพ่อบ้านกลับมาถึงบ้าน ให้นำพระเครื่องนี้ใส่ปากอมจะเกิดเมตตามหานิยม แม่บ้านก็ทำตามเพราะอยากจะพ้นจากปัญหานี้เสียที


     วันต่อมาแม่บ้านก็ทำงานบ้านเป็นปกติ ถึงเวลาพ่อบ้านกลับจากทำงาน พอพ่อบ้านเปิดประตูรั้วปุ๊บ แม่บ้านก็นึกถึงคำพระอาจารย์สั่ง หยิบพระเครื่องใส่ปากอมทันที ปรากฎว่าเวลาอมพระอยู่ในปากมันพูดไม่ถนัด โดยปกติแม่บ้านจะชอบบ่น พูดจุกจิกจนพ่อบ้านเกิดความรำคาญ จึงไม่อยากกลับบ้าน พาลให้ทะเลาะกันเป็นเรื่องราวใหญ่โต พอแม่บ้านหยิบพระใส่ปากจึงบ่นไม่ถนัด ทำให้เลิกบ่นไปโดยปริยาย พอเลิกบ่นพ่อบ้านจึงรู้สึกสบายใจ บรรยากาศในบ้านเริ่มดีขึ้น ครอบครัวก็กลับมาสมานสามัคคีกันดังเดิม นี่คือผลดีของการหยุดพูดในทางไม่ดีเท่านั้น แต่ถ้าเมื่อใดที่ครอบครัวรวมพลังกันสวดมนต์ ทำความดีทั้งพ่อแม่และลูก ผลคือ บ้านจะมีบรรยากาศที่อบอุ่น สงบ ร่มเย็น ส่งผลทั่วทั้งบ้าน ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตจะออกมาดี ถ้าปลูกดอกไม้จะสวยงามเป็นพิเศษ แล้วทำท่าจะบานได้หลายวันกว่าปกติ เป็นผลจากพลังเสียงสวดมนต์ของทุกคนในบ้านรวมกันนั้นเอง
ที่เคยบอกว่าเด็กและผู้ใหญ่ มีช่องว่างระหว่างวัย พ่อแม่อยากจะพูดคุยกับลูก ก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรดี แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คุยได้เสมอหน้ากัน คือ เรื่องธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าสามารถคุยกันได้หมด
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าคนที่มาวัดมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ล้วนมาได้ทั้งนั้น มาแล้วก็ดีทั้งครอบครัว พ่อแม่ก็สอนลูกได้ ชักชวนกันพูดคุยเรื่องธรรมะ จิตใจก็เบิกบาน ชวนมาสวดมนต์นั่งสมาธิด้วยกัน มีกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัว สามารถทำร่วมกันได้ แล้วถ้าบ้านไหนมีห้องพระ ก็ให้ถือโอกาสทำวัตรเย็นร่วมกัน ถือว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมความสุขภายในครอบครัว  ทำให้ครอบครัวอบอุ่น เกิดความสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้นด้วย

 

บทสวดมนต์ที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น
    สำหรับผู้เริ่มต้นสวดมนต์ ถ้าเป็นเด็กก็ให้เริ่มจากบทสวด  “ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ .... ” ซึ่งเป็นบทสวดที่ทุกคนสวดกันได้อยู่แล้ว เพราะต้องสวดที่หน้าเสาธงก่อนเข้าเรียนทุกเช้า แล้วสวดต่อด้วย “  นะโม ตัสสะ .... ”
    ถ้าขึ้นชั้นประถมศึกษาตอนปลาย อายุประมาณ 11-12 ขวบ ให้สวดบท อิติปิโส ภะคะวา ... ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีก็จบบท
    ถ้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาแล้วก็ให้สวดมนต์ทำวัตรเช้า วัตรเย็นให้ได้ ยิ่งใครเคยบวชเรียนสามเณรภาคฤดูร้อนก็ให้พยายามสวดจนคุ้นเหมือนกับการท่องสูตรคูณ ท่องอาขยาน ท่องบ่อยๆ เราก็จะชินไปเอง พอชินแล้วเราจะซึมเข้าไปในตัว อีกหน่อยเราก็จะสวดมนต์ได้ สบายๆ ถ้าสวดทุกวันไม่เกิน 1 เดือน ก็สามารถสวดได้คล่อง
    การสวดมนต์เป็นเรื่องที่ดี โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ออกมาแล้ว แล้วการสวดมนต์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถือว่าเป็นพลังงานด้านบวกที่เกิดขึ้นกับตัวเราด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า การสวดมนต์ก็เท่ากับเป็นการส่งความสุข ให้กับตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ
    นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะส่งความรัก ความปรารถนาดีให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย ตรงนี้ถือว่าเป็นอานิสงส์ที่ไม่มีประมาณเลยทีเดียว

-----------------------------------------------------------------------------

หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"

วางแผงจำหน่ายแล้วที่

ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name

ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ

Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html


    

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013082146644592 Mins