ความหมายของกสิณ

วันที่ 23 กค. พ.ศ.2558

 

ความหมายของกสิณ

            คำว่า กสิณ (สันสกฤตว่า กฤตฺสน ) ตามศัพท์แปลว่า ทั้งหมด หรือ ทั้งสิ้น6) หมายความว่า สัญลักษณ์แต่ละชนิดจะต้องถือว่าเป็นตัวแทนทั้งหมด ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมกับส่วนที่สอดคล้องกัน เมื่อกล่าวถึงในพระไตรปิฏก คำนี้จะมีความหมาย 3 ประการ คือ

1.มณฑลของกสิณ คือ วงกลมที่ใช้เป็นเครื่องหมาย

2.นิมิตของกสิณ คือ สัญญาณเครื่องหมาย หรือมโนภาพที่ได้รับจากการเพ่งเครื่องหมาย

3.ฌาน อันเป็นผลที่ได้รับจากนิมิตนั้น


 มณฑลกสิณ

           คำว่า มณฑล ตามศัพท์ หมายถึง วงกลม เป็นคำที่ใช้ในอรรถกถาทั้งหลาย หมายถึง เครื่องหมายแห่งกสิณ หรือสิ่งที่ทำขึ้น มณฑลของแผ่นดิน อาจเป็นเครื่องหมายตามธรรมชาติ หรือสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น ตามที่ปฏิบัติกันมาในประเทศศรีลังกา สิ่งนี้อาจเป็นกรอบซึ่งทำมาจาก ไม้ 4 ชิ้น ผูกติดกัน หรืออาจเป็นแผ่นกระดาน แผ่นหิน หรือ ที่ดินสักก้อนหนึ่งทำเหมือนนา ที่ได้ไถไว้แล้วก็ได้ 3 อย่างหลังนี้ โดยปกติจะแบ่งเป็นตอนๆ แต่ละตอน จะเป็นตัวอย่างกสิณ มณฑลกสิณ ที่เป็นหินบางอย่างจะพบที่บริเวณสิ่งปรักหักพังในเมืองอนุราธบุรี วิธีการเตรียมและการใช้มณฑลกสิณจะได้กล่าวในตอนที่ว่าด้วยเรื่องกสิณแต่ละอย่างต่อไป7)


อารมณ์และนิมิตของกสิณ

            คำว่า อารมณ์ โดยทั่วๆ ไป หมายถึงสิ่งที่จิตกำหนด เป็นคำที่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ใช้เรียกสิ่งใดก็ตามอยู่ในขอบข่ายของสมาธิ คำนี้ตรงกับคำว่า นิมิต ซึ่งตามศัพท์หมายถึงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายซึ่งใช้กับสมาธิอันเกิดจากอายตนะภายนอกร่างกาย (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์) กับอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ทั้ง 2 อย่าง ตามคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ นิมิตแบ่งออกเป็น 3 คือบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต

            อารมณ์ที่ได้รับเลือกและเพ่งเป็นกัมมัฏฐาน เรียกว่า บริกรรมนิมิต ซึ่งหมายถึง เครื่องหมายสำหรับการฝึกสมาธิในเบื้องต้น และเป็นสิ่งเดียวกับอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหมด 40 อย่าง ในการเจริญสมาธิโดยอาศัยกสิณ นิมิตก็คือเครื่องหมายหรือแผ่นกสิณซึ่งให้เป็นอารมณ์โดยอาศัยอายตนะภายนอก คือ รูปและสัมผัส

 

            หลังจากพิจารณากสิณ ก็จะเป็นบริกรรมนิมิต เป็นภาพในจิต เรียกว่า มโนภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจในความคิด และเป็นภาพจำลองของสิ่งนั้น พร้อมกับลักษณะทุกอย่างของสิ่งนั้น ซึ่งจะปรากฏชัดแจ้งประดุจเห็นด้วยตา ภาพที่เห็นนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต ซึ่งเป็นมโนภาพในเครื่องหมายนั้นๆ ซึ่งจะเห็นได้โดยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นิมิตชนิดนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น สัญลักษณ์ที่จะยึด เครื่องหมายสำหรับยึด ตามความหมาย คำว่า อุคคหะ ได้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราศึกษาหรือเรียนรู้ และในที่นี้หมายถึงการยึดภาพมาไว้ในจิต เพื่อให้ภาพนั้นอยู่ในจิตเหมือนสิ่งที่ท่องจำได้ หลังจากได้อุคคหนิมิตแล้ว ไม่จำเป็นต้องกลับไปเพ่งบริกรรมนิมิตอีก ต่อไป

            สมาธิขั้นต้นย่อมปลดเปลื้องภาพของรูป สี และสัดส่วนที่มีขอบเขตจำกัดหรือที่สร้าง ขึ้นมา ซึ่งเรียกว่ากสิณโทษ และย่อมเปลี่ยนภาพนั้นเป็นความรู้ซึ่งเป็นนามธรรมและเฉพาะ เจาะจง เพราะเกี่ยวข้องกับวัตถุเฉพาะอย่าง ภาพซึ่งเป็นความรู้นี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต คือ ภาพที่อยู่เบื้องหลังซึ่งไม่ปรากฏในอายตนะหรือไม่ปรากฏเป็นอินทรีย์ที่รับรู้ว่าเป็นวัตถุที่มีตัวตน แต่ภาพนี้สถิตอยู่ในจิตในฐานะเป็นเครื่องหมายแทนคุณภาพทั้งหมดหรือเป็นส่วนซึ่งจิตแสดงสัญลักษณ์ออกมา8)

 

------------------------------------------------------------------------

6) , 7) พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, สมาธิในพระพุทธศาสนา, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า 116-118.
8) พระ ดร. พี วชิรญาณมหาเถระ, สมาธิในพระพุทธศาสนา, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า 11.

จากหนังสือ DOUMD 306 สมาธิ 6

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0083795507748922 Mins