วิธีการเจริญกสิณ

วันที่ 23 กค. พ.ศ.2558

 

วิธีการเจริญกสิณ

ในการเจริญกสิณทั้ง 10 อย่าง มีวิธีการที่ในการทำมณฑลกสิณและการใช้กสิณแต่ละอย่างเป็นนิมิตในการทำสมาธิดังต่อไปนี้ปฐวีกสิณ (กสิณดิน)

ในการเจริญปฐวีกสิณ ผู้ปฏิบัติควรทราบวิธีการทำองค์กสิณสำหรับใช้เพ่งก่อน ซึ่งในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้แนะนำวิธีไว้ดังนี้

1. วิธีการเตรียมปฐวีกสิณ

ในการใช้ปฐวีกสิณ หรือกสิณดินนั้น ท่านกล่าวไว้ว่าสามารถเตรียมได้ 2 อย่าง คือ

1.1ถือเอานิมิตในกสิณดินที่ปรากฏตามธรรมชาติ

เป็นวิธีสำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติมาในอดีต เพียงได้เห็นดินที่เขาไถไว้ในนาข้าวหรือลานนวดข้าว ก็ย่อมใช้เป็นนิมิต และบรรลุฌานได้ในที่สุด

1.2ทำมณฑลกสิณดิน โดยมีวิธีการ ดังต่อไปนี้

ในการทำมณฑลกสิณดิน ท่านกล่าวไว้ว่า ให้เลือกดินที่ปราศจากโทษ 4 ประการคือ ดินที่ปะปนกับสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว แต่ให้เลือกดินสีอรุณหรือสีเหมือนพระอาทิตย์แรกขึ้น9) ในการทำกสิณ อย่าทำไว้กลางวัด หรือในที่มีคนสัญจรไปมา ให้ทำไว้ตรงที่เป็นเพิงหรือที่ที่อยู่ท้ายวัด โดยจะทำเป็นกสิณที่โยกย้ายได้ หรือที่ติดอยู่กับที่ก็ได้

 

วิธีทำมณฑลกสิณที่โยกย้ายได้

            วิธีการทำกสิณที่โยกย้ายได้ ให้นำเอาผืนผ้าเก่า หรือผืนหนังหรือผืนเสื่อลำแพน มาผูกขึงติดไม้ 4 อัน แล้วเอาดินที่มีความเหนียวพอประมาณ มีสีเหมือนพระอาทิตย์ที่เก็บเอาหญ้า กรวดทราย และสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในนั้นออกให้หมด ผสมกับน้ำ นวดจนดินหมดฝุ่นละออง แล้วนำมาทาเข้าที่ผืนผ้าหรือผืนหนังหรือผืนเสื่อลำแพนนั้น ทำให้มีลักษณะกลมขนาดเท่ากระด้งหรือปากขัน ในเวลาทำสมาธิ ให้เอาแผ่นกสิณปูลงที่พื้นแล้วเพ่งดู

 

วิธีการทำมณฑลกสิณที่อยู่กับที่

            วิธีการทำปฐวีกสิณที่อยู่กับที่ ให้นำเอาหลักหลายๆ อันมาตอกกับพื้นดินมีลักษณะคล้ายฝักบัว(คือตอกให้ข้างล่างสอบข้างบนผายโดยรอบสัณฐานดังฝักบัว) แล้วตรึงหลักเหล่านั้น ให้ติดกันด้วยเถาวัลย์แต่งเป็นโครงขึ้น ถ้าดินสีอรุณไม่พอ ให้ใช้ดินสีอื่นรองข้างล่างแล้วใช้ดิน สีอรุณทับข้างบน แล้วจึงแต่งกสิณให้มีสัณฐานกลมกว้างประมาณ 1 คืบ 4 นิ้ว แล้วทำให้เรียบเหมือนหน้ากลอง

2. วิธีนั่งเพ่งปฐวีกสิณ

ก่อนจะเจริญกัมมัฏฐานท่านกล่าวไว้ว่า ให้แสวงหาที่อยู่ที่เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิ เว้นจากที่ที่ไม่ควรเจริญกัมมัฏฐาน แล้วจึงตัดเครื่องกังวลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตัดเล็บ ปลงผมและหนวด ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อย และจัดข้าวของ เครื่องใช้สอยต่างๆ ให้เป็นระเบียบ ทานอาหารพอสบายท้อง ไปอาบน้ำ แล้วจึงหาที่สงบๆ แล้วจึงมานั่งในท่าขัดสมาธิ บนตั่งอันตั้งไว้เรียบร้อยแล้วมีเท้าสูงประมาณคืบ 4 นิ้ว (ประมาณ 30 เซนติเมตร) ซึ่งจัดไว้ ตรงจุดที่มีระยะห่างจากวงกสิณ 2 ศอกคืบ (ประมาณ 1 เมตร 25 เซนติเมตร) เพราะเมื่อ นั่งไกลกว่านั้นกสิณจะไม่ชัด ใกล้กว่านั้น กสิณโทษ10) จะปรากฏ มหาฎีกากล่าวไว้ว่า รอยอะไรเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนั่งห่างพอสมควรย่อมมองไม่เห็น แต่ถ้านั่งใกล้เพ่งดูเข้าจะเห็น เช่น รอยฝ่ามือ ซึ่งอาจหลงตาในเวลาแต่งกสิณ

ในการนั่งที่กำหนดความสูงของตั่งไว้ก็เพราะว่าถ้าผู้ปฏิบัตินั่งสูงไปจะต้องโน้มคอลงดู นานเข้าจะปวดคอ นั่งต่ำไปจะต้องคุกเข่าขึ้นดู นานเข้า เข่าจะปวด เมื่อจัดท่านั่งพร้อมแล้วทำจิต ให้ระลึกถึงโทษของกามคุณว่ากามเป็นสิ่งที่มีคุณความดีน้อย มีทุกข์มาก ให้โทษต่างๆ เปรียบดังงูมีพิษ เพราะเป็นของน่ากลัว จึงควรทำตนให้พ้นจากกามคุณอารมณ์ต่างๆ ตั้งจิตให้ยินดี ในฌาน ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและ พระอริยสาวกทั้งหลาย ก็ได้อาศัยการเพ่งกสิณปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์ แล้วจึงลืมตาดูดวงกสิณนั้น โดยอาการพอดี ไม่ลืมตาดูมากเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อยตา และดวงกสิณจะปรากฏชัดเกินไป อุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่ลืมตาแคบเกินไป เพราะจะทำให้ดวงกสิณไม่ชัด และจิตก็จะหดหู่ไปเสียด้วย อีกทั้งนิมิตแท้ก็จะไม่เกิดเช่นเดียวกัน เพราะเหตุนั้น จึงต้องลืมตาให้พอดี โดยให้ดูกสิณเหมือนการมองส่องกระจกดูใบหน้าของตนเอง โดยที่ไม่ต้องพิจารณาสี ไม่ต้องใส่ใจถึงลักษณะแห่งปฐวีนิมิตนั้น11) แต่ว่าจะทิ้งสีเสียก็ไม่ได้ นึกเสียว่าสีนั้นเป็นอันเดียวกับดินซึ่งเป็น ที่อาศัยของมัน แยกกันไม่ออก แล้วพิจารณาดินพร้อมกับสีที่อาศัยพร้อมๆ กัน แล้วพึงบริกรรมว่า ปฐวีๆ ๆ หรือ ดินๆ ๆ เป็นร้อยครั้งพันครั้ง เมื่อลืมตาดูดวงกสิณแล้วหน่อยหนึ่งก็หลับตาลง น้อมเอาดวงกสิณมาไว้ที่ศูนย์กลางกาย แล้วจึงลืมตาขึ้นดูอีก สลับกันไปจนติดแน่นเป็น อุคคหนิมิตที่ศูนย์กลางกาย คือ จะหลับตาหรือลืมตาก็เห็นดวงกสิณชัดเจนเท่ากันจนคล่องแคล่ว ปฏิภาคนิมิตก็จะเกิดขึ้นเป็นสภาพที่สะอาด ไม่ด่างพร้อยจะใสเป็นกระจกงามกว่าอุคคหนิมิต จิตจะตั้งมั่น นิวรณ์ 5 จะค่อยๆ สงบระงับ พากเพียรปฏิบัติต่อไปก็จะได้อัปปนาสมาธิ คือ ใจรวมหยุดสนิทจนตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ได้

 

            อนึ่งองค์กสิณที่ใช้เพ่งอยู่นี้ ผู้ปฏิบัติต้องให้ความเคารพนับถือให้เหมือนๆ กันกับความเคารพนับถือพระบรมสารีริกธาตุ แล้วต้องหมั่นดูแลรักษาให้สะอาด มิให้มีฝุ่นละอองมาแปดเปื้อน เหมือนกับการรักษาพระพุทธรูปฉะนั้น


 อาโปกสิณ (กสิณน้ำ)

            ในการเจริญสมาธิโดยใช้อาโปกสิณ ควรได้นิมิตคือน้ำ เป็นน้ำที่จัดทำขึ้นหรือน้ำตามธรรมชาติก็ได้ หากเป็นผู้ที่เคยปฏิบัติอาโปกสิณในชาติก่อนๆ เมื่อเพ่งน้ำที่ใดที่หนึ่ง เช่น ในสระ หรือในบ่อ ในแม่น้ำหรือในทะเล ก็สามารถทำให้เกิดอุคคหนิมิตได้โดยง่าย

            สำหรับการทำกสิณน้ำ ผู้ปฏิบัติควรหลีกเลี่ยงโทษแห่งกสิณ คือ อย่านำน้ำที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีขาวอย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้ทำกสิณ แต่ให้ทำกสิณโดยการนำผ้าขาวขึงกลางแจ้งรองน้ำฝนบริสุทธิ์มาใส่ภาชนะ เช่น ขัน ใส่เต็มขอบปากภาชนะ หรือถ้าไม่มีน้ำฝน ให้นำน้ำสะอาดอื่นมาใส่ให้เต็มขอบปากภาชนะ แล้วนำไปตั้งไว้ในที่สงบๆ ดังที่กล่าวไว้ในปฐวี    กสิณ

            ต่อจากนั้นให้นั่งขัดสมาธิคู้บังลังก์ ตั้งกายให้ตรงแล้วไม่ต้องใส่ใจสีของน้ำหรือลักษณะของน้ำ เพ่งดูน้ำนั้น บริกรรมภาวนาว่า อาโปๆ ๆ หรือ น้ำๆ ๆ หรือคำใดๆ ที่หมายถึงน้ำ จนเกิด อุคคหนิมิต ซึ่งอาจมีลักษณะเหมือนกระเพื่อมอยู่ หรือถ้าน้ำมีฟองก็จะปรากฏเช่นกับนิมิตนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตจะปรากฏเป็นสภาพที่นิ่ง เหมือนพัดแก้วมณีที่วางไว้กลางแจ้ง หรือเหมือนกระจกเงาที่ทำด้วยแก้วมณี ฉะนั้น ให้เพ่งนิมิตนี้ที่ศูนย์กลางกายตามลำดับ จนจิตรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” เช่นเดียวกับปฐวีกสิณ


 เตโชกสิณ (กสิณไฟ)

            กสิณไฟ คือ การเพ่งเปลวเพลิง ผู้ที่เคยปฏิบัติมาในชาติก่อนๆ อาจเพ่งเปลวไฟในเตา หรือกองไฟหรือที่ใดๆ จนได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตตามลำดับ สำหรับผู้ที่จะทำกสิณไฟ มีวิธีการทำดังนี้ คือ ต้องเตรียมการโดยก่อกองไฟ เอาไม้แห้งมาตัดเป็นท่อนๆ แล้วจุดไฟให้ลุกโพลง นำเสื่อลำแพนหรือแผ่นหนังมากั้นไว้หน้ากองไฟ เจาะช่องกลมโต ประมาณ 1 คืบ 4 นิ้ว แล้วนั่งเพ่งดูเปลวไฟ อย่าพิจารณาสีของเปลวไฟหรือเถ้าถ่านหรือควันไฟ แต่ให้กำหนดถึงความเป็นธาตุไฟ ขณะเพ่งเปลวไฟให้บริกรรมภาวนาว่า เตโชๆ ๆ หรือ ไฟๆ ๆ จนอุคคหนิมิตปรากฏขึ้นและได้ปฏิภาคนิมิต ตามลำดับ อุคคหนิมิตของเตโชกสิณจะปรากฏภาพเปลวไฟที่คุแต่อาจมีการพัดไหว ส่วนปฏิภาคนิมิตเปลวไฟจะนิ่ง มีสีใสสว่างหรือเป็นดวงนิ่งที่สว่างใส จนในที่สุดใจก็จะรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค”


 วาโยกสิณ ( กสิณลม )

            ผู้เจริญภาวนาด้วยกสิณลม พึงจับเอานิมิตด้วยการที่ได้เห็นหรือได้ถูกต้องลม โดยการเจริญกสิณลมได้ต้องอาศัยการมองดูยอดไม้ ใบไม้ที่ลมพัดเอนไป หรือกำหนดปลายผมที่ลมพัดให้ล้มลงหรือจะกำหนดตรงที่ลมพัดมาถูกต้องกายเรา เมื่อเห็นลมพัดใบไม้ ยอดไม้ หรือเห็นผมที่ถูกลมพัดอยู่ ก็ตั้งสติไว้ว่า ลมนี้ย่อมพัดถูก ณ ที่ตรงนั้น หรือตั้งสติไว้ตรงที่ที่ลมพัดเข้าทางช่องหน้าต่าง หรือทางช่องฝาแล้วมากระทบกาย พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่า วาโยๆ ๆ หรือ ลมๆ ๆ จนเกิดอุคคหนิมิต เป็นลักษณะไอน้ำ น้ำตก หรือควันที่ไหวหวั่น แต่เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตจะไม่หวั่นไหว จะมีสภาพเป็นกลุ่มกอง เป็นเกลียวที่แน่นิ่งใสสว่างหรือเป็นดวงนิ่งที่สว่างใส จนในที่สุดใจก็จะรวมตกศูนย์เข้าถึง ดวงปฐมมรรคŽ


นีลกสิณ (กสิณสีเขียว)

            คือ กสิณสีเขียว ผู้ที่มีวาสนาบารมีเคยเจริญกสิณนี้มาก่อน เมื่อเห็นสีเขียวของดอกไม้ ผ้า หรือวัตถุอื่นๆ ก็สามารถพินิจดูแล้วบริกรรมได้ทันที แต่ถ้าจะต้องทำองค์นีลกสิณ ต้องใช้ดอกไม้ ใบไม้ วัตถุใดๆ ก็ตามที่มีสีเขียว เช่น ดอกบัวเขียว แล้วนำมาใส่พานหรือขันให้เต็มภาชนะ โดยคัดเลือกเอาแต่กลีบดอกล้วนๆ โดยที่ไม่ให้มีเกสรหรือก้านปรากฏให้เห็นเลย หรือถ้าจะใช้ผ้า กระดาษ ก็ต้องใช้กระดาษสีเขียวมาตัดเป็นวงกลม กว้าง 1 คืบ 4 นิ้ว เอาสีเขียวมาทาบนแผ่นวงกลมให้เรียบร้อย ตัดขอบด้วยสีขาวหรือแดง เพื่อเน้นให้สีเขียวเด่นขึ้น หรือใช้ผ้าสีเขียวม้วนให้เป็นห่อแล้วบรรจุใส่ให้เต็มเสมอขอบปากแล้วผูกขึงที่ปากขอบของตะกร้าหรือพานให้ตึงเหมือนหน้ากลอง แล้วน้อมมาเป็นบริกรรมนิมิตที่ศูนย์กลางกาย พร้อมบริกรรมภาวนาว่า นีลํ นีลํ หรือว่าเขียว เขียว จนเกิดเป็นอุคคหนิมิต คือ ชัดเจนเหมือนกับลืมตาเห็น มีโทษแห่งกสิณยังปรากฏอยู่ คือ เกสรก้านและระหว่างกลีบเป็นต้นย่อมปรากฏ ส่วนปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นจะพ้นจากโทษแห่งกสิณ มีสภาพใสบริสุทธิ์สะอาด เหมือนแก้วมณีสีเขียว จนใจรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ต่อไป


 ปิตสิณ (กสิณสีเหลือง)

          ผู้มีบารมีอันสั่งสมไว้ในชาติปางก่อนเพียงได้เห็นดอกไม้ที่ดอกบานสะพรั่ง หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ในที่บูชา หรือเห็นผ้าสีเหลืองอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตได้ ส่วนผู้จะเจริญกสิณสีเหลืองควรจัดทำองค์กสิณเช่นเดียวกับกสิณสีเขียว คือ ให้ใช้ดอกไม้ ผ้า หรือกระดาษที่มีสีเหลือง เป็นต้น เป็นองค์กสิณ หากหาสีเหลืองไม่ได้ อนุโลมให้ใช้สีทองได้ แล้วบริกรรมภาวนาว่า ปีตํ ปีตํ หรือ ปีตกํ ปีตกํ หรือ เหลืองๆ ๆ จนเกิด อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต เหมือนแก้วมณีที่มีสีเหลืองตามลำดับ จนใจรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ต่อไป


โลหิตกสิณ (กสิณสีแดง)

            ผู้มีบารมีที่ได้สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน เพียงได้เห็นกอไม้ ดอกไม้สีแดงซึ่งกำลังบาน สะพรั่งก็สามารถสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตได้ ส่วนผู้จะจัดทำองค์กสิณสีแดง ก็ใช้วิธีการคล้ายคลึงกันกับการทำนีลกสิณและปีตกสิณ โดยให้นำดอกไม้สีแดง เช่น ดอกชบา ดอกชัยพฤกษ์ หรือเอากระดาษสีแดงมาทำเป็นดวงกสิณ อนุโลมให้ใช้สีชมพู สีแสดได้ แล้วบริกรรมภาวนาว่า โลหิตกํ โลหิตกํ หรือ แดงๆ ๆ จนเกิดอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตเหมือนแก้วมณีสีแดง ตามลำดับ จนใจรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ต่อไป


โอทาตกสิณ (กสิณสีขาว)

            ผู้มีบารมีที่ได้สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน เพียงได้เห็นดอกไม้สีขาว ดอกบัวขาว ผ้าขาว เป็นต้น ก็สามารถสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต สำหรับผู้จะจัดทำองค์กสิณสีขาว การจัดทำองค์กสิณนี้ก็คล้ายคลึงกันกับนีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ คือ เอาดอกไม้สีขาว ผ้าสีขาว หรือสีขาวธรรมชาติมาทำเป็นดวงกสิณ และอนุโลมให้ใช้สีไข่ไก่ ฟ้าอ่อน เทาอ่อนได้ แล้วบริกรรมว่า โอทาตํ โอทาตํ หรือ ขาวๆ ๆ จนเกิดอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตเป็นแก้วมณีสีขาวใส ตามลำดับ แล้วใจก็จะตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ต่อไป


อาโลกกสิณ (กสิณแสงสว่าง)

            ผู้มีบารมีที่ได้สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน เพียงได้เห็นแสงสว่าง ที่ฝาบ้าน ที่ช่องหน้าต่าง หรือ จะเห็นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หรือดวงไฟ เป็นต้น ก็สามารถสำเร็จอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต แต่เมื่อไม่อาจเพ่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงไฟต่างๆ โดยตรง ก็ต้องทำองค์กสิณ โดยเจาะฝาเรือนหรือหลังคาบ้าน ให้แสงสว่างลอดเข้ามาปรากฏที่ฝาหรือพื้นเรือน หรือจุดตะเกียง หรือเปิดไฟไว้ เอาม่านกั้นให้มิดชิด เจาะรูม่านให้แสงลอดออกมาเป็นดวงที่ฝา แล้วเพ่งดูแสงสว่างนั้น บริกรรมภาวนาว่า โอภาโส โอภาโส (แสงๆ ๆ) หรือ อาโลโก อาโลโก (สว่างๆ ๆ) จนอุคคหนิมิตเกิดขึ้นเป็นแสงสว่างไม่ต่างจากบริกรรมนิมิต ส่วนปฏิภาคนิมิต แสงสว่างจะเป็นกลุ่มก้อน มีสีขาวสว่างรุ่งโรจน์กว่าอุคคหนิมิตหลายเท่า จนใจรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ต่อไป


 อากาสกสิณ หรือ ปริจฉินนากาสกสิณ (กสิณที่ว่างหรืออากาศ)

            ผู้มีบารมีที่ได้สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน เพียงได้เห็นที่ว่างๆ เช่น รูฝา ช่องหน้าต่าง เป็นต้น ก็สามารถทำให้อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้เจริญอากาสกสิณ ให้ทำองค์กสิณโดยเจาะฝาเรือนที่มิดชิดหรือ เจาะหลังคาให้เป็นช่องกว้างประมาณ 1 คืบ 4 นิ้ว เพ่งดูอากาศที่ปรากฏตามช่องนั้นๆ แล้ว บริกรรมว่า อากาโสๆ ๆ หรือ ที่ว่าง ที่ว่าง เกิดอุคคหนิมิตเห็นอากาศที่ปรากฏตามช่อง มีขอบเขตเหมือนกับบริกรรมนิมิตทุกประการ จะขยายก็ขยายไม่ได้ ต่อเมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วจะปรากฏแต่อากาศอย่างเดียว ไม่ปรากฏขอบเขตทั้งยังสามารถขยายขอบเขตให้กว้างใหญ่เพียงไรก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วใจก็จะรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ต่อไป

 

 

------------------------------------------------------------------------

9) วิธีการทำกสิณแบบนี้เกิดในประเทศลังกา ซึ่งในที่แห่งนั้นมีดินที่มีลักษณะสีแดง เช่น ดินที่แม่น้ำคงคาจึงแนะนำให่ใช้ดินสีแดง.
10) กสิณโทษ คือ รอยอะไรต่างๆ เช่น รอยนิ้ว รอยฝ่ามือ.
11) มหาฎีกาว่า คนที่ดูเงาหน้าของตนในแว่น(กระจก) นั้นย่อมไม่เหลือกตา ไม่หรี่ตา ไม่พิจารณาสีของแว่นทั้งไม้ได้ใส่ใจถึงลักษณะของแว่นด้วย แต่ใช้ตามองดูพอดี เห็นแต่เงาหน้าของตนเองเท่านั้น ฉันใด พระโยคาวจรนี้ก็ ฉันนั้นเพ่งดูปฐวีกสิณด้วยการอาการพอดี ขวนขวายแต่ถือเอานิมิตเท่านั้น ไม่พะวงถึงสีและลักษณะ คำว่าลักษณะ ท่านหมายเอาลักษณะของปฐวีธาตุ คือ ความแค่นแข็ง.

จากหนังสือ DOUMD 306 สมาธิ 6

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012467503547668 Mins