วิธีเจริญจาคานุสติ

วันที่ 27 กค. พ.ศ.2558

 

วิธีเจริญจาคานุสติ

            จาคานุสติ คือ การระลึกถึงการบริจาค การสละของตนที่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ โดยไม่โอ้อวด ไม่ตระหนี่ ไม่เอาหน้าหรือหวังชื่อเสียง เล็งเห็นคุณของการบริจาค

ในการเจริญจาคานุสติ ผู้บริจาคทานต้องถึงพร้อมด้วยคุณความดี 3 ประการ คือ

1.วัตถุที่บริจาคทานเป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบ

2.บริบูรณ์ด้วยเจตนา 3 คือมีจิตที่ตั้งไว้ดีเป็นกุศลตั้งแต่ก่อนบริจาค ขณะบริจาคและเมื่อบริจาคแล้ว

3.เป็นการบริจาคให้พ้นจากความตระหนี่และตัณหามานะทิฐิ

 

            เมื่อการบริจาคทานของตนถึงพร้อมด้วยคุณความดีดังนี้แล้ว ก็มาคำนึงถึงความเป็นอยู่ของโลกเทียบกับความเป็นอยู่ของตนว่า ตามธรรมดาชนทั้งหลายนั้น โดยมากมักมีความตระหนี่ หวงแหนในทรัพย์สินเงินทองของตน ไม่ใคร่จะยอมบริจาคให้เป็นทาน แต่กลับสนใจอยู่ในเรื่องการบำรุงบำเรอ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ กล่าวคือ มีการตกแต่งร่างกายเกินกว่าเหตุ มีอาหารการบริโภคเกินสมควร สนุกสนานเพลิดเพลิน โอ้อวดซึ่งกันและกันซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่หาสาระไม่ได้ทั้งสิ้น

            แต่สำหรับเราในคราวนี้นั้น ย่อมมีโอกาสได้ชัยชนะต่อศัตรูภายใน คือ ความตระหนี่ หวงแหนในทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ ด้วยการยอมลดละจากการบำรุงบำเรอ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ มีการตกแต่งร่างกายเกินควร เป็นต้นเสียได้ ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของเราอย่างแท้จริง แต่นี้ต่อไปในภายภาคหน้าเราก็จะได้รับแต่อานิสงส์ที่ดีงาม มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ประกอบไปด้วยโสมนัสอย่างยอดยิ่ง การคำนึงนึกถึงอย่างนี้แหละได้ชื่อว่า จาคานุสติ ต่อแต่นั้นก็เริ่มต้นภาวนาว่า

 

มนุสฺสตฺตํ สุลทฺธํ เม ยฺวาหํ จาเค สทา รโต มจฺเฉรปริยุฏฺฐาย ปชาย วิคโต ตโต ฯ

 

            ชนทั้งหลายมีมัจฉริยะ ก่อกวนกำเริบด้วยการหวงแหนอยู่ แต่เรานั้นมีความยินดี ปลื้มใจ อยู่แต่ในการบริจาคทาน โดยปราศจากมัจฉริยะลงได้ การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ดีจริงหนอ

            เมื่อบริจาคแล้วต้องสละให้หลุด บางคนบริจาคทานไปแล้ว ไม่พอใจที่ผู้รับไม่ใช้ของที่ตนบริจาค หรือไม่พอใจที่ผู้รับนำของนั้นไปให้ผู้อื่นต่อ เรียกว่า สละแล้วไม่พ้น สละไม่หลุดหรือบางคนบริจาคทานแล้วไม่พอใจเพราะมีคนบริจาคมากกว่าตน หรือบริจาคทานที่ประณีตกว่าตน การบริจาคในลักษณะดังกล่าวและบริจาคโดยหวังผลตอบแทน เช่น หวังโภคสมบัติ หวังสวรรค์สมบัติ ไม่จัดเป็นจาคานุสติ เพราะเมื่อระลึกขึ้นมาก็เป็นการค้า ไม่เป็นการชำระจิต การบริจาคทานหรือทานบารมีเป็นปัจจัยอุปการะแก่บารมีอื่น เช่น ศีลบารมี ทานบารมีเป็นการชำระจิตในเบื้องต้น การสละมีตั้งแต่สละวัตถุสิ่งของ อวัยวะ เลือดเนื้อ ชีวิต ดังพระเวสสันดรเป็นแบบอย่าง

 

            สำหรับบรรพชิตการบริจาคเป็นข้อปฏิบัติในสาราณียธรรม บรรพชิตรูปใดได้ประพฤติปฏิบัติวัตรนี้ ย่อมทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือและสามัคคีพร้อมเพรียงกัน สาราณียธรรมมีหลักปฏิบัติ 7 อย่างคือ 1-3 ตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร 4 แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม 5 รักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอเหมือนกับเพื่อนภิกษุสามเณร 6 มีความเห็นเข้ากันได้กับเพื่อนภิกษุสามเณร (ทิฏฐิสามัญญตา) ถ้าบรรพชิต ได้เจริญจาคานุสติกัมมัฏฐานควบคู่ไปด้วย จะทำให้การปฏิบัติสาราณียธรรมดำเนินไปด้วยดี เพราะการปฏิบัติสาราณียธรรมต้องให้ทานทุกวัน ตลอดระยะเวลาถึง 12 ปี

            การปฏิบัติสาราณียธรรม จะต้องเลือกสถานที่และบุคคลในหมู่คณะให้เหมาะสมกับ ผู้ปฏิบัติ เช่น สถานที่เป็นที่ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำนวนมาก และล้วนแต่เป็นผู้มีศีลและสิกขาบท ตลอดจนคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระด้วยกันทั้งสิ้น ก่อนลงมือปฏิบัติให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะทำตามหลักของสาราณียธรรมที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ตลอดครบระยะเวลา 12 ปี อธิษฐานเสร็จแล้ว แจ้งให้เพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลายทราบทั่วถึงกันว่า จะปฏิบัติสาราณียธรรม

 

            ในหลักปฏิบัติสาราณียธรรมข้อ 4 เกี่ยวข้องกับการทำให้การเจริญจาคานุสติกัมมัฏฐาน ของบรรพชิตเป็นไปด้วยดี ในการปฏิบัติสาราณียธรรมข้อนี้พระภิกษุผู้ปฏิบัติจะต้องนำอาหารที่ไปรับบิณฑบาตได้มา ไปถวายพระภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าเพื่อนก่อน ถวายลดหลั่นกันลงมาตามอายุพรรษา ถ้าจะถวายพระภิกษุอื่นก่อน ต้องเป็นภิกษุประเภทใดประเภทหนึ่งใน 5 อย่าง คือ

1.ภิกษุสามเณรที่อาพาธ

2.ภิกษุสามเณรที่เป็นผู้รักษาพยาบาล

3.ภิกษุสามเณรที่เป็นอาคันตุกะ

4.ภิกษุสามเณรที่เป็นคัมมิกะ คือ มีธุระที่จะต้องรีบไปทำ

5. ภิกษุสามเณรบวชใหม่ที่ยังครองจีวร อุ้มบาตรไม่เป็น

 

            ในขณะถวาย ผู้ปฏิบัติจะแบ่งถวายไม่ได้ ต้องยกถวายทั้งบาตร แล้วแต่ผู้รับจะตักเอาเพียงใด หากหมดลง ไม่มีเหลือให้ตนเองบริโภค และยังมีเวลาเหลืออยู่ ก็รับไปบิณฑบาตใหม่ แล้วนำกลับมาถวายตามลำดับพรรษาอีก ทำอย่างนี้จนกว่าจะหมดผู้รับ ถ้าเวลาหมดลงเสียก่อนและอาหารก็หมด ผู้ปฏิบัติต้องยอมอดอาหารในวันนั้น แต่มีข้อสำคัญละเลยไม่ได้เด็ดขาดอยู่ประการหนึ่ง คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ถือโทษโกรธผู้รับเป็นอันขาด หากเกิดความโกรธขึ้นมาเมื่อใด แม้จะปฏิบัติด้วยดีจนถึงวันสุดท้ายครบ 12 ปี ก็ย่อมถือว่าการปฏิบัตินั้นไม่สำเร็จ ต้องเริ่มต้นใหม่ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น จึงควรตั้งสติระลึกถึงการบริจาคไว้ให้มั่น ย่อมทำให้จิตใจผ่องใสได้

 

------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015226006507874 Mins