การเจริญอานาปานสติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2558

 

 การเจริญอานาปานสติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

            การเจริญอานาปานสติหากจะให้จิตสงบถึงระดับอัปปนาสมาธิ ต้องหาสถานที่ที่สงบสงัด เช่น เรือนว่าง ในถ้ำ โคนต้นไม้หรือในป่าที่ไม่มีผู้ใดหรือเสียงรบกวน แม้แต่เสียงเพลง เสียงอึกทึกอื่นๆ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะเสียงเป็นปฏิปักษ์ต่อฌาน เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้วให้นั่งคู้บัลลังก์หรือนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง อย่าค้อมมาข้างหน้าหรือแอ่นไปข้างหลัง ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ปลายนิ้วชี้ข้างขวาจรดปลายนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย การนั่งในท่านี้ มีผลดี คือ ทำให้ตัวตรง เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลมหายใจเดินสะดวก นั่งได้นาน สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิได้ จะนั่งห้อยเท้าหรือนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ ให้เลือกเอาอิริยาบถที่นั่งได้สบายพอดี ผ่อนคลาย ไม่ฝืนเกินไป และเป็นท่านั่งที่ทำให้นั่งได้นาน เมื่อนั่งไปเรียบร้อยแล้ว ให้หลับตาลงเบาๆ อย่าเกร็ง หายใจยาวๆ ลึกๆ ช้าๆ ที่เรียกว่าหายใจให้เต็มปอด ให้จิตใจโปร่งสบาย คอยกำหนดลมหายใจเข้าออกให้รู้ชัด รู้สึกตัวตลอด อย่าหลงลืมหรือเผลอสติ เมื่อหายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจเข้าออกสั้น ก็ให้รู้ว่าหายใจเข้าออกสั้น หายใจเข้าออกยาวก็ให้รู้ว่าหายใจเข้าออกยาว การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ให้นับไปด้วย จะได้ไม่เผลอสติหรือลืมกำหนด โดยขั้นตอนการ กำหนดลมหายใจมีอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้

 

วิธีมนสิการ 4 ขั้นตอน

1.คณนา การนับ

2.อนุพนฺธนา การติดตาม

3.ผุสนา การถูกต้อง

4.ฐปนา การตั้งจิตมั่น

           ก. คณนานัย คือ การนับ ในช่วงแรกของการทำความเพียร ควรเริ่มต้นด้วยการนับก่อน เวลานับก็ไม่พึงนับให้ต่ำกว่า 5 และไม่พึงนับให้เกิน 10 และไม่ควรนับให้ขาดช่วงควรนับให้ต่อเนื่องกันไป เพราะถ้านับต่ำกว่า 5 จิตจะดิ้นรนเนื่องจากอยู่ในช่วงอันคับแคบ เหมือนโคที่ถูกขังอยู่ในคอกแคบๆ ดิ้นรนอยู่อย่างนั้น ถ้านับเกิน 10 ขึ้นไปจิตก็จะคอยพะวงอยู่กับการนับ และถ้านับขาดช่วงไม่นับให้ต่อเนื่อง จิตก็จะหวั่นไหวไปว่ากัมมัฏฐานของเราจะถึงที่สุดหรือไม่หนอ เพราะฉะนั้นจึงควรเว้นจากการนับที่เป็นโทษเหล่านี้เสีย ในการนับนั้น แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ

 

            1.ช่วงแรกให้นับช้าๆ เหมือนคนตวงข้าวเปลือก (ธัญญมาปกคณนานัย) คนตวงข้าวเปลือกในสมัยโบราณเมื่อตักข้าวเต็มทะนานแล้วก็จะขานว่า หนึ่ง แล้วจึงเทลงไป เมื่อตักอีกเห็นหยากเยื่อสิ่งใด ก็จะหยิบออก แล้วจึงนับขานว่า หนึ่ง หนึ่ง ในคำว่า สอง สอง ก็ทำนองเดียวกัน ผู้เริ่มทำความเพียรก็เช่นเดียวกัน พึงกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่ปรากฏอยู่ แล้วกำหนดนับลมที่เข้าออกอยู่นั้น โดยเริ่มต้นนับจาก หนึ่ง หนึ่ง จนถึง สิบ สิบ อย่างนั้นเหมือนกัน ซึ่งในการนับมีวิธีการนับเป็นคู่ คือ ลมออกนับ 1 ลมเข้านับ 1 ลมออกนับ 2 ลมเข้านับ 2 ลมออกนับ 3 ลมเข้านับ 3 ให้นับเช่นนี้ จนถึง 5,5 แล้วตั้งต้นใหม่จนถึง 6,6 ย้อนนับตั้งต้นใหม่ถึง 7,7จนถึง 10,10 แล้วย้อนมาที่ 5,5ใหม่ ดังนี้

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8 9,9

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5 6,6 7,7 8,8 9,9 10,10

1,1 2,2 3,3 4,4 5,5

 

            2.ช่วงหลังให้นับเร็วขึ้น เหมือนการนับของคนเลี้ยงโค (โคปาลกคณนานัย) ธรรมดาคนเลี้ยงโคที่ฉลาด จะเตรียมก้อนกรวดใส่ไว้ในพก เดินไปที่คอกวัวแต่เช้า แล้วเปิดประตูคอกให้วัวออกมา เมื่อวัวเดินผ่านประตูก็จะโยนก้อนกรวดไปด้วยพร้อมกับนับว่า 1,2 ถ้าหากวัวเดินออกจากคอกเร็ว เนื่องจากลำบากเพราะอยู่ในคอกที่แคบทั้งคืน ก็จะนับเร็วไปด้วยว่า 3, 4, 5-10 นักปฏิบัติก็เช่นเดียวกันช่วงหลังเมื่อลมชัดเจนแล้ว เห็นลมหายใจเข้าออกถี่ขึ้น ก็ให้เปลี่ยนมานับเร็วขึ้นตามลมหายใจ ไม่ต้องเอาสติตามลมหายใจเข้าออก ให้เอาสติกำหนดเอาเฉพาะการกระทบของลมที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากบนสำหรับผู้ที่มีริมฝีปากบนยื่น แล้วแต่ว่าชัดเจนที่ตรงไหนก็ให้กำหนดที่ตรงนั้น ในการนับไม่ต้องนับเป็นคู่เหมือนตอนต้นแต่ให้นับเร็วๆ โดยให้ นับ 1 ถึง 5 แล้วเพิ่ม 1 ถึง 6 จน 1 ถึง 10 และย้อนกลับมา 1 ถึง 5 ใหม่ จนสติแน่วแน่

1, 2, 3, 4, 5,

1, 2, 3, 4, 5, 6,

1, 2, 3, 4, 5, 6, 7,

1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8,

1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9,

1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10,

1, 2, 3, 4, 5,

 

           ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่ากัมมัฏฐานที่เนื่องด้วยการนับจิตจะมีความแน่วแน่ได้ก็ด้วยกำลังของการนับเท่านั้น เหมือนการทำให้เรือที่อยู่ในกระแสน้ำเชี่ยวหยุดได้ ก็เนื่องด้วยอำนาจของการเอาถ่อมาปักค้ำไว้อย่างนั้น เมื่อนับไปเร็วๆ อย่างนั้น กัมมัฏฐานก็จะมีความต่อเนื่องไม่ปรากฎว่ามีอะไรมาคั่น เมื่อทราบอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่ต้องกำหนดลมที่เข้าไปภายในและออกมาภายนอก เพราะว่าเมื่อให้จิตตามไปพร้อมกับลมเข้าออกจิตจะกระสับกระส่ายดิ้นรน ในขั้นนี้จึงเพียงกำหนดนับไปเร็วๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

            ข. อนุพันธนานัย คือ การติดตาม การกำหนดรู้ตามลมเข้าและลมออกทุกๆ ขณะ โดยไม่พลั้งเผลอ ทุกระยะที่หายใจเข้าออก ก็รู้ว่าลมหายใจเข้าหรือออกนั้น สั้นหรือยาว การเลิกนับ แล้วส่งสติไปตามลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่องไม่มีระหว่างคั่น ชื่อว่า การติดตาม ในการติดตามลมหายใจมีสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่ คือ ไม่ควรติดตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของลมหายใจเข้าออก สำหรับลมหายใจเข้า ต้นลมอยู่ที่ปลายจมูก กลางลมอยู่ที่หัวใจ ปลายลมอยู่ที่กลางท้อง ส่วนลมหายใจออก ต้นลมอยู่ที่กลางท้อง กลางลมอยู่ที่หัวใจ ปลายลมอยู่ที่ปลายจมูก เพราะถ้าหากตามลมไปอย่างนั้นจิตจะฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย ดังนั้นผู้เริ่มทำความเพียร เมื่อกระทำโดยวิธีติดตาม ไม่ควรติดตามไปในต้นลม กลางลม และปลายลม แต่ให้กำหนดจดจ่ออยู่เพียงจุดกระทบของลมที่ปลายจมูกหรือริมฝีปาก (ผุสนาและฐปนา) ดังอุปมาด้วย คนง่อย คนเฝ้าประตู และคนเลื่อยไม้

 

            1.อุปมาด้วยคนง่อย คนง่อยซึ่งกำลังโล้ชิงช้าให้แก่มารดาและลูกชายอยู่ เมื่อนั่งอยู่ที่โคนเสาชิงช้านั้น ย่อมเห็นที่สุดของทั้งสองข้าง และท่ามกลางของแผ่นกระดานชิงช้า ที่กำลังแกว่งไปมาอยู่ แต่ก็ไม่ได้ขวนขวายในการแลดูที่สุดทั้งสอง และท่ามกลางฉันใด ผู้ปฏิบัติ เมื่อกำหนดดูลมหายใจ ก็ไม่ได้ส่งสติติดตาม เพียงแต่ตั้งจิตไว้ตรงจุดที่ลมกระทบเท่านั้น ก็สามารถรู้ถึงเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของลมหายใจเข้าออกได้ในขณะที่มันเข้าออกอยู่ตามปกตินั้น โดยที่ไม่ได้ขวนขวายแลดูลมเหล่านั้นแต่อย่างใด

            2.อุปมาด้วยคนเฝ้าประตูเมือง ธรรมดาคนที่เฝ้าประตู จะไม่ตรวจตราแลดูพวกคนในเมืองและนอกเมือง จะไม่คอยถามว่า ท่านเป็นใคร มาจากไหน หรือจะไปไหน เพราะคนเหล่านั้นไม่ใช่ภาระหน้าที่ของเขา เขาจะตรวจตราแลดูเฉพาะคนที่มาถึงประตูเมืองเท่านั้น ฉันใด ผู้ปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ลมที่เข้ามาข้างในและลมที่ออกมาภายนอก ไม่ใช่ภาระหน้าที่ มีหน้าที่เพียงกำหนดลมที่ปากช่องจมูกเท่านั้น

 

            3.อุปมาด้วยชายเลื่อยไม้ ชายคนหนึ่งนำเลื่อยมาเลื่อยไม้ สติของเขาจดจ่ออยู่กับฟันเลื่อยที่ถูกไม้ ไม่ได้ใส่ใจถึงการเดินหน้าและถอยหลังของเลื่อย แต่ก็รับรู้ถึงฟันเลื่อยที่ชักมาและชักไป ผู้ปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ตั้งสติกำหนดไว้ที่ปากช่องจมูกหรือริมฝีปากตรงจุดที่ลมกระทบ ไม่ได้ใส่ใจถึงลมที่เข้ามาและออกไป แต่จะไม่รู้ถึงลมที่เข้ามาและออกไปก็หาไม่ ความเพียรก็ปรากฏ คือ คือทั้งกายและใจของผู้ทำความเพียร ย่อมเป็นของควรแก่การงาน ความพยายามของเขาก็สำเร็จดังตั้งใจ ทั้งเขาก็ได้บรรลุคุณวิเศษด้วย

 

            ค. ผุสนานัย คือ การกระทบ เมื่อสติอยู่กับลมหายใจแล้ว ไม่ต้องนับอีก แต่ให้ดูการกระทบต่อจุดกระทบคือ ปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ไม่ต้องตามลมเข้าลมออก จดจ่ออยู่เพียงจุดกระทบของลม เมื่อลมหายใจละเอียดเข้าๆ ความกระวนกระวาย ความเครียดก็สงบลงไปจิตจะเบา กายก็เบา จนบางคนรู้สึกว่าตัวลอยอยู่บนอากาศ ที่เป็นอย่างนั้นก็เหมือนกับคนมีร่างกาย กระสับกระส่ายที่นั่งอยู่บนเตียงหรือตั่ง เตียงหรือตั่งย่อมโยกย่อมลั่น เครื่องปูลาดย่อมยับ เนื่องมาจากกายที่กระสับกระส่ายนั้น ตรงกันข้ามคนที่มีร่างกายไม่กระสับกระส่าย นั่งอยู่บนเตียงหรือตั่ง เตียงหรือตั่งก็ไม่โยกไม่ลั่น เครื่องปูลาดก็ไม่ยับ เพราะกายที่ไม่กระสับกระส่ายเป็นกายที่เบา ฉันใด เมื่อลมหายใจละเอียดมากขึ้น ความกระวนกระวายทางกายก็สงบไป จึงมีความรู้สึกว่ากายเบาเหมือนลอยอยู่บนอากาศ

 

            ง. ฐปนานัย คือ ลมหยุด ขั้นนี้ใจรวม ลมหายใจเริ่มหยุด เมื่อปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ ลมก็จะยิ่งละเอียดขึ้นๆ ๆ จนเหมือนลมหายไป ไม่รู้สึกถึงลมกระทบเลย ผู้ปฏิบัติบางคนหวาดกลัว เลยเลิกปฏิบัติเสียกลางคัน เมื่อรู้สึกว่าลมเบาจนหายไป ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ให้ทราบว่า ผู้ที่ไม่มีลมหายใจมี 7 จำพวก คือ เด็กในครรถ์ คนที่ดำอยู่ในน้ำ ผู้เข้ารูปฌาน 4 คนตาย ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ รูปพรหมและอรูปพรหม ดังนี้แล้ว ให้เตือนตัวเองว่าเรายังไม่ตาย เรายังไม่ใช่บุคคลเหล่านั้น ฉะนั้นลมหายใจของเรายังมีอยู่อย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะใจของเราเริ่มเป็นสมาธิ หยุดนิ่ง ตั้งมั่น ลมหายใจจึงละเอียดมากจนรู้สึกเหมือนว่าไม่มีลมหายใจ ให้ทำใจนิ่งๆ เฉยๆ ต่อไป แล้ววางใจ ณ จุดที่สุดของลมหายใจภายในตัวคือ ที่ศูนย์กลางกายเรื่อยไปโดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น การนับย่อมระงับวิจิกิจฉา ทำให้ละวิจิกิจฉา การติดตามย่อมระงับวิตกที่หยาบและทำให้ อานาปานสติเกิดขึ้นไม่ขาดตอน การกระทบย่อมกำจัดความฟุ้งซ่าน และทำสัญญาให้มั่นคง ผู้ปฏิบัติย่อมบรรลุคุณวิเศษยิ่งขึ้นไป เพราะอาศัยความสุข

-----------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011382516225179 Mins