นิมิตของอานาปานสติ

วันที่ 01 สค. พ.ศ.2558

 

นิมิตของอานาปานสติ

            การเจริญอานาปานสติมีนิมิต 3 อย่าง คือ “    บริกรรมนิมิต” ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก “    คคหนิมิต” คือ บางท่านลมหายใจเข้าออกปรากฏดังปุยนุ่น ปุยสำลีและดุจลมฝน ดุจสายน้ำบ้าง เปลวควันบ้าง บางท่านปรากฏเป็นเหมือนดวงดาว เหมือนพวงแก้วมณี พวงแก้วมุกดา บางท่านปรากฏเป็นเหมือนเมล็ดข้าวและเหมือนเสี้ยนไม้แก่น บางท่านปรากฏเป็นเหมือนสายสังวาลที่ยาว เหมือนพวงดอกไม้และเหมือนเปลวควัน บางท่านเหมือนไยแมงมุมที่ขึงไว้ เหมือนแผ่นเมฆ เหมือนดอกบัว ดังนี้เป็นต้น “    ปฏิภาคนิมิต” คือ ลมหายใจเข้าออกที่ปรากฏเป็นเหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงแก้วมณี เป็นต้น เมื่อปฏิบัติจนได้ปฏิภาคนิมิต ให้เอาสติมาตั้งไว้ที่ปฏิภาคนิมิต แล้วน้อมมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย จนใจรวมตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ที่แท้จริงได้ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ในขณะที่มีบริกรรมนิมิตและอุคคหนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์อยู่ สมาธินั้นเรียกว่า “    ขณิกสมาธ” การกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์เรียกว่า “    อุปจารสมาธิ” การกำหนดลมหายใจเข้าออกที่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์จนเกิด “    ดวงปฐมมรรค” เรียกว่า “    อัปปนาสมาธิ” การรักษาปฏิภาคนิมิต ต้องละสิ่ง ที่เป็นอสัปปายะที่จะมารบกวนการปฏิบัติ และให้ถือเอาสัปปายะ สิ่งที่เป็นสัปปายะหรือเป็น ที่สบายมี 7 ประการ คือ

1.อาวาส ที่อยู่เป็นที่สบาย

2.โคจร ที่บิณฑบาต หรือแหล่งอาหารไม่อดอยาก

3.ภัสสะ พูดคุยแต่เรื่องที่เสริมการปฏิบัติ

4.บุคคล ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วทำให้จิตใจผ่องใสมั่นคง

5.โภชนะ อาหาร ให้พอเหมาะ และถูกกับธาตุขันธ์

6.อุตุ สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิเหมาะกับร่างกาย

7.อิริยาบถ อิริยาบถเป็นที่สบาย

 

           ส่วนอสัปปายะ 7 ประการ คือ สิ่งที่เป็นที่ไม่สบายมี 7 ประการ ตรงข้ามกับสัปปายะ เช่น อาวาสหรือที่พักที่อยู่ไม่สบาย หรืออุตุไม่สัปปายะ คือ อากาศไม่สบายแก่ผู้ปฏิบัติ เช่น ร้อนเกินไป หรือหนาวเกินไป เป็นต้น และควรจะปฏิบัติใน อัปปนาโกศล 10 คือ

1.ทำความสะอาดเครื่องนุ่มห่ม เครื่องใช้สอย ที่อยู่ และชำระร่างกายให้สะอาด

2.ต้องเข้าใจในการกำหนดลมหายใจ

3.ต้องข่มจิตในคราวที่จิตมีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

4.ต้องยกจิตในคราวที่จิตง่วงเหงา หรือ เกียจคร้านในการเจริญภาวนา

5.ทำจิตที่เหี่ยวแห้งให้เบิกบานปีติโสมนัส

6.วางเฉยต่อจิตที่กำลังดำเนินงานสม่ำเสมออยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐาน

7.เว้นการคลุกคลีกับคนที่ไม่มีสมาธิ

8.คบหาแต่กับบุคคลที่มีสมาธิ

9.อบรมอินทรีย์ 5 (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)

10.มีจิตน้อมที่จะได้อัปปนาฌาน

            หากปฏิบัติตามนี้ ปฏิภาคนิมิตก็จะไม่เสื่อมหายไปและได้รูปฌานตามลำดับ แต่การจะได้อัปปนาฌาน พึงทราบด้วยว่าลมเข้าลมออกและนิมิต เป็นอารมณ์ของจิตคนละดวง คนละอัน ไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงเดียวกัน

 

-----------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013440064589183 Mins