ขั้นตอนการเจริญเมตตา

วันที่ 04 สค. พ.ศ.2558

 

 ขั้นตอนการเจริญเมตตา

            ในพรหมวิหารทั้ง 4 อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขานั้น เมื่อปรารถนาจะเจริญเมตตาพรหมวิหารเป็นข้อแรก เบื้องต้นต้องตัดปลิโพธ6)คือ ความกังวลทั้ง 10 ประการ ให้หมดแล้วจึงรับเอากัมมัฏฐานจากอาจารย์มาศึกษาให้เป็นที่เข้าใจสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ก่อนลงมือปฏิบัติควรบริโภคอาหารให้อิ่มพอประมาณ บรรเทาความง่วงที่เกิดจากการบริโภคให้สร่างหาย จากนั้นให้นั่งขัดสมาธิอย่างสบายๆ ณ อาสนะที่ได้จัดเตรียมไว้ในที่สงัด ปราศจากเสียงรบกวนและไม่มีคนพลุกพล่าน เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว ประการแรกควรพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ และอานิสงส์ของขันติ (ความอดทน) จนเห็นชัดเจนเสียก่อน

            ที่ต้องพิจารณาอย่างนั้นก็เพราะการเจริญเมตตาพรหมวิหารมีความประสงค์เพื่อที่จะขจัดความโกรธและสร้างขันติธรรมให้เกิดขึ้น ประกอบกับมีหลักความจริงอยู่ว่า ไม่ว่าใครก็ตามย่อม ไม่อาจขจัดสิ่งที่ตนยังไม่เห็นโทษ และไม่อาจบรรลุถึงซึ่งอานิสงส์ที่ตนยังไม่ได้รู้มาก่อนได้

 

1.พิจารณาโทษของความโกรธและอานิสงส์ของขันติ

            การเจริญเมตตา ผู้ปฏิบัติต้องทำใจให้ประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ ทั้งหลาย ต้องนึกถึงโทษของความโกรธและความขัดเคืองใจ และประโยชน์ของความอดทนว่า เมื่อเกิดความโกรธ ความคิดประกอบด้วยเมตตาจะถูกเผาผลาญ จิตก็ไม่บริสุทธิ์ เนื้อตัวสั่นเทาด้วยความโกรธ ขว้างปาทำลายข้าวของจนเสียหาย บางครั้งถึงกับฆ่าตัวเองและฆ่าคนอื่นก็มี ยิ่งใครเป็นคนมักโกรธมีความขัดเคืองใจอยู่บ่อยๆ ด้วยอำนาจของอกุศลที่เข้าสิงจิตอาจถึงขั้นทำอนันตริยกรรม ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำพระภิกษุสงฆ์ให้แตกความสามัคคี หรือทำพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต คือ กรรมที่น่ากลัวอันเกิดจากอำนาจของความโกรธซึ่งไม่ควรให้เกิดขึ้นกับใครๆ เลย ควรนึกอย่างนี้บ่อยๆ และควรนึกถึงคุณของขันติ เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ตรัสเอาไว้ว่า

“    ขันติ คือความยับยั้งใจไว้ได้ เป็นธรรมเครื่องเผาบาปให้เหือดแห้งชั้นเยี่ยม”7)

“    เรายกย่องผู้มีขันติเป็นกำลัง มีขันติเป็นกองทัพว่าเป็นพราหมณ์”8)

“    คุณธรรมที่จะเป็นเครื่องป้องกันความฉิบหาย และนำไปซึ่งประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาให้แก่ตนและคนอื่น ที่ จะประเสริฐวิเศษยิ่งไปกว่าขันตินั้น ย่อมไม่มี”9)

 

2.บุคคลที่ควรเว้นในการเจริญเมตตาเป็นอันดับแรก

            เมื่อได้เห็นโทษของความโกรธและอานิสงส์ของขันติแล้ว เบื้องต้นเราจำเป็นต้องรู้จักบุคคลที่เป็นโทษต่อการเจริญเมตตา ว่าบุคคลจำพวกนี้จะเจริญเมตตาไปถึงเป็นอันดับแรกไม่ได้ ซึ่งมีอยู่ 4 จำพวก คือ คนที่ไม่รัก คนที่รักมาก คนที่ไม่รักไม่ชัง คนที่เป็นศัตรู และไม่ควรเจริญ เจาะจงคนที่เป็นเพศตรงข้าม สำหรับคนที่ตายแล้วไม่ควรเจริญเมตตาเลยทีเดียว

1.คนที่ไม่รัก คนที่รักมากเป็นพิเศษ คนที่ไม่รักไม่ชัง และคนที่ถึงขั้นเป็นศัตรูกัน บุคคลเหล่านี้ไม่ควรแผ่เมตตาให้เป็นอันดับแรก ด้วยเหตุผล คือ

ก. อปิยบุคคล ผู้ที่เราไม่รักใคร่ เพราะเมตตาจะไม่เกิด เกิดแต่ความไม่พอใจเนื่องจากเราไม่มีความรักใคร่ชอบพอผู้นั้น

ข. อติปิยบุคคล ผู้ที่เรารักใคร่มากมีบิดามารดา บุตรธิดา สามีภรรยา เมตตาก็จะไม่เกิด เกิดแต่ความวิตกกังวลและความเศร้าโศก คือ เมื่อทุกข์แม้เพียงเล็กน้อยเกิดขึ้นกับเขา ก็จะพลอยทำให้เศร้าโศกทุกข์ร้อนไปด้วย เพราะมีความรักใคร่มากเกินไปนั้นเอง

ค. มัชฌัตตบุคคล ผู้ที่เราไม่รักและไม่ชัง เมตตาจะไม่เกิดเพราะสิ่งที่ชวนจะให้เกิดความรักใคร่นั้นไม่มี ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีทั้งความยินดีและยินร้าย

ง. เวรีบุคคล ผู้ที่เป็นศัตรูแก่เรา เมตตาจะไม่เกิด เกิดแต่ความโกรธ ความเกลียด เพราะผู้นั้นเป็นศัตรูต่อเรา

 

2.คนที่เป็นเพศตรงข้าม กับผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะที่ไม่ใช่ญาติสนิท ไม่ควรแผ่เมตตาให้เจาะจงเฉพาะตัว เพราะราคะจะกำเริบขึ้น

            ดังตัวอย่างของบุตรอำมาตย์คนหนึ่ง ถามพระเถระผู้มาสู่สกุลว่า เมตตาควรเจริญในบุคคลชนิดไหน พระเถระตอบว่า ควรเจริญในบุคคลผู้เป็นที่รัก เนื่องจากบุตรอำมาตย์รักภรรยาของเขามากจึงเจริญเมตตาแก่ภรรยานั้นอยู่ ผลก็คือเขาต้องทำการทุบฝาบ้านทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าด้วยความคิดถึงภรรยา เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรเจริญเมตตาในคนที่เป็นเพศตรงข้าม โดยเฉพาะเจาะจง

 

3.คนที่ตายไปแล้ว การแผ่เมตตาให้คนที่ตายไปแล้ว นำมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน ไม่ได้ เพราะไม่สามารถทำอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิให้เกิดขึ้นได้เลย จึงเป็นการแผ่เมตตาที่ไร้ประโยชน์

           ดังตัวอย่างของภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ท่านเจริญเมตตาปรารภอาจารย์ของท่าน ปรากฏว่าไม่สามารถทำเมตตาฌานให้เกิดขึ้นได้ จึงได้ไปสู่สำนักของพระมหาเถระ แล้วก็กล่าวกับ พระมหาเถระว่า “    ท่านขอรับ การเข้าฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ของผมเคยทำได้คล่องเเคล่วทีเดียว แต่ผมไม่อาจเข้าฌานนั้นได้เหมือนเดิม เป็นเพราะเหตุอะไรหนอ” พระเถระจึงบอกว่า “    เธอจงแสวงหาสาเหตุเถิดผู้มีอายุ” พระภิกษุนั้นจึงได้ค้นหาสาเหตุนั้น ในที่สุดก็ทราบว่าอาจารย์ได้มรณภาพเสียแล้ว ท่านจึงได้เจริญเมตตาปรารภผู้อื่นต่อไป จนกระทั่งได้บรรลุฌานสมาบัติ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรเจริญเมตตาปรารภผู้ที่ตายไปแล้ว

 

3.ลำดับการแผ่เมตตา

เมื่อแผ่เมตตาให้แผ่เมตตาตามลำดับ ดังนี้

1.อัตตบุคคล แผ่ให้แก่ตนเอง

2.ปิยบุคคล แผ่ให้แก่ผู้ที่รักใคร่

3.อติปิยบุคคล แผ่ให้แก่ผู้ที่รักใคร่มาก

4.มัชฌัตตบุคคล แผ่ให้แก่ผู้ที่ไม่รักไม่ชัง

5.เวรีบุคคล แผ่ให้แก่ผู้ที่เป็นศัตรู

           ผู้ที่มีเมตตาและสามารถแผ่เมตตาได้อย่างคล่องเเคล่วเชี่ยวชาญ จะต้องหมั่นฝึกฝน อยู่เสมอ ในชั้นต้นต้องฝึกแผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นสักขีพยานว่า ตนเองปรารถนาความสุขเกลียดความทุกข์ ต้องการมีอายุยืน กลัวตาย ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น อีกทั้งการแผ่เมตตาแก่ตนเองก่อนผู้อื่นยังทำให้จิตใจเกิดความแช่มชื่นยินดี ทั้งนี้เพราะความรักต่อคนอื่นหรือสิ่งอื่นแม้จะมีมากมายเพียงใด ก็ไม่เท่าความรักที่มีต่อตัวเอง ฝึกดังนี้บ่อย ๆ ทำบ่อยๆ เมตตาจิตก็จะ เกิดขึ้นได้โดยง่าย เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ได้มั่นคง

 

คำบริกรรมในการแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง คือ

“    อหํ อเวโร โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีศัตรูภายในและภายนอก

อหํ อพฺยาปชฺโฌ โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีความพยาบาท

อหํ อนีโฆ โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีความลำบากกาย ลำบากใจ พ้นจากอุปัทวภัย

อหํ สุขี อตฺตานํ ปริหราม ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ รักษาตน ให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงเทอญ”

เมื่อแผ่เมตตาให้แก่ตนเองได้คล่องแคล่วแล้ว ก็ขยายการแผ่ให้เป็นวงกว้างออกไปตามลำดับ

 

4.เจริญเมตตาในบุคคลที่รักเคารพ

            เมื่อแผ่เมตตาให้ตนเป็นสักขีพยานแล้วบุคคลต่อไปในอันดับที่สอง คือ ผู้ที่เรารักเคารพ เช่น ครูบาอาจารย์ หรือผู้ที่มีคุณธรรมเทียบเท่าครูบาอาจารย์ที่ตนเอง รัก ชอบพอ เคารพ สรรเสริญ ก่อนที่จะเจริญเมตตาในผู้ที่เรารักเคารพนั้น เพื่อที่จะพยุงเมตตาภาวนาให้เกิดขึ้นโดยง่าย ให้ระลึกถึงคุณงามความดีอันเป็นเหตุชวนให้เกิดความพอใจที่ได้รับจากบุคคลนั้น เช่น การที่ให้ทานทั้งวิทยาทาน อามิสทาน ธรรมทาน ตลอดจนปิยวาจาที่ได้รับมาต่างๆ หรือระลึกถึงคุณธรรมที่ชวนให้เกิดความเคารพและความสรรเสริญ เช่น ความมีกิริยามารยาทอันดีงาม การมีความรู้อย่างกว้างขวางเป็นเบื้องต้นเสียก่อน แล้วจึงเจริญเมตตาไปในท่านผู้เป็นที่รักเคารพนั้น ด้วยบทภาวนาว่า

เอส สปฺปุริโส อเวโร โหตุ ขอท่านผู้เป็นสัตบุรุษนั้น จงอย่ามีเวรกับใครๆ เลย

อพฺยาปชฺโฌ โหตุ จงอย่าได้เบียดเบียนใครๆ เลย

อนีโฆ โหตุ จงอย่าได้มีความทุกข์เลย

สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ขอจงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงเถิด

ทั้งนี้โดยการเพียรภาวนามากเข้าๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ร้อยครั้งพันครั้งหรือจนกว่าอัปปนาสมาธิหรือเมตตาฌานจะเกิดขึ้น

 

5.การเจริญเมตตาตามลำดับต่อไป

            แม้ว่าอัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้น เพราะได้เจริญเมตตาไปในบุคคลที่เคารพรักแล้วก็ตาม แต่อย่าเพิ่งพอใจด้วยความสำเร็จเพียงเท่านั้น ให้มีความปรารถนาที่จะทำเมตตา ให้เป็นสีมสัมเภทต่อไปอีก (การทำลายขอบเขตของเมตตาไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะในบุคคลประเภทใด ประเภทหนึ่ง) กล่าวคือ ถัดจากบุคคลที่รักที่เคารพนั้นแล้ว พึงเจริญเมตตาไปในบุคคลที่ รักใคร่มากเป็นลำดับที่สาม เช่น บิดามารดา บุตรธิดา สามีภรรยา ตามลำดับ ถัดจากนั้นพึงเจริญไปในคนที่เป็นกลางๆ เป็นลำดับที่สี่ ถัดจากนั้นจึงเจริญไปในคนที่เป็นศัตรูเป็นลำดับที่ห้า

 

            ในทางปฏิบัติเมื่อได้เจริญเมตตาไปในคนที่รักใคร่มากจนบรรลุถึงขั้นอัปปนาสมาธิ แล้วทำฌานจิตนั้นให้อ่อนนุ่มนวลควรแก่งาน สามารถเข้าฌานออกฌานได้อย่างคล่องแคล่วเชี่ยวชาญดีแล้ว จากนั้นจึงข่มจิตที่มีสภาวะรักมากในคนที่รักมากนั้นให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่รักอย่างธรรมดา แล้วเพียรภาวนาต่อไปด้วยบทภาวนาว่า

เอส อติปิยปุคฺคโล สุขิโต โหตุ, นิทฺทุกฺโข โหตุ.

ขอบุคคลที่รักใคร่มากนั้นจงมีความสุขเถิด, จงอย่ามีความทุกข์เลย

เพียรเจริญเมตตาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะถึงขั้นอัปปนาสมาธิเช่นเดียวกัน ทำฌาน- จิตนั้นให้อ่อนนุ่มนวลควรแก่งาน สามารถเข้าออกฌานได้คล่องแคล่วเชี่ยวชาญ จากนั้นจึงพยุงจิตที่มีภาวะเฉยๆ ในคนเป็นกลางๆ ขึ้นสู่ความรักอย่างธรรมดา แล้วเพียรภาวนาต่อไปด้วยบทภาวนาว่า

เอส มชฺฌตฺโต สุขิโต โหตุ, นิทฺทุกฺโข โหตุ.

ขอคนผู้เป็นกลางๆ นั้น จงมีความสุขเถิด, จงอย่ามีความทุกข์เลย

เพียรภาวนาไปจนกว่าจะสำเร็จถึงขั้นอัปปนาสมาธิเช่นเดียวกัน แล้วทำฌานจิตนั้นให้อ่อนนุ่มนวลควรแก่งาน สามารถเข้าออกฌานจนคล่องแคล่วเชี่ยวชาญดีแล้ว จากนั้นให้ข่มจิตที่คิดจองเวรในคนที่เป็นศัตรูให้เลือนหายกลายเป็นภาวะกลางๆ แล้วยกขึ้นสู่ภาวะความรักอย่างธรรมดา แล้วทำภาวนาต่อไปด้วยบทภาวนาว่า

เอส เวรีปุคฺคโล สุขิโต โหตุ, นิทฺทุกฺโข โหตุ.

ขอคนคู่เวรนั้น จงมีความสุขเถิด, อย่าได้มีความทุกข์เลย

ทั้งนี้ให้เพียรภาวนาไปจนกว่าจะบรรลุถึงอัปปนาสมาธิเช่นเดียวกัน เมื่อเมตตาจิตบังเกิดมีความเท่าเทียมกันในบุคคลทั้ง 4 ประเภท คือ ตัวเอง คนที่ตนรัก คนที่ตนรู้สึกเฉยๆ และคนที่เป็นศัตรู (สงเคราะห์คนที่เคารพรักกับคนที่รักใคร่มากเป็นพวกเดียวกัน เพราะตั้งอยู่ในฐานะ เป็นที่รักเหมือนกัน) ดังนี้แล้วเรียกว่า เจริญภาวนาจนเป็น สีมสัมเภทเมตตา

 

            สำหรับผู้ที่ไม่มีบุคคลที่เป็นศัตรู ด้วยอำนาจวาสนาบารมีในชาติก่อนตามมาสนอง หรือด้วยไม่เคยประพฤติเบียดเบียนใครให้ได้รับความเดือดร้อนในชาติปัจจุบัน หรือเพราะเหตุที่ตนเป็นคนชั้นมหาบุรุษมีอัธยาศัยกว้างขวาง สมบูรณ์ไปด้วยคุณธรรม คือ ขันติ เมตตา และกรุณาที่ได้สั่งสมมาในชาติก่อน แม้ถูกผู้อื่นเบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อนก็ไม่ผูกใจเจ็บ คิดว่าผู้อื่นก่อเวรกับตน บุคคลทั้งสองจำพวกนี้ไม่จำเป็นต้องขวนขวายว่า เมตตาจิตของเราควรแก่งานในคนกลางๆ แล้ว บัดนี้เราจักน้อมนำเมตตาจิตไปในบุคคลผู้เป็นศัตรู ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ให้เพียรทำภาวนาต่อไปจนเป็น สีมสัมเภทเมตตา

 

6.วิธีแผ่เมตตาให้บุคคลผู้เป็นศัตรู

            เมื่อเราน้อมจิตเข้าไปยังผู้ที่เป็นศัตรู ปฏิฆะความแค้นเคืองย่อมเกิดขึ้น เพราะหวนนึกถึงความผิดที่เขาทำแก่เรา วิธีแก้คือต้องหมั่นแผ่เมตตาบ่อยๆ ในบุคคลดังกล่าวข้างต้นตามลำดับหรือคนใดคนหนึ่งก็ได้ เพื่อบรรเทาความแค้นเคืองให้ได้เสียก่อน เมื่อเราพยายามไปอย่างนั้นแล้วความแค้นเคืองก็ยังไม่ดับไป ควรใช้วิธีการบรรเทาความโกรธโดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้

วิธีการบรรเทาความโกรธ

1) ระลึกถึงโทษของความโกรธ

โดยให้ระลึกถึงโอวาทของพระบรมศาสดาอย่างนี้ว่า

1.อุปมาด้วยถูกโจรเลื่อย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่าพวกโจรที่มีใจต่ำช้า พึงเอาเลื่อยมีคมสองข้างตัดอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้ใดพึงยังใจให้ประทุษร้ายแม้ในโจรนั้น เธอนั้นไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา เพราะทำใจให้ประทุษร้ายในโจรนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง10)

2.ผู้โกรธตอบเลวยิ่งกว่าผู้โกรธก่อน

ผู้ใดย่อมโกรธตอบต่อผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นแลเลวเสียกว่าผู้โกรธทีแรกนั้นอีก เพราะเหตุที่โกรธตอบเขานั้น ผู้ที่ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธตนแล้ว ชื่อว่า ย่อมชนะสงครามซึ่งชนะได้แสนยาก ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบเสงี่ยม ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตน และผู้อื่นดังนี้11)

3.ธรรม 7 ประการที่ศัตรูมุ่งหวัง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม 7 ประการ12) เหล่านี้ เป็นธรรมอันบุคคลผู้เป็นข้าศึก มุ่งแล้ว เป็นธรรมอันบุคคลผู้เป็นศัตรูพึงทำแก่กัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้เป็นคนขี้โกรธ ธรรม 7 ประการ คือ

            ประการที่ 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนที่เป็นศัตรูกันในโลกนี้ ย่อมปรารถนาต่อคนที่เป็นศัตรู (ของตน) อย่างนี้ว่า โอหนอ! ขอให้เจ้าคนนี้ พึงเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าคนที่เป็นศัตรูกัน ย่อมไม่ยินดีในการที่คนที่เป็นศัตรูของตนมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลขี้โกรธนี้ถูกความโกรธครอบงำ มีความโกรธออกหน้า แม้เขาจะอาบน้ำแล้วอย่างสะอาด ลูบไล้อย่างดี ตัดผมและหนวดแล้ว นุ่งผ้าสะอาดก็จริง ถึงกระนั้น เขามีความโกรธครอบงำแล้วย่อมมีผิวพรรณทรามแท้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อที่หนึ่งนี้ ที่บุคคลผู้ เป็นศัตรูกันชอบใจ ที่บุคคลผู้เป็นศัตรูกันพึงทำแก่กัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้ขี้โกรธ

            ประการที่ 2 ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ศัตรูย่อมหวังต่อศัตรู (ของตน) อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้พึงนอนเป็นทุกข์ ฯลฯ

            ประการที่ 3 ฯลฯ ขออย่าให้มันมีทรัพย์พอใช้จ่าย ฯลฯ

            ประการที่ 4 ฯลฯ ขออย่าให้มันมีโภคทรัพย์ ฯลฯ

            ประการที่ 5 ฯลฯ ขออย่าให้มันมียศ ฯลฯ

            ประการที่ 6 ฯลฯ ขออย่าให้มันมีเพื่อน ฯลฯ

            ประการที่ 7 ฯลฯ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ขอให้มันเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศัตรูย่อมไม่ยินดีด้วยการไปสุคติของศัตรู (ของตน) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลขี้โกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว มีความโกรธออกหน้า ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ เขาครั้นประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาและทางใจแล้ว เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก เป็นผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดังนี้ประการหนึ่ง

4. เปรียบคนมักโกรธเหมือนฟืนเผาศพ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดุ้นฟืนเผาศพ ที่ไฟไหม้ปลาย 2 ข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถ ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ที่จะใช้เป็นเครื่องไม้ในบ้าน ในป่าฉันใด เรากล่าวบุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นนี้ว่ามีอุปมาฉันนั้น13)

ถ้าเราโกรธเขา ก็ชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าเป็นคนเลวยิ่งกว่าคนที่ทำให้เราโกรธ จะไม่ได้ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก แต่จะได้ชื่อว่าทำ อกุศลกรรมที่ผู้เป็นศัตรูกันพึงทำต่อกันให้แก่ตนเองเสียอีกด้วย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไร้ประโยชน์เหมือนฟืนเผาศพที่ตรงกลางเปื้อนคูถด้วย

เเม้เมื่อได้นำพระพุทธโอวาทมาสอนตัวเองอย่างนั้นแล้ว ก็ยังไม่หายโกรธ ให้เพียรทำด้วยอุบายอย่างอื่นต่อไป คือ ถ้าคุณธรรมส่วนใดส่วนหนึ่งของคนที่เป็นศัตรูนั้นมีอยู่ เช่นความเรียบร้อยความสะอาดบางประการของเขา เมื่อนำมาพิจารณาดูแล้วทำให้เกิดความ เลื่อมใสพอใจขึ้นได้บ้าง ก็ให้ระลึกเอาคุณธรรมส่วนนั้นๆ มาบรรเทาความโกรธ

 

2)ระลึกถึงความดีของเขา

            คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่เพียงทางกาย ส่วนมารยาททางวาจาและทางใจ ไม่เรียบร้อยเลย และความเรียบร้อยทางกายนั้น คนทั่วไปจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเขาบำเพ็ญวัตรปฏิบัติ นั้นไปนานๆ สำหรับคนเช่นนี้ ให้ระลึกถึงแต่เพียงมารยาททางกายอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางวาจาและทางใจของเขา คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยทางวาจาแต่เพียงอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางวาจานั้น คนทั่วไปย่อมรู้ได้ง่าย เพราะว่าคนที่มีมารยาททางวาจาเรียบร้อยนั้น โดยปกติแล้ว มักเป็นคนฉลาดในการปฏิสันถาร เป็นคนมีวาจานิ่มนวลพูดเพราะรื่นเริง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายก่อน ถึงคราวสวดมนต์ก็สวดด้วยความไพเราะ ถึงคราวแสดงธรรม ก็แสดงได้อย่างชัดถ้อย ชัดคำ สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ แต่ในส่วนของมารยาททางกายและทางใจไม่เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ ผู้เจริญเมตตาอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางกายและทางใจของเขา ให้ระลึกถึงมารยาททางวาจาแต่เพียงอย่างเดียว

 

            คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่ทางใจอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางใจนั้นจะเห็นได้ก็ในขณะที่เขาไหว้พระเจดีย์ เป็นต้น คือ ผู้ที่มีจิตใจไม่เรียบร้อยเมื่อจะไหว้พระเจดีย์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือจะกราบไหว้พระเถระทั้งหลาย ย่อมกราบไหว้ด้วยกิริยาอาการอัน ไม่เคารพ เมื่อนั่งอยู่ในศาลาฟังธรรม ก็นั่งใจลอย โงกง่วงบ้าง ส่วนผู้ที่มีจิตใจสงบเรียบร้อย ย่อมกราบไหว้อย่างสนิทสนมด้วยความเชื่อมั่นสนิทใจ เมื่อถึงคราวฟังธรรมก็ตั้งใจฟังด้วยดี ถือเอาเนื้อความได้ แสดงถึงอาการเลื่อมใสทางกายหรือทางวาจาให้ปรากฏ สำหรับบุคคลเช่นนี้ ผู้เจริญเมตตาอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางกายและวาจาที่ไม่เรียบร้อยของเขา ให้ระลึกถึงมารยาททางใจของเขาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

            คนบางคนไม่มีความเรียบร้อยแม้เพียงอย่างเดียวในมารยาททั้ง 3 อย่าง แม้คน เช่นนั้นก็ยังไม่เป็นสิ่งเหลือวิสัย ให้ผู้เจริญเมตตายกเอาความกรุณาขึ้นมาในใจ แล้วทำความเข้าใจว่าคนเช่นนี้ถึงแม้เขาจะเที่ยวขวางหูขวางตาคนอื่นเขาไปทั่ว ก็แต่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น อีกไม่ช้าไม่นาน เมื่อเขาละโลกไป ก็จะต้องไปบังเกิดในมหานรก 8 ขุม และในอุสสทนรก (นรกขุมบริวาร) อย่างแน่นอน เพราะอาศัยความกรุณาแม้เพียงเท่านี้ ความอาฆาตเคียดแค้นก็สามารถสงบไปได้

            คนบางคนมีมารยาทสงบเรียบร้อยครบทั้ง 3 อย่าง สำหรับคนเช่นนี้ ผู้เจริญเมตตามีความชอบใจมารยาทอย่างไหน ให้เลือกระลึกเอามารยาทอย่างนั้นตามความชอบใจเพราะการเจริญเมตตาแก่คนเช่นนี้สามารถทำได้โดยง่าย

 

3)บรรเทาความโกรธด้วยการพร่ำสอนตนเอง

            แม้ว่าผู้เจริญเมตตาจะพยายามบรรเทาความโกรธความอาฆาตเคียดแค้นด้วยอุบายดังกล่าวข้างต้น แต่ความเคียดแค้นก็ยังคงมีอยู่ ขอให้ใช้วิธีใหม่โดยการพร่ำสอนตนเองด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1.คนที่เป็นศัตรูก่อทุกข์ให้แก่เราได้เฉพาะร่างกายเท่านั้น แล้วทำไมเรายังจะหอบเอาความทุกข์นั้นเข้ามาไว้ในจิตใจของเราอีก ซึ่งไม่ใช่วิสัยของคนที่เป็นศัตรูจะพึงทำให้ได้

2.หมู่ญาติอันเป็นที่รักทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นมีใบหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา เราก็ยังอุตส่าห์ละทิ้งมาได้ แล้วทำไมจะละความโกรธอันเป็นตัวทำความพินาศอย่างใหญ่หลวงให้เราเสียไม่ได้เล่า

3.เราอุตส่าห์รักษาศีลอย่างใดไว้ แต่ก็ยังพะนอเอาความโกรธอันเป็นเครื่องตัดรากศีลเหล่านั้นไว้อีก ใครเล่าที่จะโง่เขลาเบาปัญญาเหมือนเรา

4.เรามัวแต่โกรธว่า คนที่เป็นศัตรูได้กระทำความผิดอันใหญ่หลวงแก่เรา แต่ทำไมจึงยังปรารถนาจะทำความผิดเช่นนั้นด้วยตัวเองเสียเล่า

5.ก็ในเมื่อศัตรูมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแก่เรา จึงได้ทำสิ่งไม่น่าพอใจยั่วยุเรา เหตุใดเราจึงจะทำความปรารถนานั้นของเขาให้สำเร็จเสียเอง ด้วยการยอมให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้นเล่า

6.เมื่อเราโกรธขึ้นมาแล้ว เราจะได้ก่อทุกข์แก่คนอื่นผู้ทำความผิดให้แก่เราหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นที่แน่นอนว่าเรานั้นได้เบียดเบียนตัวเราเองด้วยทุกข์ คือ ความโกรธอยู่ในขณะนี้

7.ในเมื่อศัตรูได้เดินไปสู่ทางผิด คือ ความโกรธ ซึ่งไม่นำประโยชน์อะไรมาให้แก่เราเลย แม้เมื่อเรายังโกรธอยู่ ก็ชื่อว่าคล้อยตามทางของเขาละซิ

8.ศัตรูได้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่เรา ด้วยอาศัยความโกรธอันใดของเรา เราจงถอนความโกรธนั้นเสียเถิด เราจะมัวเดือดร้อนในสิ่งที่ไม่สมควรทำไมกัน

9.ขันธ์ 5 เหล่าใดได้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่เรา ขันธ์ 5 เหล่านั้นได้ดับไปแล้ว เพราะสภาวธรรมทั้งหลายมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ขันธ์ 5 เก่าดับไป ขันธ์ 5 ใหม่เกิดขึ้นมาแทน บัดนี้ เราจะมัวหลงโกรธใครในที่นี้เล่า การโกรธต่อขันธ์ 5 ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่มี ความผิดนั้น เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

 

4) บรรเทาความโกรธด้วยการพิจารณาถึงกรรม

            เมื่อผู้เจริญเมตตาพยายามพร่ำสอนตนเองด้วยประการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ความโกรธแค้นก็ยังไม่สงบลง ต่อแต่นี้ให้ใช้วิธีพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนต่อไป ในการพิจารณาถึงกรรมนั้น ให้พิจารณาถึงภาวะที่ตนเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเป็นอันดับแรกดังต่อไปนี้

            นี่เเน่ะ พ่อมหาจำเริญ เจ้าโกรธคนอื่นแล้วจะได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธ เป็นเหตุของเรานี้มันจะบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เราเองไม่ใช่หรือ ด้วยว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราได้ทำกรรมใดไว้จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

            อนึ่ง กรรมของเรานี้ มันไม่สามารถบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิ-ญาณ และสาวกภูมิ มันไม่สามารถบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาสมบัติ ทั้งหลาย เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ พระเจ้าจักรพรรดิ และพระเจ้าประเทศราชได้เลย ตรงกันข้าม กรรมของเรานี้ มันจะขับไล่ไสส่งให้เราออกจากพระศาสนาแล้วบันดาลให้ประสบความตกต่ำกันดารในชีวิต เช่น ทำให้บังเกิดเป็นขอทาน คนกินเดน หรือประสบทุกข์อย่าง ใหญ่หลวง เช่นทำให้ไปบังเกิดในมหานรกเป็นต้นอย่างแน่นอน

 

            ตัวเรานี้ หากขืนมัวโกรธอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเผาตัวเองทั้งเป็น และทำตัวเองให้มีชื่อเสียงอันเน่าเหม็นเป็นคนแรกโดยแท้ เมื่อพิจารณาถึงความที่เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนอย่างนี้แล้ว จงพิจารณาถึงความที่คนอื่นมีกรรมเป็นของของตน ในลำดับต่อไป ดังนี้ แม้เขาผู้นั้นโกรธเราแล้ว เขาจะได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเขาผู้นั้น มันจักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เขาเองไม่ใช่หรือ เพราะว่าเขาผู้นั้นเป็นทายาทแห่งกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เขาทำกรรมใดไว้ จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น

            อนึ่ง กรรมของเขาผู้นั้นมันไม่สามารถบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิ-ญาณ และสาวกภูมิ มันไม่สามารถบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาสมบัติ ทั้งหลาย เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ พระเจ้าจักรพรรดิ และพระเจ้าประเทศราชได้เลย ตรงกันข้าม กรรมของเรานี้ มันจะขับไล่ไสส่งให้เราออกจากพระศาสนาแล้วบันดาลให้ประสบความตกต่ำกันดารในชีวิต เช่น ทำให้บังเกิดเป็นขอทาน หรือประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่นทำให้ไปบังเกิดในมหานรกอย่างแน่นอน เขาผู้นั้น เมื่อขืนกระทำอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าโปรยธุลีคือความโกรธใส่ตนเอง เหมือนผู้จะโปรยฝุ่นธุลีใส่คนอื่นแต่ไปยืนอยู่ใต้ลมอย่างนั้น ข้อนี้สมด้วยพุทธสุภาษิตในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ สุทฺธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ สุขุโม รโช ปฏิวาตํว ขิตฺโต.14)

ผู้ใด ประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสดุจเนิน บาปย่อม กลับถึงผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลนั่นเอง เหมือนธุลีอันละเอียดที่เขาซัดทวนลมไปฉะนั้น

 

5) บรรเทาความโกรธด้วยการพิจารณาถึงพุทธจริยาในปางก่อน

            ถ้าผู้เจริญเมตตาได้พยายามพิจารณาถึงความที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนอย่างนี้แล้ว ความโกรธแค้นก็มิได้สงบลง ก็ให้ระลึกถึงพระคุณ คือ พระจริยาวัตรในอดีตชาติของพระบรมศาสดาว่า

          พระบรมศาสดาของเราในปางก่อนครั้งยังไม่ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 30 ทัศ อยู่ถึง 4 อสงไขย แสนมหากัปนั้น พระองค์ไม่ได้ทรงทำพระหฤทัยให้โกรธเคืองแม้ในศัตรูทั้งหลายผู้พยายามประหัตประหารพระองค์อยู่ในชาตินั้นๆ มีเรื่องปรากฏอยู่หลายประการคือ เรื่องพระเจ้าสีลวะ15)

            ในสีลวชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระเจ้าสีลวะ อำมาตย์ผู้ใจบาปหยาบช้าได้ลอบล่วงประเวณีกับพระอัครมเหสีของพระองค์ แล้วไปเชื้อเชิญเอาพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์มายึดเอาพระราชสมบัติ ในที่อันมีอาณาบริเวณถึงสามร้อยโยชน์ พระองค์ก็ไม่ได้ทรงอนุญาตให้หมู่อำมาตย์ผู้จงรักภักดีลุกขึ้นจับอาวุธเข้าต่อต้าน ต่อมาพระองค์พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์หนึ่งพันได้ถูกนำไปฝังทั้งเป็นลึกแค่พระศอที่ป่าช้าผีดิบ พระองค์ก็ไม่ได้ทรงเสียพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย อาศัยพวกสุนัขจิ้งจอกที่พากันมาคุ้ยกินซากศพ ได้ขุดคุ้ยดินออก พระองค์ทรงใช้สติปัญญาและความเพียร ทั้งด้วยกำลังแห่งพระพาหา ทรงตะกายออกจากหลุม จึงทรงรอดชีวิตได้ และด้วยอานุภาพของเทวดาที่ช่วยให้พระองค์เสด็จขึ้นไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ทรงเห็นพระราชาผู้เป็นศัตรูบรรทมอยู่บนพระแท่นบรรทม พระองค์ก็มิได้ทรงพิโรธแต่อย่างใด กลับทรงปรับความเข้าพระทัยต่อกันและกัน แล้วทรงตั้งพระราชาผู้นั้นไว้ในฐานะแห่งสหาย และได้ตรัสสุภาษิตว่า

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงหวังอยู่ร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราประจักษ์ด้วยตนเอง ว่าปรารถนาอย่างใด ก็ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

 

เรื่องขันติวาทีดาบส16)

ในเรื่องขันติวาทีชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส เมื่อพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้ากลาปุ ได้ตะคอกถามว่า “    สมณะ ท่านนับถือวาทะอะไรฎ ท่านตอบว่า “    อาตมานับถือขันติวาทะ คือ นับถือความอดทน” พระราชาจึงทรงรับสั่งให้เฆี่ยนพระโพธิสัตว์ด้วยหวายทั้งหนามเป็นการพิสูจน์ จนในที่สุดถึงขั้นตัดมือและเท้าเสีย พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้มีความ โกรธเคืองเลยแม้แต่น้อย

 

เรื่องธรรมปาลกุมาร17)

การที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ใหญ่แล้วดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต สามารถอดกลั้นได้เหมือนพระเจ้าสีลวะและขันติวาทีดาบสนั้น ยังไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์ ในจุฬธัมมปาลชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นธรรมปาลกุมาร ทรงเป็นทารกยังนอนแบเบาะอยู่ ถูกพระเจ้ามหาปตาปะผู้เป็นพระบิดารับสั่งให้ตัดมือและเท้าทั้ง 4 ข้าง เหมือนว่าให้ตัดหน่อไม้ในขณะที่พระมารดาทรงคร่ำครวญอยู่ว่า “    ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ หากแขนทั้งสองที่ไล้ทาแล้วด้วยจันทร์หอมของ พ่อธรรมปาละ ผู้เป็นรัชทายาทในแผ่นดินนี้ขาดไปเมื่อไหร่ชีวิตของหม่อมฉันก็จะดับด้วยเช่นกัน” แม้ถึงอย่างนั้นพระเจ้ามหาปตาปะก็ยังไม่สาสมพระหฤทัย ทรงรับสั่งอีกว่า “    จงตัดศีรษะมันเสีย” ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้แสดงอาการเสียพระทัย ทรงเตือนตัวเองว่า

“    ขณะนี้เป็นเวลาที่เจ้าจะต้องประคองรักษาจิตของเจ้าไว้ให้ดีแล้วนะ พ่อธรรมปาละ ผู้เจริญ บัดนี้เจ้าจงทำจิตให้เสมอในบุคคลทั้ง 4 คือ พระบิดาผู้ทรงรับสั่งให้ตัดศีรษะ พวกราชบุรุษที่จะตัดศีรษะ พระมารดาที่กำลังพร่ำพิไรรำพัน และเจ้าเองด้วย”

            การที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมนุษย์แล้วทรงอดกลั้นได้จากการทำ ทารุณกรรมต่างๆ เหมือนดังเรื่องที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ยังไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์มากนัก ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น คือ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นสัตว์เดรัจฉานในกำเนิดต่างๆ แม้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสก็ยังสามารถอดทนและให้อภัยต่อผู้ที่ประทุษร้ายได้ ดังเรื่องราวต่อไปนี้

 

เรื่องพญาช้างฉัททันตะ18)

ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างชื่อว่าฉัททันตะ ถูกนายพรานยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ เข้าที่ท้องทะลุออกด้านหลัง ก็ไม่ได้มีจิตคิดประทุษร้ายต่อนายพราน ผู้ทำความพินาศให้ถึงเพียงนั้น เรื่องราวในชาดกกล่าวว่า

พญาช้างแม้มีอาการเจ็บหนักด้วยลูกศรใหญ่ ก็ไม่ได้มีจิตคิดร้ายซ้ำยังถาม นายพรานโดยดีว่า

“    เพื่อนเอ๋ย ท่านประสงค์อะไร เพราะเหตุอะไร หรือว่าใครใช้ให้ท่านมาฆ่าเรา” เมื่อพระโพธิสัตว์ถามอย่างนั้น นายพรานก็ได้ตอบว่า “    ท่านผู้เจริญ พระราชเทวีของพระเจ้ากาสี ได้ส่งข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการงาของท่าน” พระโพธิสัตว์เมื่อจะทำความประสงค์ของพระราชเทวีให้สำเร็จบริบูรณ์ จึงได้ให้ตัดงาทั้งสองของตนซึ่งมีความงามดุจทองคำธรรมชาติ สุกปลั่งด้วยแสงแห่งรัศมีอันประกอบด้วยสี 6 ประการ แล้วมอบให้นายพรานนั้นนำไปถวาย

 

เรื่องพญากระบี่

ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาวานร ได้ช่วยชายคนหนึ่งให้ขึ้นจากเหวจน รอดชีวิตมาได้ แต่แล้วชายคนนั้นได้คิดร้ายต่อท่านว่า “    วานรนี้ย่อมเป็นอาหารของมนุษย์ได้ เช่นเดียวกับเนื้อของสัตว์ประเภทอื่นๆ ในป่า ถ้าอย่างไรเมื่อเราหิวขึ้นมาแล้วเราจะฆ่าวานรนี้กินเป็นอาหาร เมื่อกินอิ่มแล้วจะเอาเนื้อที่เหลือเป็นเสบียงในการเดินทาง เราก็จะสามารถข้ามพ้นทางทุรกันดารไปได้” ว่าแล้วเขาก็ยกก้อนหินทุ่มลงบนศีรษะของพระโพธิสัตว์ ฝ่ายพระโพธิสัตว์ผุดลุกขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวอาบไปด้วยเลือด ได้จ้องมองชายคนนั้นด้วยดวงตาทั้งสองอันคลอไปด้วยน้ำตาพลางกล่าวว่า

“    นายอย่าทำข้าพเจ้าเลย ขอท่านจงมีความเจริญ แต่ท่านได้ทำกรรมอันหยาบช้า เช่นนี้ และท่านก็รอดตายมีอายุยืนมาได้ สมควรจะห้ามปรามคนอื่น

แน่ะท่านผู้กระทำกรรม อันยากที่บุคคลจะทำลงได้ น่าอดสูใจจริงๆ ข้าพเจ้า ช่วยให้ท่านขึ้นจากเหวลึก ซึ่งยากที่จะขึ้นได้เช่นนี้

ท่านเป็นดุจข้าพเจ้านำมาจากปรโลก ยังสำคัญตัวข้าพเจ้าว่า ควรจะฆ่าเสีย ด้วยจิตอันเป็นบาปธรรมซึ่งเป็นเหตุให้ท่านคิดชั่ว

ถึงท่านจะไร้ธรรม เวทนาอันเผ็ดร้อนก็อย่าได้ถูกต้องท่านเลย และบาปกรรมก็อย่าได้ตามฆ่าท่านอย่างขุยไผ่ ฆ่าไม้ไผ่เลย

แน่ะท่านผู้มีธรรมอันเลว หาความสำรวมมิได้ความคุ้นเคยของข้าพเจ้าจะไม่มีอยู่ในท่านเลย มาเถิดท่านจงเดินไปห่างๆ เรา พอมองเห็นหลังกันเท่านั้น”19)

 

            พระโพธิสัตว์เมื่อกล่าวอย่างนั้นแล้ว ก็มิได้มีจิตคิดประทุษร้ายต่อชายคนนั้น และ ไม่ได้คิดถึงความเจ็บปวดของตนเลย มิหนำซ้ำยังพาชายคนนั้นไปส่งถึงที่ที่ปลอดภัยอีกด้วย

 

เรื่องพญานาคชื่อภูริทัตตะ

ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัตตะ ได้อธิษฐานอุโบสถศีลแล้วขึ้นไปนอนขดอยู่บนจอมปลวก ครั้งนั้นถูกพราหมณ์หมองูใช้ยามีพิษร้อนแรงเหมือนไฟบรรลัยกัลป์ราดใส่ทั่วทั้งตัว กระทืบด้วยเท้าเพื่อให้อ่อนกำลังแล้วจับใส่ข้องเล็กๆ นำไปแสดงให้คนดูจนทั่ว ชมพูทวีป พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้แสดงอาการโกรธแต่อย่างใดเลย เพราะกลัวศีลขาด ดังข้อความในคัมภีร์จริยาปิฎกว่า

“    อาลัมพายน์จะตัด จะเผา จะฆ่า จะแทงด้วยหลาวก็ตามเถิดเราจะไม่โกรธเขาเลย ถ้าเราจะแลดูเขาด้วยความโกรธ เขาก็จะแหลกเป็นเหมือนขี้เถ้า ช่างเถอะทุบตีเราเถอะ เราจักไม่โกรธเลย ดังนี้แล้วก็หลับเนตรลง ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีไว้เป็นเบื้องหน้า ซุกเศียรเข้าไว้ ณ ภายในขนดนอนนิ่งมิได้ไหวติงเลย”20)

 

เรื่องพญานาคชื่อจำเปยยะ

            ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อจัมเปยยะ ได้ถูกหมองูเบียดเบียนด้วยประการต่างๆ ก็ไม่ได้แสดงอาการโกรธเคืองแต่อย่างใดเลย ดังมีเนื้อความในคัมภีร์จริยาปิฎกว่า

            ในกาลเมื่อเราเป็นพระยานาคชื่อจัมเปยยกะมีฤทธิ์มาก แม้ในกาลนั้น เราเป็นผู้ประพฤติธรรม เพียบพร้อมด้วยศีลวัตร หมองูได้จับเราผู้ประพฤติธรรม รักษาอุโบสถให้เล่นรำอยู่ที่ใกล้ประตูพระราชวัง หมองูนั้นคิดเอาสีเช่นใด คือ สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง เราย่อมเปลี่ยนไปตามจิตของเขา แปลงกายให้เหมือนที่เขาคิด เราได้ทำน้ำให้เป็นบกบ้าง ได้ทำบกให้เป็นน้ำบ้าง ถ้าแหละเราโกรธเคืองต่อหมองูนั้น ก็พึงทำเขาให้เป็นเถ้าโดยฉับพลัน ถ้าเราจักเป็นไปตามอำนาจจิต เราก็จักเสื่อมจากศีล เมื่อเราเสื่อมจากศีล ประโยชน์อันสูงสุดจะไม่สำเร็จ กายของเรานี้จงแตกไปกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่นี้ เหมือนแกลบจงกระจัดกระจายอยู่ก็ตามเถิด เราจะไม่ทำลายศีลละ21)

 

เรื่องพญานาคชื่อสังขปาละ

             ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อสังขปาละ ได้ถูกบุตรนายพราน 16 คน ช่วยกันเอาหอกอันแหลมคมแทงเข้าที่ลำตัวถึง 8 แห่ง แล้วเอาเครือเถาวัลย์ที่เป็นหนามร้อยเข้าทางรูแผลที่แทงนั้น เอาเชือกเหนียวร้อยเข้าที่จมูกแล้วช่วยกันลากไป ลำตัวครูดสีไปกับพื้นดิน ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างมาก แม้พระโพธิสัตว์สามารถจะทำให้ลูกนายพรานทั้งหมดมอดไหม้เป็นขี้เถ้าได้ เพียงแค่โกรธขึ้นมาแล้วจ้องดูเท่านั้น แต่ท่านก็ไม่ได้ทำความโกรธเคืองลืมตาขึ้นจ้องมองทำลายเขาเหล่านั้นเลย ดังที่ท่านได้กล่าวกับนายกองเกวียน ผู้ช่วยเหลือท่านว่า

ข้าแต่ท่านอาฬาระ ข้าพเจ้าเข้าจำอุโบสถ ในวันจาตุททสี ปัณณรสีเป็นนิตย์

            ต่อมาพวกบุตรนายพราน 16 คน เป็นคนหยาบช้า ถือเอาเชือกและบ่วงอันมั่นคงมา พรานทั้งหลาย ช่วยกันแทงจมูก เอาเชือกร้อยแล้วหามข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าอดทนต่อทุกข์เช่นนั้น ไม่ทำอุโบสถให้กำเริบ22) แท้ที่จริง พระบรมศาสดามิได้ทำความอัศจรรย์เพียงเท่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญจริยาวัตรอันน่าเลื่อมใสน่าอัศจรรย์อย่างอื่นอีกมากมาย ดังมีปรากฏในชาดกต่างๆ เช่น มาตุโปสกชาดก23) เป็นต้น

เมื่อได้พิจารณาพุทธจริยาที่มีในปางก่อนของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงมีพระขันติคุณอย่างไม่มีใครเสมอเหมือนทั้งในมนุษย์โลกและเทวโลกอย่างนี้แล้ว การที่จะยอมจำนนให้ ความโกรธครอบงำได้อยู่ย่อมเป็นสิ่งไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

 

6) บรรเทาความโกรธด้วยการพิจารณาความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏ

            คนบางคนแม้ว่าจะได้พยายามพิจารณาถึงพระจริยาของพระบรมศาสดาในปางก่อน ด้วยวิธีที่แสดงมาสักเท่าไรก็ตาม ความโกรธแค้นก็ยังมีอยู่เช่นเดิม สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ให้พิจารณาถึงความสัมพันธ์อันมีในสังสารวัฏที่ต่างเคยเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

เรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย นิทานวรรคว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลาย ไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ที่ไม่เคยเป็น มารดากัน ไม่เคยเป็นบิดากัน ไม่เคยเป็นพี่ชายน้องชายกัน ไม่เคยเป็น พี่หญิงน้องหญิงกัน ไม่เคยเป็นบุตรกัน ไม่เคยเป็นธิดาโดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย

 

เพราะฉะนั้น ผู้เจริญเมตตาให้ส่งจิตไปในคนคู่ที่เป็นศัตรูอย่างนี้ว่า

            เป็นความจริงที่ว่า หญิงผู้นี้เคยเป็นมารดาของเรามาในชาติก่อน เขาเคยได้บริหารรักษาเราอยู่ในครรภ์ถึง 10 เดือน ได้ช่วยเช็ดล้างอุจจาระปัสสาวะน้ำมูกน้ำลายให้แก่เราโดยไม่รังเกียจ เห็นสิ่งสกปรกปฏิกูลเหล่านั้นเหมือนผงจันทร์หอม ช่วยประคองเราให้นอนอยู่แนบอก อุ้มเราไปด้วยสะเอว ได้เฝ้าทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาเป็นอย่างดี

            ชายผู้นี้เคยเป็นบิดาของเรา บางครั้งเมื่อต้องทำการค้าขาย ต้องเดินไปในทางอันกันดาร เช่นหนทางที่ต้องไปด้วยแพะ บางที่ก็ต้องใช้ไม้ขอเหนี่ยวรั้งไปในการเดินทาง แม้ชีวิตก็ยอม เสียสละเพื่อประโยชน์แก่เรา ครั้นเมื่อเกิดสงครามประชิดติดพันก็ต้องเอาตนเข้าสู่สนามรบ บางครั้งต้องแล่นเรือไปในท่ามกลางมหาสมุทรอันเต็มไปด้วยภัยอันตรายและได้ทำกิจการงานอื่นๆ อีก ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำด้วยความยากลำบาก ได้พยายามสั่งสมทรัพย์ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยมีความตั้งใจว่า จะเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งหลายให้เป็นสุข ชายคนนี้เคยเป็นพี่ชายน้องชายของเรา หญิงคนนี้เคยเป็นพี่หญิงน้องหญิงของเรามา ชายคนนี้เคยเป็นบุตรของเรา หญิงคนนี้เคยเป็นธิดาของเรามา บุคคลเหล่านั้นเคยได้ทำอุปการะต่างๆ แก่เรามาเป็นอันมากเพราะฉะนั้น การที่เราทำใจให้โกรธแค้นในบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง

 

7) บรรเทาความโกรธด้วยการพิจารณาอานิสงส์เมตตา

            ถ้าได้พยายามพิจารณาโดยความสัมพันธ์กันในสังสารวัฏดังที่กล่าวมา ก็ยังไม่สามารถทำความโกรธแค้นให้ดับไปได้ ก็ให้พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา ด้วยอุบายวิธีดังต่อไปนี้

ให้สอนตัวเองว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเอาไว้แล้วไม่ใช่หรือว่า เมตตาเจโตวิมุตติ24) คือ ความหลุดพ้นแห่งจิตด้วยเมตตา อันบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มีแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เหมือนยานพาหนะแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ตั้งไว้เนืองๆ แล้ว สะสมไว้ดีแล้ว อบรมไว้แก่กล้าแล้ว ย่อมหวังได้ถึงอานิสงส์ 11 ประการ25) คือ

 

1.สุขํ สุปฺปติ หลับเป็นสุขหรือสบายในเวลาหลับ คือ ไม่นอนกลิ้งไปกลิ้งมา ไม่นอนกรน หลับอย่างสนิทเหมือนเข้าสมาบัติ กายเบา ใจเบา มีความเบิกบานสดชื่นมีลักษณะ ท่าทางเรียบร้อยงดงามน่าเลื่อมใส

2.สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ตื่นเป็นสุขหรือสบายในเวลาตื่น คือ ตื่นขึ้นแล้วไม่ทอดถอนหายใจ ไม่ซึมเซาไม่งัวเงีย ไม่สยิ้วหน้า ไม่บิดไปบิดมา มีหน้าตาแช่มชื่นเบิกบานเหมือนดอกบัวที่กำลังแย้มบาน มีความเบิกบานคล้ายๆ กับว่าเพิ่งออกจากในแหล่งที่มีความสดชื่นมีความสุข

3.น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ไม่ฝันร้าย คือ ไม่ฝันเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น พวกโจรรุมล้อม สุนัขไล่กัน หรือตกเหว แต่จะฝันเห็นแต่สิ่งที่ดีงามมีสิริมงคล เช่น ฝันว่าไปไหว้พระเจดีย์ ทำการบูชา และฟังพระธรรมเทศนา

4.มนุสฺสานํ ปิโย โหติ เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือ เป็นที่รักที่เจริญใจ ของมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนพวงไข่มุกที่ห้อยอยู่ที่หน้าอก หรือพวงดอกไม้ที่ประดับอยู่บนศีรษะ

5.อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คือ ไม่ใช่เป็นที่รักของมนุษย์เพียงอย่างเดียว ยังเป็นที่รักของเหล่ากายละเอียดทั้งหลาย

6.เทวตา รกฺขนฺติ เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา คือ เทวดาทั้งหลายย่อมคอยตามรักษาเหมือนมารดาบิดาที่คอยตามรักษาบุตรธิดา

7.นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมต ไฟ ยาพิษ ศาสตรา ก็ดี ย่อมไม่กล้ำกราย ต่อผู้นั้น คือ ไม่ถูกไฟไหม้ ไม่ถูกวางยาพิษ ศัตราอาวุธต่างๆ ภัยต่างๆ ทำอันตรายไม่ได้

8.ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตของผู้นั้นย่อมเป็นสมาธิตั้งมั่นได้เร็ว คือเมื่อเจริญกัมมัฏฐาน ใจหยุดใจนิ่งได้เร็ว ปล่อยอารมณ์ภายนอกได้เร็วเพราะว่าไม่มีความโกรธกับใคร ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร มีแต่ความปรารถนาดีกับทุกๆ คนในโลก จิตจึงสำเร็จเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิได้เร็ว

9.มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ สีหน้าผู้นั้นย่อมผ่องใส คือ หน้าตามีผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่งสดใส เหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ๆ

10.อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ในเวลาใกล้ตายย่อมเป็นผู้มีสติ ไม่หลงทำกาละ คือ ตอนใกล้จะละโลก จิตจะผ่องใสมีความสุข เเม้จะละโลก ก็ไม่หวาดหวั่นในมรณะภัย มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส ไม่หลงตาย คล้ายนอนหลับไปเฉยๆ

11.อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พฺรหฺมโลกูปโค โหติ เมื่อมรณะแล้ว ถ้ายังไม่แทงตลอดธรรมอันยวดยิ่ง (บรรลุพระอรหันต์) ย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติอย่างสูงสุดถึงพรหมโลกได้ทันที เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น

นี้คืออานิสงส์การแผ่เมตตาโดยย่อซึ่งเราเองเป็นผู้ที่ได้รับ แต่ถ้าเรายังไม่สามารถทำจิตที่โกรธแค้นให้ดับไปเสียได้ เราจะต้องเป็นผู้ที่พลาดหวังจากอานิสงส์เหล่านี้อย่างแน่นอน

 

8) บรรเทาความโกรธด้วยการพิจารณาแยกธาตุ

            ถ้ายังไม่สามารถทำความโกรธแค้นให้ดับไปได้ ด้วยอุบายวิธีดังกล่าว คราวนี้ให้นึกเอาคนที่เป็นศัตรูนั้นมาพิจารณาแยกออกให้เห็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุ ด้วยการพิจารณาว่า

เมื่อเราโกรธเขานั้น เราโกรธอะไรเขาเล่า โกรธผมหรือขน หรือเล็บ หรือฟัน หรือหนัง หรือโกรธเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หรือโกรธหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด หรือโกรธไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง หรือโกรธ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้นหรือโกรธน้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตรหรือ ในธาตุ 4 เราโกรธ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือ เราโกรธขันธ์ 5 อายตนะ 12 หรือธาตุ 18

            ในขันธ์ 5 นั้น เราโกรธ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ หรือว่า วิญญาณขันธ์ ในอายตนะ 12 นั้น เราโกรธจักขวายตนะ รูปายตนะหรือ โกรธโสตายตนะ สัททายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ มนายตนะ ธัมมายตนะ หรือ ในธาตุ 18 นั้น เราโกรธจักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ หรือโกรธโสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ หรือโกรธฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ หรือโกรธชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ หรือโกรธกายธาตุ โผฏฐัพพะธาตุ กายวิญญาณธาตุ หรือ โกรธมโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ เมื่อได้พิจารณาแยกธาตุอย่างนั้นแล้ว ก็จะมองเห็นสภาวธรรมด้วยปัญญา เห็นแจ้งชัดว่าฐานที่ตั้งของความโกรธย่อมไม่มีอยู่ในคนผู้เป็นศัตรูนั้น เพราะธาตุทั้งหลายแต่ละธาตุ มีผมเป็นต้น เป็นสิ่งที่ใครๆ ไม่ควรจะโกรธ และนอกเหนือไปจากธาตุทั้งหลายมีผมเป็นต้นแล้ว ก็หามีคนไม่

 

9) บรรเทาความโกรธด้วยการให้ปันสิ่งของ

            เมื่อผู้เจริญเมตตายังไม่สามารถบรรเทาความโกรธให้สงบได้ด้วยวิธีดังกล่าวอีก ก็ให้ใช้วิธีแบ่งปันสิ่งของ คือให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่เป็นศัตรู แม้ตนเองก็ต้องรับสิ่งที่เขาให้ด้วยความเต็มใจเช่นกัน ถ้าคนที่เป็นศัตรูมีความฝืดเคือง มีเครื่องบริขารที่ชำรุดใช้สอยไม่ได้ ก็พึงให้เครื่องบริขารของตนแก่เธอ เมื่อได้ให้ปันสิ่งของอย่างนั้น ความโกรธความเคียดแค้นชิงชังจะระงับลงอย่างสนิททีเดียว แม้ความโกรธของคนที่เป็นศัตรูซึ่งติดมาตั้งแต่อดีตชาติก็จะระงับลงทันทีเช่นเดียวกัน เหมือนดังความโกรธของพระมหาเถระรูปหนึ่งระงับลง เพราะได้บาตรงามซึ่ง พระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถูกไล่ออกจากวัดถึง 3 ครั้งมอบถวาย พร้อมกับเรียนท่านว่า “    ท่านขอรับ บาตรใบนี้มีราคา 8 กหาปณะ โยมผู้หญิงของกระผมถวายมาเป็นลาภโดยชอบธรรม ขอท่านได้โปรดอนุเคราะห์เป็นเนื้อนาบุญให้โยมของกระผมด้วยเถิด” พระมหาเถระก็ยอมรับแต่โดยดี ความสมัครสมานอันดีจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ขึ้นชื่อว่าการให้ปันนี้มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่มาก สมดังที่พระโบราณาจารย์ได้กล่าวเอาไว้ว่า

            การให้เป็นอุบายทรมานคนพยศให้หายได้ การให้เป็นเครื่องบันดาล ให้ประโยชน์ทุกๆ อย่างสำเร็จได้ ผู้ให้ย่อมฟูใจขึ้น ส่วนผู้รับย่อมอ่อน น้อมลง ทั้งนี้ก็ด้วยการให้วาจาที่ไพเราะอ่อนหวานเป็นเหตุ การที่ต้องพยายามแผ่เมตตาไปในบุคคลผู้เป็นศัตรู เพราะถ้าทำได้จะเป็นการช่วยให้เมตตานั้นเข้าถึงขั้นสีมสัมเภท อันหมายถึงการทำลายขอบเขตของเมตตา ให้เป็นเมตตาที่มีอำนาจกว้างขวางเสมอกันในบุคคลทุกจำพวก มีเมตตาจิตสม่ำเสมอทั่วไปไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง ทำให้เกิดฌานเร็วขึ้น และฌานที่เข้าถึงก็จะตั้งมั่นไม่เสื่อมคลาย

 

-----------------------------------------------------------------------------

6) ปลิโพธ คือ ความกังวล 10 ได้แก่ 1.ความกังวลในที่อยู่ 2.ความกังวลในตระกูลอุปัฏฐาก 3.ความกังวลในลาภสักการะ 4.ความกังวลในหมู่คณะ 5)ความกังวลในการงาน 6.ความกังวลในการเดินทาง 7.ความกังวลในหมู่ญาติ 8.ความกังวลในความเจ็บป่วย 9.ความกังวลในการเรียน 10.ความกังวลในฤทธิ์.
7) เวรัญชกัณฑวรรณา. มก. เล่ม 1 หน้า 346.
8) วาเสฏฐสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 ข้อ 707 หน้า 409.
9) สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 15 ข้อ 250 หน้า 365.
10) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 12 ข้อ 232 หน้า 244.
11) สังยุตตนิกาย สคถาวรรค, มก. เล่ม 15 ข้อ 189 หน้า 267.
12) อรรถกถาอุรคสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต, มก. เล่ม 46 หน้า 25.
13) อังคุตตรนิกาย จตุกฺกนิบาต, มก. เล่ม 21 ข้อ 95 หน้า 144.
14) ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 48.
15) มหาสีลวกชาดก ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 56 ข้อ 51 หน้า 60.
16) ขันติวาทีชาดก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ, มก. เล่ม 48 หน้า 457.
17) ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 58 ข้อ 744 หน้า 766.
18) อรรถกถาติงสตินิบาต ฉัททันตชาดก ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 61 หน้า 398.
19) อรรถกถามหาปิชาดก ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 61 หน้า 447.
20) อรรถกถามหานิบาตชาดก ภูริทัตชาดก, มก. เล่ม 64 หน้า 68.
21) จัมเปยยจริยา ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 74 หน้า 264.
22) สังขปาลชาดก ขุททกนิกายชาดก, มก. เล่ม 61 หน้า 665.
23) มาตุโปสกชาดก ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 60 หน้า 1-3.
24) เมตตาในระดับของอัปปนาสมาธิ
25) อรรถกถาอรกชาดก ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 57 หน้า 117.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025971599419912 Mins