ลักษณะของภพภูมิในทางพระพุทธศาสนา

วันที่ 13 สค. พ.ศ.2558

 

ลักษณะของภพภูมิในทางพระพุทธศาสนา

            การมองเห็นจักรวาลอันกว้างใหญ่หลายๆ จักรวาล ในทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึง ในสมัยพุทธกาลคือ พระอนุรุทธะผู้เป็นเลิศทางทิพยจักขุได้ตอบพระสารีบุตรถึงป่าโคสิงคสาลวัน งามด้วยภิกษุเช่นไร

“    ท่านอนุรุทธะ ตอบว่าท่านสารีบุตร ภิกษุในพระศาสนานี้ ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุขึ้นปราสาทอันงดงามชั้นบน พึงแลดูมณฑลแห่งกงตั้งพันได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์”4)

 

สำหรับจักรวาลหลายๆ จักรวาลที่มารวมตัวกัน พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า โลกธาตุ โดยในจูฬนีสูตร ได้กล่าวถึงลักษณะของจักรวาล 3 อย่าง คือ

1.โลกธาตุมีขนาดเล็ก เรียกว่า สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ มี 1,000 จักรวาล

2.โลกธาตุขนาดกลาง เรียกว่า ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ มี 1,000,000 จักรวาล

3.โลกธาตุขนาดใหญ่ เรียกว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ มีแสนโกฏิ หรือล้านล้านจักรวาล

ในทางพระพุทธศาสนาได้พูดถึงโครงสร้างของจักรวาล ว่าทุกๆ จักรวาลจะประกอบด้วยไตรภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ


 

กามภพ

            ลักษณะโครงสร้างของกามภพจะมี เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีทวีปทั้ง 4 อยู่ด้านข้างของเขา เหนือขึ้นไปก็จะเป็นรูปภพ เหนือขึ้นอีกก็จะเป็นอรูปภพ มีมหานรก อยู่ใต้เขา

 

 

สำหรับลักษณะโครงสร้างในแต่ละส่วนมีดังต่อไปนี้

            1. นรก นรกขุมใหญ่เรียกว่า มหานรก นรกขุมบริวารเรียกว่าอุสสทนรก นรกย่อย ลงมา เรียกว่า ยมโลก ในยมโลกมีเทวดาต่างๆ มาทำหน้าที่ ส่วนมากเป็นชุดกุมภัณฑ์ แต่ถ้าในมหานรกและอุสสทนรก ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบาปและกรรมของสัตว์นรก ผังของนรกเรียงกันเหมือนดวงธาตุ มีทิศทั้ง 4 เรียงกันเป็นระเบียบระบบ มหานรกมี 8 ขุม อุสสทนรกมี 128 ขุม ยมโลกมี 320 ขุม รวมกันทั้งหมดเป็น 456 ขุม มหานรกมี 8 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 ชื่อว่า สัญชีวมหานรก

ชั้นที่ 2 ชื่อว่า กาฬสุตตมหานรก

ชั้นที่ 3 ชื่อว่า สังฆาฏมหานรก

ชั้นที่ 4 ชื่อว่า โรรุวมหานรก

ชั้นที่ 5 ชื่อว่า มหาโรรุวมหานรก

ชั้นที่ 6 ชื่อว่า ตาปนมหานรก

ชั้นที่ 7 ชื่อว่า มหาตาปนมหานรก

ชั้นที่ 8 ชื่อว่า อเวจีมหานรก


 

สำหรับมหานรกแต่ละขุมที่เกิดขึ้นจะรองรับการทำอกุศลกรรมที่แตกต่างกัน คือ

ขุม 1 ทำกรรมปาณาติบาตเป็นหลัก

ขุม 2 ทำกรรมอทินนาทานเป็นหลัก

ขุม 3 ทำกรรมกาเมสุมิจฉาจารเป็นหลัก

ขุม 4 ทำกรรมมุสาวาทเป็นหลัก

ขุม 5 ทำกรรมดื่มสุรา เสพยาเสพติดเป็นหลัก

ขุม 6 ทำกรรมเล่นการพนันเป็นหลัก ขุม 7 ทำกรรมเที่ยวกลางคืนเป็นหลัก

ขุม 8 อเวจีมหานรก ทำครุกรรม 5 คือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต ทำสังฆเภท

 

            ในนรกแต่ละชั้นจะมีมหานรกครบทั้ง 7 ขุม คนที่จะไปอยู่ในมหานรกชั้น 1 นั้น ก็เพราะมีกรรมหนักๆ เพียงอย่างเดียวส่งผล (ทำบาปอย่างเดียว) ในชั้นที่ 2 ก็เพราะมีกรรมหนัก 2 อย่าง (ทำบาป 2 อย่าง) ในชั้นที่ 3 ก็มีกรรมหนัก 3 อย่าง คือทำผิดอย่างหนัก 3 ข้อ ในชั้นที่ 4 ก็มีกรรมหนัก 4 อย่าง ในชั้นที่ 5 มีกรรมหนัก 5 อย่าง ในชั้นที่ 6 มีกรรมหนัก 6 อย่าง ในชั้นที่ 7 มีกรรมหนัก 7 อย่าง ในชั้นที่ 8 อายุยืนยาวนานเพราะทำอนันตริยกรรม หรือทำกรรมหนักมากๆ เป็นอาจิณณกรรม เช่น ฆ่าคนตลอดชีวิต

            การที่สัตว์นรกจะไปอยู่รับกรรมชั้นใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าทำกรรมหนักไว้กี่อย่าง และความหนักเบาของกรรมแต่ละชนิดที่สัตว์นรกนั้นทำเอาไว้ เช่น ถ้าฆ่าสัตว์ก็สามารถไปตกนรกได้ทุกชั้น ขึ้นอยู่กับว่า ทำไว้หนักมากน้อยเพียงใด ถ้าทำไว้มาก และทำกรรมอื่นๆ ไว้ด้วยก็ไปตกนรกชั้นที่ลึกอายุก็ยืนยาว

 

2. สวรรค์ มี 6 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 ชื่อว่า จาตุมหาราชิกา ผู้ที่เกิดชั้นนี้ คือ ผู้ที่ทำบุญเพื่อหวังคุณ

ชั้นที่ 2 ชื่อว่า ดาวดึงส์ ผู้ที่เกิดชั้นนี้ คือ ผู้ที่ทำบุญเพราะเห็นว่าเป็นความดี

ชั้นที่ 3 ชื่อว่า ยามา ผู้ที่เกิดชั้นนี้ คือ ผู้ที่ทำบุญเพราะเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูลของตนเอง

ชั้นที่ 4 ชื่อว่า ดุสิตา ผู้ที่เกิดชั้นนี้ คือ ผู้ที่ทำบุญเพื่ออยากจะสงเคราะห์สัตว์โลก

ชั้นที่ 5 ชื่อว่า นิมมานรดี ผู้ที่เกิดชั้นนี้ คือ ผู้ที่ทำบุญตามต้นแบบและทำด้วยความตั้งใจ

ชั้นที่ 6 ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตดี ผู้ที่เกิดชั้นนี้ คือ ผู้ที่ทำบุญด้วยความปีติ

 

                รูปภพ รูปภพอยู่สูงกว่ากามภพขึ้นไปอีกกล่าวคือ พรหม 16 ชั้น แต่จริงๆ แล้ว พรหมมีเพียง 9 ชั้น แต่มี 16 พวก เพราะว่าพวกรูปภพคือพวกที่ได้รูปฌาน รูปฌานก็มีดังนี้ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และจตุตถฌานก็แยกออกไปอีกเป็นปัญจมฌาน

ฌานที่ 1 มีองค์ฌาน 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌานที่ 2 มีองค์ฌาน 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌานที่ 3 มีองค์ฌาน 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

ฌานที่ 4 มีองค์ฌาน 2 คือ สุข เอกัคคตา

ฌานที่ 5 มีองค์ฌาน 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา

 

  • ชั้นที่ 1 เป็นของปฐมฌาน มี 3 พวก คือ ปาริสัชชา ปุโรหิตา และมหาพรหมา พวกปาริสัชชา คือ พรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างอ่อน ปุโรหิตาได้ปฐมฌานอย่างกลาง มหาพรหมา ได้ปฐมฌานอย่างสูงหรืออย่างแก่ พรหมอยู่กันตามความแก่อ่อนของฌาน มหาพรหมจะอยู่ตรงกลาง ถัดมาก็จะเป็นปุโรหิตา ส่วนรอบนอกก็จะเป็นปาริสัชชา
  • ชั้นที่ 2 เป็นทุติยฌาน มี 3 พวก คือ ปริตตาภา อัปปมาณาภาและอาภัสสรา ปริตตาภา ได้ฌานอย่างอ่อน อัปปมาณาภาได้ฌานอย่างกลาง อาภัสสราได้ฌานอย่างแก่ จะอยู่ในชั้นเดียวกัน
  • ชั้นที่ 3 เป็นตติยฌาน มี 3 พวก คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา ปริตตสุภา ได้ฌานอย่างอ่อน อัปปมาณสุภาได้ฌานอย่างกลาง และสุภกิณหาได้ฌานอย่างแก่
  • ชั้นที่ 4 เป็นจตุตถฌาน จะมีภูมิอยู่ในระดับเท่ากันคือ เวหัปผลาและอสัญญีสัตตา

 

            เวหัปผลา คือพวกที่ได้จตุตถฌาน มีองค์ฌานคือ สุขและเอกัคคตา อสัญญีสัตตา คือพวกที่ได้ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน คือ อุเบกขาและเอกัคคตา เป็นพวกที่เบื่อนามติดรูป หรือที่เรียกกันว่าพรหมรูปฟัก มีลักษณะร่างกายแข็งทื่อเพราะเกิดจากตอนที่เป็นมนุษย์ฝึกสมาธิแล้วเหมือนจิตดับไป เมื่อจิตดับตัวก็แข็งทื่อ ซึ่งมีลมหายใจที่ละเอียดมาก ตั้งแต่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐภูมิ เป็นพรหมชั้น ปัญจสุทธาวาส แบ่งตามกำลังของอินทรีย์เป็นลำดับไป คือ อวิหาภูมิ เจริญศรัทธา ถ้าเจริญศรัทธาอย่างแก่ก็อยู่ในสุด เจริญอย่างกลางก็อยู่ตรงกลาง เจริญอย่างอ่อนก็อยู่นอกสุดตามลำดับ อตัปปาภูมิ ถ้าเจริญวิริยะอย่างแก่ก็อยู่ในสุด เจริญอย่างกลางก็อยู่ตรงกลาง เจริญอย่างอ่อนก็อยู่นอกสุดตามลำดับ สุทัสสาภูมิ ถ้าเจริญสติอย่างแก่ก็อยู่ในสุด เจริญอย่างกลางก็อยู่ตรงกลาง เจริญอย่างอ่อน ก็อยู่นอกสุดตามลำดับ สุทัสสีภูมิ ถ้าเจริญสมาธิ อย่างแก่ก็อยู่ในสุด เจริญอย่างกลางก็อยู่ตรงกลาง เจริญอย่างอ่อนก็อยู่นอกสุดตามลำดับ อกนิฏฐภูมิ ถ้าเจริญปัญญา อย่างแก่ก็อยู่ในสุด เจริญอย่างกลางก็อยู่ตรงกลาง เจริญอย่างอ่อนก็อยู่นอกสุดตามลำดับ

 

ถ้าเจริญอินทรีย์ 5 ได้บริบูรณ์ ก็จะบรรลุนิพพาน เพราะชั้นนี้เป็นชั้นของพระอนาคามี

 

อายุของรูปพรหม 16 ชั้น

1.พรหมปาริสัชชาภูมิ มีอายุ 1/3 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป

2.พรหมปุโรหิตาภูมิ มีอายุ 1/2 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป

3.มหาพรหมาภูมิ มีอายุ 1 วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป

4.ปริตตาภาภูมิ มีอายุ 2 มหากัป

5.อัปปมาณาภาภูมิ มีอายุ 4 มหากัป

6.อาภัสสราภูมิ มีอายุ 8 มหากัป

7.ปริตตสุภาภูมิ มีอายุ 16 มหากัป

8.อัปปมาณสุภาภูมิ มีอายุ 32 มหากัป

9.สุภกิณหาภูมิ มีอายุ 64 มหากัป

10.เวหัปผลาภูมิ มีอายุ 500 มหากัป

11.อสัญญีสัตตาภูมิ มีอายุ 500 มหากัป

12.อวิหาภูมิ มีอายุ 1,000 มหากัป

13.อตัปปาภูมิ มีอายุ 2,000 มหากัป

14.สุทัสสาภูมิ มีอายุ 4,000 มหากัป

15.สุทัสสีภูมิ มีอายุ 8,000 มหากัป

16.อกนิฏฐภูมิ มีอายุ 16,000 มหากัป

 

อรูปภพ เป็นภพสำหรับรองรับผู้ที่ได้อรูปฌาน เมื่อใดปฏิบัติจนได้อรูปฌานเวลาละโลกก็มาอยู่ในภพนี้ซึ่งมี 4 ชั้นตามกำลังความละเอียดของอรูปฌานมีดังนี้

1.อากาสานัญจายตนะ

2.วิญญาณัญจายตนะ

3.อากิญจัญญายตนะ

4.เนวสัญญานาสัญญายตนะ

 

อายุอรูปพรหม 4 ชั้น

1.อากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุ 20,000 มหากัป

2.วิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุ 40,000 มหากัป

3.อากิญจัญญายตนภูม มีอายุ 60,000 มหากัป

4.เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุ 84,000 มหากัป

 

            การอยู่ในภพภูมินี้เปรียบเหมือนการตัดหญ้า แต่ยังไม่ถอนราก กล่าวคือ ยังมีสังโยชน์ร้อยอยู่ ยังถอนกิเลสออกไม่หมด เหมือนกับการดับไฟแต่ยังไม่ได้รื้อหม้อแปลงทิ้ง เมื่อเปิดไฟไฟก็เกิดขึ้นอีก วิบากส่งผลทำให้ไปติดอยู่แค่อรูปภพแค่นั้นเอง ชั้นนี้จะมีอายุยืนยาวนานมาก ผู้ที่อยู่ชั้นนี้ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จึงได้ชื่อว่า อภัพพสัตว์


 

------------------------------------------------------------------------

4) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 19 ข้อ 378 หน้า 31.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.056833318869273 Mins