ธาตุรู้ 6 ธาตุ

วันที่ 17 สค. พ.ศ.2558

 

ธาตุรู้ 6 ธาตุ 

1.จักขุวิญญาณธาตุ

            เป็นนามธรรม มีหน้าที่เห็นรูป คือ รู้สี องค์ธรรมได้แก่ จักขุวิญญาณจิต 2 ดวง คือ ดวงบุญและดวงบาป มีลักษณะรู้รูปารมณ์ คือ รู้สีเท่านั้น มีสภาพน้อมไปหารูปารมณ์ รู้สีแล้วดับไปตามธรรมชาติ เมื่อมีแสงสว่างไปกระทบสี สีก็สะท้อนไปกระทบประสาทตา เมื่อมีมนสิการ คือ เอาใจใส่ จักขุวิญญาณก็จะเห็นรูป รู้สีขึ้น ถ้าไม่มีแสงสว่าง ไม่มีสี ไม่มีประสาทตา ไม่มีมนสิการ คือ ไม่เอาใจใส่ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อมีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว ถ้าปราศจากสติก็มีโลภะอยากเห็น มีอุปาทานยึดมั่นว่า เราเห็น ทำให้เกิดทุกข์ภัยไม่มีที่สิ้นสุด

 

2.โสตวิญญาณธาตุ

            เป็นนามธรรม มีหน้าที่รับรู้เสียงเท่านั้น องค์ธรรมได้แก่ โสตวิญญาณจิต 2 ดวง คือ ดวงบุญและดวงบาป โสตวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรมที่น้อมไปในทางอารมณ์ คือ เสียง เมื่อเสียงหรือได้ยินเสียง ก็ดับไปตามธรรมดาของสังขารธรรม หากผู้ไม่มีสติปัญญากำกับก็ยึดมั่นถือมั่น ส่วนผู้มีสติปัญญากำกับก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น

 

3.ฆานวิญญาณธาตุ

            เป็นนามธรรม มีหน้าที่รับกลิ่น องค์ธรรมได้แก่ ฆานวิญญาณจิต 2 ดวง คือ ดวงบุญและดวงบาป เกิดขึ้นได้ เพราะมีคันธารมณ์กระทบกับฆานปสาท มีลมและมนสิการเป็นสื่อสัมพันธ์ให้ฆานวิญญาณ ความรู้กลิ่นจึงเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อสายลมพากลิ่นไปถูกประสาทจมูกพร้อมกับเอาใจใส่ การรับรู้กลิ่นก็เกิดขึ้น เมื่อกลิ่นกับสายลมผ่านไปความรู้กลิ่นก็หายไปด้วยตามสภาพ

 

4.ชิวหาวิญญาณธาตุ

            เป็นนามธรรม มีหน้าที่รับรู้รส ประกอบด้วยชิวหาวิญญาณธาตุ 2 ดวง คือ ดวงบุญและดวงบาป เกิดขึ้นได้เพราะมีรสารมณ์มากระทบชิวหาปสาท

 

5.กายวิญญาณธาตุ

            เป็นนามธรรม มีหน้าที่รู้โผฏฐัพพารมณ์อย่างเดียว องค์ธรรมได้แก่ กายวิญญาณจิต 2 ดวง คือ ดวงบุญและดวงบาป ถ้าร้อน เย็น อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ที่ดีละเอียดประณีตมาก มากระทบ ก็เป็นโอกาสให้กายวิญญาณที่เป็นผลของบุญเกิดขึ้น ถ้าร้อน เย็น อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ที่หยาบคายมากระทบก็เป็นโอกาสให้กายวิญญาณที่เป็นผลของบาปเกิดขึ้นเปลี่ยนอยู่เสมอ มีสภาพแตกดับเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ หากไม่มีปัญญารู้ทันก็จะเกิดอุปาทาน ทำให้ เกิดทุกข์ไม่มีสิ้นสุด

 

6.มโนวิญญาณธาตุ

            เป็นนามธรรม มีหน้าที่รู้นึกคิดอารมณ์ต่างๆ องค์ธรรมได้แก่ จิต 76 หรือ 108 ดวง คือ

โลภมูลจิต จิตอกุศลที่มีโลภะเป็นมูล 8 ดวง

โทสมูลจิต จิตอกุศลที่มีโทสะเป็นมูล 2 ดวง

โมหจิต จิตอกุศลที่มีโมหะเป็นมูล 2 ดวง

อเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบเหตุ พิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวาร 3 ดวง พิจารณาตัดสินอารมณ์ทางมโนทวาร 1 ดวง และจิตยิ้มของพระอรหันต์ 1 ดวง

มหากุศลจิต จิตบุญ 8 ดวง

มหาวิปากจิต จิตเป็นผลของบุญ 8 ดวง

มหากิริยาจิต จิตกิริยาที่พระอรหันต์บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ 8 ดวง

รูปาวจรกุศลจิต จิตที่ได้รูปฌาน 5 ดวง

รูปาวจรวิปากจิต จิตที่เป็นผลของรูปฌาน 5 ดวง

รูปาวจรกิริยาจิต จิตที่ได้รูปฌานของพระอรหันต์ 5 ดวง

อรูปาวจรกุศลจิต จิตที่ได้อรูปฌาน 4 ดวง

อรูปาวจรวิปากจิต จิตที่เป็นผลของอรูปฌาน 4 ดวง

อรูปาวจรกิริยาจิต จิตที่ได้อรูปฌานของพระอรหันต์ 4 ดวง

โลกุตตรกุศลจิต จิตที่สำเร็จอริยมรรคทั้ง 4 รวมทั้งที่ได้ฌาน 5 เป็น 20 ดวง

โลกุตตรวิปากจิต จิตที่สำเร็จอริยผลทั้ง 4 รวมทั้งที่ได้ฌาน 5 เป็น 20 ดวง

 

            ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในโลกนี้ ย่อมมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัสถูกต้อง การคิดนึกอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งกิจการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะมีการ ประชุมร่วมกันระหว่างของ 3 อย่าง คือ ทวาร อารมณ์ วิญญาณทวาร โดยปกติแปลว่า ประตู ทาง ช่องตามร่างกาย แต่ในที่นี้หมายถึง ทางรับรู้อารมณ์ มี 6 ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อันเป็นอายตนะภายใน อารมณ์ หมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิตใจ สิ่งที่จิตยึดหน่วง สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ วิญญาณ หมายถึง ความรู้แจ้งในอารมณ์ คือความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายนอกและภายในกระทบ มี 6 อย่างเหมือนกันคือ การรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทวาร 6 อารมณ์ 6 และวิญญาณ 6 รวม 18 นี้เอง เรียกว่า ธาตุ 18 ดังนั้น ความเป็นไปทั้งมวลในสรรพสิ่งที่มีชีวิต จึงเป็นเพียงการประชุมพร้อมกันของธาตุทั้ง 18 เรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ไม่มี สภาพความเป็นอยู่ของธาตุ 18 เหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็น “    นิสสัตตะ” คือ ไม่ใช่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

 

            ความเป็นไปทั้งมวลในสิ่งที่มีชีวิต จึงเป็นเพียงการประชุมพร้อมกันของธาตุทั้ง 18 สภาพของตนมีคุณสมบัติเช่นใด ก็รักษาสภาพของตนไว้อย่างนั้นเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น จักขุธาตุ มีสภาพใสสมควรให้สีต่างๆ มาปรากฏขึ้นเมื่อได้รับการกระทบ เมื่อจักขุธาตุนี้เกิดอยู่กับใครก็ตาม ไม่ว่าคน สัตว์ เทวดา จักขุธาตุย่อมคงภาพใสเป็นปกติ รับสีต่างๆ ได้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเอาจักขุธาตุไปรับเสียงแทนโสตธาตุ หรือรับกลิ่นแทนฆานธาตุได้ ความใสของจักขุธาตุรับสีได้เพียงอย่างเดียวตลอดเวลา ไม่ว่าเป็นจักขุธาตุที่เกิดกับผู้ใด หรือ รูปธาตุ (สี) มีสภาพแสดงสี ให้ปรากฏได้ในทางตา ก็คงทรงสภาพแสดงสีอยู่ ดังนั้นไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถแสดงสีให้ปรากฏในทางหู หรือจมูกได้ หรือจักขุวิญญาณธาตุ ทรงไว้ซึ่งสภาพเห็น จักขุวิญญาณธาตุจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ย่อมทำหน้าที่ได้ประการเดียวเท่านั้น คือ การเห็น จะบังคับไม่ให้เห็น บังคับให้ไปได้ยิน หรือได้กลิ่นแทน เป็นไปไม่ได้

 

            ธาตุ 18 นี้เป็นความเป็นไปทั้งมวลในสรรพสิ่งที่มีชีวิต จึงเป็นเพียงการประชุม พร้อมกันของธาตุทั้ง 18 เรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ไม่มี และการจะรู้ว่าธาตุนั้น ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ได้อย่างชัดๆ ก็ต้องเห็นอย่างชัดเจน การที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ก็ต้องเห็นด้วยธรรมจักษุหรือตาของพระธรรมกายเท่านั้น ดังนั้น การศึกษาธาตุ 18 ในภาคปริยัติจึงเป็นเพียงพื้นฐานให้พอเข้าใจ และไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองในภาคปฏิบัติต่อไป

------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011882146199544 Mins