ทุกขอริยสัจ

วันที่ 19 สค. พ.ศ.2558

 

ทุกขอริยสัจ

            อริยสัจข้อแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงคือ เรื่องทุกข์ ที่ทรงแสดงเรื่องทุกข์ก่อนก็เพราะความทุกข์เป็นสิ่งปรากฏชัดในชีวิตมนุษย์ ทุกคนเห็นอยู่ประสบอยู่ทุกวัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในขันธ์ 5 เป็นปกติและเป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทุกชนิด บางทีเมื่อตรัสตอบปัญหาซึ่ง มีผู้ถามว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของมนุษย์ ทรงชี้ไปที่ทุกข์ว่าเป็นภัยใหญ่ของมนุษย์

 

ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงความทุกข์ไว้ 11 หัวข้อ คือ

            1.ชาติทุกข์ คือ ความเกิดเป็นทุกข์ เหตุที่ว่าความเกิดเป็นทุกข์นั้น เราพอมองเห็นได้ด้วยการพิจารณาว่า สำหรับสัตว์ผู้เกิดในครรภ์(ชลาพุชะ) ทุกข์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่สัตว์นอนอยู่ในครรภ์มารดา ต้องขดตัวอยู่ภายในช่องแคบๆ เหยียดมือเหยียดเท้าไม่ได้ จมอยู่ในน้ำคร่ำ สูดกลิ่นเหม็นต่างๆ เป็นเวลาแรมปี ครั้นมารดากินของร้อน เย็น หรือเผ็ดเข้าไป สัตว์นั้นก็ต้องรู้สึก เจ็บแสบ เพราะอาหารนั้นๆ เข้าไปกระทบ ยามเมื่อจะคลอด ก็ถูกลมให้หัวห้อยลง ถูกบีบรัดผ่านช่องแคบๆ ถูกดึงมือ ดึงเท้า จากหมอ ความทุกข์ในยามนี้ย่อมทำให้สัตว์ไม่อาจทนความบีบ คั้นอยู่ได้จึงต้องคลอดออกมาพร้อมร้องเสียงดังลั่น แสดงถึงความทุกข์ทรมาน

แม้ความทุกข์ที่เกิดในกำเนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน เป็นความทุกข์ที่แสนสาหัส ไม่ว่าจะเกิดในอบายภูมิ ปิตติวิสัย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า”ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป”4)

 

            2.ชราทุกข์ คือ ความแก่เป็นทุกข์ เมื่อความแก่เกิดขึ้น ย่อมครอบงำสังขารร่างกายของสัตว์ทั้งหลายให้คร่ำคร่า เปลี่ยนแปลง ผมหงอก ฟันหัก แก้มตอบ ตามืดมัว หูตึง อาการเหล่านี้เป็นเพียงร่องรอยของชราที่ปรากฏให้เห็น เหมือนพายุกรรโชกรุนแรง ที่พัดเอากิ่งก้านสาขาของต้นไม้ให้หักลง ยามเมื่อลมสงบ จึงได้ปรากฏให้เห็นซากต้นไม้ใบไม้หักทับถมกัน เพราะ แท้จริงแล้วความชราได้ต้อนขับอายุแห่งสัตว์ทั้งหลายไปสู่ฝั่งแห่งมรณะตลอดเวลามิได้ขาดสาย

            นับตั้งแต่วันแรกที่เกิด สรรพสัตว์มิได้มองเห็นเลยว่า ทุกขณะที่ผ่านไปในแต่ละวันนั้น กำลังถูกความชราลดทอนอายุให้น้อยลงไปทุกที ร่างกายที่เคยมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีรูปโฉมสง่างาม สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อความชราย่างกรายเข้ามา ก็ต้องเหี่ยวแห้ง หดหู่ ไม่น่าดู น่าชม เหมือนดอกไม้ที่ถูกต้องแสงอาทิตย์ เหี่ยวเฉาไปฉะนั้น ความชราจึงเป็นทุกข์แก่สัตว์ทั้งหลาย

 

            3.มรณทุกข์ คือ ความตายเป็นทุกข์ ความตายก็คือ การดับจิตของสัตว์ทั้งหลาย ทอดทิ้งร่างกายอันเน่าเปื่อยไว้ ความทุกข์ทรมานในเวลาตายย่อมเกิดขึ้นอย่างแสนสาหัส ธาตุไฟในสรีระร่างกาย ย่อมทวีความรุนแรงขึ้น เปรียบเหมือนมีคนมาก่อกองเพลิงไว้เหนือลม ทำให้เกิดความกระวนกระวายระส่ำระสายไปทั่วสรรพางค์กาย และสำหรับสัตว์ที่ได้ก่อกรรมทำบาปอกุศลไว้มาก ย่อมมีกรรมนิมิตคตินิมิตที่เผ็ดร้อน เป็นภาพที่น่ากลัวปรากฏขึ้น เป็นต้น

 

              4.โสกทุกข์ คือ ความโศกเป็นทุกข์ เป็นสภาพจิตที่เดือดร้อนระส่ำระสาย กระวนกระวายแห้งเหือดไป ยามนอนก็นอนไม่หลับ ยามรับประทานก็รับประทานไม่ได้ ทั้งนี้อาจเกิดมาจากการสูญเสียญาติมิตร หรือทรัพย์สมบัติ

 

              5.ปริเทวทุกข์ คือ ความคร่ำครวญรำพันเป็นทุกข์ มีอาการร้องไห้ ร่ำไห้ พิรี้พิไร มีน้ำตาไหล ฟูมฟาย มีสาเหตุจากการที่มารดา บิดา บุตร ภรรยา หรือญาติ ถึงแก่ความตาย หรืออาจมีสาเหตุมาจากการสูญเสียทรัพย์สมบัติ แล้วทำให้บ่นเพ้อละเมอ ราวกับคนวิกลจริตทุกวันเวลา

 

            6.ทุกข์ คือ ความทุกข์กาย เป็นความทุกข์ที่ทำให้จิตใจสลดหดหู่ ทอดถอนใจอันเนื่องจากโรคาพาธก็ดี เนื่องจากการที่ตนต้องอาชญา มีการถูกเฆี่ยนตีจองจำเอาไว้ ถูกตัดมือตัดเท้าก็ดี เนื่องมาจากการทนทุกขเวทนาตามลำพังผู้เดียว ไร้ญาติขาดมิตรก็ดี เนื่องมาจากความยากจนเข็ญใจ ไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ

 

            7.โทมนัสทุกข์ คือ ความทุกข์ใจ เป็นความทุกข์ที่ทำให้รู้สึกเคืองแค้นแน่นอุราปราศจากความสบาย ปราศจากความสุข ให้รู้สึกน้อยอกน้อยใจอยู่ร่ำไป

 

            8.อุปายาสทุกข์ คือ ความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นมาจากการประสบภัยพิบัติอย่างใด อย่างหนึ่ง เช่น สูญเสียญาติ การสูญเสียสมบัติ บริวาร ท่านอุปมาไว้ว่า โสกทุกข์ เปรียบเสมือนบุคคลที่เคี่ยวน้ำมันให้เดือดอยู่ภายในภาชนะบนเตาไฟ ปริเทวทุกข์ เปรียบเสมือนบุคคลเร่งไฟให้น้ำมันร้อนขึ้นจนพลุ่งเดือดล้นออกมาจากภาชนะ อุปายาสทุกข์ เปรียบเสมือนดังน้ำมันซึ่งยังคงค้างเหลืออยู่ในภาชนะ

 

            9.อัปปิเยหิ สัมปโยคทุกข์ คือ ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก กล่าวคือ อารมณ์ทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส หากมิได้เป็นที่พึงปรารถนา มิได้เป็นที่รักที่ชอบใจ ครั้นเมื่อประสบอารมณ์นั้น ก็ย่อมจะมีจิตเป็นทุกข์ เหตุเพราะรู้สึกเกลียดชัง ไม่รักใคร่ ไม่ปรารถนาจะเข้าใกล้ ไม่ปรารถนาจะพบเห็น ปรารถนาจะหลีกไปให้ไกลแสนไกล แต่เมื่อยังทำไม่ได้ก็ต้องเสวยทุกขเวทนา

 

            10.ปิเยหิ วิปปโยคทุกข์ คือ ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก กล่าวคือ บุคคลที่ปรารถนาอารมณ์ทั้ง 5 หากได้ไปคบหาสมาคมด้วยอารมณ์เหล่านั้น บุคคลก็จะรู้สึกพอใจและ มีความสุข แต่หากต้องพลัดพรากจากไป บุคคลย่อมเป็นทุกข์ บุคคลทั้งหลายในโลก ถ้าพลัดพรากจากบิดามารดา จากพี่น้อง จากบุตรภรรยาและญาติมิตรอันเป็นที่รักใคร่ หรือพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย สมบัติพัสถาน บริวารและยศถาบรรดาศักดิ์ ทุกข์นี้แหละจัดเป็นปิเยหิวิปปโยคทุกข์

 

            11.ยัมปิจฉัง น ลภติทุกข์ คือ ความปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา ความทุกข์นี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทุกข์ประกอบในกาย ได้แก่ การที่บุคคลซึ่งประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม หรือ พาณิชยกรรม เมื่อทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่การงานอาชีพ โดยมิได้ย่อท้อต่อความลำบากตรากตรำ แต่ไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ จึงเศร้าโศกเสียใจกับทุกข์ประกอบในจิต ได้แก่ ความปรารถนายศถาบรรดาศักดิ์ ตลอดจนลาภสักการะเงินทอง แต่ไม่สามารถสำเร็จสมเจตนา

            กล่าวโดยสรุป ทุกข์ได้ปรากฏแก่ตัวเรา เป็นความทุกข์รวบยอด ความทุกข์เหล่านี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปอีกอย่างหนึ่งมีเพียง 2 คือ ทุกข์ทางกาย และความทุกข์ทางใจ ที่ทรงแจกแจงออกไปถึง 11 ประการ ก็เพื่อให้เห็นรายละเอียดแห่งทุกข์ที่มนุษย์ประสบอยู่ว่ามีประการใดบ้าง

 

อนึ่ง ความทุกข์เหล่านี้มีขึ้นได้ก็เพราะมีขันธ์ 5 และมนุษย์เรายังยึดมั่นในขันธ์ 5 นั้นว่าเป็นเรา เป็นของเราอยู่

            ความจริงแล้วขันธ์ 5 นี้ เป็นภาระหนักของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย เพียงรูปขันธ์อย่างเดียวก็เป็นภาระอันหนักเพราะต้องถนอมปรนเปรอ เลี้ยงดูด้วยข้าว น้ำ วันละหลายๆ ครั้งจนตลอดชีวิต ยิ่งเวลาเจ็บป่วยก็จะเป็นภาระอันหนักยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ว่า

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระอันหนักแท้

ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การปลงภาระอันนี้เสียได้เป็นความสุข

            ส่วนนามขันธ์เป็นภาระอันหนักเพราะกิเลสมาทำให้หนัก เร่าร้อนอยู่เพราะกิเลสทำให้ร้อน สมดังข้อความที่ทรงแสดงไว้ในอาทิตตปริยายสูตรว่า “    ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เพราะเกิด แก่ ตาย…บ้าง” ซึ่งรวมเป็นเพลิง 2 อย่าง คือ เพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์5) ทุกข์จึงถือเป็นเรื่องแรกที่บุคคลผู้จะเจริญวิปัสสนาจะต้องเห็นและเข้าใจตามความเป็น จริง โดยการเห็นนี้จะไม่ใช่เพียงการเห็นแบบทั่วๆ ไปด้วยการพิจารณาเช่นนี้ แต่ต้องอาศัยภาวนามยปัญญามองให้เห็นตัวทุกข์ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

------------------------------------------------------------

4) วินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 1 หน้า 40.
5) อาทิตตปริยายสูตร วินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 4 ข้อ 62 หน้า 55.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010144098599752 Mins