มรรคอริยสัจ

วันที่ 19 สค. พ.ศ.2558

 

 มรรคอริยสัจ

            ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรเรียกมรรคอริยสัจว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แปลว่า อริยสัจ คือ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งหมายถึงอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง หรือหลักปฏิบัติอันเป็นสายกลาง) ในที่นี้กล่าวถึงคุณธรรม 8 ประการ คือ

1.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

2.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ

3 สัมมาวาจา การพูดชอบ

4.สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ

5.สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ

6.สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ

7.สัมมาสติ ความระลึกชอบ

8.สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

 

ความหมายขององค์ทั้ง 8 ของอริยมรรค คือ

1.สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุญบาปมีจริง ชาติหน้ามี ชาติก่อนมี ในความหมายที่สูงขึ้นไป หมายถึง การเห็นอริยสัจ 4 ครบถ้วนตามความเป็นจริง คือ เห็นอริยสัจซึ่งประกอบด้วย ญาณ 3 อาการ 12

 

2.สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ความดำริชอบ อันประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ

2.1ดำริที่จะปลีกตัวออกจากอารมณ์ยั่วยวนต่างๆ (เนกขัมมสังกัปปะ)

2.2ดำริในการไม่พยาบาท (อัพยาปาทสังกัปปะ)

2.3ดำริในความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสาสังกัปปะ)

 

3.สัมมาวาจา หมายถึง การพูดที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ ดังนี้

3.1เว้นจากการพูดเท็จ พูดคำไม่จริง

3.2เว้นจากการพูดส่อเสียด พูดคำประสานสามัคคี

3.3เว้นจากการพูดคำหยาบ พูดคำอ่อนหวาน

3.4เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดคำมีประโยชน์

 

4.สัมมากัมมันตะ หมายถึง การกระทำชอบ มีองค์ประกอบดังนี้

4.1เว้นจากการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น สัตว์อื่น ซึ่งรวมเรียกว่า เว้นปาณาติบาต มีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย

4.2เว้นจากการเบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งรวมเรียกว่า เว้นอทินนาทาน มีการเสียสละแบ่งปัน เฉลี่ยความสุขของตนเพื่อผู้อื่นตามสมควร

4.3เว้นจากอพรหมจรรย์ ได้แก่ การเสพเมถุน คือเว้นจากกามารมณ์ พอใจในเนก- ขัมมะ คือปลีกตนจากกามอย่างต่ำ หมายถึง เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พอใจในคู่ครองของตน

 

5.สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเว้นมิจฉาชีพทุกรูปแบบ ประกอบตนอยู่ในสัมมาชีพ คือการประกอบอาชีพที่ไม่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้แก่ตนเองและผู้อื่น

 

6.สัมมาวายามะ หมายถึง ความเพียรชอบทุกรูปแบบ ที่กล่าวถึงในพระบาลีมัคควิภังค- สูตร ตรัสถึงความเพียร 4 ประการ คือ

6.1สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น

6.2ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

6.3ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

6.4อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อม และทำกุศลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ความเพียร 4 ประการนี้ ถือเป็นหลักสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม เพื่อความก้าวหน้า ในชีวิตทางธรรม และเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตของชาวโลกอย่างมากด้วย ผู้หวังความเจริญและความสุข ทั้งทางโลกและทางธรรม ควรมีความเพียร 4 ประการนี้ไว้ในตน

 

7.สัมมาสติ หมายถึง สติชอบ หรือความระลึกชอบ ในขั้นธรรมดา ขอให้พิจารณาว่าระลึกถึงสิ่งใดอยู่ กุศลธรรมเจริญขึ้นอกุศลธรรมเสื่อมไป ก็ควรระลึกถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ ในขั้นสูงขึ้นไป ท่านสอนให้ระลึกสติปัฏฐาน 4 คือ

7.1กายานุปัสสนา พิจารณากาย

7.2เวทนานุปัสสนา พิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์

7.3จิตตานุปัสสนา พิจารณาจิตว่ามีราคะ โทสะ โมหะหรือไม่มี จิตเป็นอย่างไร พิจารณาตามรู้

7.4ธัมมานุปัสสนา พิจารณาธรรมทั้งที่เป็นกุศล อกุศลและอัพยากฤตว่ามีอยู่ในตนหรือไม่ สิ่งนั้นเกิดขึ้นอย่างไร เช่น นิวรณ์ 5 เป็นสิ่งควรละ โพชฌงค์ 7 เป็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เป็นต้น

ความจริงแล้วสติปัฏฐานมี 1 คือ การตั้งสติ ส่วนกาย เวทนา จิตและธรรมนั้นเป็นอารมณ์ของสติ คือ เป็นสิ่งที่ควรเอาสติเข้าไปพิจารณาหรือเอาสติไปตั้งไว้ เหมือนโต๊ะตัวหนึ่งมี 4 ขา ฉะนั้น ผู้อบรมสติบ่อยๆ ย่อมมีสติสมบูรณ์ขึ้น สามารถสกัดกั้นกระแสกิเลสได้มากขึ้น ทำให้กิเลสท่วมทับจิตน้อยลง ทำความดีได้มากขึ้น ชีวิตปลอดโปร่งแจ่มใสมากขึ้น มีทุกข์น้อยลง เพราะมีสติปัญญารู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจิตใจตามความเป็นจริง พระอรหันต์ที่ท่านสิ้นกิเลสแล้วนั้น ท่านเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

 

8.สัมมาสมาธิ หมายถึง การทำสมาธิในทางที่ถูกต้อง สมาธินั้นหมายถึง การที่จิต ตั้งมั่นในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกุศล ความที่จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน ท่านแสดงสมาธิไว้ 3 ระดับ คือ

8.1 ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ

8.2 อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียดฌาน หรือใกล้ฌาน

8.3 อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ หรือสมาธิในฌาน

แต่สมาธิที่หมายถึงในมรรคมีองค์ 8 นั้นคือ อัปปนาสมาธิ หรือสมาธิในฌาน 4 ตามพระบาลีมัคควิภังคสูตร8)

องค์มรรคทั้ง 8 นี้ เมื่อรวมตัวกันเข้าเป็นมัคคสมังคี ก่อให้เกิดสัมมาญาณคือความรู้ชอบ หรือยถาภูตญาณทรรศนะ(ความรู้เห็นตามความเป็นจริง) นี่แหละคือตัวอริยมรรคตามแนวพระพุทธพจน์ ซึ่งสรุปให้เข้าใจง่ายดังนี้

“    เมื่อมีโยนิโสมนสิการ(การทำในใจอย่างแยบคาย อย่างมีปัญญา) ปราโมชย่อมเกิด เมื่อมีปราโมช ปีติย่อมเกิด เมื่อปีติเกิด ปัสสัทธิย่อมเกิด เมื่อมีปัสสัทธิเกิด สุขย่อมเกิด เมื่อสุขเกิด สมาธิย่อมเกิด เมื่อสมาธิเกิด ยถาภูตญาณทรรศนะย่อมเกิด เมื่อยถาภูตญาณทรรศนะเกิดนิพพิทา(ความหน่าย) ย่อมเกิด เมื่อนิพพิทาเกิดวิราคะ(ความคลายกำหนัด) ย่อมเกิด เมื่อวิราคะเกิด วิมุติ(ความหลุดพ้น) ย่อมเกิด รวม 9 ประการ ซึ่งมีอุปการะและหนุนเนื่องไปสู่วิมุติความหลุดพ้นจากกิเลส”9)

     

      ต่อจากสัมมาญาณหรือยถาภูตญาณทรรศนะ ถ้ากล่าวอย่างรวบรัดก็จะไปถึงสัมมาวิมุติ แต่ถ้าขยายออกไปในระหว่างนั้นมีญาณต่างๆ คั่นอยู่หลายประการ กล่าวคือ

1.โคตรภูญาณ แปลว่า ญาณคร่อมโคตร คือ ระหว่างโคตรปุถุชนกับอริยชน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นปุถุชนกับอริยชน เรียกไม่ได้ว่าเป็นปุถุชนหรืออริยชน เปรียบเหมือนคนข้ามฝั่งด้วยเรือเมื่อเทียบท่าแล้ว ขาข้างหนึ่งก้าวขึ้นอยู่บนบก อีกข้างหนึ่งยังอยู่ในเรือ หรืออีกอุปมาหนึ่งเหมือนสภาพของเวลาที่เราเรียกว่า สองสี ส่องแสงกึ่งกลางระหว่างความมืดกับ ความสว่าง ระหว่างกลางคืนกับกลางวัน

2.มรรคญาณ ญาณในมรรค มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น ญาณนี้จะทำหน้าที่ตัดกิเลสให้ขาด เหมือนยาเข้าไปทำลายหรือตัดโรค

3.ผลญาณ ญาณในผล คือ รู้ว่าผลแห่งการกำจัดกิเลสได้เป็นอย่างไร เป็นความสงบสุขอย่างไร เปรียบเหมือนความสุขของคนที่หายโรคแล้ว รู้ว่าโรคหายเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก

4.ปัจจเวกขณญาณ การพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว และกิเลสที่ยังไม่ได้ละว่ามีจำนวนเท่าใด สำหรับพระอริยบุคคล 3 จำพวกแรก ส่วนพระอรหันต์พิจารณาเฉพาะกิเลสที่ละได้แล้วอย่างเดียว ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่ยังไม่ได้ละ เพราะไม่มีกิเลสอะไรจะต้องละอีกแล้ว

            การที่ความสงบสุขอันเกิดจากการตัดกิเลสได้เป็นไปยั่งยืน ไม่ต้องคอยระวังเพื่อไม่ให้ เกิดขึ้นอีกนั่นเอง คือ นิพพาน แปลว่า ความดับสนิท เย็นสนิท ที่กล่าวนี้เป็นกระบวนการของอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ซึ่งเป็นปฏิปทานำไปสู่ความดับทุกข์ หรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

------------------------------------------------------------

8) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค 19/10/33.
9) ทีฑนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 16 ข้อ 455 หน้า 442.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021481982866923 Mins