ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2558

 

ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท

            ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเกี่ยวกับกฎธรรมชาติหรือหลักความจริงที่มีอยู่ตามกฎธรรมชาติ ที่ไม่มีใครสร้างหรือดลบันดาลขึ้น หากแต่มีอยู่ตามธรรมชาติอย่างแท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบกฎธรรมชาตินี้แล้วได้ทรงนำมาประกาศแก่ชาวโลกให้รู้ตาม ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในปัจจยสูตรนั้น

            นอกจากปฏิจจสมุปบาทจะเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวกับกฎธรรมชาติแล้ว ยังเป็นหลักธรรม ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความหลุดพ้นจากทุกข์ เพราะถ้าบุคคลรู้และเข้าใจกฎธรรมชาตินี้แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องจนเกิดปัญญารู้แจ้ง มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้ว ก็เท่ากับได้พบทางเดินของชีวิตอันประเสริฐ เห็นธรรมอันประเสริฐ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในมหาหัตถิปโทปมสูตรว่า

“    ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท”6)

 

            พระพุทธพจน์นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญและเป็นเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์จะต้องดำเนินไปให้ถึง นอกจากจะเป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญดังกล่าวแล้ว ปฏิจจสมุปบาทยังมีสารัตถะที่ละเอียดลึกซึ้ง รู้ได้ยาก เห็นได้ยาก สำหรับสรรพสัตว์ที่ยังหนาด้วยกิเลส พระพุทธองค์ทรงเกรงว่าจะเป็นความเหนื่อยเปล่า ถ้าจะแสดงหลักธรรมนี้ แก่ชาวโลก จึงทรงน้อมพระทัยเพื่อการขวนขวายน้อยที่จะไม่แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ เพราะทรงดำริว่า

“    ธรรมที่เราได้บรรลุนี้ลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต หยั่งไม่ได้ด้วยความตรึก ละเอียด รู้ได้แต่บัณฑิต ส่วนหมู่สัตว์นี้เป็นผู้ยินดีเพลิดเพลินใจในอาลัย ยากที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทที่เป็นปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ได้ และยากที่จะเห็นธรรมที่สงบสังขารทั้งปวง สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอก เป็นที่ดับ เป็นที่ออกจากตัณหา ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และคนอื่นไม่รู้ทั่วถึงธรรมของเรา เราก็จะลำบากเหน็ดเหนื่อยเปล่า”7)

 

            พระดำริตามที่กล่าวนี้ บ่งชัดว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งมาก ยากแก่การเข้าใจและรู้ตามจริงๆ และหากศึกษาพุทธประวัติช่วงตรัสรู้ใหม่ๆ จะเห็นได้ว่า ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข และพิจารณาทบทวนธรรมะที่ตรัสรู้นั้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ ทรงย้ายที่ประทับวนเวียนอยู่บริเวณใกล้กับต้นโพธิ์นั้น ก็เพื่อทบทวนพิจารณา ปฏิจจสมุปบาทนี้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตก็ได้ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทนี้ เช่นเดียวกัน ในมหาปทานสูตรที่ได้กล่าวถึงประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 7 พระองค์ ก็ได้แสดงถึงการตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทของพระวิปัสสีพุทธเจ้า8) และพระพุทธองค์ก็ตรัสว่าเป็นหนทางเก่าแก่และนครเก่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงเคยดำเนินมาแล้ว มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท โดยที่พระอานนท์กราบทูลพระพุทธองค์ว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่ายสำหรับท่าน แต่พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสห้ามพระอานนท์ว่า

“    เธออย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ ลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก ดูก่อนอานนท์ เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรมอันนี้ หมู่สัตว์นี้ จึงเกิดเป็น ผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้วย เป็นผู้เกิดมาเหมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง จึงไม่พ้นอบาย ทุคติ วินิบาต สงสาร”9)

            จากพระพุทธดำริของพระพุทธองค์และเหตุการณ์ที่ได้ตรัสกับพระอานนท์ ชี้ให้เห็นว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมลึกซึ้ง ควรแก่การศึกษาและทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงควรได้ศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดต่อไป

 

------------------------------------------------------------

6) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 18 ข้อ 346 หน้า 528.
7) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 18 ข้อ 321 หน้า 420.
8) ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่มที่ 13 ข้อ 42 หน้า 40.
9) ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่มที่ 13 ข้อ 57 หน้า 165.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019966165224711 Mins