ปฏิจจสมุปบาทในฐานะเป็นวัฏฏะ

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2558

 

ปฏิจจสมุปบาทในฐานะเป็นวัฏฏะ

 

พระพุทธศาสนาแสดงวัฏฏะ คือ อาการวนเวียนแห่งชีวิตที่ดำเนินไป เป็นเหตุเป็นผลสืบช่วงต่อกันไว้ 3 อย่าง

1.กิเลสวัฏ คือ แรงผลักดันของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ ที่ดีบ้างชั่วบ้าง ซึ่งจะต้องมีผลเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง

2.กรรมวัฏ คือ การกระทำต่างพร้อมทั้งเจตนา หรือเจตจำนง ซึ่งก่อให้เกิดผลต่อไป

3.วิปากวัฏ คือ สภาพชีวิต หรือความเป็นไปอันเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นผลดี บุคคลย่อมชอบใจ มีความเพลิดเพลิน หมุนไปสู่กิเลสสายราคะหรือโลภะต่อไปอีก ถ้าเป็นผลร้าย ไม่พอใจ ก่อให้เกิดโทมนัส โกรธเคืองมุ่งร้าย ก่อให้เกิดกิเลสโทสะอย่างไม่รู้เท่าทัน กลายเป็นคนหลง ทำให้เพิ่มกิเลสสายโมหะ อันเป็นต้นเค้าของโลภะและโทสะด้วย สรุปก็คือ ผลนำไปสู่เหตุต่อไปอีก กิเลส กรรม วิบาก และกิเลสอีก เวียนกันอยู่อย่างนี้

 

สำหรับปฏิจจสมุปบาท เมื่อจัดลงในวัฏฏะ 3 ได้ดังนี้

1.อวิชชา ตัณหา อุปาทาน จัดเป็นกิเลสวัฏ

2.สังขาร(กรรม) ภพ(ส่วนที่เป็นกรรมภพ) จัดเป็นกรรมวัฏ

3.วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ภพ(ส่วนที่เป็นอุปัตติภพ) ชาติ ชรามรณะ จัดเป็นวิปากวัฏ25)


            อธิบายว่า ปุถุชน มีกิเลสด้วยกันทุกคน กิเลสคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ความหลง ความอยาก ความยึดมั่น เป็นสาเหตุให้ปุถุชนกระทำกรรม เป็นกรรมวัฏ ได้แก่ สังขาร และกรรมภพ เมื่อปุถุชนกระทำกรรม การเสวยผลของกรรมก็ติดตามมาเป็นวิปากวัฏ การเสวยผลจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่พร้อม คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปปัติภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ฯลฯ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้มีผลเนื่องมาจากกรรม ในช่วงเสวยผล ปุถุชนย่อมเกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ความสุข ความทุกข์ก่อให้เกิดกิเลสแก่มนุษย์ปุถุชน เมื่อเกิดกิเลส ปุถุชนทำกรรม เมื่อทำกรรม ย่อมเสวยผลของกรรม การเสวยผลของกรรมก่อให้เกิดกิเลส กระบวนการย่อมหมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป

 

------------------------------------------------------------

25) วศิน อินทสระ, หลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณาการ, 2524 หน้า 650-651.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012506365776062 Mins