ได้รับพุทธพยากรณ์

วันที่ 10 กย. พ.ศ.2558

 

ได้รับพุทธพยากรณ์

            ระยะเวลาผ่านไป 16 อสงไขย ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากสุดจะนับประมาณเป็นชาติได้ พระโพธิสัตว์ก็ได้เวียนว่ายตายเกิดในกำเนิดต่างๆ มาหลายภพหลายชาติ เพื่อสั่งสมบารมีให้เต็มเปี่ยม จนถึงอสงไขย ที่ 17 ในมหากัปอันประเสริฐชื่อว่า สารมัณฑกัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น 4 พระองค์ คือ 1. พระตัณหังกรพุทธเจ้า 2. พระเมธังกรพุทธเจ้า 3. พระสรณังกรพุทธเจ้า 4. พระทีปังกรพุทธเจ้า

            พระโพธิสัตว์ของเราได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ แต่ยังไม่ได้รับพุทธพยากรณ์ เพราะเหตุที่บารมียังไม่เต็มเปี่ยม ในพระองค์ที่ 4 คือ พระทีปังกรพุทธเจ้า เป็นชาติแรกที่พระโพธิสัตว์ของเราได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะได้นำเสนอการได้รับพุทธพยากรณ์ตามลำดับของสุเมธดาบส ดังต่อไปนี้

 

            นับย้อนหลังจากภัทรกัปนี้ไปอีกสี่อสงไขยกับอีกแสนมหากัปที่เมืองอมรวดี ซึ่งเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวและนํ้า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีบุญ พระโพธิสัตว์ของพวกเราได้เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อสุเมธ ซึ่งท่านได้ถือกำเนิดมาจากตระกูลที่ดีที่สุดในยุคนั้น เป็นชายหนุ่มรูปงาม และมีผิวพรรณผุดผ่อง น่าเลื่อมใส เป็นผู้คงแก่เรียน ศึกษาจบไตรเพท แตกฉานในศิลปะทุกประการ ต่อมาไม่นานมารดาบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่สุเมธยังเป็นหนุ่ม บริวารผู้จัดการผลประโยชน์ได้นำบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดของตระกูลมาให้ท่านสุเมธดู พร้อมกับพาไปที่ห้องเก็บสมบัติ ภายในห้องเก็บสมบัติ เต็มไปด้วยทอง เงิน แก้วมณี และรัตนชาติต่างๆ มากมาย บริวารผู้จัดการผลประโยชน์ได้บอกให้ท่านสุเมธทราบว่า

“    นี้คือสมบัติตลอดเจ็ดชั่วตระกูลทั้งหมด ขอท่านจงครอบครองทรัพย์สินทั้งหมดเหล่านี้เถิด”

ท่านสุเมธคิดว่า

“    มารดาบิดา ปู่ย่า ตายาย และตลอดจนทวดของเรา ได้สะสมทรัพย์เหล่านี้ไว้มากมายมหาศาล แต่เมื่อไปสู่ปรโลกก็ไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไปได้แม้เพียงกหาปณะเดียว เราจะหาวิธีเอาทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้ติดตามตัวเราไปในภพเบื้องหน้าให้ได้”

ท่านสุเมธจึงขึ้นไปสู่ชั้นบนของปราสาท แล้วนั่งคิดพิจารณาว่า

“    การเกิดขึ้นเป็นทุกข์ การเจ็บป่วยก็เป็นทุกข์ การตายก็เป็นทุกข์ อันตัวเราย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นธรรมดา เราควรแสวงหาอมตธรรม ที่ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขล้วนๆ เราควรใช้ร่างกายอันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกปฏิกูลนี้ แสวงหาทางพ้นจากทุกข์ให้ได้เสมือนกับความสุขย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อความทุกข์ ฉันใด เมื่อวัฏสงสารมีความหลุดพ้นจากวัฏสงสารก็ย่อมมีได้ ฉันนั้น เมื่อของร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอันเป็นเครื่องระงับความร้อนนั้นก็ย่อมมี ฉันใด แม้ความสงบเย็นอันเป็นเครื่องดับความร้อนด้วยไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ก็พึ่งมี ฉันนั้น เมื่อความชั่วมีอยู่ ความดีก็ต้องมี ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ แม้ความไม่เกิดก็ย่อมมีได้ ฉันนั้น”

 

            จากนั้นก็ได้พิจารณาเปรียบเทียบถึงการไม่แสวงหาแนวทางพ้นทุกข์กับเหตุการณ์ทั่วไป ที่ปรากฏอยู่บนโลกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ โดยได้เปรียบเทียบเป็นลำดับไป ดังนี้

1. เมื่อบุคคลตกอยู่ในหลุมคูถ เห็นสระมีนํ้าสะอาดเต็มเปี่ยม แต่ไม่ล้างตัวที่สระนํ้านั้น จะเป็นความผิดของสระนํ้านั้นก็หาไม่ ฉันใด เมื่อสระนํ้าคืออมตธรรมอันเป็นเครื่องชำระมลทิน คือกิเลสมีอยู่ แต่ไม่ยอมแสวงหาอมตธรรมนั้น จะถือว่าเป็นความผิดของอมตธรรมก็หาไม่ แต่เป็นความผิดของบุคคลนั้นเอง ฉันนั้น

2. เมื่อบุคคลถูกศัตรูรุมล้อม ช่องทางหนีไปก็มีอยู่ แต่ไม่ยอมหนีไป จะเป็นความผิดของช่องทางนั้นก็หาไม่ ฉันใด บุคคลผู้ถูกกิเลสห่อหุ้มยึดติดไว้ ช่องทางหมดกิเลสไปสู่อมตมหานครก็มีอยู่ แต่ไม่แสวงหาช่องทางนั้น จะเป็นความผิดของอมตมหานครก็หาไม่ ฉันนั้น

3. บุคคลผู้เจ็บป่วย เมื่อหมอรักษาโรคมีอยู่ แต่ไม่ยอมให้หมอรักษาจะเป็นความผิดของหมอก็หาไม่ฉันใด บุคคลผู้ได้รับทุกข์ถูกความเจ็บป่วยไข้ คือกิเลสเบียดเบียนแล้วไม่แสวงหาครูบาอาจารย์ที่รู้หนทางพ้นทุกข์ จักเป็นความผิดของครูบาอาจารย์นั้นก็หามิได้ ฉันนั้น

 

หลังจากนั้นก็ได้พิจารณาว่าตนไม่ควรมีความห่วงใย ไม่ควรมีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่าเต็มด้วยซากศพต่างๆ นี้ไป โดยพิจารณาเปรียบเทียบเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

1. ธรรมดาเจ้าของเรือย่อมทิ้งเรือที่เก่าครํ่าคร่าผุพังมีนํ้ารั่วเข้าไปได้ ไม่มีความอาลัยฉันใด เราก็จักละทิ้งร่างกายนี้ ซึ่งมีของไม่สะอาดไหลออกจากทวารทั้ง 9 แห่งอย่างไม่มีความอาลัย เข้าไปยังอมตมหานคร ฉันนั้น

2. บุคคลถือรัตนชาติเดินทางไปกับพวกโจร เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นกับตน เพราะมีรัตนชาติอยู่ จึงรีบหนีโจรเหล่านั้นไปฉันใด ร่างกายนี้ก็เป็นเสมือนโจรปล้นรัตนะ เพราะถ้าความอยากเกิดขึ้นในร่างกายนี้ ธรรมรัตนคืออริยมรรคของเราก็จักพินาศไป ดังนั้นเราทิ้งร่างกายนี้อันเปรียบเสมือนโจรแล้วเข้าไปยังนครคืออมตธรรม ฉันนั้น

ท่านสุเมธจึงคิดตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ ท่านได้สละทรัพย์สมบัติของตนทั้งหมด เป็นมหาทานแก่ชนในเมืองมีคนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น แล้วท่านสุเมธเดินทางออกจากอมรวดีนครคนเดียว มุ่งตรงสู่ธรรมิกบรรพตในป่าหิมพานต์ ท้าวสักกะทรงเห็นพระโพธิสัตว์กำลังเดินทางเข้าไปในป่าหิมพานต์ ทราบว่าวันนี้จักถึงที่พัก ท้าวสักกะจึงสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตที่อยู่ให้ท่านสุเมธ เมื่อได้รับพระดำรัสของท้าวสักกะแล้วจึงเนรมิตอาศรมอันเงียบสงบ และที่จงกรมอันรื่นรมย์ใจ รอบๆ บริเวณอาศรมได้มีไม้ดอกไม้ผลนานาชนิดพร้อมกับบ่อนํ้าดื่มที่ใสสะอาด

พื้นที่บริเวณนั้นปราศจากสัตว์ร้ายและนกที่มีเสียงร้องน่าสะพรึงกลัว เป็นที่สงบสงัดในการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง วิสสุกรรมเทพบุตรยังได้เนรมิตพนักพิงไว้ที่สุดทั้ง 2 ด้านของที่จงกรม เป็นศิลาสีเขียว ส่วนภายในศาลาได้เนรมิตสิ่งของที่ควรแก่สมณบริโภคต่างๆ มีบริขารของดาบส เช่นผ้าเปลือกไม้เป็นต้น วิสสุกรรมเทพบุตรจารึกอักษรไว้ที่ฝาบรรณศาลาไว้ว่า

“    ถ้าใครมีความประสงค์ที่จะออกบวช ก็จงถือเอาบริขาร เหล่านี้แล้วจงบวชเถอะ” เมื่อวิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตสิ่งต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กลับไปยังเทวโลก

ท่านสุเมธเดินทางมาถึงอาศรม ที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตให้ ก็มิได้เห็นรอยเท้าของใครเลย จึงคิดว่าเหล่าบรรพชิตที่อาศัยอยู่ในที่พักนี้คงจะไปแสวงหาอาหารที่หมู่บ้านใกล้ๆ นี้เป็นแน่ จึงนั่งรออยู่บริเวณรอบๆ อาศรม ท่านสุเมธได้รอเจ้าของอาศรมอยู่นานแต่ก็ไม่มีใครมาสักที จึงคิดว่าเราควรจะเข้าไปดูในอาศรมดีกว่า เมื่อเปิดประตูเข้าไปข้างในได้มองเห็นอักษรจารึกไว้ที่ฝาผนังแผ่นใหญ่ มีข้อความว่า “    ถ้าใครมี ความประสงค์ที่จะออกบวช ก็จงถือเอาบริขารเหล่านี้แล้วจงบวชเถิด”

 

ท่านสุเมธดาบสจึงได้ถือเพศดาบส แล้วได้เริ่มบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยการเดินจงกรม แล้วนึกถึงเพศนักบวชของตน ว่าเป็นเพศที่สมบูรณ์ที่สุด การบวชของเรางดงามจริง เราจะกระทำสมณธรรมให้ยิ่งขึ้นไป เราจะได้รับความสุขในการปฏิบัติธรรม ซึ่งความสุขในเพศสมณะที่ท่านสุเมธดาบสได้รับมี 8 ประการ หรือที่เรียกว่า สมณสุข 8 ประการ คือ

1. ไม่มีการหวงแหนทรัพย์และของที่มีค่ามาก เพราะชีวิสมณะเป็นชีวิตที่แสวงหาแต่กุศลธรรมเเต่เพียงอย่างเดียว

2. แสวงหาบิณฑบาตที่ไม่มีโทษ หมายถึง ไม่ต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ และไม่ต้องประกอบการหุงต้มอาหารเอง

3. บริโภคบิณฑบาตที่เย็น หมายถึง ปราศจากการบริโภคด้วยอำนาจตัณหา

4. ไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุบีบคั้นจากราชตระกูลในเรื่องการเสียภาษี และยังได้รับการเคารพกราบไหว้จากทุกชนชั้น

5. ปราศจากความกำหนัดความพอใจในเครื่องอุปโภค และเครื่องบริโภคทั้งหลาย ทำให้ปราศจาก ภาระในการดูแลรักษาเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภค

6. ไม่ต้องกลัวโจรปล้น

7. ไม่ต้องคลุกคลีกับพระราชา และอำมาตย์ของพระราชา ทำให้อยู่อย่างสงบสงัด ได้รับความวิเวกทั้งกายเเละใจ

8. ไม่ถูกขัดขวางในทิศทั้ง 4 เปรียบเสมือนนกที่จากคอนมีอิสระที่จะบินไปทุกแห่งหนตามที่ปรารถนา ท่านสุเมธดาบสจึงบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างเต็มที่ ต่อมาไม่นานท่านสุเมธดาบสพิจารณาเห็นถึงโทษในการใช้สอยบรรณศาลา จึงละทิ้งอาศรมนั้นแล้วเข้าไปในป่า อยู่อาศัยที่โคนต้นไม้ ในวันรุ่งขึ้น ท่านสุเมธดาบสได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เหล่าชาวบ้านได้ถวายภัตตาหารเป็นจำนวนมากแก่ท่าน เมื่อท่านสุเมธดาบสได้ทำภัตกิจเสร็จเเล้ว จึงเดินทางกลับมาสู่โคนต้นไม้นั้น ท่านได้นั่งลงบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์เพียงแค่ 7 วัน ก็สามารถทำสมาบัติ 8 และอภิญญา 5 ให้บังเกิดขึ้นได้ ท่านสุเมธดาบสมีความสุขกับการได้เข้าฌานสมาบัติอย่างตลอดต่อเนื่อง โดยไม่ส่งใจไปที่อื่นเลย จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกรได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก หมื่นโลกธาตุสะเทือนเลื่อนลั่นหวั่นไหว ได้บังเกิดบุพนิมิต 32 ประการ แต่ท่านสุเมธดาบสมีความสุขอยู่ในสมาบัติ จึงไม่ได้เห็น และไม่ได้ยินในบุพนิมิตเหล่านั้น

            วันหนึ่ง พระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระขีณาสพสี่แสนองค์เสด็จไปรัมมนคร เพื่อไปประทับอยู่ในสุทัสสนมหาวิหาร เมื่อพวกชาวเมืองทราบข่าวจึงได้ร่วมมือกันเตรียมทางเสด็จ โดยได้แผ้วถางหนทาง และปรับพื้นที่ให้เป็นทางเดิน โปรยข้าวตอกและดอกไม้ ตลอดหนทางที่พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อม พระขีณาสพสี่แสนองค์ ประดับด้วยธงชัยและธงแผ่นผ้าตลอดทางที่เสด็จมา ตั้งต้นกล้วยและแถวหม้อนํ้าประดับประดาอย่างงดงามตลอดทางเสด็จ ในเวลานั้นท่านสุเมธดาบสออกจากฌานสมาบัติ ท่านได้เปลี่ยนอิริยาบถ โดยการเหาะขึ้นไปบนอากาศ ท่านได้เหาะผ่านไปยังรัมมนครเห็นเหล่ามหาชนชาวเมืองรัมมนคร กำลังตกเเต่งประดับประดาพระนคร ด้วยความร่าเริงยินดี ท่านจึงคิดว่า

“    มีเหตุอะไรเกิดขึ้นหนอ” แล้วจึงเหาะลงจากอากาศไปถาม เมื่อทราบว่าชนชาวเมืองรัมมนครกำลังทำทางรับเสด็จพระทีปังกรพุทธเจ้า และได้ยินคำว่า พุทโธ ก็เกิดความปีติใจเป็นอย่างยิ่ง จึงคิดที่จะร่วมทำบุญกับชนชาวเมือง จึงได้ขอโอกาสจากชาวเมืองเพื่อจะร่วมทำทางเสด็จด้วย เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ได้ร่วมทำทางเสด็จพร้อมกับชนเหล่านั้น

ขณะที่ทางเสด็จยังไม่ทันเสร็จนั่นเอง พระทีปังกรพุทธเจ้าก็เสด็จมาถึง สุเมธดาบสเห็นดังนั้นจึงได้ยอมสละชีวิต ใช้ร่างกายของตนทอดเป็นสะพานเหนือเปือกตมให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับ พระขีณาสพสี่แสนองค์เสด็จผ่านไป โดยให้เสด็จเหยียบไปบนร่างกายของตน ขณะที่นอนทอดร่างของตนอยู่บนพื้นดินนั่นเอง สุเมธดาบสได้มีความคิดว่า

“    ถ้าเราปรารถนาความเป็นพระสาวกของพระทีปังกรพุทธเจ้า ก็จักสามารถเผากิเลสทั้งหลายของเราได้ในวันนี้ แต่จะมีประโยชน์อะไรแก่เราผู้เดียว ที่ได้รู้แจ้งธรรมของพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้วข้ามฝั่งไป โดยที่คนอื่นไม่รู้ ด้วยบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่เราได้บริจาคชีวิตนี้ ขอเราจงบรรลุพระสัพพัญญุตณาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต เราจะขนสรรพสัตว์ทั้งหลายข้ามฝั่งไปด้วย เราจักตัดกระแสวัฏสงสาร จักทำลายอาสวกิเลส แล้วยกตนสู่นาวาธรรม นำพามนุษย์และเหล่าเทวดาข้ามไปด้วย”

พระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระขีณาสพสาวกสี่แสน เสด็จมาถึงหน้าของท่านสุเมธดาบส ทรงทอดพระเนตรท่านสุเมธดาบสซึ่งนอนทอดกายเป็นสะพาน เพื่อทำการสักการบูชาด้วยร่างกายกับทั้งชีวิต จึงทราบด้วยพุทธญาณว่า

“    ดาบสนี้ทรงอภิญญา 5 สมาบัติ 8 ได้สักการะบูชาเรา พร้อมกับตั้ง ความปรารถนาเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม”

พระพุทธองค์จึงทรงดำเนินไปจนถึงสุเมธดาบสซึ่งนอนประณมมืออธิษฐานจิตอยู่ แล้วทรงย่างพระบาท ข้างขวาเหยียบบนร่างกายของสุเมธดาบสเสด็จผ่านไป ทำความปรารถนาที่สุเมธดาบสตั้งไว้ในใจให้บริบูรณ์

เมื่อได้เสด็จผ่านไปแล้ว ก็ทรงหยุดพระดำเนิน หันพระวรกายกลับมาทอดพระเนตรดูสุเมธดาบส แล้วจึงทรงพยากรณ์ท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง 4 ว่า

“    ดาบสท่านนี้ ตั้งความปรารถนาเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคต ความปรารถนาของดาบสท่านนี้จักสำเร็จ ในอนาคตกาลอีกสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนมหากัป ดาบสท่านนี้จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จะมีพระนครเป็นที่อยู่อาศัยชื่อว่า กบิลพัสดุ์ มีพระมารดาพระนามว่า พระนางสิริมหามายา มีพระราชบิดาพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อญาณบารมีแก่กล้าแล้ว จักออกบวช ท่านได้บำเพ็ญเพียร เพื่อแสวงหาโพธิญาณ ในวันเป็นที่ตรัสรู้ จักได้รับข้าวมธุปายาสที่โคนไม้นิโครธ (ต้นไทร) แล้วเสวยข้าวมธุปายาสนั้น ที่ริมฝั่งแม่นํ้าเนรัญชรา จากนั้นเสด็จไปยังต้นไม้อัสสัตถพฤกษ์ หรือ ต้นศรีมหาโพธิ์ แล้วทรงประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์ ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์นั้น จักตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์นั้นเอง ท่านจักมีพระอัครสาวกเบื้องขวา ชื่อว่า พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ชื่อว่า พระโมคคัลลานะ มีพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระอานนท์ พระอัครสาวิการูปที่หนึ่ง ชื่อว่า พระเขมาเถรี พระอัครสาวิการูปที่สอง ชื่อว่า พระอุบลวรรณาเถรี”

 

            เมื่อสิ้นพุทธพยากรณ์ พระอริยสาวกทั้งสี่เเสนองค์กระทำการสรรเสริญอนุโมทนาต่อท่านสุเมธดาบส แล้วทำการเวียนประทักษิณพระโพธิสัตว์ จากนั้นพระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอริยสาวกสี่แสนองค์ ก็ได้เสด็จเข้าเมืองไป ท่านสุเมธดาบสได้ฟังพุทธดำรัสเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงบันเทิงใจยิ่งนัก มีความรู้สึกประหนึ่งจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้น ท่านสุเมธมั่นใจว่า ตนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน จึงค้นหาธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้เห็นพุทธการกธรรม มีทานบารมีเป็นข้อแรก ที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อนเคยบำเพ็ญมีเพียงเท่านี้ไม่เกินไปกว่านี้ และบารมี 10 ประการนี้ แม้ในอากาศเบื้องบนก็ไม่มี แม้ในแผ่นดินเบื้องล่างก็ไม่มี แม้ในทิศทั้งหลาย มีทิศตะวันออกเป็นต้น ก็ไม่มี แต่จะตั้งอยู่เฉพาะในภายในหทัยของเราเท่านั้น ครั้นได้เห็นว่าบารมีเหล่านั้น ตั้งอยู่เฉพาะในหทัยอย่างนั้น จึงอธิษฐานบารมีเหล่านั้นทั้งหมด กระทำให้มั่น พิจารณากลับไปกลับมา ยึดเอาตอนปลายทวนมาให้ถึงต้น ยึดเอาตอนต้นทวนให้ถึงตอนปลาย ยึดเอาตอนกลางให้จบลงตอนสุดข้างทั้งสอง ยึดเอาที่สุดจากข้างทั้งสองให้จบลงตอนกลาง และเมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว จึงได้สมาทานพุทธการกธรรม 10 ประการ แล้วได้เหาะขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ไปบำเพ็ญภาวนาในป่าตลอดชีวิต เมื่อหมดอายุขัย ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

            ในชาตินี้จึงเป็นอันว่า การสร้างบารมีเพื่อจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถือว่าเป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ปรารถนาไว้ได้อย่างแน่นอน เพราะได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าเรียบร้อยแล้ว สุเมธดาบสจึงได้ปรากฏเนมิตกนามว่า นิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้แน่นอนแล้วว่า จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตได้อย่างแน่นอน แต่ก็ยังคงต้องสร้างบารมีอีก 4 อสงไขยกับ แสนมหากัป เพื่อการฝึกฝนตนเองในการทำหน้าที่เป็นครูของโลก และเมื่อสร้างบารมีครบตามระยะเวลาแล้ว ก็จะได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

            นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้ว่า การสร้างบารมีเพื่อจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น จะต้องอาศัยกำลังใจอันมหาศาล เนื่องจากระยะเวลาในการสร้างบารมีที่ยาวนาน จนกว่าจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงต้องใช้ความอดทนและความเพียรพยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ ฉะนั้นการที่ได้รับพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนว่า จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตได้อย่างแน่นอนนั้น จึงเป็นเหมือนการให้กำลังใจแก่พระโพธิสัตว์ ผู้มุ่งที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ให้มีกำลังใจและมีความอดทนที่จะบำเพ็ญบารมีต่อไป จนกว่าจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

            ดังนั้น เพื่อการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างสงบสุขกัน และเพื่อเป้าหมายในการเกิดมาของมนุษย์ คือ การสร้างบารมี จึงควรที่จะให้กำลังใจซึ่งกันและกันแก่บุคคลที่ทำความดีให้เขาได้มีกำลังใจในการทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

-------------------------------------------------------------------

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0053688327471415 Mins