ชาดก 500 ชาติ รวมนิทานชาดกพร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ชาดก 500 ชาติ : ชาดก 500ชาติรวมชาดก 500 ชาติพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดก 500 ชาติ :: กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

 ชาดก 500 ชาติ
กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี มีบ้านเศรษฐีหลังหนึ่ง ชายเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของบ้านเป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใสถึงไตรสรณคม ถือศีล ๕ เข้าวัดฟังธรรมไม่ได้เว้นทุกครั้งเมื่อมีโอกาสยามว่างเว้นจากกิจธุระการงาน เศรษฐีผู้นี้จะเข้าวัดฟังธรรม ณ สำนักของพระศาสดาในพระวิหารเชตวันอยู่เสมอ ครั้งนี้อีกเช่นกันเขาให้คนรับใช้ในบ้านตระเตรียมของ เนยใส ดอกไม้ ผ้าจีวรมากมาย เพื่อนำมาถวายพระภิกษุสงฆ์ในวัด

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       “ ครั้งนี้ งานพี่ว่างเว้นหลายวัน พี่อาจจะอยู่ฟังธรรม นั่งสมาธิ(Meditation) ในวัดหลายวันหน่อย เจ้าจงอยู่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านให้ดีเถอะ ” “ ได้จ๊ะพี่ พี่ฟังธรรมให้สบายใจเถอะ อย่าห่วงเลย ทางนี้น้องจะดูแลเอง ” ครั้นรุ่งเช้าเศรษฐีก็เดินทางออกจากบ้าน พร้อมของห่อใหญ่ที่เตรียมไปถวายพระภิกษุสงฆ์เมื่อจุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้คือ การทำบุญใหญ่ หน้าตาของเศรษฐีจึงเต็มไปด้วยความสุข เบิกบาน

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

        เมื่อเขาเดินออกจากบ้าน เจอเพื่อนบ้านก็ทักทายอารมณ์ดี “ ไปไหนละพ่อเศรษฐีออกจากบ้านแต่เช้าเชียว ” “ ไปวัดนะจ๊ะป้า ไปกับฉันไหมล่ะ เข้าวัดฟังธรรมแล้วสบายใจดีนะ ” “ โอ้ย พ่อเศรษฐีไม่ต้องไปชวนป้าเค้าหรอก ลุงพาไปฟังธรรมที่ไรหลับทุกทีเลย เฮ้อ ” เศรษฐีผู้นี้แม้จะมีฐานะร่ำรวยแตกต่างจากชาวบ้านคนอื่น ๆ มากมาย แต่เขาก็ไม่ได้ทะนงตัว เขาให้ความเป็นมิตรและคอยช่วยเหลือทุกคนตามที่จะช่วยได้

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       สิ่งนั้นจึงทำให้ชาวบ้านต่างรักใคร่และรู้จักสนิทสนมเศรษฐีผู้นี้เป็นอย่างดี ทางด้านภรรยาเศรษฐีเมื่อเห็นสามีไม่อยู่บ้านหลายวันจึงให้คนไปรับแม่มาอยู่เป็นเพื่อนที่บ้าน แม่ยายเศรษฐีผู้นี้เป็นคนหูตึง มักจะได้ยินถูก ๆ ผิด ๆ เสมอ “ สวัสดีจ๊ะแม่ เดินทางมาตั้งไกลเหนื่อยไหมจ๊ะ มา มานั่งพักข้างในกันก่อนเถิด ” “ โอ้ย เลื่อยอะไร ไม่มีหรอก แม่เอามาแต่เสื้อผ้ากับข้าวของนิดหน่อยเอง ”

       “ ฉันถามแม่ว่าเหนื่อยไหม ไม่ได้ถามว่าเลื่อยจ๊ะ ” ภรรยาเศรษฐีเตรียมอาหารมากมายไว้ต้อนรับผู้เป็นแม่ เมื่อมาถึงก็ชวนทานข้าวด้วยกัน ทานกันไปพูดคุยกันไปให้หายคิดถึง “ อาหารที่นี่อร่อยถูกปากแม่ไหมจ๊ะ ” “ ห๊า เจ้าว่าอะไรนะ อะไรหร่อย ๆ เหรอลูก ” “ กับข้าวที่นี่อร่อยไหมจ๊ะ แม่ชอบไหม ” “ อ่อ อร่อย ๆ เฮ้อ แกก็รู้ว่าแม่หูตึง พูดให้ดังหน่อยสิ ”

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       เมื่อสองแม่ลูกรับประทานอาหารกันจนอิ่มเสร็จสรรพ ก็ชวนกันมานั่งรับลมที่หน้าบ้าน ผู้เป็นแม่เมื่อลูกออกมาอยู่นอกบ้านกับสามีก็เป็นห่วง จึงถามความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับลูกเขยผู้เป็นเศรษฐี “ ผัวของเองเป็นยังไงบ้างล่ะ มาอยู่บ้านเขา เขาเลี้ยงดูแกดีหรือเปล่าละ ” “ โธ่แม่อย่าเป็นห่วงฉันเลยจ๊ะ พี่เศรษฐีเขาเป็นคนดีดูแลฉันดีมากเลยจ๊ะ ”

       “ แล้วแกสองคนอยู่ด้วยกันทะเลาะกันบ้างหรือเปล่า พ่อเศรษฐีนั่นเขาทำอะไรให้แกเจ็บใจบ้างไหม ” “ แม่พูดอะไรอย่างนั้น คนที่เพียบพร้อมด้วยผัวและมารยาทเช่นลูกเขยของแม่ แม้บวชแล้วก็ยังหายากเลยจ้า ” “ ห๊า อะไรนะ พ่อเศรษฐีผัวเองออกบวชแล้วรึ โธ่ทำไมถึงออกบวชเสียเล่า ” แม่หูตึงฟังลูกสาวไม่ถนัด ได้ยินแต่คำว่าบวชเท่านั้น

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       ก็เข้าใจว่าเศรษฐีออกบวชเสียแล้วจึงร้องโวยวายตะโกนเสียงดัง ว่าเศรษฐีออกบวชแล้ว คนงานในบ้านเมื่อได้ยินเสียงแม่ยายเศรษฐีร้องโวยวายว่าเศรษฐีออกบวช ทุกคนก็เชื่อตามนั้น ต่างตกใจ บ้างก็นำไปพูดบอกคนอื่นต่อ ๆ กัน “ อะไรนะ ท่านเศรษฐีออกบวชแล้วรึ โธ่เอ้ย แล้วใครจะอยู่เป็นหลักให้กับบ้านละเนี่ย ”

        เรื่องราวเลยเถิดใหญ่โตเมื่อคนรับใช้ในบ้านนำเรื่องที่ได้ยินจากแม่ยายเศรษฐีนำไปเล่าต่อ ๆ กัน บ้างก็ร้องไห้ฟูมฟาย บ้างก็เอาไปเล่าให้กับคนในหมู่บ้านคนอื่น ๆ ฟัง จากหมู่บ้านหนึ่งก็กระจายไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ข่าวเรื่องเศรษฐีออกบวชถูกชาวบ้านนำมาเล่าต่อ ๆ กันจนขยายวงออกไปนอกหมู่บ้าน ขยายไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ “ เจ้าได้ยินข่าวที่เศรษฐีหมู่บ้านโน้นออกบวชหรือเปล่า ”

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       “ ได้ยินสิ ไม่น่าแปลกหรอก เศรษฐีผู้นั้นใจบุญจะตาย เข้าวัดฟังธรรมประจำ โอ้ย นี่ก็คงคิดจะหาความสุขทางธรรมไปตลอดแล้วละมั้งถึงออกบวช ” “ นั่นนะสิ ข้าก็ว่าอย่างนั้นแหละ ขออนุโมทนาสาธุด้วยคน ” เศรษฐีครั้นสดับธรรมของพระทศพลแล้ว ก็ออกจากวิหารกลับเข้าเมือง ขณะนั้นเขากำลังเดินผ่าน ยังหมู่บ้านที่มีชายกลุ่มหนึ่งกำลังคุยเรื่องของเขาออกบวชอยู่พอดี 

       “ เอ้ ชาวบ้านแถวนี้คุยเรื่องอะไรกันนะ แล้วทำไมมองมาที่เราแปลก ๆ ด้วย ” ชายกลุ่มนั้นเมื่อเห็นเศรษฐีเดินออกมาจากวัดในเพศคฤหัสถ์เช่นเดิมก็แปลกใจ จึงตะโกนถามเศรษฐีในเรื่องที่ตัวเองได้ยินมา “ อ้าว ท่านเศรษฐี ท่านยังไม่ได้บวชหรอกรึ มีข่าวว่าท่านออกบวช พวกคนใช้ในบ้านต่างพากันร้องฟูมฟาย ใคร ๆ ก็เข้าใจว่าท่านเป็นเพศบรรพชิตแล้วนะนี่ ”

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       “ เราไม่ได้ออกบวชสักหน่อย แต่คนอื่น ๆ กลับเข้าใจว่าเราออกบวชแล้ว ช่างเป็นเรื่องที่ดีจริง ๆ เสียงดีได้เกิดขึ้นแล้ว เราไม่ควรให้เสียงนี้หายไป เราควรจะบวชเสียวันนี้แหละ ” ครั้นเศรษฐีได้ยินดังนั้นเขาก็ตัดสินใจออกบวชตามเสียงเล่าลืออันนั้น เขาเดินทางกลับไปที่วิหารเชตวันอีกครั้ง เศรษฐีเมื่อกลับไปถึงเชตวันวิหารก็ไปเฝ้าพระศาสดาทันที

       และเล่าเรื่องที่เขาเพิ่งพบมาถวายแด่องค์พระศาสดา “ ข้าแต่พระองค์ธรรมดาเสียงดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปเสีย เพราะฉะนั้นข้าพระองค์มีความประสงค์จะบวช จึงได้มาที่วิหารนี้อีกครั้งพระเจ้าค่ะ ” ครั้นเขาพรรพชาอุปสมบทแล้วเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหันต์ เหตุการณ์นี้ปรากฏเลื่องลือไปในคณะสงฆ์

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       อยู่มาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรม ได้ยกเอาเรื่องนี้มาพูดคุยกัน เมื่อพระศาสดาทรงทราบถึงเรื่องราวที่พูดคุยกันก็ตรัสว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้บัณฑิตแต่ก่อนได้ความคิดว่า เสียงดีเกิดขึ้นแล้วไม่ควรให้เสียไปจึงพากันบวช ” ครั้งนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าดังนี้

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       ในอดีตกาลครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ณ บ้านเศรษฐีในหมู่บ้านแห่งหนึ่งได้เกิดข่าวดีขึ้น เมื่อภรรยาสาวเศรษฐีได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกให้กับเศรษฐี เด็กชายผู้เป็นลูกเศรษฐีได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากผู้เป็นพ่อกับแม่ เขาเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใสช่างคิดช่างถามจนเป็นที่รักใคร่ของทุกคนในบ้าน

       ครั้นเมื่อเจริญวัยโตเป็นหนุ่มก็มีรูปร่างสง่างามเป็นที่หมายปองของหญิงสาวหลายคนในหมู่บ้าน “ ดูนั่นสิ ชายคนนั้นช่างสง่างามจริงหากหญิงคนใดได้เป็นคู่คงสุขใจยิ่งนัก ” “ แหม รูปก็งามนามก็เพราะที่สำคัญบ้านรวยอีกต่างหาก จะทำยังไงถึงจะให้ลูกเศรษฐีท่านนี้หันมามองเราบ้าง ” ลูกเศรษฐีได้ตกลงปลงใจกับหญิงงามต่างหมู่บ้าน แต่งงานอยู่กินกันอย่างมีความสุขในบ้านของเศรษฐีนั้น 

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       “ ลูกของพ่อ วันนี้พ่อช่างมีความสุขจริง ๆ เลย เมื่อเจ้าได้พบกับคนที่เจ้ารักและเขาก็รักเจ้า ต่อไปนี้ก็คงจะมีความสุขมีคนดูแลเจ้าแทนพ่อกับแม่แล้วสินะ ” ครั้นวันเวลาผ่านไปผู้เป็นพ่อกับแม่ก็ได้ถึงแก่กรรมไปตามยถากรรม ลูกเศรษฐีจึงได้รับตำแหน่งเศรษฐีและดูแลทรัพย์สมบัติต่อไป

       “ ดูทางนี้หน่อยเถิด เราว่ามันยังไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร พวกท่านช่วยกันจัดของให้ดีเถอะ ของจะได้ไม่ชำรุด เสียหายอย่างไรก็รู้ได้โดยง่าย ” เศรษฐีผู้นี้ทำหน้าที่แทนผู้เป็นพ่อได้เป็นอย่างดี เขาดูแลทรัพย์สมบัติที่พ่อทิ้งไว้ให้เป็นอย่างดี และหามาเพิ่มมิได้ขาด ส่วนคนงานในบ้านก็ดูแลเอาใจใส่ไม่บกพร่อง ส่วนภรรยาเขาก็ให้ความรัก ให้เกียรติให้เสมอ

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       “ ลุงพ่อบ้านก็ดูแลตัวเองดี ๆ เถอะ การงานอันไหนไม่สำคัญก็ให้คนอื่นทำ เราก็ยากจะให้ได้ท่านพัก อยู่บ้านนี้ก็คิดเสียว่าฉันเป็นเหมือนลูกเหมือนหลานก็แล้วกัน ” แม้กิจทางโลกไม่เคยบกพร่อง แต่กิจทางธรรมเศรษฐีผู้นี้ก็หมั่นทำไม่ขาดอยู่เช่นกัน ทุกครั้งที่มีโอกาสว่างเว้นจากธุระการงานเขาจะเข้าไปในป่าเพื่อนั่งสมาธิและศึกษาพระธรรมเสมอ

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

      วันหนึ่งเมื่อเศรษฐีทำการค้าขายเสร็จได้กำไรดี ขากลับจากการเดินทางค้าขายเขาได้แวะซื้อของใช้ต่าง ๆ มากมาย “ นี่พี่ ซื้อของอะไรมามากมายจ๊ะ ” “ ของใช้ต่าง ๆ จ๊ะ คราวนี้ซื้อมาเยอะหน่อย พี่ว่าครั้งนี้จะเข้าป่านั่งสมาธินานหลายวัน ” เศรษฐีให้คนงานจัดข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อเตรียมไปนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ

       ละเรื่องทางโลก ศึกษาแต่ทางธรรม “ ครั้งนี้พี่คงไปอยู่หลายวัน ฝากเจ้าดูแลที่นี่ด้วยนะ ” “ ได้จ๊ะ พี่ทำใจให้สบายเถอะนะ เมื่อเค้าวัดก็ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ อย่าห่วงเรื่องทางนี้เลยจ๊ะ ” รุ่งเช้าเมื่อทำกิจเสร็จสรรพเศรษฐีก็เดินทางออกจากหมู่บ้าน ระหว่างที่เดินทางผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ นั้นก็กล่าวทักทายกับคนในหมู่บ้านอย่างยิ้มแย้ม

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

      “ พ่อเศรษฐีนั่นจะไปไหนละ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสพิกลมีข่าวดีอะไรรึ ” “ หึ หึ หน้าฉันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว มิได้มีข่าวดีอะไรหรอก ฉันจะไปนั่งสมาธิในป่าท้ายหมู่บ้านโน้นนะจ๊ะ ” ก่อนเข้าไปในป่าเศรษฐีเข้ามาในวังเพื่อขอพระราชทานอนุญาตจากพระราชาเพื่อละจากกิจที่พึงปฏิบัติแก่พระองค์มุ่งสู่การทำสมาธิในป่าใหญ่

       “ หม่อมฉันขอพระราชทานอนุญาตจากพระองค์ด้วยเถิด การงานใดที่พระองค์จะทรงรับใช้ หม่อมฉันจะกราบถวายหลังจากนี้พระเจ้าค่ะ ” เมื่อขอพระราชอนุญาตจากพระราชาแล้ว เศรษฐีก็มุ่งเดินทางเข้าป่า ครั้นเมื่อถึงกลางป่าใหญ่เศรษฐีก็จัดแจงข้างของต่าง ๆ ให้เข้าที่ แล้วหาที่ใต้ต้นไม้ใหญ่นั่งทำสมาธิ ตั้งจิตให้แน่วแน่ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งและเพ่งไปที่ลมหายใจเข้าออกทำอาณาปานสติ

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       ส่วนผู้เป็นภรรยาครั้นเมื่อสามีไม่อยู่หลายวันจึงให้คนงานที่บ้านไปรับแม่มาอยู่ด้วยแม่ยายเศรษฐีคนนี้ด้วยวัยชราจึงหูตึง ฟังอะไรไม่ถนัดทำให้เข้าใจอะไรผิด ๆ ถูก ๆ อยู่เสมอ “ สวัสดีจ๊ะแม่ นี่หอบข้าวของอะไรมาพะรุงพะรังไปหมดนี่ ” “ ลุงแกเขาไม่มาหรอก โน่น เอาแต่นั่งเฝ้าบ้านไปวัน ๆ ชวนไปไหนก็ไม่ไป ” “ ฉันพูดถึงลุงที่ไหนกัน โอ้ยแม่เนี่ย เข้าใจผิดไปหมด มา มา มา เข้าบ้านก่อนเดี๋ยวค่อยว่ากันใหม่ ” ภรรยาเศรษฐีเมื่อได้มีโอกาสอยู่กับแม่ ก็ปรนนิบัติแม่เป็นอย่างดีเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน “ แม่เดินทางมาไกลคงปวดเมื่อยเต็มที ฉันนวดให้นะจ๊ะ ”

       “ แม่ไม่มีลวดหรอกลูก มีอยู่ที่บ้านโน่นเยอะแยะ ไม่รู้ว่าเจ้าจะใช้จะได้เอามาให้ บ้านสามีเจ้าก็ออกร่ำรวยไม่มีลวดใช้กันเลยเหรอ ” “ ฉันไม่ได้จะเอาลวดฉันจะนวดให้แม่นะจ๊ะ ” ภรรยาเศรษฐีสั่งให้คนงานในบ้านทำอาหารอย่างดีไว้เลี้ยงต้อนรับผู้เป็นแม่ แม่ลูกต่างทานข้าวด้วยกันอย่างมีความสุข “ อร่อยไหมจ๊ะแม่ แม่ครัวที่นี่ทำอาหารอร่อยมากเลยนะ พี่เศรษฐีเขาชมไม่ขาดปาก ว่าแม่ครัวเขาทำกับข้าวเก่งกว่าใคร ๆ ” “ เจ้าก็เลยสบาย ไม่ต้องทำเลยละสิ แล้วนี่ผัวเจ้าเขาไม่บ่นอะไรบ้างรึ ” “ แหม แม่จ๊ะ แม้ฉันจะไม่ได้ทำอาหาร แต่ฉันก็ปรนนิบัติสามีไม่ขาดตกบกพร่องหรอกน่า กิจการงานใดที่ฉันช่วยได้ ฉันก็ช่วยตลอดไม่ได้เกี่ยงงอน ”

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       เมื่อทานข้าวกันเสร็จลูกสาวก็เล่าเรื่องต่าง ๆ ในบ้านให้ผู้เป็นแม่ฟัง ส่วนแม่ก็เล่าเรื่องที่เกิดในบ้านเดิมให้ลูกสาวฟัง ทั้งสองผลัดกันพูดผลัดกันฟังแม้จะมีบางครั้งที่แม่ฟังไม่ถนัด เข้าใจผิด ๆ ถูก ๆ ก็ถือเป็นเรื่องสนุก ๆ กันไป วันหนึ่งด้วยความเป็นห่วงของผู้เป็นแม่จึงซักถามบุตรสาวในเรื่องความเป็นอยู่ของบ้านสามี “ ลูกเอ๋ย เจ้าอยู่ที่นี่มีความสุขดีไหม พ่อเศรษฐีสามีของลูกเขารักใคร่เจ้าเหมือนเดิมหรือเปล่า เขาทำตัวเป็นสามีที่ดีหรือเปล่า ” “ แม่จ๊ะ อย่าได้เป็นห่วงลูกในข้อนี้เลย ลูกโชคดีมากที่ได้พี่เขามาเป็นสามี คนเพียบพร้อมด้วยผัวและมารยาทดั่งลูกเขยของแม่ แม้บวชแล้วก็ยังหายากเลยนะจ๊ะ ”

       ผู้เป็นแม่เนื่องจากหูตึงจึงฟังได้แค่บวช ก็เข้าใจผิดคิดว่าลูกเขยของตนออกบวชแล้วก็ตกใจร้องโวยวาย “ หา พ่อเศรษฐีสามีเจ้าออกบวชแล้วรึ มิน่าละเจ้าถึงให้แม่มาอยู่เป็นเพื่อน โธ่เอ๋ยลูกแม่ สามีเจ้าออกบวชทำไมกันรึ ” เมื่อได้ยินเสียงแม่ยายเศรษฐีร้องโวยวายว่าเศรษฐีออกบวชแล้ว

        คนรับใช้ในบ้านก็ตกใจ เข้าใจผิดตามกันไปว่าเศรษฐีออกบวชจริง “ ท่านเศรษฐีครั้งนี้ไปบวชจริง ๆ เลยรึ ถึงว่าให้พวกเราจัดข้าวของเยอะกว่าทุกครั้ง ” จากข่าวในบ้านก็ขยายออกมานอกบ้าน คนในหมู่บ้านต่างลือและนำไปเล่าต่อว่าเศรษฐีออกบวชแล้ว “ เขาว่ากันว่าเศรษฐีออกบวชแล้วนะพวกเรา รู้เรื่องกันบ้างไหมนี่ ”

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       “ ถึงว่าครั้งนี้ตอนเข้าไปในป่า ดูอิ่มเอิบมีความสุขชอบกล ” “ เออใช่ ๆ ๆ คนในบ้านร้องฟูมฟายกันไปหมด น่าสงสารจริง ๆ เลย ” ฝ่ายเศรษฐีเมื่อประพฤติธรรมจนได้หลายวันตามที่กำหนดการแล้วก็ออกมาจากป่าเข้าเฝ้ากราบถวายงานตามปกติกับพระราชา ในขณะที่เดินไปยังหมู่บ้านสวนทางกับชายคนหนึ่ง เมื่อชายคนนั้นเห็นเศรษฐีก็ตกใจ

       “อ้าว ท่านเศรษฐีมีข่าวว่าท่านออกบวชแล้วมิใช่รึ ใยถึงแต่งเป็นเพศคฤหัสถ์อยู่เล่า นี่เขาเล่ากันมาว่า ลูกหลาน คนรับใช้ในเรือนท่านร้องไห้กันฟูมฟายบอกว่าท่านออกบวชแล้ว ” “ เราไม่ได้ออกบวช แต่คนอื่นทั้งหมดกลับคิดว่าเราบวช นี่คงเป็นเสียงดีสินะ เราจะไม่ทำให้เสียงดีนี้หายไป เราจะออกบวช ”

 ชาดก 500 ชาติ กัลยาณธรรมชาดก-ชาดกว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

       เศรษฐีเมื่อได้ยินชายคนนั้นทักก็ได้มีความคิดขึ้นว่าธรรมดาเสียงดีเกิดขึ้นแล้วไม่ควรให้หายไปเสีย จึงกลับไปเข้าเฝ้าพระราชาอีกครั้ง พระราชาเมื่อเห็นเศรษฐีเดินมาเข้าเฝ้าอีกก็แปลกใจจึงตรัสถามว่า “ ท่านมหาเศรษฐี ท่านเพิ่งไปเดี๋ยวนี้เอง ทำไมจึงกลับมาอีกเล่า ” “ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน กาลใดบุคคลได้สมัญญาในโลกว่า ผู้มีกัลยาณธรรม กาลนั้นนรชนผู้มีปัญญาไม่พึงทำตนให้เสื่อมสมัญญานั้นเสีย สัตตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริ ” ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงขอพระบรมราชานุญาตบรรพชาไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษียังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า 

  
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก
พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นอานนท์ในครั้งนี้
ส่วนเศรษฐีกรุงพาราณสีในครั้งนั้น เสวยพระชาติเป็น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

* * ชาดก 500 ชาติ แนะนำ * *

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล