หลวงพ่อได้เล่าให้พวกเราฟังถึงเรื่องประวัติวัดพระธรรมกาย
มาเป็นลำดับๆ ว่า ในการสร้างวัดพระธรรมกายนั้น คุณยายอาจารย์และพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยของเราได้ร่วมกันปรึกษาถึงหลักการสร้างวัดซึ่งหลักสำคัญส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ที่คุณยาย
ท่านได้รับการฝึกหัดขัดเกลา ควบแล้วเคี่ยวอีกจากพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ บวกกับที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านก็ศึกษาค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎกและตำรับตำราต่างๆ
ท่านจึงสามารถนำหลักการของคุณยายมาใช้ในภาคปฏิบัติได้ ในที่สุด วัดพระธรรมกายก็ได้เติบโตมาด้วยหลักการนี้
วันนี้ หลวงพ่อจึงขอนำเรื่อง "หลักการสร้างวัด ฉบับสรุปสาระสำคัญ"
มาฝากพวกเรา
การสร้างวัดมีหลักการที่สำคัญๆ อยู่ ๕ ข้อ ดังนี้
หลักการที่
๑ ทีมต้องรักการปฏิบัติธรรม
ใครที่จะมาร่วมทีมงานในการสร้างวัดนั้น
จะต้องเคี่ยวเข็ญให้รักการปฏิบัติธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สมัยนั้นคนที่มาวัดมีหลายพวกหลายระดับมาก
พวกหนึ่งเป็นผู้รักการปฏิบัติธรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว พวกหนึ่งมาวัดเพราะอยากจะพิสูจน์ว่า
สมาธิดีจริงหรือเปล่า อีกพวกหนึ่งมาเพราะไม่ชอบความวุ่นวาย เลยอยากจะมีวัดเงียบๆ
ไม่จ้อกแจ้กจอแจ อยู่ใกล้ธรรมชาติ อารมณ์จะได้สบาย
แต่จะเป็นพวกไหนก็ตาม
ทั้งคุณยายและพระเดชพระคุณหลวงพ่อ-ธัมมชโยให้หลักการเลยว่า ต้องพยายามเคี่ยวเข็ญเขาเหล่านั้นให้รักการฝึกสมาธิภาวนา
จนกระทั่งเกิดเป้าหมายชัดเจนว่า ฉันจะต้องเข้าถึงพระธรรมกายในตัวให้ได้
และต้องไปรู้เห็นธรรมะที่ลึกซึ้งทั้งวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ
๔ ไล่กันไปอย่างนั้น
เหตุที่คุณยายตั้งเป้าหมายตรงนี้ไว้
เพราะหลักในการอยู่ร่วมกันมี ๒ ข้อ คือ "ทิฏฐิสามัญญตา คือ
มีทิฏฐิเสมอกัน" และ "สีลสามัญญตา คือ มีศีลเสมอกัน"
คนเราถ้าจะไปด้วยกัน
แต่ว่าเป้าหมายไม่เหมือนกัน อยู่กันคนละระดับ แล้วจะไปด้วยกันได้อย่างไร
เดี๋ยวเขาก็เอาเป้าหมายไปทิ้งกลางทาง เพราะฉะนั้น จึงต้องปรับทิฏฐิให้ตรงกัน
สูง ลึกซึ้งเสมอกัน
ในขณะเดียวกันถ้าศีลของแต่ละคนยังไม่เสมอกัน
คนหนึ่งพยายามรักษาศีล เพราะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่อีกคนหนึ่งศีลยังกระร่องกระแร่งอยู่
จะช้าจะเร็ว เดี๋ยวก็จะกระทบกระทั่งกัน แล้วก็ต้องแยกทางกัน
ด้วยเหตุนี้คุณยายจึงปรับทั้งทิฏฐิและศีลให้เสมอกันด้วยการเคี่ยวเข็ญให้ทุกคนรักการปฏิบัติธรรม
หลักการที่ ๒ ฝึกทำงานเป็นทีม
งานสร้างวัดจะเดินหน้าได้
ก็ต้องฝึกให้ทุกคนทำงานเป็นทีมให้ได้ คนเราจะดีวิเศษอย่างไร แต่ถ้าเขาไม่รักการทำงานเป็นทีม
อย่าเอามาร่วมงานด้วย เพราะถ้าเอามาร่วมงานด้วย จะช้าจะเร็ว เขาจะไม่อดทนต่อการกระทบกระทั่ง
เดี๋ยวก็มีเรื่องงอแง แล้วจะทำให้หมู่คณะรวน
หลักการที่
๓ ของทุกอย่างเก็บไว้เป็นกองกลาง
เมื่อมีญาติโยมนำปัจจัยไทยธรรมมาสนับสนุนการสร้างวัด
จะต้องตั้งระบบการบริหารการเงินและทรัพย์สินไว้อย่างดี โดยมีหลักว่า ของทุกอย่างที่ได้มาต้องเอาไว้เป็นกองกลางแล้วบริหารกันไป
อย่างนี้จะทำให้เกิดความเสมอหน้ากัน คือเมื่อของทุกอย่างเป็นกองกลางแล้ว
เวลาใครมีความจำเป็นต้องการอะไร ก็มาเบิกไปใช้ โดยเอาไปส่วนที่น้อยที่สุด
จำเป็นที่สุด เหลือนอกจากนั้นก็ไว้ตรงกลางนั่นแหละ หรืออยากจะเอาอะไรไปใช้
ก็เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมแล้วก็จัดสรรปันส่วนกันไป นี่ก็เป็นหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางไว้นั่นเอง
หลักการที่ ๔ ลบค่านิยมที่ผิด สร้างเอกลักษณ์ใหม่
คุณยายและพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านพยายามลบค่านิยม
ที่ผิดๆ ทิ้งไป และพยายามสร้างเอกลักษณ์ของหมู่คณะให้เกิดขึ้น
เมื่อประมาณ ๓๐
กว่าปีก่อน ถ้าคนเข้าวัดเมื่อไร เป็นต้องถูกมองว่า มีปัญหาไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง
ตั้งแต่ อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารโทรม เรื่องเหล่านี้ผู้ชายไม่ค่อยกระทบเท่าไรนัก
เพราะส่วนมากเข้ามาบวชเรียนกัน แต่ฝ่ายหญิงกระทบกระเทือน เพราะประมาณ ๗๐
- ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของ ผู้ที่เข้าวัดเป็นผู้หญิง ถ้าแก้ข้อกล่าวหาว่า ผู้หญิงที่เข้าวัดมาปฏิบัติธรรม
คือคนที่มีปัญหาไม่ได้ ก็เท่ากับว่า กำลังสำคัญกำลังหนึ่งทีเดียวของพระพุทธศาสนาจะถูกทำลายไป
เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยจึงให้กุศโลบายว่า
ต่อแต่นี้ไปต้องรณรงค์ผู้มาวัดต้องแต่งชุดขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์
เป็นการสร้างให้เป็นเอกลักษณ์ของหมู่คณะ แล้วถ้าจะให้ค่อยเป็นค่อยไปคงแก้ข้อครหายาก
เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นประธานในงานต่างๆ ไม่ว่าจะถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร
ทอดผ้าป่า หรือทอดกฐินก็ตาม จะต้องแต่งชุดขาว และต้องมาพร้อมหน้ากันทั้งสามีภรรยา
มาเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกหาว่า มีปัญหา
ในที่สุดผ่านไปได้ไม่กี่ปี
ไม่เพียงแต่มีคนแต่งชุดขาวพรึบไปทั้ง วัดพระธรรมกายเท่านั้น กลายเป็นว่า
คนยังแต่งชุดขาวพรึบไปทั่วสังฆมณฑลด้วย
ผลจากการที่คุณยายให้หลักการตรงนี้
และพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยมีกุศโลบายที่เคี่ยวเข็ญว่า เวลามาปฏิบัติธรรมที่วัดต้องมา
ทั้งสามีภรรยา ในที่สุด ฝ่ายหญิงถ้าจะมาวัดคนเดียว หรือฝ่ายหญิงที่ยังไม่แต่งงานจะมาวัด
ก็จะไม่ถูกมองว่า มีปัญหาอีกต่อไป
หลักการที่ ๕ จัดพิธีกรรมให้ศักดิ์สิทธิ์
ในการจัดงานวัดแต่ละครั้งต้องจัดพิธีกรรมให้ศักดิ์สิทธิ์
โดยมีหลักการว่า จะต้องทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้คนที่มามีความบริสุทธิ์กาย
วาจา ใจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยิ่งคนมีความบริสุทธิ์มากเท่าไร สถานที่นั้นยิ่งเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น
เพื่อให้เห็นเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น หลวงพ่อจะขอนำเรื่องการวางศิลาฤกษ์มาเป็นตัวอย่างให้พวกเราดู
ในการวางศิลาฤกษ์นั้น
ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการเอาฤกษ์เอาชัย เป็นการป่าวประกาศให้ประชาชนรับรู้รับทราบโดยทั่วหน้าว่า
วัดจะจัดงาน แล้วก็ใช้โอกาสนี้ ระดมทุน เพื่อสร้างโบสถ์ สร้างอาคารต่างๆ
อีกด้วย นี้เป็นการจัดพิธีกรรมโดยรวมๆ แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของงานจะมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับภูมิธรรมของผู้ที่มาเป็นประธาน
และผู้มาร่วมงาน ถ้าท่านประธานไม่มีภูมิธรรมอะไร ก็เป็นการทำตามประเพณี
การวางศิลาฤกษ์ก็ไม่ค่อยได้อะไร อาจจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์นิดหน่อย
แต่ถ้าประธานมีศีลอย่างน้อยก็ศีล
๕ มีจริยวัตรงดงาม อย่างนี้ก็จะมีเทวดาตามมาลงดูแลรักษา
ถ้าประธานได้เข้าถึงธรรมะในตัว ที่นั่นก็จะบริสุทธิ์ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
เพราะจะกลั่นแผ่นดินนั้นให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เทวดาก็จะตามลงดูแลรักษามากขึ้น
และถ้าประธานเป็นพระอรหันต์
มีความบริสุทธิ์มาก ท่านก็แผ่เมตตากลั่นแผ่นดินตรงนั้นให้บริสุทธิ์ขึ้นมา
แผ่นดินนั้นก็จะยิ่งถูกกลั่นให้บริสุทธิ์หนักเข้าไปอีก เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ก็จะยิ่งลงดูแลรักษา
สถานที่นั้นก็จะมีแต่ความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป
คุณยายและพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย
ท่านเข้าใจหลักการนี้ เพราะฉะนั้นจะจัดงานวัดแต่ละครั้ง มีหลักการว่า ต้องจัดให้มีพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์
ตรงตามหลักการในพระพุทธศาสนาทุกประการ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้
ก็เป็นหลักการในการสร้างวัด ๕ ข้อ ที่คุณยายและพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยถ่ายทอดมา
สุดท้ายนี้ ขอให้ลูกหลวงพ่อทุกคนมั่นในอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
ทั้งมีความทรหดอดทนเป็นเลิศ ทั้งมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน และไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใด
ก็ให้มีหลักการที่เด่นชัด สามารถกำหนดหลักการให้สอดคล้องกับหลักการในพระพุทธศาสนาได้โดยง่ายตลอดไป
และด้วยอำนาจแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมตามหลักการในพระพุทธศาสนา ขอให้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ
ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป สามารถแตกฉานวิชชาธรรมกายได้โดยง่ายทุกภพทุกชาติ
ตราบถึงวันที่สุดแห่งธรรมเทอญ
