ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : อานิสงส์บุญที่ให้อาหารปลา


ธรรมะเพื่อประชาชน : อานิสงส์บุญที่ให้อาหารปลา

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
DhammaPP241_01.jpg
 
อานิสงส์บุญที่ให้อาหารปลา
 
               ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน ล้วนมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป พ่อค้าทำการค้าประกอบธุรกิจ ย่อมหวังผลกำไรเป็นเครื่องตอบแทน เพื่อยังความสุขให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว นักรบทำสงคราม เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ หรือเพียงเพื่อปกป้องมาตุภูมิของตนให้อยู่รอดปลอดภัยจากศัตรู  แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเปลือกนอกที่ฉาบฉวยด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันทำให้บุคคลทั้งหลาย ลุ่มหลงมัวเมา และประมาทในชีวิต  แต่สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การเพียรทำสมาธิให้ใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะใจที่หยุดนิ่งจะมีพลังในการทำความดี เป็นทางมาแห่งความสุข และความสำเร็จทั้งหลาย  ตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงพระนิพพาน การทำใจหยุดนิ่งจึงเป็นเป้าหมายที่แท้จริง ที่มีค่าและประเสริฐสุดสำหรับมนุษย์ทุกๆ คน
 
 
 
DhammaPP241_02.jpg
 
          มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ทักขิณาวิภังคสูตร ว่า
 
               "บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า  ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามพึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า  ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน  ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง  ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์  ในพระปัจเจกสัมพุทธ และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"
 
 
 
 DhammaPP241_03.jpg
 
               อานิสงส์ของการให้ทานจะส่งผลมากหรือน้อย มีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งหลวงพ่อเคยนำมาบอกเล่าให้พวกเราได้รับทราบกันหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้ให้และผู้รับ ต้องมีใจใสบริสุทธิ์ วัตถุทานก็เป็นของบริสุทธิ์ คือไม่ได้คดโกงใครมา แต่วันนี้หลวงพ่อจะไม่เล่ารายละเอียด เพียงแต่จะยกตัวอย่างการให้ทานกับสัตว์เดียรัจฉาน
 
 
 
DhammaPP241_05.jpg
               แม้ว่าสัตว์เดียรัจฉานจะตกอยู่ในอบายภูมิ แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า หากให้ทานกับสัตว์เดียรัจฉาน ผลแห่งทักษิณาทานนั้นจะย้อนกลับมาสู่ตัวเราถึงร้อยเท่าหรือร้อยชาติทีเดียว คำว่าให้อานิสงส์ร้อยเท่า คือตลอดร้อยชาติที่เราเวียนว่ายตายเกิดนั้น เราจะมีอายุ วรรณะ สุขะ พละและปฏิภาณ ไม่อดอยากเลยในร้อยชาตินั้น ลองสังเกตดูว่า เวลาที่เราโยนอาหารให้กับปลา ที่พวกเราจะคุ้นเคยกันดี รวมไปถึงการปล่อยปลาด้วย ฝูงปลาครั้นได้กินอาหาร ก็ได้อายุขัยยืนยาวขึ้นไป เราได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่ออายุให้กับปลาฝูงนั้นแล้ว  เมื่อมันได้กินอิ่ม ย่อมได้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีพละกำลังขึ้นมาทีเดียว เมื่อปลาได้กินอาหารจนอิ่มก็ได้ความสุข จากที่ผอมแห้งแรงน้อย ก็กลับมีเรี่ยวมีแรง สามารถว่ายไปที่ไหนก็ได้ตามความพอใจ
 
 
 
DhammaPP241_06.jpg
 
               ประการสุดท้าย เมื่อปลามีเรี่ยวแรงแล้ว ก็มีปฏิภาณ คือ จากที่หน้ามืดตาลายอันเนื่องมาจากหิวอาหารมานาน ครั้นได้กินอาหารอิ่มท้องแล้ว ก็นึกคิดอะไรได้สะดวก สามารถหลบหลีกหนีศัตรูที่อยู่ในน้ำ หรือเอาตัวรอด จากการถูกรังแกของฝูงปลาด้วยกันเอง เราได้ชื่อว่าให้สิ่งเหล่านี้กับสัตว์เดียรัจฉาน เมื่อเราให้อายุ วรรณะ สุขะ พละและปฏิภาณ ผลบุญนั้นจะย้อนกลับมาหาเราให้เราได้คุณสมบัติทั้ง ๕ นี้ ซึ่งจะส่งผลแก่เราไปถึง ๑๐๐ ชาติ แต่เนื่องจากดวงบุญในตัวของสัตว์เดียรัจฉานเล็กมาก ดวงบาปยังครอบงำอยู่ถึงแม้คุณสมบัติทั้ง ๕ นี้จะบังเกิดแก่เรา อาจส่งผลไม่เต็มที่ เหมือนให้กับผู้ที่มีความบริสุทธิ์มาก อันนี้ต้องทำความเข้าใจกันเอาไว้ แต่อย่างน้อยก็ให้เข้าใจตรงกันว่า ผลบุญที่เราทำเอาไว้ จะต้องส่งผลอย่างแน่นอน
 
 
 
 DhammaPP241_07.jpg
 
               มีเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต ที่หลวงพ่อจะนำมาเล่าเป็นตัวอย่างให้ได้ศึกษากันเอาไว้ในครั้งนี้ก็คือ
 
               * ในอดีตกาล มีชายหนุ่มสองพี่น้อง เกิดเป็นลูกของอดีตเศรษฐี เพราะเมื่อตนเองเติบโตขึ้น พ่อแม่ซึ่งเคยร่ำรวยก็กลับยากจนลง การค้าขายขาดทุน เมื่อพ่อแม่ละโลกไปแล้ว สองพี่น้องต้องช่วยกันรับภาระในการทำธุรกิจของตระกูลต่อไป
 
 
 
DhammaPP241_08.jpg
 
               พี่ชายมีอัธยาศัยชอบให้ทานและมีใจเมตตา หากมีเศษอาหารเหลือ ก็มักจะนำไปโปรยให้ปลาในแม่น้ำกินเป็นประจำ และมักหาโอกาสปล่อยสัตว์ปล่อยปลา ให้ชีวิตสัตว์เป็นทานมิได้ขาด  ส่วนคนน้องมีอัธยาศัยตรงกันข้าม อีกทั้งเป็นคนชอบลักเล็กขโมยน้อย ไม่ได้รักษาศีล ๕ เหมือนพี่ชาย ซึ่งตรงกับสำนวนโบราณที่กล่าวว่า ไม้ลำยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ
 
 
 
 DhammaPP241_09.jpg
 
               วันหนึ่ง สองพี่น้องได้ล่องเรือข้ามแม่น้ำไปค้าขายที่ฝั่งตรงข้าม ได้ทรัพย์มาหลายพันกหาปณะ เงินพันกหาปณะในสมัยนั้น ถือว่า มีค่ามากทีเดียว พอค้าขายเสร็จ ก็ไปยืนรอเรือเพื่อจะข้ามฟาก ระหว่างที่รอนั้น พี่ชายได้ให้อาหารที่เหลือแก่ปลาในแม่น้ำคงคา และยังอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเทวดาประจำแม่น้ำอีกด้วย เทวดาชั้นต้นจำพวกภุมมเทวา รุกขเทวาและอากาศเทวาพากันอนุโมทนาสาธุการเป็นการใหญ่ ทำให้รัศมีกายและวิมานสว่างไสวใหญ่โตขึ้น
 
 
 
DhammaPP241_10.jpg 
 
               แต่น้องชายกลับคิดยักยอกทรัพย์ที่ตนเองและพี่ชายได้ร่วมกันหามา โดยตนแอบเอาห่อผ้าที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดวางปะปนกับห่อกหาปณะ ขณะที่เรื่อล่องไปกลางแม่น้ำคงคาอยู่นั้น น้องชายแสร้งทำให้เรือโคลงเคลงไปมาเหมือนกับจะทำให้เรือล่ม จากนั้นก็แสร้งทำห่อก้อนกรวดให้ตกลงไปในแม่น้ำ แต่เนื่องจากทำไปด้วยความรีบร้อน จึงกลับกลายเป็นหยิบเอาห่อกหาปณะ ทิ้งลงแม่น้ำ เมื่อห่อสมบัติพลัดตกลงน้ำเสียแล้ว พี่ชายปลอบโยนน้องชายให้สบายใจ ว่าไม่ต้องกังวล สมบัติเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ น้องไม่ต้องห่วง แต่ในใจของน้องชายนึกกระหยิ่มอยู่ในใจ ว่าจะได้ใช้เงิน ๑ พันกหาปณะเพียงคนเดียว ครั้นกลับถึงบ้าน ได้เปิดห่อผ้าออกดู ก็ต้องตกใจเพราะเห็นเพียงก้อนกรวดที่ตนทำลวงพี่ชายเอาไว้เท่านั้น เมื่อไม่มีทรัพย์ใช้ จึงเสียอกเสียใจ นอนทอดถอนใจอยู่ในห้องเพียงคนเดียว
 
 
 
 DhammaPP241_11.jpg
 
               ฝ่ายเทวดาประจำแม่น้ำคิดว่า เราได้อนุโมทนาบุญที่พ่อหนุ่มผู้ใจบุญได้อุทิศให้แล้ว จึงถึงพร้อมด้วยสมบัติทิพย์ เราควรจะรักษาทรัพย์ให้กับหนุ่มคนนี้ จึงบันดาลให้ปลาปากกว้างตัวหนึ่ง กลืนห่อทรัพย์นั้นเอาไว้ด้วยอานุภาพของตน ต่อมาปลาใหญ่ตัวนั้นก็ติดแหของพวกชาวประมง ชาวประมงนำไปขายให้กับชายหนุ่มผู้ใจบุญในราคาเพียง ๗ กหาปณะเท่านั้น ภรรยาของพี่ชายผ่าท้องปลาออกเพื่อทำอาหาร ได้เห็นห่อทรัพย์พันกหาปณะ แล้วรีบตะโกนให้สามีเข้ามาดู ชายหนุ่มผู้ใจบุญตรวจดูห่อทรัพย์นั้น เห็นตราสัญลักษณ์ของตน ก็รู้ว่าเป็นห่อเงินที่น้องชายทำหล่นลงจากเรือ จึงคิดทบทวนดูว่า ทำไมหนอ เราจึงโชคดีได้ทรัพย์กลับมาอย่างง่ายๆ เหมือนเป็นปาฏิหาริย์
 
 
 
DhammaPP241_12.jpg
 
               เทวดาประจำแม่น้ำจึงปรากฏตัวให้เห็น ยืนอยู่ในอากาศ แล้วได้กล่าวให้หายสงสัยว่า เราเป็นเทวดาประจำอยู่ในแม่น้ำคงคา ท่านชอบให้อาหารปลา และยังได้อุทิศส่วนบุญแก่เราเป็นประจำ เพราะฉะนั้น เราจึงมาอารักขาทรัพย์ของท่านไว้ จากนั้นก็เล่าพฤติกรรมของน้องชายให้ฟังทุกอย่าง พี่ชายเมื่อเห็นอานุภาพบุญส่งผลทันตาอย่างนั้นแล้ว ก็หมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่เทวดา และบรรพบุรุษที่ละโลกไปแล้วเป็นประจำ ครั้นละโลกไปแล้ว ก็ได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
 
 DhammaPP241_13.jpg
 
               จากเรื่องนี้ เราจะเห็นว่า ผู้ที่ให้อาหารแก่สัตว์ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นประจำ และอุทิศส่วนกุศลบ่อยๆ มีอานิสงส์ใหญ่ที่สามารถส่งผลให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในปัจจุบันชาตินี้ทีเดียว  เพราะฉะนั้น ในวาระวันสำคัญๆ ของตัวเรา อย่างเช่นวันคล้ายวันเกิด เราก็ไปทำบุญเลี้ยงพระให้อายุแก่พระศาสนา จะได้อายุขัยยืนยาว ได้ทั้งวรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ  อีกทั้งปล่อยสัตว์ปล่อยปลาให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน เราจะได้ชีวิต และมีชีวิตที่อิสระเสรีอีกด้วย  ดังนั้นบุญกุศลทุกๆ อย่าง เราก็ต้องทำกันไปให้ครบถ้วนบริบูรณ์  แต่โดยย่อก็คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และที่สำคัญที่สุดคือการทำภาวนาให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ชีวิตจะได้ปลอดภัยไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะหมดกิเลสเข้าสู่นิพพานกันทุกคน
 

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 
* มก. เล่ม ๕๘ หน้า ๓๐๔
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล