ความหมายของกัลยาณมิตร

ธิดาช่างหูก ตัวอย่างผู้ที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อตนเอง


4.2.1 ธิดาช่างหูก ตัวอย่างผู้ที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อตนเอง

เรื่องธิดาช่างหูก6)

มีเรื่องของหญิงสาวผู้เป็นธิดาของช่างหูก ผู้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับตนเอง ด้วยการทำตามโอวาทของพระบรมศาสดาที่ทรงสอนให้พุทธบริษัทเจริญมรณานุสสติ นางได้ทำอย่างนั้นต่อเนื่องถึง 3 ปี อานิสงส์นี้ทำให้นางได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เมื่อละโลกไปแล้ว ยังได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

ดังเรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จไปเมืองอาฬวี ได้ทรงประทานโอวาทให้มหาชนว่า “ ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณานุสสติว่า ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน ความตายของเราแน่นอน เราพึงตายแน่แท้ ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตของเราไม่เที่ยง แต่ความตายเที่ยง เพราะฉะนั้น พวกท่านทั้งหลาย พึงเจริญมรณานุสสติเถิด” เมื่อทรงประทานโอวาทเสร็จ ก็เสด็จกลับวัดเชตวัน

มหาชนครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว บางส่วนก็ปฏิบัติตาม บางส่วนก็ไม่ค่อยนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร ยังมัวประมาทในชีวิตเหมือนเดิม ส่วนธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่ง นางอายุเพียง 16 ปี แต่ก็มีปัญญาสอนตัวเองได้ นางได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับตนเอง เมื่อกลับมาที่บ้านก็ได้ทำการบ้านที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ ด้วยการเจริญมรณานุสสติอยู่ตลอดเวลา

สามปีต่อมา พระบรมศาสดาเสด็จไปโปรดชาวเมืองอาฬวีอีกครั้งหนึ่ง ธิดาช่างหูกก็มีโอกาสมาเข้าเฝ้า เพื่อฟังพระธรรมเทศนาเหมือนเดิม พระบรมศาสดาตรัสถามเธอในท่ามกลางบริษัทว่า “ กุมาริกา เธอมาจากไหน ? ”

กุมาริกาตอบว่า “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

“ เธอจะไปไหน” “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

“ เธอไม่ทราบหรือ” “ ทราบ พระเจ้าข้า”

“ เธอทราบหรือ” “ ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

เมื่อธิดาช่างหูกตอบปัญหาเพียงสองคำว่า ทราบกับไม่ทราบเท่านั้น ทำให้มหาชนเกิดความไม่พอใจกันใหญ่ เพราะคิดว่าธิดาช่างหูกพูดเล่นลิ้นกับพระพุทธเจ้า เพื่อจะคลายความสงสัยของมหาชน พระบรมศาสดาจึงตรัสถามต่อไปว่า

“ กุมาริกา เมื่อเรากล่าวว่า เธอมาจากไหน ทำไมเธอจึงตอบว่า ไม่ทราบ”

กุมาริกาผู้มีปัญญาลึกซึ้งได้ทูลตอบว่า “ หม่อมฉันไม่ทราบว่า ตัวเองเกิดมาจากไหน จึงตอบว่า ไม่ทราบ”

พระบรมศาสดาทรงประทานสาธุการว่า “ ดีละ กุมาริกา เธอมีปัญญาแก้ปัญหาที่ตถาคตถามได้ดีแล้ว”

ทรงถามข้อต่อไปว่า “ เมื่อเราถามว่า เธอจะไปไหน ทำไมจึงกล่าวว่า ไม่ทราบ”

กุมาริกาก็ทูลตามที่เข้าใจว่า “ หม่อมฉันจุติจากโลกนี้แล้วไม่ทราบว่า จะไปเกิดในที่ไหน”

ทรงถามว่า “ และเมื่อเราถามว่า เธอไม่ทราบหรือ ทำไมจึงตอบว่าทราบล่ะ”

กุมาริกาทูลตอบว่า “ พระเจ้าข้า หม่อมฉันทราบว่า ตัวเองจะต้องตายอย่างแน่นอน จึงตอบว่าทราบพระเจ้าข้า”

“ แล้วเมื่อตถาคตถามว่า เธอย่อมทราบหรือ ทำไมจึงตอบว่า ไม่ทราบ”

กุมาริกาก็ทูลตอบว่า “ หม่อมฉันทราบแต่เพียงว่าจะต้องตาย แต่ไม่ทราบว่าจะตายเวลาไหน จึงตอบเช่นนั้น พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาทรงชมเชยธิดาช่างหูก ในความเป็นผู้มีใจจดจ่อต่อการเจริญมรณานุสสติ สามารถ ตักเตือนตนเองได้ ไม่มัวรอให้คนอื่นมาคอยจ้ำจี้จ้ำไซ แล้วตรัสเตือนพุทธบริษัทว่า

“ พวกท่านไม่ทราบถ้อยคำที่กุมาริกานี้กล่าว จึงกล่าวตู่ธิดาของเราผู้มีปัญญา”

ดังนั้นแล้วทรงแสดงธรรมเรื่องมรณานุสสติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดพระธรรมเทศนา ธิดาของช่างหูกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นผู้ไม่มีความตกต่ำในชีวิตอีกต่อไป แต่เนื่องจากวิบากกรรมเก่าตามมาทัน เมื่อนางเดินทางกลับไปบ้าน เห็นพ่อกำลังนอนหลับอยู่ข้างเครื่องทอหูก นางได้ปลุกพ่อให้ตื่น ฝ่ายพ่อ กำลังนอนหลับเพลิน มือไปกระทบด้ามฟืมอย่างแรง ทำให้ปลายฟืมอีกด้านหนึ่งแทงเข้าที่หน้าอกของนาง อย่างแรง นางล้มลงกับพื้นและสิ้นใจ ณ ที่ตรงนั้นเอง เมื่อละโลกแล้วได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล