Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โปริสาท ตอนที่ 11
มนุษย์ในโลกนี้มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า วัตถุประสงค์หลักของการเกิดมาเป็นมนุษย์มันคืออะไร แล้วเราเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติเพื่อขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส จนหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทำพระนิพพานให้แจ้ง ถ้ายังไม่หลุดพ้น อย่างน้อยก็ต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายให้มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกให้ได้ ไม่ใช่เกิดมาเพื่อกิจอย่างอื่นเลย
ภารกิจหน้าที่การงานที่เราทำในแต่ละวันเป็นเพียงเพื่อได้ปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงสังขาร ดังนั้น เมื่อเรารู้เป้าหมายของชีวิตแล้วก็ไม่ควรประมาท ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ จะได้มีที่พึ่งที่ระลึกภายในกันทุกคน
มีธรรมภาษิตที่พระเจ้าสุตโสมได้ตรัสเอาไว้ ว่า
“สหายโปริสาท ท่านรู้จักข้าพเจ้าตั้งแต่ยังเยาว์ ข้าพเจ้าไม่เคยพูดเท็จเลย แม้แต่การล้อเลียนก็ไม่เคย บัดนี้ข้าพเจ้าดำรงอยู๋ในราชสมบัติแล้ว รู้จักแยกแยะผิดถูก จะพูดเท็จได้หรือ ท่านจงเชื่อข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะกลับมาให้ทันพลีกรรมของท่านในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน”
ถ้อยคำนี้ชี้ให้เห็นว่าท่านทรงเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบของคนดีที่ไม่พูดเท็จ ไม่พูดสอดเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ทรงมีวาจาตรงกับใจ คือ ยถาวาที ตถาการี ติดเป็นอุปนิสัยที่ดีมาข้ามภพข้ามชาติ
นี่คือสาเหตุหนึ่งว่าทำไมเวลาพระองค์ทรงอธิษฐานจิต ปรารถนาสิ่งใดจึงสำเร็จทุกครั้งไป ส่วนคนที่โกหกหรือพูดเท็จเป็นประจำ ใจจะไม่มีพลัง เมื่อไม่มีพลังก็ไม่ม๊ฤทธิ์ จะนึกคิดปรารถนาสิ่งใดจึงไม่สำเร็จสมหวัง เพราะต้นแหล่งแห่งความสำเร็จคือใจเสื่อมคุณภาพเสียแล้ว จึงไม่มีอานุภาพเพียงพอที่จะไม่ฉุดรั้งหรือนำสิ่งดีๆมามอบให้ตามคำอธิษฐาน
ถ้าอยากเป็นผู้มีฤทธิ์ มีเดช ก็ต้องรู้จักประกอบเหตุดีให้ได้เสียก่อน การกระทำทุกอย่างมีผลเกี่ยวเนื่องกันไปทั้งนั้น และเกี่ยวเนื่องกับข้ามภพข้ามชาติอีกด้วย ดังนั้นเราจะต้องฝึกหัดขัดเกลาตัวเอง ให้เป็นผู้มีสัจจะ เหมือนดังเรื่องของพระเจ้าสุตโสม ผู้รักษาความสัตย์ยิ่งชีวิต
ตอนที่แล้วหลวงพ่อเล่าถึงตอนที่พระเจ้าสุตโสมอยากขอกลับไปฟังธรรมจากพราหมณ์เสียก่อน เพราะได้สัญญาไว้ ถ้าหากไม่ได้กลับไปก็จะทำให้พราหมณ์รอเก้อ ตัวท่านเองจะถูกตราหน้าว่าไม่รักษาสัจจะ แต่โจรโปริสาทไม่ยอมเชื่อ เพราะคิดว่าหากพระองค์กลับไปแล้วก็จะไม่ย้อนกลับมาอีกเด็ดขาด
เหมือนรู้ว่าไฟเป็นของร้อน ย่อมจะไม่เดินเข้ากองไฟอีกเด็ดขาด โดยเฉพาะการเดินเข้าหาความตาย ทั้งๆที่รู้ ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ยิ่งขอให้กล่าวคำสาบานต่อหน้าฟ้าดินว่าจะกลับมาอีก
พระเจ้าสุตโสมตรัสบอกให้โปริสาทวางพระองค์ลงจากบ่า และตรัสว่า “ข้าพเจ้าขอสาบานว่า หากข้าพเจ้าพูดเท็จ ไม่ทำตามที่บอกเอาไว้ ขออย่าให้ข้าพเจ้าได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ซึ่งมีการรักษาเป็นอย่างดี”
“ดูก่อนสหาย หรือว่าท่านปรารถนาคำสาบานอย่างอื่นอีก ข้าพเข้าจะสาบานให้ท่านอีกก็ได้ เมื่อเราพ้นจากท่านแล้ว จะไปหาพราหมณ์ ทำต้นไม่ให้มีหนี้ และจะรีบกลับมาหาท่านทันที”
จอมโจรโปริสาท ได้ฟังคำสบถสาบานซึ่งเป็นสิ่งที่กษัตริย์ทั่วไปเขาไม่ทำกัน เพราะกษัตริย์ส่วนใหญ่ล้วนมีเล่ห์เหลี่ยมคิดเอาตัวรอดอย่างเดียว แต่เจ้าสุตโสมนี้เห็นแก่ความสัตย์ยิ่งชีวิต จึงเกิดหิริโอตัปปะขึ้นมาบ้าง เพราะตนเองก็เคยเป็นกษัตริย์
อีกทั้งตลอดชีวิตก็ไม่เคยเห็นข้อบกพร่องของพระเจ้าสุตโสมเลย แม้แต่กษัตริย์ทั่วทั้งชมพูทวีปได้ให้ความเคารพนับถือเสมอครู การทำสาบานของผู้เป็นครูต่อลูกศิษย์เป็นเรื่องน่าละอาย อีกทั้งการที่พระเจ้าสุตโสมเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม จะมาทำสาบานกับผู้มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ศีรษะของเราอาจแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงก็ได้
เมื่อคิดทบไปทวนมาจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าพระเจ้าสุตโสมจะกลับมาหรือไม่กลับก็ตาม แม้ตัวเราเองก็เป็นขัตติยราช เอาเลือดในลำแขนของเรานี่แหละ ทำพลีกรรมแก่เทวดาแทนก็แล้วกัน อีกทั้งเจ้าสุตโสมผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมก็ไม่ควรมาลำบากในเรื่องนี้ จึงบอกว่า ขอพระองค์จงรักษาความสัตย์ กลับไปตามทีได้นัดหมายกับพราหมณ์เถิด
พระเจ้าสุตโสมตรัสยืนยันว่า “สหายโปริสาท ท่านอย่าวิตกไปเลย เมื่อข้าพเจ้าได้สดับสตารหคาถา4คาถาแล้วได้มอบเครื่องบูชาธรรมแก่พราหมณ์ธรรมกถึก จะรีบกลับมาแต่เช้าตรู่ทันที ข้าพเจ้านอกจากจะไม่ให้เสียการนัดหมายแก่พราหมณ์แล้ว แม้แต่การนัดหมายที่ให้ไว้แก่ท่านข้าพเจ้าก็ไม่ลืม จะมาตามคำสัญญาอย่างแน่นอน”
เมื่อโจรโปริสาทได้ฟังแล้ว ทำให้เกิดความหวังขึ้นมาว่าจะได้ทำพลีกรรมด้วยพระราชาครบ ๑๐๑ พระองค์อย่างแน่นอน นี่เป็นการแสดงว่าโจรโปริสาทไม่ได้เมตตาต่อพระโพธิสัตว์อย่างสุดหัวใจ
โปริสาททูลให้พระเจ้าสุตโสมยึดมั่นในคำสาบานว่า “มหาราช พระองค์ทรงทำการสาบานที่พวกกษัตริย์ไม่ทรงทำแล้ว ก็ขอจงทรงรำลึกถึงพระดำรัสที่ได้ทรงปฏิญาณนี้ไว้ให้ดีเถอะ อย่าได้กลับคำเสียล่ะ”
พระเจ้าสุตโสมตรัสยืนยันหนักแน่นว่า “สหายโปริสาท ท่านรู้จักข้าพเจ้าตั้งแต่ยังเยาว์ ว่าไม่เคยพูดคำเท็จเลย แม้แต่การล้อเลียนก็ไม่เคยกล่าว บัดนี้ข้าพเจ้าดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว และรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี จะพูดคำเท็จได้หรือ ท่านจงเชื่อข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะกลับมาให้ทันพลีกรรมของท่านในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน”
โจรโปริสาทได้ฟังคำยืนยันแล้วก็โล่งใจขึ้นมา ตอนนี้ได้เชื่อคำพูดแล้ว จะขอพิสูจน์ด้วยการกระทำ ว่าคนที่ยอมตายไม่ยอมทิ้งความสัตย์มีจริงไหม แล้วก็ได้ส่งพระเจ้าสุตโสมไป พร้อมกับกำชับอีกว่า “ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสด็จเถิด เมื่อพระองค์ไม่เสด็จมาจักไม่เป็นพลีกรรม เพราะเทวดาเว้นพระองค์จักไม่รับ ขอพระองค์อย่าทำอันตรายแก่พลีกรรมของข้าพเจ้าเลย”
พระโพธิสัตว์เมื่อได้รับกลายปลดปล่อย ดุจพระจันทร์พ้นจากปากราหูลแล้ว ได้ใช้เวลาเพียงครู่เดียวก็เสด็จถึงพระนคร เพราะพระองค์มีกำลังมากดุจพญาช้างสาร ทางด้านเสนาของพระเจ้าสุตโสม แม้รู้ว่าพระราชาของตนถูกจอมโจรโปริสาทจับตัวไป ก็มั่นใจว่าพระองค์จะต้องเสด็จกลับมาได้อย่างปลอดภัยแน่นอน เพราะพระเจ้าสุตโสมทรงเป็นบัณฑิต เมื่อแสดงธรรมให้ฟังจะสามารถกลับจิตกลับใจโจรโปริสาทได้ จึงตั้งขบวนรอรับอยู่นอกพระนคร ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จกลับมา จึงอัญเชิญเสด็จขึ้นคอช้างพระที่นั่ง แวดล้อมเข้าสู่พระนคร
ชาวเมืองได้เห็นพระโพธิสัตว์กลับมาด้วยความปลอดภัย ก็ปราบปลื้มยินดี ชูธง ยกผ้า ดีดสีตีเป่าประโคมดนตรีต้อนรับด้วยความปิติเบิกบาน ฝ่ายพระเจ้าสุตโสมผู้มีความเคารพในธรรมมากยังไม่ทันได้เข้าเฝ้าพระราชมารดาและพระราชบิดา ก็รับสั่งให้เรียกหาพราหมณ์เข้ามาแสดงธรรมทันที
ส่วนเนื้อหาสตารหคาถาที่พราหมณ์จะนำมาแสดงธรรมจะมีเนื้อหาสาระลึกซึ้งเพียงไรนั้น ติดตามต่อได้ในตอนหน้า
จากเนื้อเรื่องที่หลวงพ่อนำมาเล่าในวันนี้ เราจะเห็นได้ว่าบัณฑิตทั้งหลายรักความสัตย์ยิ่งกว่าชีวิตของตน อันที่จริงพระโพธิสัตว์มีพละกำลังมาก แต่ไม่ทรงเข่นฆ่าโจรโปริสาท เพราะเห็นว่าการฆ่าไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา เมื่อฆ่าโจรโปริสาทพระองค์ก็ต้องได้รับบาปที่เกิดจากการทำปาณาติปาต นิสัยการกินเนื้อมนุษย์ก็ไม่ได้เปลี่ยนอีกด้วย แม้ตายไปก็ต้องไปอบายทั้งสองฝ่าย ผลเสียจะบังเกิดขึ้นต่อทั้งผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่า ส่วนผลดีมีเพียงกษัตริย์ทั่วชมพูทวีปไม่ต้องถูกฆ่า และชาวเมืองก็ไม่ต้องถูกโจรจับกินต่อไปอีกเท่านั้น
นี่ก็เป็นปัญญาอันเฉียบแหลมของพระโพธิสัตว์ผู้มองเห็นการณ์ไกล มองผ่านกาลเวลา คือมองเห็นการกระทำข้ามภพข้ามชาติ จึงมีแต่ความเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้ที่กำลังถูกกิเลสบังคับให้สร้างธรรม ท่านจึงใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา และให้อภัยแก่ผู้ไม่รู้ ฉะนั้นเราต้องใช้ปัญญาในการแก้ไขหนทาง รู้จักเอาธรรมะเข้าลูบ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน