ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : สร้างผังรวยรวดเดียวถึงจุดหมาย (อานิสงส์ถวายเครื่องอัฏฐบริขาร)


ธรรมะเพื่อประชาชน : สร้างผังรวยรวดเดียวถึงจุดหมาย (อานิสงส์ถวายเครื่องอัฏฐบริขาร)

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
 
DhammaPP218_01.jpg
สร้างผังรวยรวดเดียวถึงจุดหมาย
(อานิสงส์ถวายเครื่องอัฏฐบริขาร)
 
 
 
          ทรัพย์สมบัติในโลกนี้เป็นเพียงเสบียงในการสร้างบารมี และมีไว้เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้ดำรงอยู่ได้  ส่วนอริยทรัพย์เป็นทรัพย์อันประเสริฐที่จะส่งผลให้ได้รูปสมบัติ โภคสมบัติ คุณสมบัติ ตลอดจนสวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติในภพภูมิที่ได้ไปบังเกิด เป็นสิ่งที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงสรรเสริญและแนะนำให้สั่งสมไว้ เพราะอริยทรัพย์เป็นสหายหรือมิตรแท้ในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ  จะติดตามตัวเราไปเหมือนเงาตามตัว  ซึ่งอริยทรัพย์จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการสั่งสมบุญอย่างเดียวเท่านั้น
 
 
     มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย ชาดกว่า
 
 
          “มหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำที่ไหลมาจากทุกทิศทุกทาง  ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ  พระราชาไม่ทรงอิ่มด้วยราชสมบัติ  คนพาลไม่อิ่มด้วยบาป  หญิงไม่อิ่มด้วยของ ๓ อย่าง คือ เมถุนธรรม เครื่องประดับ  และการคลอดบุตร  พราหมณ์ไม่อิ่มด้วยมนต์  ผู้ได้ฌานไม่อิ่มด้วยวิหารสมาบัติ คือการเข้าฌาน  พระเสขะไม่อิ่มด้วยการสละออกในการให้ทาน  ผู้มักน้อยไม่อิ่มด้วยธุดงค์คุณ ผู้เริ่มทำความเพียรไม่อิ่มด้วยการปรารภความเพียร ผู้แสดงธรรม คือนักเทศน์ไม่อิ่มด้วยการสนทนาธรรม ผู้กล้าหาญไม่อิ่มด้วยบริษัท  ผู้มีความศรัทธาไม่อิ่มด้วยการอุปัฏฐากพระสงฆ์  ทายกไม่อิ่มด้วยการบริจาค  บัณฑิตไม่อิ่มด้วยการฟังธรรม บริษัท ๔ ไม่อิ่มในการเฝ้าพระพุทธเจ้า”
 
 
          ในโลกนี้มีสิ่งที่ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักเบื่อมากมาย คือจะเติมเท่าไรก็ไม่เต็ม  มีความพร่องอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี  ดังที่หลวงพ่อได้ยกมากล่าวไว้ในเบื้องต้น ของบางอย่างแม้ไม่เคยอิ่มแต่ก็ไม่เป็นโทษ และนำแต่ความสุขสวัสดีมาให้  แต่ความไม่อิ่มที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งตัณหาที่เข้ามาครอบงำจิตใจ นับเป็นมหันตภัยอันใหญ่หลวง ยิ่งสนองยิ่งนำพาใจให้ตกต่ำ
 
 
          มีประเด็นสำคัญที่จะยกมาอธิบายดังนี้  พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้มีความศรัทธา ไม่อิ่มด้วยการอุปัฏฐากพระสงฆ์  ทายกไม่อิ่มด้วยการบริจาคทาน” ความเป็นทายกหมายถึงผู้ให้ซึ่งจะบังเกิดขึ้นได้ต้องเป็นผู้มีพื้นใจที่งดงาม มีศรัทธาประกอบด้วยปัญญา เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมว่า  ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อในโลกนี้โลกหน้าว่ามีจริง  และรู้ว่าทานที่บริจาคด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศนั้น จะกลายเป็นผังรวยถาวรข้ามชาติและทุกภพทุกชาติ จึงหมั่นสั่งสมบุญด้วยการบริจาคอยู่เป็นนิตย์ ให้แล้วยังปรารถนาให้อีก  เป็นผู้ไม่รู้จักอิ่มในการทำทาน
 
 
          * เหมือนพระปิลินทวัจฉเถระที่ท่านได้ทำบุญด้วยการถวายไทยธรรมมากมายแด่ภิกษุสงฆ์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป มีพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเป็นประมุข ทำให้ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติทั้งหลายทุกภพทุกชาติ  ในภพชาตินี้ เมื่อ  ออกบวชก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  วันหนึ่ง ท่านได้ระลึกชาติว่าได้ทำบุญอะไรไว้บ้าง จึงเป็นเหตุให้เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติและนิพพานสมบัติ เรามาดูกัน เหตุมีอยู่ว่า
 
 
          ประการที่ ๑ ท่านเคยถวายฉัตรแด่พระสุคตเจ้าและหมู่สงฆ์ผู้ประเสริฐสุด  จึงได้รับอานิสงส์ ๘ ประการ  คือท่านไม่รู้สึกหนาว ไม่รู้สึกร้อน ละอองและธุลีไม่แปดเปื้อนผิวกายของท่าน เกิดกี่ภพกี่ชาติก็เป็นผู้ไม่มีอันตราย  ไม่มีเสนียดจัญไรใดๆ มากล้ำกราย  มหาชนต่างเคารพยำเกรง เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียดนุ่มนวล เป็นผู้มีใจใหญ่  และเมื่อท่องเที่ยวอยู่ในสวรรค์  ฉัตร ๑๐๐,๐๐๐ คัน พร้อมด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง  ได้ทรงไว้เหนือศีรษะของท่านตลอดเวลา เพราะผลแห่งกรรมที่ได้ถวายร่มฉัตรเป็นสังฆทานนั่นเอง
 
 
          ประการที่ ๒ ท่านได้ถวายผ้าไตรจีวรจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ สำรับ ทำให้ได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ  คือเป็นผู้มีผิวพรรณเปล่งปลั่งผ่องใส  ปราศจากธุลี มีรัศมีออกจากกาย มีฤทธิ์มีเดช กายของท่านละเอียดอ่อนมีสัมผัสที่นุ่มนวลมาก  เมื่อท่านเสวยสุขอยู่ในสวรรค์มีผ้าทิพย์อันงดงามสวมใส่สรีระของท่านตลอดเวลา  ครั้นบวชก็มีผ้าไตรจีวรมาห่มคลุมกายประดุจเลื่อนลอยมาจากนภากาศ  นี่เป็นผลแห่งการถวายผ้าไตรจีวร
 
 
          ประการที่ ๓  ท่านได้ถวายบาตรแด่ภิกษุสงฆ์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เกิดภพไหนชาติไหนทำให้ท่านได้บริโภคโภชนาหารในภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะเงินและภาชนะที่ทำด้วยทับทิม เป็นผู้ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนสะดวกสบายเป็นปกติ  ไม่เคยลำบากเลย  โภคสมบัติของท่านไม่เคยพินาศด้วยภัยใดๆ
 
 
          ประการที่ ๔  ท่านได้ถวายมีดโกนที่ทำอย่างประณีตสวยงาม จึงเป็นผู้แกล้วกล้าต่อชนทุกหมู่เหล่า  เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อนใจ  มีปัญญาเฉียบแหลม  มีความเพียรไม่ลดละ ได้ญาณอันสุขุมเป็นเครื่องตัดกิเลสอาสวะ  
 
 
          ประการที่ ๕  ท่านได้ถวายพร้าชนิดดี ลับเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้นาน ทำให้ได้อานิสงส์คือเป็นผู้มีขันติธรรมประจำใจ มีปัญญาคมกล้า  เป็นผู้มีมิตรสหายมาก
 
 
          ประการที่ ๖ ท่านได้ถวายเข็ม ทำให้เป็นผู้ที่มหาชนนอบน้อม เป็นผู้มีรูปงาม มีโภคสมบัติมาก มีปัญญาเฉียบแหลม  สามารถพิจารณาเห็นหัวข้อธรรมอันลึกซึ้งได้ด้วยตัวเอง
 
 
          ประการที่ ๗ ท่านได้ถวายมีดตัดเล็บ ทำให้ได้ข้าทาสบริวารหญิงชาย สัตว์ที่เป็นพาหนะ คนฟ้อนรำ ช่างตัดผม และพ่อครัวทำอาหารมากมาย  
 
 
          ประการที่ ๘ ท่านได้ถวายพัด ทำให้เป็นผู้ไม่รู้สึกหนาวหรือร้อน ความเร่าร้อนในใจก็ไม่มีแก่ท่าน  และในที่สุดภพชาตินี้ทำให้ท่านดับไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิมานะ และไฟกิเลสทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง
 
 
          ประการที่ ๙ ท่านได้ถวายภาชนะใส่น้ำมัน ทำให้เป็นผู้มีรูปร่างงดงาม มีใจเบิกบาน ไม่หดหู่ใจ ไม่ฟุ้งซ่าน  ได้รับการอารักขาทั้งจากมนุษย์และเทวดามาโดยตลอด
 
 
          ประการที่ ๑๐ ท่านได้ถวายกล่องเข็ม ทำให้เป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ จะเดิน ยืน นั่งหรือนอน  ก็มีความสุข
 
 
          ประการที่ ๑๑ ท่านได้ถวายผ้าอังสะ ทำให้เป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระสัทธรรม เป็นผู้มีผิวพรรณงดงามเป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของผู้พบเห็น
 
 
          ประการที่ ๑๒ ท่านได้ถวายประคดเอว ทำให้ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอุปกิเลส  เป็นผู้มีความชำนาญในสมาธิ หมู่คณะของท่านไม่เคยแตกแยก อีกทั้งยังเป็นทูตสมานไมตรีที่ดีเยี่ยม มีถ้อยคำที่ทำให้มหาชนเชื่อถือไว้วางใจ มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ สามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังให้คล้อยตามได้ มีสติตั้งมั่น  ไม่สะดุ้งหวาดกลัวภัยใดๆ แม้เพียงนิดเดียว อานิสงส์นี้ได้ติดตามท่านไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
 
 
          ประการที่ ๑๓ ท่านได้ถวายเชิงรองบาตร ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำคำสอนของครูบาอาจารย์  แตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม ธรรมที่ได้ฟังจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ท่านสามารถทรงจำไม่ลืมเลือน ธรรมอันใดที่ท่านวินิจฉัยก็แจ่มแจ้งเป็นเหมือนพระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัยเอง  
 
 
          ประการที่ ๑๔  ท่านได้ถวายภาชนะจาน ชามและเครื่องบริโภค ทำให้ได้อานิสงส์ ๓ อย่างคือ ได้ภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะแก้วผลึก และภาชนะแก้วทับทิม ภรรยา ข้าทาสชายหญิง พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ต่างก็อยู่ในโอวาท  และเครื่องอุปโภคบริโภคนั้นก็พรั่งพร้อมบริบูรณ์ตลอดเวลา  ความรู้หรือมนต์บทต่างๆ ที่ท่านเคยร่ำเรียนมา เมื่อถึงคราวจำเป็น ท่านสามารถนำออกใช้ได้อย่างทันท่วงที
 
 
          นี่คืออานิสงส์ใหญ่ที่บังเกิดขึ้นกับพระเถระผู้ไม่อิ่มด้วยการให้ทานแด่ภิกษุสงฆ์ ไม่อิ่มด้วยการบริจาคทานในรูปแบบต่างๆ  ต้องถือว่าท่านเป็นผู้ฉลาดในการแสวงหาบุญ  ไม่มองข้ามบุญเล็กบุญน้อย  อะไรที่เป็นทางมาแห่งบุญ ท่านจะทำโดยไม่ลังเลสงสัย และตั้งใจทำอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพวกเรานักสร้างบารมีทุกคน  
 

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๘๘๐
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล