พินัยกรรม หน้าที่ของพ่อแม่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้

วันที่ 24 กพ. พ.ศ.2559

พินัยกรรม หน้าที่ของพ่อแม่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้

             พินัยกรรม คือการที่เราสั่งเสียว่า ทายาทของเราจะต้องจัดการกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา และทรัพย์สินทองของเราต่อไปอย่างไร ถามว่า เราควรทำพินัยกรรมหรือไม่ คำตอบคือ ควรทำ หน้าที่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก 1 ใน 5 ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ได้แก่ มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงกาลอันควร คือถึงกาลควรมอบจึงมอบ ถ้ายังไม่ถึงกาลควรมอบอย่าพึ่งมอบ ถ้าพ่อแม่ไม่มอบหมายอะไรให้เรียบร้อยไว้ก่อน ผลหลังจากพ่อแม่ตายไปแล้ว บางครอบครัวลูกหลานทะเลาะกันเองกลายเป็นศึกสายเลือด ไม่น่าเชื่อว่าพี่น้องท้องเดียวกัน บางทีพ่อเดียวกัน บางทีแม่เดียวกัน บางทีทั้งพ่อแม่คนเดียวกัน กลับมีปัญหากันเองถึงขั้นเอาชีวิตกันเลยทีเดียว

 

            ที่กลายเป็นคดีความโด่งดังไปทั้งประเทศก็มีให้เราเห็นเป็นระยะๆ ลูกที่พ่อแม่เลี้ยงให้เติบโตมาด้วยกันวิ่งเล่นมาด้วยกัน พ่อแม่เดียวกัน กลับมาทะเลาะเบาะแว้งกันถึงขั้นเอาชีวิตกัน เพราะเวลาที่เกิดเรื่องราวความขัดแย้งขึ้นั้น มันจะค่อยๆเกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน ดั่งไฟที่เผาบ้านเผาเรือนเป็นร้อยพันหลังนั้น ก็เกิดจากประกายไฟเพียงเล็กๆเท่านั้น ไม้ขีดเพียงก้านเดียวเผาเมืองได้เหมือนกัน

 

           จริงอยู่ที่ไม่มีใครคิดว่า ตนเองจะไปทำร้ายคนอื่นได้แต่พอมีปัญหาเกิดขึ้น ก็เกิดเป็นความสงสัย ก็กลายเป็นความระแวง พอมีเรื่องของทรัพย์สมบัติ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มนุษย์ยังมีความโลภอยู่ พอเริ่มสงสัยเริ่มเกิดความระแวง ก็เริ่มสังเกตจนกลายเป็นเรื่องจับผิด จึงเกิดความไม่ชอบใจ หงุดหงิดและโกรธ

 

          จากความโลภที่เป็นตัวนำ ความโกรธก็ตามมา บางทีก็เริ่มมีการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้น แล้วลุกลามไปเรื่อยๆ สุดท้ายถึงขนาดเอาชีวิตกัน เหตุความขัดแย้งจะเกิดเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การจัดการพินัยกรรมให้ชัดเจนถือว่าเป็นการป้องกันปัญหาที่ดีทางหนึ่ง มีบางกรณีที่พ่อแม่รักลูกมาก จึงอยากจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยลงตัว ทั้งที่ตนเองยังมีชีวิตอยู่ก็ยกสมบัติให้ลูกทั้งหมด พอลูกมีครอบครัวแล้วได้คู่ครองเป็นคนละโมบเชื่อคู่ครองมากกว่าเชื่อพ่อแม่ คู่ครองยุยงให้ร้ายพ่อแม่ตนเองจนสุดท้ายไล่พ่อแม่ออกจากบ้าน ท่านต้องไปอาศัยคนอื่นอยู่ จากมหาเศรษฐีมีทรัพย์สินเป็นร้อยล้านพันล้าน ต้องร่อนเร่หาที่อยู่ เพราะยกทรัพย์ให้ลูกไปหมดแล้ว

 

             อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรมีทรัพย์ที่ตนเองรักษาไว้ส่วนหนึ่งด้วย ความเกรงใจจึงจะเกิด ลูกบางคนขาดความกตัญญูจริงๆ แล้วพอพ่อแม่ไม่มีทรัพย์สมบัติเหลือแล้ว ก็ควรจะดูแลท่าน บางคนดูแลท่านแต่ไม่เต็มที่เท่ากับตอนที่ท่านยังมีทรัพย์อยู่ เพราะคิดว่าตนเองยังมีโอกาสได้ประโยชน์อยู่ คนเราส่วนใหญ่ยังมีกิเลสส่วนนี้อยู่ แต่ไม่ใช่ทุกคน ลูกที่ดีพ่อแม่ไม่ต้องมีทรัพย์ก็เลี้ยงดูท่านอย่างดี เพราะตนเองหาได้มากกว่าพ่อแม่ ลูกที่ตั้งใจดูแลพ่อแม่อย่างดีก็มีมาก แต่อย่างไรพ่อแม่ก็ควรป้องกันตนเองในส่วนนี้ไว้ก่อนด้วย

 

             เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรมอบทรัพย์มรดกให้ลูกเมื่อถึงกาลอันควร ควรพิจารณาไตร่ตรองจนมั่นใจว่าลูกจะไม่นำทรัพย์ไปผลาญจนหมด หรือไม่เกิดเหตุว่า ลูกถูกคนอื่นหลอกเอาทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นคู่ครองที่หวังผลประโยชน์ หรือเพื่อนที่มาคลุกคลีตีสนิท เพราะหวังประโยชน์จากทรัพย์ของลูกก็ตาม พ่อแม่ควรจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รอให้ลูกค่อยๆยืนหยัดจนเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ก่อน และทรัพย์สินส่วนที่ตนเองเหลืออยู่ ก็จัดการทำพินัยกรรมไว้ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาภายหลัง 

 

-----------------------------------------------------------------------------------------

" หนังสือ Secret of Love  รักลูกอย่างไรไม่ให้เสียน้ำตา "

โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

 

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034572684764862 Mins