การบริหารองค์กรสงฆ์

วันที่ 19 ตค. พ.ศ.2559

การบริหารองค์กรสงฆ์

การบริหารองค์กรสงฆ์ , พระสงฆ์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์

       บริหาร แปลว่า "ปกครอง ดำเนินการ จัดการ"

      องค์กรสงฆ์ ในที่นี้หมายถึง ชุมชนสงฆ์ทุกระดับตั้งแต่ระดับวัดสำนักสงฆ์สถาบันสงฆ์และหมายรวมถึงสงฆ์ในระดับประเทศและสงฆ์ทั้งหมดทั่วโลกด้วย

      การบริหารองค์กรสงฆ์ หมายถึง การบริหารวัดแต่ละวัด  และการบริหารสถาบันสงฆ์ในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปตามลำดับจนถึงระดับประเทศและระดับโลก

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบริหารองค์กรสงฆ์ด้วยหลักธรรมวินัย ได้แก่ อปริหานิยธรรม เป็นต้น อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว อปริหานิยธรรมนี้มีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า "วัฒนธรรม" ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

     วัฒนธรรม แปลว่าสิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะ, พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกันและร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน

     อปริหานิยธรรมจึงเป็นวันธรรมองค์กรที่พระภิกษุได้ปฏิบัติ สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน เป็นวิถีชีวิตของพระภิกษุ เป็นหลักที่ทำให้องค์กรสงฆ์มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมายาวนานกว่า 2,500 ปี ซึ่งยากที่จะมีองค์กรใดในโลกอาจเทียบได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอปริหานิยธรรม 7 ประการไว้ในมหาปรินิพพานสูตรดังนี้

       ภิกษุทั้งหลายยังจักประชุมกันเนือง ๆ จักประชุมกันอยู่มาก ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียวหาความเสื่อมมิได้

      ภิกษุทั้งหลายยังจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม จักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

   ภิกษุทั้งหลายยังจักไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้วยังจักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

      ภิกษุทั้งหลาย ยังจักสักการะและเคารพนับถือ บูชา พระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระผู้รู้กาลนานผู้บวชมาแล้วนาน ผู้เป็นบิดาของสงฆ์ เป็นปริณายกของสงฆ์ และยังจักเชื่อถือโอวาทที่พึงฟังของท่านด้วยตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

       ภิกษุทั้งหลายยังจักไม่ลุอำนาจของตัณหา อันมีปกติให้เกิดในภพใหม่ ที่เกิดขึ้น ตลอดกาลเพียงไรภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

       ภิกษุทั้งหลายยังเป็นผู้มีความห่วงใยในเสนาสนะตามราวป่า ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

       ภิกษุทั้งหลายยังจักเข้าไปตั้งสติไว้เฉพาะตนว่า ทำอย่างไร เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังไม่มาขอให้มา และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักที่มาแล้ว ขอให้อยู่สบาย ตลอดกาลเพียงไรภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้


1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายยังจักประชุมกันเนือง ๆ จักประชุมกันอยู่มากตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียวหาความเสื่อมมิได้

         ประชุม หมายถึง "มารวมกันหรือเรียกให้มารวมกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง, มารวมพบกันปรึกษาหารือ" จะเห็นว่าการประชุมไม่ได้หมายเฉพาะการมานั่งประชุมวางแผนงานกันอย่างเดียวแต่การมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ถือเป็นการประชุมด้วย

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการประชุมมาก จะเห็นได้จากกิจวัตรกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์นั้นมีการประชุมกันบ่อยและมีหลายรูปแบบ เช่น การประชุมเพื่อบัญญัติสิกขาบท, การประชุม เพื่อฟังพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน, การประชุมเพื่อตัดสินอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น, การประชุมเพื่อฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, การประชุมเพื่อแต่งตั้งภิกษุให้รับผิดชอบงานหมู่คณะ, การประชุมเพื่อทำสังฆกรรมต่าง ๆ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา ปวารณา กฐิน เป็นต้น การประชุมเพื่อ สมมติสถานที่เพื่อใช้ทำกิจสงฆ์ เช่น มมติอุโบสถ เป็นต้น

      สาเหตุสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการประชุมโดยให้ภิกษุประชุมกันบ่อย ๆ นั้นมีหลายประการ

       ประการแรก เพื่อต้องการให้พระภิกษุทุกรูปมีส่วนร่วมในการบริหารหมู่คณะ ความรักในหมู่คณะก็จะเกิดขึ้น เมื่อพระองค์และพระอริยบุคคลรุ่นบุกเบิกปรินิพพานไปหมดแล้ว ภิกษุรุ่นหลังจะได้ช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปได้

      ประการที่สอง เมื่อประชุมกันจะช่วยให้เห็นภาพตรงกัน เข้าใจกัน จะทำให้การทำงานพระศาสนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันสร้างความสำเร็จได้ดีกว่าการทำไปคนละทิศละทาง

      ประการที่สาม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ เพราะเมื่อได้มาเจอหน้าเจอตากัน ทำให้มีความคุ้นเคยกัน จะเข้าใจซึ่งกันและกัน จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่เป็นในลักษณะต่างคนต่างอยู่

      ประการที่สี่ ก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานพระองค์ตรัสว่า "ธรรมวินัย" ที่ตรัสไว้ดีแล้วจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ต่อไป นัยของพระดำรัสนี้คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสงค์ให้คณะสงฆ์ร่วมกันบริหารจัดการหมู่คณะโดยยึดธรรมวินัยเป็นแบบแผน คล้าย ๆ กับเป็นรัฐธรรมนูญสูงสุดขององค์กรสงฆ์ ดังนั้นเมื่อจะทำอะไร เมื่อมีปัญหาอะไร เมื่อจะตัดสินใจอะไร จึงต้องประชุมสงฆ์เพื่อร่วมกันพิจารณาหลักธรรมวินัยแล้ว สรุปเป็นหลักปฏิบัติเป็นต่อไป


2. พร้อมกันประชุมและพร้อมกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายยังจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม จักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียวหาความเสื่อมมิได้

      ปัจจุบันชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความพร้อมเพียงกันทำงาน หรือที่เรียกว่าการทำงานเป็นทีมมาก จะเห็นได้จากมีหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องนี้ออกมาสู่ท้องตลาดมากมาย โดยเฉพาะในมุมหนังสือบริหารธุรกิจ ทั้งนี้เพราะชาวโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หากทำงานไปคนละทิศคนละทางกัน นอกจากจะไม่มีพลังแล้วยังขัดขากันเองได้ง่ายอีกด้วย เป็นเหตุให้ประสบความล้มเหลวในที่สุด และที่สำคัญมนุษย์แต่ละคนนั้นมีความสามารถจำกัด จึงต้องอาศัยความสามารถที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละคนมารวมกันสร้างพลังทีมขึ้นมา งานที่ทำจึงจะสำเร็จสมบูรณ์และทันเวลา

     การจะหาคนที่สมบูรณ์พร้อมในทุก ๆ ด้านทำได้ทุกอย่างนั้นยากมาก พุทธันดรหนึ่งมีได้อย่างมากหนึ่งพระองค์ กัปหนึ่ง ๆ มีได้อย่างมากเพียงห้าพระองค์เท่านั้นคือ "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังให้ความสำคัญกับทีมและเสาะหาทีมงานเพื่อให้มาช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา

      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับความพร้อมเพรียงของคณะสงฆ์อย่างมาก โดยสังเกตได้ว่า ทุกครั้งที่พระองค์ตรัสปฏิสันถารภิกษุที่มากราบช่วงหลังออกพรรษา พระองค์จะตรัสว่า "พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ"

        ในเวลาประชุมทำสังฆกรรมพระองค์ทรงกำหนดว่า ภิกษุทุกรูปต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมพร้อมกัน เช่น กรณีการฟังสวดพระปาฏิโมกข์ ภิกษุในวัดเดียวกันจะต้องมาทำพร้อมกันห้ามแยก สวดโดยเด็ดขาด ดังพุทธดำรัสว่า "ภิกษุใด วดพระปาฏิโมกข์แยกจากสงฆ์หมู่ใหญ่ต้องอาบัติทุกกฏ" หากภิกษุใดมาร่วมทำอุโบสถไม่ได้เพราะอาพาธ เป็นต้น พระองค์ทรงอนุญาตให้มอบปาริสุทธิได้คือ บอกแก่เพื่อน หธรรมิกว่าตนเองได้รักษาศีลบริสุทธิ์ดีแล้วตลอดกึ่งเดือนที่ผ่านมา หรือถ้าเป็นสังฆกรรมอื่น ๆ ที่ต้องการความเห็นชอบจากคณะสงฆ์นั้น หากมีภิกษุรูปใดไม่อาจไปร่วมประชุมได้เพราะเหตุจำเป็นจริง ๆ เช่น อาพาธ เป็นต้น ก็ต้องมอบฉันทะคือความพอใจว่าตนเห็นด้วยตามมติของสงฆ์ไม่ว่าจะมีมติอย่างไรก็ไม่คัดค้าน

      เมื่อต้องการขอมติโดยธรรมเนียมสงฆ์แล้วจะใช้มติที่เป็นเอกฉันท์เสมอคือ ภิกษุทุกรูปต้องเห็นพ้องกัน ถ้าภิกษุคัดค้านแม้เพียงรูปเดียวก็ถือว่าไม่ผ่านมติสงฆ์ เช่น การอุปสมบท หากภิกษุเพียงรูปเดียวในจำนวน 5 หรือ 10 รูป ไม่เห็นด้วย กุลบุตรนั้น ๆ ก็ไม่สามารถอุปสมบทได้ ในกรณีที่ภิกษุเกิดแตกความสามัคคีกัน เช่น กรณีภิกษุเมืองโกสัมพีแตกสามัคคีกันและในภายหลังคืนดีกันได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะให้ทำสังฆสามัคคี โดยพิธีนี้ศักดิ์สิทธิ์มากภิกษุทุกรูปต้องเข้าร่วม จะมอบฉันทะไม่ได้เด็ดขาดดังพุทธดำรัสว่า "ก็แลสังฆสามัคคีพึงทำอย่างนี้ คือภิกษุทั้งหลายทั้งที่อาพาธ ทั้งที่ไม่อาพาธ พึงประชุมพร้อมกันทุก ๆ รูป รูปไหนจะให้ฉันทะไม่ได้"

      การประชุมเพื่อทำสังฆกรรมต่าง ๆ นั้นพระภิกษุทุกรูปที่เข้าประชุมจะต้องอยู่ร่วมประชุมจนเสร็จสังฆกรรมทุกครั้ง จะลุกออกไปก่อนไม่ได้ หากลุกไปก่อนถือว่าสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะคือ เปล่า ไม่เป็นผล คือทำเหมือนไม่ได้ทำ จะต้องเริ่มต้นทำสังฆกรรมใหม่ ดังนั้นพระภิกษุทุกรูปจะต้องพร้อมกันประชุมพร้อมกัน
เลิกประชุมและพร้อมกันทำกิจที่พึงทำสังฆกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ของสงฆ์จึงจะสำเร็จสมบูรณ์ และจะส่งผลให้องค์กรสงฆ์เจริญรุ่งเรือง


3. ไม่ถอนและไม่บัญญัติแต่ให้ปฏิบัติตามสิกขาบท
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายยังจักไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว ยังจัก มาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบทตามที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว ตลอดกาลเพียงไร พึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

       บัญญัติ แปลว่า ข้อความที่ตราหรือกำหนดขึ้นไว้เป็นข้อบังคับเป็นหลักเกณฑ์

       บัญญัติ ในที่นี้หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทอันเป็นศีลแต่ละข้อของพระภิกษุนั่นเอง

       สมาทาน แปลว่า การถือเอารับเอาเป็นข้อปฏิบัติ

     ไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ หมายถึง การที่พระภิกษุไม่บัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้

    ไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว หมายถึง การที่พระภิกษุไม่ถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว

      สมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว หมายถึง การนำสิกขาบททุกข้อที่เป็นพุทธบัญญัติมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

     สิกขาบททุกข้อของภิกษุและภิกษุณีนั้นเป็นพุทธบัญญัติทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดจากการประชุมปรึกษากับคณะสงฆ์ว่า ควรจะบัญญัติสิกขาบทข้อไหน อย่างไร การประชุมสงฆ์นั้นเป็นเพียงการแจ้งให้สงฆ์ทราบว่า มีเหตุเกิดขึ้นและพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้น ๆ อย่างไร พระภิกษุและภิกษุณีเมื่อรับทราบแล้วจะได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติ


ในการบัญญัติสิกขาบทนั้นมีขั้นตอนดังนี้

       เมื่อมีเหตุที่ไม่เหมาะสมจากการกระทำของพระภิกษุเกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะทรงเรียกประชุมสงฆ์สอบถามเรื่องราว ตำหนิผู้กระทำความผิด แจกแจงให้ทราบว่าการกระทำนั้นไม่เหมาะสม มีโทษอย่างไร แล้วทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น ห้ามมิให้พระภิกษุกระทำพฤติกรรมอย่างนั้นอีก พร้อมกำหนดโทษว่าหากภิกษุรูปใดฝนไปกระทำ จะมีโทษอย่างไรส่วนภิกษุที่เป็นเหตุต้นบัญญัตินั้นถือว่ายังไม่ต้องรับโทษ เพราะในขณะกระทำการนั้นยังไม่มีบทบัญญัติห้าม พระองค์ไม่ปรับความผิดย้อนหลัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นทีละข้อตามเหตุที่เกิดขึ้นอย่างนี้

        แม้ในส่วนของพระธรรมคำสอนทั้งมวลในพระพุทธศาสนา เช่น ความไม่ประมาท อริยสัจ 4 มรรคมีองค์ 8 ไตรสิกขา เป็นต้น ก็ล้วนมาจากพระพุทธองค์ทั้งสิ้น พระสาวกทำหน้าที่เพียงอธิบายขยายความคำสอนของพระองค์เท่านั้น

       การที่สิกขาบททุกข้อเป็นพุทธบัญญัติจึงแตกต่างกับการบัญญัติกฎหมายทางโลก เพราะกฎหมายทางโลกเกิดจากการประชุมระดมความคิดของนักกฎหมายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิภสา เป็นต้น ไม่ได้เกิดจากความคิดของใครคนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว

        ถามว่า เหตุใดสิกขาบทต้องเป็นพุทธบัญญัติเท่านั้น เหตุใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่อนุญาตให้ภิกษุหรือภิกษุณีบัญญัติสิ่งที่พระองค์มิได้บัญญัติไว้บ้าง เพราะในปัจจุบันชาวโลกถือว่า การประชุมระดมความคิดก็ดี การให้ มาชิกในองค์กรทุกคนช่วยกันเสนอความเห็นอันแตกต่างหลากหลายก็ดี จะช่วยให้งานที่ทำบังเกิดผลดีมากกว่าการที่ใครคนใดคนหนึ่งคิดงานอยู่คนเดียวแล้วสั่งให้คนอื่นทำตาม

        ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้คือ กรณีสาวกนิครณฐ์แตกกันหลังจากนิคัณฐนาฏบุตรผู้เป็นเจ้าลัทธิถึงแก่กรรม ในครั้งนั้นพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า"นิคัณฐนาฏบุตรถึงแก่กรรมแล้ว... พวกนิครณฐ์ก็แตกกัน ฯลฯ โดยเหตุที่ธรรมวินัยที่นิคัณฐนาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ... ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้... พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรับรองว่า...ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนั้น..."

     ธรรมวินัยที่ผู้ไม่ได้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้จะเป็นธรรมวินัยที่ไม่สมบูรณ์ เพราะศาสดามีความรู้ไม่สมบูรณ์เนื่องจากไม่ได้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ดังนั้นธรรมวินัยนั้นจึงมีถูกบ้างผิดบ้าง เมื่อสาวกนำไปปฏิบัติจึงไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ เมื่อไม่พ้นทุกข์ ไม่ได้เข้าถึงสัจจะที่แท้จริงภายในสาวกแต่ละคนก็จะตีความประสบการณ์ที่ตนปฏิบัติได้ไปต่าง ๆ กัน ซึ่งยากที่จะตรงกันเพราะต่างคนต่างทำและวิธีการที่ศาสดาสอนก็ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จึงแตกกันเพราะต่างคนก็คิดว่าตนเองถูก แต่พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นพระธรรมวินัยที่สมบูรณ์ถูกต้อง เพราะพระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธะมีความรู้ที่สมบูรณ์แล้วเมื่อสาวกสาวิกานำคำสอนไปปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้วก็จะตรัสรู้ธรรมเหมือนกันตรงกัน

      และเหตุที่สิกขาบททุกข้อเป็นพุทธบัญญัติล้วนทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเสมือนหนึ่งรัฐธรรมนูญของคณะสงฆ์ส่วนกติกาย่อยที่หมู่สงฆ์ในที่ใดที่หนึ่งกำหนดขึ้นนั้น ก็สามารถมีได้ตามความเหมาะสมของยุคสมัยและสถานการณ์ แต่จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพุทธบัญญัติเหมือนกฎหมายที่ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉันนั้น นอกจากนี้ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างพุทธบัญญัติกับกติกาย่อยที่กำหนดขึ้น ทั้งนี้เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของพุทธบัญญัติเอาไว

     พระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติทำให้ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสร้างเอกภาพในคณะสงฆ์มายาวนาน ลองคิดดูว่า หากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสาวกบัญญัติพระวินัยได้สาวกยุคหลังซึ่งยังมีกิเลสอยู่และมีสติปัญญาไม่พอ อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บัญญัติสิกขาบทที่ไม่ควรบัญญัติขึ้นสิกขาบทนั้นจะขาดความสมบูรณ์และศักดิ์สิทธิ์ คณะสงฆ์บางคณะที่ไม่ยอมรับจะทำให้เกิดความแตกแยก ต่างกับพุทธบัญญัติซึ่งแม้กาลเวลาจะผ่านมา 2,500 กว่าปีแล้วแต่ก็ยังคงความสมบูรณ์และศักดิ์สิทธิ์อยู่ พระสาวกยังช่วยกันรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

      ส่วนการเพิกถอนพุทธบัญญัตินั้น จะทำให้ภิกษุไม่มีหลักยึดไม่มีหลักในการปฏิบัติ เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโดยเร็ว เปรียบเสมือนดอกไม้ที่กองอยู่โดยไม่มีด้ายร้อย เมื่อลมพัดมากระทบก็จะกระจัดกระจายตามลมไปจนหมดสิ้น

       ความจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้เหมือนกันว่า เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป หากสงฆ์เห็นสมควรจะเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้ แต่เนื่องจากพระอรหันต์ 500 รูปที่กระทำสังคายนาครั้งที่ 1 เห็นไม่ตรงกันว่าสิกขาบทใดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระมหากัสสปะผู้เป็นประธานในการสังคายนาจึงเสนอว่า ให้ถือปฏิบัติในสิกขาบทอันเป็นพุทธบัญญัติทั้งหมด ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหมดก็เห็นชอบด้วย จึงถือเป็นข้อปฏิบัติของชาวพุทธมาจนปัจจุบัน

     การประชุมสังคายนาทุกครั้งมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษา "พระธรรมวินัยดั้งเดิม" เอาไว้เพราะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องปรับปรุงหรือวิจัยพันาอย่างงานวิชาการทางโลก เนื่องจากความรู้ทางโลกเป็นความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะมาจากสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญาเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากความรู้แจ้งด้วยภาวนามยปัญญาอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      ส่วนการสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้วนั้นมีความหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วคือ หากภิกษุเพียงท่องจำพุทธบัญญัติและคำสอนต่างๆ ไว้เฉยๆ แต่ไม่ปฏิบัติก็จะไม่เกิดประโยชน์ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้เปรียบเสมือนคนเลี้ยงโคที่ไม่รู้รสชาติของน้ำนมโคเพราะไม่ได้ดื่ม ฉะนั้น

      สำหรับกฎหมายทางโลกนั้นผู้ร่างกฎหมายยังไม่หมดกิเลสและความรู้ยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องอาศัยการระดมความคิด ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ และมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะๆ แต่ก็ต้องทำใจว่า กฎหมายและรัฐธรรมนูญในทางโลกไม่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ได้ไม่นาน เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตาม สถานการณ์การเมือง ต่างกับพุทธบัญญัติที่คงอยู่มาได้กว่า 2,500 ปีแล้ว


4. เคารพพระภิกษุผู้เป็นปริณายกของสงฆ์
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ยังจักสักการะและเคารพนับถือ บูชา พระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระผู้รู้กาลนาน ผู้บวชมาแล้วนาน ผู้เป็นบิดาของสงฆ์ เป็นปริณายกของสงฆ์ และยังจักเชื่อถือโอวาทที่พึงฟังของท่านด้วย ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

      ในข้อนี้พระพุทธองค์ทรงเน้นให้ภิกษุเคารพ "ปริณายกของสงฆ์" คือผู้นำสงฆ์นั่นเอง หลังพุทธปรินิพพานได้ไม่นาน ปริณายกของสงฆ์ในครั้งนั้นก็คือ พระมหากัสสปเถระ ท่านเป็น "สังฆเถระของภิกษุประมาณเจ็ดแสนรูปที่ประชุมกันในวันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า" คำว่า "สังฆเถระ" หมายถึง "ภิกษุผู้เป็นเถระในสงฆ์ คือเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์, ภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าภิกษุอื่นในชุมชนนั้นทั้งหมด" จะเห็นว่ามีความหมายอย่างเดียวกันกับการเป็นปริณายกของสงฆ์ และพระมหากัสสปะเองก็เป็นผู้นำในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1 ด้วย

       เหตุที่พระองค์ทรงย้ำให้ภิกษุเคารพในภิกษุผู้เป็นปริณายกของสงฆ์นั้น นอกจากเพื่อประโยชน์ต่อการได้รับฟังโอวาทจากท่านแล้ว ยังเพื่อประโยชน์ต่อความสามัคคีของหมู่สงฆ์ด้วย เพราะมีตัวอย่างเกิดขึ้น ช่วงหลังจากที่พระมหากั ปะนำภิกษุ 500 รูปสังคายนาเสร็จแล้ว พระปุราณะพร้อมภิกษุบริวารอีก 500 รูปมาภายหลัง มีความเห็นไม่ตรงกับพระมหากัสสปะและไม่มีความเคารพในมหากัสสปะผู้เป็นปริณายกของสงฆ์ ไม่ยอมรับการสังคายนานั้น

        เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ภายหลังสงฆ์แตกออกเป็นนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน หากครั้งนั้นพระปุราณะตระหนักถึงคำ อนของพระพุทธเจ้าที่ให้เคารพในปริณายกสงฆ์แล้วสงฆ์อาจจะไม่แตกออกเป็นนิกายต่าง ๆ อย่างปัจจุบัน จะเห็นว่าแม้พระองค์ตรัสอนไว้แล้วยังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้ ถ้าหากพระองค์ไม่ตรัสไว้ คงจะมีปัญหาเกิดขึ้นมากกว่านี้เป็นแน่

      ในยุคปัจจุบันภิกษุก็ต้องเคารพผู้นำสงฆ์หรือเจ้าอาวาสในแต่ละวัด รวมทั้งเคารพผู้นำสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ปกครองในระดับสูงขึ้นไปด้วย

     นอกจากนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังให้ภิกษุเคารพกันตาม "ภันเต" หรือ "ผู้บวชก่อน" แม้ภันเตบางท่านจะมีอายุน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นพี่ในพระธรรมวินัย น้องที่มาใหม่ก็ต้องอาศัยพี่เหล่านั้นช่วยแนะนำความรู้และแนวทางการดำรงชีพในเพศสมณะให้ แม้ก่อนบวชบางรูปจะเคยมีฐานะทางสังคมสูง แต่เมื่อบวชแล้วก็ต้องปฏิบัติตามพระวินัย ต้องกราบไหว้ภิกษุที่บวชก่อน จะขัดขืนไม่ได้ เพราะจะไม่เจริญก้าวหน้าในพระศาสนา

       แต่ใน "เรื่องงาน" พระองค์ให้เคารพกันตามคุณธรรมและความสามารถ กล่าวคือ ใครเป็นเลิศในด้านใดก็ให้เป็นหัวหน้างานในด้านนั้น ๆ โดยสังเกตได้จากการแต่งตั้งตำแหน่งเอตทัคคะคือความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งพระอัครสาวก เป็นต้น แม้พระสารีบุตรจะบวชหลังพระมหาเถระหลายรูป แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าภิกษุสงฆ์ทั้งปวง เพราะท่านเป็นเลิศด้านปัญญา เนื่องจากได้สั่งสมบารมีด้านนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วน


5. ไม่ลุอำนาจของตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลายยังจักไม่ลุอำนาจของตัณหา อันมีปกติให้เกิดในภพใหม่ที่เกิดขึ้น ตลอดกาลเพียงไร พึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้"

    การไม่ลุอำนาจของตัณหาอันมีปกติให้เกิดในภพใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นจัดอยู่ในหลักศีลสิกขาสำหรับให้ภิกษุแต่ละรูปควบคุมกายและวาจาของตนเอง ไม่สร้างความเดือนร้อนให้ตนเองและหมู่คณะ ทำให้ตนเองและหมู่คณะมีความ งบสุขส่งผลให้ภิกษุแต่ละรูปมีความเจริญก้าวหน้าในการเจริญสมาธิภาวนา เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ย่อมส่งผลให้ใจเป็นสมาธิได้ง่าย และจะทำให้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด.


6. มีความห่วงใยในเสนาสนะตามราวป่า
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายยังเป็นผู้มีความห่วงใยในเสนาสนะตามราวป่า ตลอดกาลเพียงไร ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้

    การมีความห่วงใยในเสนาสนะตามราวป่านั้น เป็นการห่วงใยเพื่อเจริญสมาธิภาวนา เนื่องจากราวป่าเป็นสถานที่สงบเงียบส่งผลให้ใจสงบได้ง่ายดังกล่าวแล้วในคณกโมคัลลานสูตร เสนา นะป่าถือได้ว่าเป็นชัยภูมิของภิกษุสงฆ์ เพราะแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในป่า


7. ปรารถนาให้ภิกษุผู้มีศีลมาหาผู้ที่มาแล้วก็ให้อยู่สบาย
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายยังจักเข้าไปตั้งสติไว้ว่า ทำอย่างไรเพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังไม่มาขอให้มา และเพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลเป็นที่รักที่มาแล้วขอให้อยู่สบาย ตลอดกาลเพียงไร พึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้.

      อปริหานิยธรรมข้อ 7 นี้เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการปฏิสันถารต้อนรับ ซึ่งหากภิกษุเจ้าถิ่นให้ความสำคัญและปฏิบัติไม่บกพร่องก็จะมีความเจริญ กล่าวคือ เมื่อภิกษุผู้มีศีลมายังวัดใดแล้วพระภิกษุในวัดนั้นให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ท่านเองก็ปรารถนาจะอยู่ที่นั้นไปนาน ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้พระภิกษุเจ้าถิ่นก็จะได้ประโยชน์จากการได้ฟังธรรม หรือ ได้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในพระศาสนานี้ได้และที่สำคัญหากพระภิกษุสงฆ์ทุกวัดทั่วสังฆมณฑลปฏิบัติได้อย่างนี้ ความสามัคคีของสงฆ์โดยรวมจะเกิดขึ้นเป็นผลให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งและรุ่งเรืองสืบไปยาวนาน

       ตรงข้ามถ้าพระภิกษุไม่ใส่ใจเรื่องนี้ ภิกษุผู้มีศีลท่านใดได้ไปถึงวัดนั้น ๆ แล้วก็จะไม่ประทับใจไม่ปรารถนาที่จะอยู่นาน ๆ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าถิ่นก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการฟังธรรม หรือไม่ได้ประโยชน์อื่นใดเลย มีความรู้อยู่แค่ไหนก็ยังคงรู้อยู่แค่นั้น ทำให้ไม่มีความก้าวหน้าในพระธรรมวินัยนี้ และหากทุกวัดทั่วสังฆมณฑลเป็นอย่างนี้ ความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนาจะมาถึงโดยเร็วพลัน เพราะต่างคนต่างอยู่ไม่ใส่ใจซึ่งกันและกัน หากมีภัยภายนอกเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาก็ไม่มีกำลังต้านทานได้


 


หนังสือ GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001250147819519 Mins