ความเข้าใจถูกในการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

วันที่ 22 พย. พ.ศ.2559

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , พุทธวิธี , ความเข้าใจถูกในการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

1. ความเข้าใจถูกในการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

     คนทั่วไปในโลกนี้เมื่อยังมีกิเลสอยู่ในตัว ความรู้ในการสร้างตัวสร้างฐานะของเขาจึงยังไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นความรู้ที่ยังเจือปนด้วยความเสื่อมจาก "กิเลส" อยู่มาก ได้แก่ ความโลภความโกรธ ความหลง จึงทำให้ผู้ที่นำไปใช้ ต้องประสบปัญหาและความเดือดร้อนตามมาในภายหลังอยู่เสมอ และเป็นเหตุให้เราได้ยินคำเอารัดเอาเปรียบในสังคมอยู่บ่อยครั้ง เช่น มือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่กินปลาเล็ก พ่อค้าหน้าเลือด เป็นต้น

       บุคคลที่จะแนะนำสั่งสอนหนทางการเลี้ยงชีวิตที่มีแต่ความเจริญก้าวหน้าอย่างเดียว ชนิดที่ปราศจากความเสื่อมอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น มีเพียงบุคคลเดียวในโลกเท่านั้น นั่นคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความรู้ของพระองค์นั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากการกำจัดต้นตอแห่งความเสื่อม คือ "กิเลส" ได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้ว จึงเป็นความรู้ที่ สมบูรณ์แบบ มีความบริสุทธิ์อยู่เต็มเปียมบริบูรณ์ ไม่เจือปนด้วยความเสื่อมแม้แต่นิดเดียว ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามจึงได้รับแต่ความสุขและเป็นการกำจัดทุกข์ไปพร้อมกัน ผลสุดท้ายยิ่งปฏิบัติตามมากเท่าไหร่ยิ่งมีแต่ความสุขเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น


1.1 ความเข้าใจถูกเรื่องการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

       ถ้าถามว่า เป้าหมายของการสร้างตัวสร้างฐานะคืออะไร คำตอบที่ได้รับทั่วไป ก็คือ ต้องการ "ความรวย" แต่การตีความคำว่า ความรวยของแต่ละคนนั้น มีอยู่หลายแนวทาง มีทั้งเหมือนกัน คล้ายกัน และแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพูดถึงความรวย มักนึกถึงความร่ำรวยวัตถุสิ่งของ แก้วแหวนเงินทองสมบัติพั ถานเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าทรัพย์สมบัติเหล่านี้ให้ความสะดวก สบายแก่ตนได้ น้อยคนนักที่จะตอบเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       ความรวยตามความหมายของพระพุทธองค์นั้น แตกต่างไปจากความรวยตามความเห็นของปุถุชนมากยิ่งนัก เพราะ "ความรวย" ในทัศนคติของพระองค์นั้น หมายถึง "การสร้างตัวสร้างฐานะควบคู่ไปกับการกำจัดต้นตอแห่งความเสื่อม คือ กิเลสในตัว" หรืออาจกล่าวง่ายๆ ว่า "รวยทรัพย์ต้องคู่กับรวยศีลธรรม"

        นั่นหมายความว่า "หลักวิชา" ในการสร้างความรวยตามพุทธวิธีของพระองค์นั้น ก็คือ "การขยันทำมาหากินเป็นจนกระทั่งรวยทรัพย์ และการขยันทำความดีเป็นจนกระทั่งรวยศีลธรรมและบรรลุธรรม" นั่นเอง

       จากหลักวิชาของพระพุทธองค์นี้เอง เมื่อลงมือศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็พบว่าสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีขั้นตอนแนะนำการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธีแก่ชาวพุทธออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ คือ
1) ทรงปลูกฝังให้ชาวพุทธสร้างตัวสร้างฐานะอย่างมีอุดมการณ์
2) ทรงชี้โทษความยากจนและห้ามชาวพุทธยอมแพ้ความยากจน
3) ทรงแนะนำพุทธวิธีสร้างตัวสร้างฐานะในปัจจุบันอย่างถูกต้องและยั่งยืน

      ในสมัยพุทธกาล มีบุคคลหลายท่านที่ฟังธรรมะแล้ว นำมาไตร่ตรองด้วยปัญญาจนเกิดความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ว่า ถูกต้องจริง คือ ตรงตามความจริงของธรรมชาติดีจริง คือ กลั่นกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ได้จริง และเป็นประโยชน์จริง คือ ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้พบแต่ความสุขและกำจัดทุกข์ได้จริง ท่านเหล่านั้นจึงสร้างตัวสร้างฐานะตามหลักวิชาของพระองค์

       บางท่านแม้จุดเริ่มต้นของการสร้างตัวสร้างฐานะต้องตกอยู่ในขั้นวิกฤตเลวร้ายถึงขั้นเป็นคนยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์ แต่เพราะมั่นใจในคำแนะนำของพระพุทธองค์ ผลสุดท้ายบั้นปลายของเขาจึงกลายเป็นความสำเร็จที่งดงามควรต่อการจารึกให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ยิ่งนัก เพราะนอกจากเขาจะร่ำรวยทรัพย์เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญค้ำจุนพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ผู้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารอย่างแน่นอนอีกด้วย เช่น เมณฑกเศรษฐี โฆษกเศรษฐี พราหมณ์เอกสาฎก เป็นต้น

      นอกจากนี้ลูกศิษย์ของพระพุทธองค์บางท่าน แม้บางช่วงของชีวิตจะต้องเผชิญวิกฤตภัยต่างๆ จนกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เพราะเชื่อมั่นในคำ อนของพระพุทธองค์ ยังคงดำเนินการสร้างตัวสร้างฐานะขึ้นมาใหม่ตามพุทธวิธีด้วยความไม่หวั่นไหวคลอนแคลนในพระองค์แม้แต่นิดเดียว ผลสุดท้ายก็ทำให้สามารถพลิกฟนกิจการขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ กลายเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญค้ำจุนพระพุทธศาสนาที่ร่ำรวยกว่าเก่าอีกด้วย เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น

      เพราะฉะนั้น เมื่อชาวพุทธอยู่ในภาวะที่กำลังต้องสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคง นอกจากการศึกษาหาความรู้ในทางโลกแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาพุทธวิธีการสร้างตัวสร้างฐานะของพระพุทธองค์ด้วย เพื่อจะได้ทราบความจริงว่าสิ่งใดเป็นความเสื่อมและสิ่งใดเป็นความเจริญในการดำเนินกิจการงานของตนอย่างแท้จริง จะได้ทั้งป้องกันความเสื่อมและสร้างความเจริญก้าวหน้าในกิจการงานได้อย่างถูกวิธี หรือหากประมาทพลาดพลั้งเพราะรู้ไม่เท่าดูไม่ทัน จึงดูแลงานไม่ทั่วถึง ก็ยังสามารถพลิกจากร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสสามารถฟนคืนความเจริญก้าวหน้าให้กิจการงานของตนขึ้นมาใหม่ได้อย่างทันท่วงที และนั่นก็จะยิ่งทำให้เราเกิดความมั่นใจว่า คำสอนของพระพุทธองค์นั้น ผู้ปฏิบัติตามย่อมมีแต่ความเจริญก้าวหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเจือปนอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว สมควรที่เราจะช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไปทั่วโลกนั่นเอง


1.2 พระพุทธองค์ทรงปลูกฝังให้ชาวพุทธสร้างตัวสร้างฐานะอย่างมีอุดมการณ์สูงสุด
      พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า ชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก ไม่ได้เกิดมาแค่ชาตินี้ชาติเดียวแต่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน เพราะตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ตราบใดที่ยังสร้างกรรมตามอำนาจกิเลสที่บีบคั้น ก็ยังต้องเวียนตายเวียนเกิดไม่รู้จักจบสิ้น การจะหลุดพ้นจากกฎแห่งกรรม มีวิธีเดียวคือต้องกำจัดกิเลสหมดสิ้นไปจากจิตใจแต่การกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ไม่สามารถทำได้ในชาติเดียว ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรมเองเพื่อสร้างบุญบารมีข้ามภพข้ามชาติจึงจะทำได้ ดังนั้น มนุษย์ต้องรู้จักวางแผนชีวิต กำหนดเป้าหมายของชีวิต ข้ามภพข้ามชาติ จึงจะสามารถเอาชนะกฎแห่งกรรม และกำจัดกิเลสในตนให้หมดสิ้น แล้วเข้าสู่พระนิพพาน

เป้าหมายชีวิต 3 ระดับ
     1) เป้าหมายชีวิตระดับต้น คือการสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคงได้ในชาตินี้ ความสำคัญของการสร้างตัวอยู่ตรงที่มีคุณสมบัติของผู้ครองเรือนที่ดีและการสร้างฐานะอยู่ที่การมีอาชีพการงานมั่นคงสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็ตามตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ ครู พ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ เมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตแล้วก็มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองสร้างตัวสร้างฐานะให้บรรลุเป้าหมายชีวิตระดับต้นให้ได้ โดยมีหลักการว่า "ต้องสร้างตัวสร้างฐานะไปพร้อมกับการสร้างศีลธรรมในตน" เพื่อให้เส้นทางชีวิตในชาตินี้ของตน ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร และยังทำประโยชน์ใหญ่ให้แก่ผู้อื่นที่ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ในสังคมอีกด้วย

      2) เป้าหมายชีวิตระดับกลาง คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุกๆ โอกาสที่อำนวยให้ เพื่อสะ มเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไม่สูญตราบใดที่ยังไม่หมดกิเล ก็ยังต้องเกิดใหม่เรื่อยๆ ต่อไปอีก และขุมทรัพย์อย่างเดียวที่คนเราจะนำติดตัวไปสร้างความเจริญในภพชาติใหม่ได้ ก็คือ "บุญ" เท่านั้น

      แต่เพราะบางคนขาดความเข้าใจความจริงในเรื่องนี้ จึงคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ในชาติหน้าเลย คิดแต่จะเอาแค่สร้างตัวสร้างฐานะได้ก็พอใจแล้ว โดยไม่สร้างบุญสร้างกุศล ชีวิตจะมีคุณค่าสักเพียงใด หากคิดดูให้ดีก็ไม่ต่างไปจากนกกา ที่โตขึ้นมาก็ทำมาหากินเลี้ยงตัว แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน

     แต่ชีวิตของคนมีร่างกายที่เหมาะกับการสั่งสมคุณความดีมากที่สุด เมื่อสามารถสร้างตัวสร้างฐานะได้แล้ว ต้องคิดที่จะสร้างคุณค่าให้กับชีวิต ด้วยการตั้งใจสั่ง มความดีทุกรูปแบบด้วยการประกอบการบุญการกุศล เพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ และเป็นปัจจัยในการบรรลุเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด จึงจะคุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์

      3) เป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่การตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบเพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นแล้วเข้าพระนิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

     ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลสก็ยังต้องประสบทุกข์ ต้องเจอกับปัญหาความยากจน ความเจ็บ ความโง่ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ หากดำเนินชีวิตผิดพลาดก็จะประสบทุกข์มาก แต่หากรู้วิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีเป้าหมายชีวิตเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์แล้ว ก็จะหมดทุกข์ตามท่านไป

     การจะหมดทุกข์ได้ต้องมีความเพียร หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองอย่างยิ่งยวดนับภพ นับชาติไม่ถ้วน ที่เรียกว่า "การสร้างบารมี 10 ประการ" คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมีสัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี อันเป็นหลักสูตรสากลของผู้ฝึกตนเพื่อมุ่งหลุดพ้นจากวัฏสงสารที่เรียกว่า "นักสร้างบารมี" ดั่งเช่น พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นต้น

     ผู้ที่มีเป้าหมายสูงสุดเช่นนี้ ในระหว่างที่ฝึกตนเพื่อบำเพ็ญบารมี 10 ประการอยู่นี้ ย่อมต้องต่อสู้ฟันฝ่ากับอุปสรรคมากมาย คือ "กิเล ตน" "กิเลสคนอื่น" และ "วิบากกรรมชั่ว" ที่ตนเคยทำผิดพลาดไว้ในอดีตไปตลอดเส้นทาง จนกว่ากิเลสจะหมดสิ้น วิบากกรรมจะมลายสูญ และบารมีเต็มเปียมบริบูรณ์ จึงบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ การกำจัดทุกข์ได้หมดสิ้น เป็น "พระอรหันต์" ผู้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่ต้องย้อนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

       ดังนั้น คนฉลาดที่คิดได้เร็ว เป็นผู้ที่เข้าใจถูกว่า เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออะไร ในระหว่างที่กำลังสร้างตัวสร้างฐานะอยู่นี้ ก็ต้องรีบเร่งขวนขวาย ตั้งอกตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญกุศลหมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างเต็มที่ ต้องพยายามทำเป้าหมายสูงสุดของการเข้าสู่พระนิพพานเอาไว้ข้ามภพข้ามชาติด้วย เพื่อให้เป็นอุดมการณ์สูงสุดของชีวิตที่ติดเป็นนิสัยภพข้ามชาติไป อันเป็นการออกแบบชีวิตในภพชาติเบื้องหน้าให้มีเหตุปัจจัยเกื้อหนุนค้ำจุนให้สามารถดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องของการสร้างบารมี 10 ประการแต่เพียงอย่างเดียวจนในที่สุด ชาติใดชาติหนึ่งเบื้องหน้า ความเพียรทั้งหมดในการสร้างบารมีที่ผ่านมาเต็มเปียมบริบูรณ์เหมือนน้ำที่หยดลงตุ่มทีละติ๋งจนกระทั่งน้ำเต็มตุ่มได้สำเร็จ ก็ย่อมสามารถหมดกิเลสได้เข้าสู่พระนิพพานตามพระพุทธองค์ไป


1.3 พระพุทธองค์ทรงชี้โทษความยากจนและห้ามชาวพุทธยอมแพ้ความยากจน
     หนึ่งในความลำบากที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนนั้น ก็คือ ความยากจน เพราะเพียงแค่ได้ยินคำว่า "ยากจน" เท่านั้น คนทุกคนในโลกนี้ล้วนต้องการหลีกหนีไปให้ไกลสุดขอบฟ้ากันทั้งนั้น ยิ่งถ้าใครเคยผ่านความยากจนมาก่อนด้วยแล้ว จะซึ้งใจกับสิ่งที่ความจนสั่งสอนเขามาเป็นอย่างดี บางท่านถึงกับบอกว่า "เข็ดความจน" ขอจนแค่ชาตินี้ชาติสุดท้ายเลยทีเดียว

       ความยากจนเป็นความทุกข์ที่บีบคั้นให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างขึ้นในโลก ใครไม่เคยลำบากยากจนจะไม่รู้ว่าความจนเป็นทุกข์อย่างไร การอธิบายความยากจนเข็ญใจออกมาเป็นตัวอักษรก็ทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ใครๆ ก็ไม่อาจถ่ายทอดความทุกข์แสนสาหัสออกมาได้หมดสิ้น

      ความยากจนเป็นความลำบากทั้งกายและใจอย่างแสนสาหั ที่เกิดจากการไม่มีทรัพย์บางคนถูกความยากจนบีบคั้นอย่างหนัก เพื่อให้ได้ทรัพย์มาใช้เลี้ยงชีวิตของตนและคนในครอบครัวให้ผ่านไปในแต่ละมื้อแล้ว แม้ต้องยอมตนเป็นคนรับใช้ผู้อื่นก็ยินยอม

       คนจนต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกายและน้ำตาจากความเจ็บช้ำน้ำใจเพื่อแลกปัจจัย 4 เลี้ยงชีวิตบางคนยอมเสี่ยงชีวิตทำงานหนักทั้งที่ยังป่วยหนักบางคนยอมขายอวัยวะเพื่อแลกกับเงินซื้อข้าวกิน

        ชีวิตของคนจนจึงเป็นชีวิตที่ต้องทนกับความร้อนและความหนาวของสภาพดินฟ้าอากาศให้ได้ ถ้าทนไม่ได้ก็คืออดตาย

         ชีวิตของคนจนต้องอดทนกับคำพูดดูถูกเหยียดหยามให้เจ็บช้ำน้ำใจให้ได้ ถ้าทนไม่ได้ก็คืออดตาย

         ชีวิตของคนจนต้องก้มหน้าทนให้ความอยุติธรรมโขกสับสารพัด ถ้าทนไม่ได้ก็คืออดตาย

      นี่คือสภาพของคนจนที่ไม่มีวันบรรยายได้หมดสิ้น พอๆ กับการได้ยินได้ฟังเสียงร่ำไห้ของคนยากจนที่ไม่เคยเว้นวรรคแม้แต่นาทีเดียวในโลกนี้ เพราะถ้าพวกเขาทนความจนไม่ได้ นั่นก็คืออดตาย

       ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ต้องการให้ชาวพุทธต้องไปเกิดเป็นคนยากจนพระองค์ทรงต้องการให้รื้อผังความยากจนออกไปจากชีวิตให้หมดสิ้น ด้วยการทรงชี้โทษของความจนไว้ต่างๆ นานา และพรรณนาถึงคุณของการแก้ปัญหาความจนอย่างถูกหลักวิชาไว้มากมาย ซึ่งหากกล่าวโดยย่อมี 3 ประการ

1. พระองค์ทรงตำหนิความยากจนไว้ใน "อิณสูตร"
2. พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าความยากจนบีบคั้นให้มนุษย์ทำความชั่วได้ง่าย
3. พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าความรวยเป็นคุณูปการให้สร้างบุญได้ง่าย

โดยสามารถอธิบายรายละเอียดแต่ละหัวข้อได้ดังนี้

1.3.1 พระพุทธองค์ทรงตำหนิความยากจนไว้ใน "อิณสูตร"
    ในเรื่องการสร้างตัวสร้างฐานะของชาวพุทธนั้นพระพุทธองค์ไม่เคยทรงห้ามชาวพุทธรวยแต่ในทางตรงกันข้าม พระองค์ทรงห้ามชาวพุทธยอมแพ้ความยากจน โดยทรงถึงกับแจกแจงความทุกข์ของคนจนอย่างหมดเปลือก เพื่อให้ชาวพุทธเห็นโทษภัยของความยากจน ใครที่กำลังอยู่ในวัยที่กำลังสร้างตัวสร้างฐานะจะได้ไม่เกียจคร้านส่วนผู้ที่ตั้งหลักฐานได้แล้ว จะได้ไม่ประมาทในการสร้างบุญ ดังปรากฎใน "อิณสูตร"  โดยพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงความจนเอาไว้ว่า

       "ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก" และทรงได้อธิบายไว้ดังนี้

1) ความจนเป็นทุกข์ของคนในโลกที่ยังครองเรือนอยู่
2) คนจนเข็ญใจยากไร้ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก
3) ครั้นกู้หนี้แล้วก็ย่อมต้องใช้ดอกเบี้ย แม้การต้องไปใช้ดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ในโลก
4) คนจนเข็ญใจยากไร้ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา พวกเจ้าหนี้ย่อมตามทวงเขา แม้การถูกตามก็เป็นทุกข์ในโลก
5) คนจนเข็ญใจยากไร้เมื่อถูกเจ้าหนี้ทวง แล้วยังไม่มีให้ พวกเจ้าหนี้ก็เลยติดตาม
แม้การถูกติดตามก็เป็นทุกข์ในโลก
6) คนจนเข็ญใจยากไร้ถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ยังไม่ทันจะให้ พวกเจ้าหน้าที่ก็จับเขามาจองจำเสียแล้ว แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลก

       สรุปว่า พระพุทธองค์ทรงห้ามชาวพุทธจนอย่างเด็ดขาด เพราะทรงเข้าใจสภาพความทุกข์ยากลำบากของคนจนชนิดที่เรียกว่า "ผ่าหัวใจคนจน" ออกมาตีแผ่ให้ทุกคนเห็นกันอย่างชัดเจนและทั่วถึง

     การที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้ เพราะทรงต้องการเตือนสติให้ชาวพุทธทั้งหลาย"ไม่ประมาท" ในการดำเนินชีวิต คือ

1) ต้องกลัวความยากจน
2) ต้องตั้งใจกำจัดความยากจนอย่างถูกวิธี
3) ต้องป้องกันความยากจนข้ามภพข้ามชาติ

     เพราะฉะนั้น เมื่อชาวพุทธมีสติระลึกนึกถึงอันตรายของความยากจนอย่างนี้แล้ว จะได้ไม่ประมาท เอาแต่ขยันหาทรัพย์อย่างเดียว แต่ตระหนี่ไม่สร้างบุญ ซึ่งผิดหลักวิชาที่พระองค์ทรงสอนไว้ เพราะที่ถูกต้อง คือ "ต้องสร้างตัวสร้างฐานะเป็นจนกระทั่งรวยทรัพย์ และขยันทำบุญเป็น จนกระทั่งบรรลุธรรม" ใครก็ตามที่ดำเนินตามหลักวิชานี้ ย่อมได้หลักประกันว่า นับแต่นี้ไป ตราบใดยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ถือกำเนิดในวัฏสงสาร แม้ยังไม่อาจกำจัดกิเลสจนกระทั่งบรรลุธรรมเข้าพระนิพพาน แต่ก็จะไม่ตกระกำลำบาก ไม่ต้องพบกับความยากจนอีกต่อไปอย่างแน่นอน

1.3.2 ความยากจนบีบคั้นให้มนุษย์ทำกรรมชั่วได้ง่าย
      ชีวิตอยู่ได้ด้วยการใช้ปัจจัย 4 หล่อเลี้ยงชีวิต แต่เพราะความยากจนจึงทำให้มีชีวิตลำเค็ญเกิดความขัด นในการแสวงหาปัจจัย 4 ความหิวและความกลัวตายจึงบีบคั้นให้จิตใจตกอยู่ในอำนาจความชั่วได้ง่าย เป็นเหตุให้แสวงหาทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี แม้ต้องปล้น จี้ ฆ่า ลักขโมย ขายตัว ต้มตุ๋น หลอกลวง ค้าของผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติดหรืออื่นๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์มา ก็ทำได้โดยไม่รู้สึกละอาย ผลสุดท้าย กลายเป็นคนมีนิสัยใจบาปหยาบช้า เพราะทนการบีบคั้นจากความยากจนไม่ไหว

      อันที่จริงแล้ว หากเรามองโลกด้วยใจเป็นกลางย่อมพบว่าสมบัติทั้งหลายในโลกนี้เป็นของกลาง มีมากมายเพียงพอต่อการเลี้ยงคนทั้งโลกให้อิ่มเอมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะปัจจัย 4 อันเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ คือ

1) ที่อยู่อาศัยรวมถึงพื้นที่สำหรับการทำมาหากิน
2) อาหาร
3) เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
4) ยารักษาโรค

     หรือปัจจัยอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตก็ตามสมบัติเหล่านี้มีจำนวนมากเพียงพอ เพียงแค่คนที่มีเหลือกินเหลือใช้อย่างเหลือเฟือนำมาแบ่งปันให้คนที่ขาดแคลนเท่านั้น เศรษฐกิจในโลกนี้ก็จะดีขึ้นทันตาเห็น เพราะทุกคนมีหัวใจของการแบ่งปันเกิดขึ้นเสมอกันแล้ว แรงกดดันบีบคั้นจากปัญหาความยากจนก็จะทุเลาเบาบางลงไป การแก่งแย่งแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายก็จะกลายเป็นรอยยิ้มที่เกิดจากการแบ่งปันขึ้นมาทันที บรรยากาศดีๆ ก็จะเกิดขึ้นมาในโลกทันทีเช่นกัน

      แต่เพราะคนบางคนไม่คิดว่าการแบ่งปันจะช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนให้คนอื่นได้ จึงได้ใช้ความมั่งมีของตนกดขี่ข่มเหงคนที่กำลังลำบากยากจนให้ประสบทุกข์ซ้ำเติมให้มากเข้าไปอีกจึงยิ่งกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความยากจนขึ้นในโลก

        ยกตัวอย่าง เพียงแค่มีบางคนที่ฉลาดกว่ารวยกว่าไม่กี่คน รวมหัวกันใช้ความฉลาดของเขาในทางโลภเห็นแก่ได้ ด้วยการกว้านซื้อปัจจัย 4 ไปกักตุนไว้ จนกระทั่งเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าชนิดข้าวยากหมากแพงขึ้นในท้องตลาด จากนั้นค่อยนำสินค้ามาขายโก่งราคาอย่างเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านอีกที เพียงแค่กลไกการตลาดที่สร้างสถานการณ์เพื่อกอบโกยกำไรเท่านี้ ก็กลายเป็นหนึ่งในวิธีการที่ใช้ซ้ำเติมคนจนให้ยากจนหนักลงไปกว่าเก่า เท่ากับเป็นการบีบคั้นคนจนให้หาทางแก้แค้นคนรวยแต่ฉลาดแกมโกงอย่างแสนสาหั ในภายหลัง แล้วก็กลายเป็นสงครามระหว่างคนจนกับคนรวยที่ผลักดันไปสู่การทำลายล้างด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งในสงครามระดับท้องถิ่นสงครามระดับประเทศ และสงครามระดับโลกดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แล้วต่างฝ่ายก็กลายเป็นศัตรูที่ห้ำหั่นกันไปตราบชั่วลูกชั่วหลานไม่รู้จบ

     เพราะฉะนั้น ลำพังเกิดมาพบกับความยากจนเพราะขาดแคลนทรัพย์ ก็ต้องอดทนแรงบีบคั้นจากปัญหาสารพัดมากอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอแรงบีบคั้นที่เกิดจากความโลภไม่รู้จักพอของคนรวยบางคนซ้ำหนักเข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้คนจนอ้างเหตุความยากจนมาสร้างกรรมชั่วได้สารพัด ในที่สุด คนจนจำนวนมากจึงเดินเข้าสู่เส้นทางมิจฉาชีพเพราะคิดรวยทางลัด จึงทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ปล้นจี้ลักขโมย ขายบริการทางเพศ ต้มตุ๋นหลอกลวง ค้าของเถื่อนขายยาเสพติด และอาชีพผิดศีลธรรมอื่นๆ อีกสารพัด เป็นเหตุให้ก่อบาปก่อกรรมซ้ำเติมตัวเองไปอย่างไม่รู้จบ ผลสุดท้าย นอกจากมีชีวิตที่หวาดระแวงหาความสุขไม่ได้ในชาตินี้แล้ว ตายไปก็ยังต้องไปตกนรกหมกไหม้อีก นี่คือความน่ากลัวของความยากจนที่บีบคั้นให้ผู้คนทำความชั่วได้ง่าย

     คนจนไม่ใช่คนชั่ว แต่ความยากจนบีบคั้นให้คนจนกลายเป็นคนชั่วได้ง่าย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำวิธีแก้จนอย่างถูกวิธีไว้มากมาย พร้อมกับบอกเหตุที่แท้จริงของการที่ต้องเกิดมาเป็นคนยากจนไว้ชัดเจนว่า ต้นเหตุของความยากจนที่แท้จริงของคนจน ก็คือ ความตระหนี่หวงแหนทรัพย์และความประมาทในการสั่ง มทานกุศลไว้ล่วงหน้าเมื่อในอดีตชาติของคนจนนั่นแหละ เป็นตัวการให้ชาตินี้ต้องเกิดมาเป็นคนจน และต้องทนกับความจนให้ได้อย่างถูกวิธี โดยต้องไม่เอาความจนเป็นข้ออ้างในการทำความชั่วเป็นอันขาด มิฉะนั้น ถานการณ์ภายหน้าจะยิ่งทำให้เลวร้ายหนักกว่าในปัจจุบัน

       โดยสรุป ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า คนจนจะพ้นจากความยากจนได้ต้องอดทนต่อความยากจนในปัจจุบัน และต้องเอาชนะความตระหนี่ด้วยการหมั่นสั่งสมบุญกุศลไว้ล่วงหน้าอย่าได้ขาดแม้แต่วันเดียว ดังคำสอนของพระองค์ที่ปรากฏใน พิลารโกสิยชาดก ว่า

      "คนตระหนี่กลัวจนจึงให้ทานไม่ได้ ความตระหนี่นั้นจึงเป็นภัยสำหรับคนที่ไม่ให้ ดังนั้นพึงกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียว ครอบงำมลทินใจเสียแล้วให้ทานกันเถิด เพราะว่าในภพชาติหน้าบุญเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตวโลกทั้งหลายได้" เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะพ้นความจนได้นั้น จะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า

1. คนยากจน คือ คนขาดแคลนทรัพย์ เพราะความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ มีความประมาท ไม่ทำบุญไว้ในอดีตจึงทำให้ต้องมาเกิดเป็นคนยากจนในปัจจุบัน

2. คนอยากจน คือ คนที่มีทรัพย์แต่ต้องไปเกิดเป็นคนยากจน เพราะความตระหนี่หวงแหนทรัพย์ มีความประมาท ไม่ทำบุญไว้ในปัจจุบัน จึงต้องไปเกิดเป็นคนยากจนในอนาคต

3. คนจนยาก คือ คนที่ยากจะพบความยากจน เพราะไม่มีความตระหนี่หวงแหนทรัพย์มีความไม่ประมาท หมั่นสั่งสมบุญล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ในปัจจุบัน ย่อมได้ไปเกิดเป็นมหาเศรษฐีในอนาคต

      ทั้งนี้เพื่อเตือนสติตนเองไม่ให้ตระหนี่และไม่ประมาทในการสั่งสมบุญไว้ล่วงหน้า และเพื่อให้เกิดกำลังใจไม่ยอมแพ้ความยากจนในปัจจุบันไปเสียก่อน จึงจะพอมีหวังหลุดพ้นจากความจนในวันข้างหน้าได้สำเร็จ

1.3.3 ความรวยเป็นคุณูปการให้สร้างบุญได้ง่าย
ความรวย หมายถึง การมีทรัพย์ ความรวย มี 2 ประเภท คือ

     1) ความรวยทางโลก เรียกว่า "โลกียทรัพย์" คือ การมีทรัพย์สิน เงินทองสมบัติพัสถาน มากมาย และมีความสามารถใช้จ่ายทรัพย์นั้นได้อย่างมีความสุข

        2) ความรวยทางธรรม เรียกว่า "อริยทรัพย์" มี 7 ประการ ได้แก่

1. ศรัทธา คือ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
2. ศีล คือ การรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย
3. หิริ คือ ความละอายต่อการทำบาป
4. โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อการทำบาป
5. สุตะตะ คือ การ ดับตรับฟังธรรม
6. จาคะ คือ ความเสียสละ
7. ปัญญา คือ ความรอบรู้

     ความรวยจึงมิใช่สิ่งเลวร้าย เลวทรามแต่อย่างใด แต่เป็นความสุข ความปลื้มใจ เป็นลาภอันประเสริฐ ผู้ที่ปรารถนาความรวยสมควรที่จะวางเป้าหมายไว้ที่การแสวงหาทั้งโลกียทรัพย์และอริยทรัพย์มาไว้เป็นของตน

      ประเด็นที่ต้องคิดเมื่อบุคคลใดตัดสินใจว่าจะเป็นคนรวย คือ 1) รวยด้วยวิธีการอย่างไร 2) รวยแล้วได้อะไร 3) รวยแล้วจะทำอะไร เพราะหากหาคำตอบที่ถูกไม่ได้ ความรวยนั้น จะนำพาความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง

       ในทางพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ความรวย หรือทรัพย์ที่ตนเองมีนั้น มีไว้เพื่อประโยชน์แก่บุคคลต่างๆ คือ

1) เลี้ยงตนให้เป็นสุข
2) เลี้ยงบิดามารดาให้เป็นสุข
3) เลี้ยงบุตรภรรยา คนใช้ และบริวารให้เป็นสุข
4) เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข
5) บำเพ็ญทิกษิณาทานในสมณพราหมณ์

      นั่นก็หมายความว่า เรายิ่งมีทรัพย์มากเท่าไหร่ เรายิ่งสามารถใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ทั้ง 5 ประการนี้ ได้มากเท่านั้น ผลที่ได้รับจากใช้ทรัพย์เช่นนี้ ย่อมทำให้เราได้ผลบุญมากไปด้วย


บุญคืออะไร ?
    บุญ คือ ธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในใจทุกครั้งเมื่อได้ทำความดี ละเว้นความชั่ว กลั่นใจให้ผ่องใสมีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถสั่งสมได้ กลั่นกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ได้ นำติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้ และมีอานุภาพกำจัดทุกข์และบันดาลความสุขให้แก่ชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างอัศจรรย์

บุญมีความสำคัญอย่างไร ?
        ในการสร้างตัวสร้างฐานะให้ร่ำรวยนั้น มักมีผู้เข้าใจผิดว่า ความรวยนั้น เกิดจากการอาศัยหนึ่งสมองสองมือเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วหาใช่เพียงแค่นั้นไม่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ใช่มีแค่หนึ่งสมองสองมือ แต่ต้องมีบุญที่ตนเคยทำไว้ด้วย เพราะถึงแม้จะทุ่มเทพยายามสร้างความรวยด้วยหนึ่งสมองสองมือแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีบุญมาก่อนย่อมยากจะทำได้สำเร็จ หรือบางครั้งทำได้สำเร็จ แต่ตนก็กลับไม่ได้เป็นผู้ใช้ทรัพย์ที่เกิดจากความร่ำรวยนั้น ดังพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสอนไว้ในสิริชาดก ว่า

       "ผู้ไม่มีบุญจะเป็นผู้มีศิลปะหรือไม่มีศิลปะก็ตาม ย่อมขวนขวายรวบรวมทรัพย์ ใดไว้เป็นอันมาก ผู้มีบุญย่อมใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น โภคะเป็นอันมากย่อมล่วงเลยสัตว์เหล่าอื่นไปเสียเกิดขึ้นในที่ทั้งปวงแก่ผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้ว ใช่แต่เท่านั้น รัตนะทั้งหลายยังเกิดขึ้นแม้ในที่อันมิใช่บ่อเกิด"

       พุทธพจน์บทนี้ ได้ส่องให้เห็นถึงความสำคัญของการมีบุญไว้อย่างชัดเจนว่า

     1)สมบัติทั้งหลายในโลกนี้เป็นของกลาง ผลัดกันใช้ ผลัดกันชม ผลัดกันเป็นเจ้าของผู้มีบุญเท่านั้นที่เป็นผู้ได้ใช้ทรัพย์ แม้ตนเองจะไม่ใช่เป็นผู้ที่หาทรัพย์นั้นไว้ก็ตาม แต่ก็จะมีเหตุอันชอบธรรมที่บันดาลให้ตนได้ใช้ทรัพย์ที่เกิดขึ้นด้วยกำลังของบุญที่ตนทำไว้ดีแล้วในอดีตตามมาส่งผล

       2) ผู้มีบุญไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด ทรัพย์ทั้งหลายย่อมติดตามไปเกิดในที่นั้นด้วย เพื่อให้ผู้มีบุญได้ใช้สอย

      3) บุคคลมีทรัพย์เกิดขึ้นได้ก็เพราะบุญ ได้ใช้ทรัพย์ก็เพราะบุญ และปราศจากทรัพย์ก็เพราะไม่มีบุญ เราจึงต้องหมั่นสั่งสมบุญตลอดชีวิต และห้ามขาดแม้แต่วันเดียว

บุญมีประโยชน์อย่างไร ?
       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงประโยชน์ของบุญไว้มากมายหลายประการ ดังปรากฏในสิริชาดก ว่า

      "ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ความเป็นผู้มีทรวดทรงงามความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นอธิบดี ความเป็นผู้มีบริวาร ผลทั้งหมดนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้

      ความเป็นเจ้าประเทศราช ความเป็นผู้มีอิสริยยศ ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก ความเป็นราชาแห่งเทวดาในเทวโลก ผลทั้งหมดนี้อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้

      สมบัติอันเป็นของมนุษย์ ความรื่นรมย์ยินดีในเทวโลก นิพพานสมบัติ ผลทั้งหมดนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้"

      พุทธพจน์ที่ยกอ้างมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวพุทธรู้ว่าประโยชน์สุขทั้งหมดของทุกชีวิตในวัฏสงสารนี้ เกิดขึ้นเพราะการมีบุญ หากปราศจากบุญแล้วความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่ตนตลอดกาล

ทำอย่างไรจึงจะมีบุญ ?
       การที่ใครจะได้เป็นผู้มีบุญนั้น มีเงื่อนไขเดียวคือตนเองต้องเป็นผู้สั่งสมบุญด้วยตนเองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้ทุกคนเป็นผู้มีบุญ ดังปรากฏใน ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ว่า

      "กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแลอันสูงสุดต่อไป ซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน มีความประพฤติสงบ มีเมตตาจิต บัณฑิตครั้นเจริญธรรม 3 ประการอันเป็นเหตุเกิดแห่งความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข"

       พุทธพจน์บทนี้ หมายความว่า บุญทั้งหลายเกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล และการทำภาวนาด้วยตนเองทั้งสิ้น ผู้ประสงค์บุญ พึงทำบุญด้วย 3 วิธีนี้เท่านั้น เพราะการกระทำอื่นย่อมไม่ใช่หนทางที่ทำให้เกิดบุญ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเป็นผู้มีบุญ พึงศึกษาวิธีการทำบุญทั้ง 3 ประการนี้ ให้ถูกต้อง ประณีต ละเอียดรอบคอบ เมื่อลงมือทำบุญย่อมได้รับผลบุญมาก ไม่หกไม่หล่นไปในระหว่างการทำบุญ

        โดยสรุป ก็คือ บุคคลรวยทรัพย์ในทางโลกได้เพราะการทำบุญไว้ดีแล้วในอดีตชาติ ผู้ที่ฉลาดในการดำเนินชีวิต พึงทำบุญในปัจจุบันไว้ล่วงหน้า เพราะบุญเป็นมิตรแท้และเป็นเสบียงของผู้ที่เดินทางไกลในวัฏสงสาร ย่อมดลบันดาลไม่ให้ไปเกิดในที่ชั่ว ได้เกิดในถิ่นที่เหมาะสมต่อการสร้างบุญบารมีได้เต็มที่อย่างยิ่งๆ ขึ้นไปในทุกภพทุกชาติ เป็นเหตุให้สามารถต่อยอดความดีที่สั่งสมไว้ในแต่ละชาติอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเต็มเปียมบริบูรณ์บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด เป็นอันว่าได้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03141500155131 Mins